เรือนไทยภาคตะวันออก - เรือนชาวนาเกลือ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/05/2009
ที่มา: 
บ้านทรงไทยดอทคอม www.bansongthai.com

4. เรือนชาวนาเกลือ

เรือนพักอาศัยของชาวนาเกลือนี้ มักจะพบอยู่ทางแถบหัวเมืองชายทะเลบางแห่ง โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ลึกเข้ามาในก้นอ่าวไทย ชายฝั่งทะเลส่วนที่ยังเป็นโคลนอยู่มาก เช่น จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี พื้นที่ซึ่งใช้ทำนาเกลืออยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลเข้ามาไม่มากนักอยู่ในระยะ ที่สามารถชักน้ำทะเลเข้ามาขังไว้ให้งวดจนตกผลึกเป็นเม็ดเกลือ พื้นที่ที่ใช้กักน้ำทะเลนั้นต้องเป็นดินเหนียว อัดตัวแน่น น้ำไม่อาจที่จะซึมลงไปได้ ถ้าหากเป็นดินทรายจะทำนาเกลือไม่ได้ เนื่องจากน้ำจะซึมลงไปในพื้นดินอย่างรวดเร็ว

โรงเก็บเกลือในบริเวณนาเกลือ ใช้เก็บเกลือไว้รอส่งจำหน่าย

สถาปัตยกรรมหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับการประกอบอาชีพทำนา เกลือนี้ แตกต่างไปจากเรือนพักอาศัยของกลุ่มอื่นๆ คือ มักจะประกอบไปด้วย เรือนสำหรับพักอาศัย โรงเก็บเกลือ และกังหันลม ใช้กับระหัดสำหรับวิดน้ำเข้าสู่นาเกลือ ลักษณะของเรือนพักอาศัย และโรงเก็บเกลือนี้ อาจกล่าวได้ว่า มีรูปแบบเฉพาะซึ่งแตกต่างไปจากโรงเรือนแบบอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ และทำเลในการปลูกที่พักอาศัย ตลอดจนเก็บรักษาวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ สำหรับ การทำนาเกลือ สภาพโดยรวมของที่พักอาศัย และสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จะกระจัดกระจายห่างไกลกันออกไป ไม่อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านเหมือนกับหมู่บ้านประเภทอื่นๆ ลักษณะของสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับการทำนาเกลือของภาคตะวันออก ที่ยังสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะและรูปแบบดั้งเดิม อาจพอจำแนกได้เป็น เรือนพักอาศัย ลักษณะของเรือนพักอาศัยของชาวนาเกลือจะปลูกสร้างคล่อมอยู่บนคันดินแนวกั้น น้ำเค็ม ตัวเรือนยกระดับพื้นเรือนสูงกว่าระดับคันดินเล็กน้อย ใต้ถุนเรือนใช้สำหรับเก็บเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ทำนาเกลือ

ส่วนเรือนที่เป็นที่พักอาศัยแบ่งเป็นส่วนสำหรับนอน ส่วนสำหรับพักอาศัย เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าตามความยาวของตัวเรือน ส่วนหน้าต่อจากส่วนสำหรับนอนเปิดโล่ง ส่วนหลังถัดเข้าไปของส่วนนอนเป็นครัว ด้านข้างของส่วนนอน และพื้นที่ส่วนหน้าซึ่งเปิดโล่งนั้นทำเป็นยกพ้นลดระดับต่ำลงไปจากพื้นของ ส่วนนอน สำหรับส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เปิดโล่ง วัสดุที่ใช้ในการปลูกสร้างนั้นส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุลำลองที่ได้มาจากธรรมชาติ แทบทั้งสิ้น หลังคามุงด้วยจาก หญ้าคา หรือทางมะพร้าว ส่วนฝามักใช้จาก หรือทางมะพร้าว บางแห่งทำเป็นฝาด้วยไม้ขัดแตะ โรงเก็บเกลือ หรือบางท้องถิ่นเรียกว่า ฉางเกลือ เลือกบริเวณปลูกสร้างบนที่ดอน ลักษณะทั่วไปมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงจั่ว ภายในโล่ง มีฝารอบ 4 ด้านทำประตูทางด้านสกัด หัวและท้ายด้านละ 1 ประตู ประคูด้านหน้าและด้านหลังทางด้านสกัดทั้ง 2 ด้าน โรงเก็บเกลือบางแบบเว้นพื้นที่ด้านข้างส่วนหนึ่งเอาไว้เป็นแนวยาวตลอด วัสดุที่ใช้ในการปลูกสร้างของโรงเก็บเกลือส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุลำลอง เช่นเดียวกันกับประเภทที่เป็นเรือนพักอาศัย หากเว้นแต่ส่วนฝา นิยมใช้ฝาแบบขัดแตะแล้วก็ต้องทำโครงไม้กระหนาบอยู่ด้านนอกเพื่อช่วยให้เกิด ความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันวัสดุที่ใช้ในการปลูกสร้างเรือนพักอาศัยของชาวนาเกลือมีการเปลี่ยน แปลงไป เช่น หลังคาอาจเปลี่ยนเครื่องมามุงด้วยกระเบื้อง สังกะสี ฝาบางส่วนทำเป็นฝากระดาน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคงทนมากกว่าเดิมเท่านั้นเอง

อ้างอิงต้นฉบับ : http://www.bansongthai.com/content/view/86/31/1/7/

ย้อนกลับไปที่หน้า รวม link เรือนไทยภาคตะวันออก ข้อมูลจากบ้านทรงไทยดอทคอม