วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าลาหู่ : การเกิด

วิธีปฏิบัติเมื่อมีเด็กเกิดในบ้าน
การคลอดลูกนั้นต้องใช้ผ้าหรือเชือกผูกกับขื่อบ้านเพื่อให้แม่เด็กจับ และ มีแรงในการออกลูก เมื่อเด็กเกิดมาต้องตัดสายสะดือเด็กด้วยไม้ไผ่ หรือไม้เหี้ย จะไม่ใช้มีดตัดเพราะกลัวเด็ก จะเป็นบาดทะยัก จากนั้นก็ใช้เชือกผูกสายสะดือเด็กเอาไว้เพื่อไม่ให้เลือดไหลออกมา แล้วพ่อเด็กจึงนำรกไปฝังไว้ใต้บันได โดยพยายามให้เรียบร้อยที่สุดมิให้สัตว์มาคุ้ยและต้องฆ่าไก่ให้แม่เด็กกิน โดยต้องเป็นไก่ดำเท่านั้น เพราะเชื่อว่าจะทำให้ น้ำนมแม่มีคุณค่ามากขึ้น เมื่อลูกกินจะทำให้ลูกมีร่างกายแข็งแรงขึ้น ในกรณีที่เด็กเกิดมาอย่างปลอดภัยจะเอา ไปฝังไว้ที่ใต้บันไดบ้าน แต่ถ้าเด็กเกิดมาแล้วเสียชีวิตต้องเอารกเด็กไปฝังในป่า คนทำคลอดส่วนใหญ่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นผู้หญิง และมีประสบการณ์ในการทำคลอด ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วพ่อแม่เด็กต้องให้เงินแก่คนที่มาทำคลอดด้วย 10 บาท ซึ่งในสมัยนั้นเงิน 10 บาทถือว่าเยอะมาก

การตั้งชื่อ

สิ่งของที่ใช้ประกอบในการทำพิธี ได้แก่ ฝ้ายทำเป็นดอกไม้ เทียนไว้จุดในพิธี และด้ายสำหรับผูกข้อมือให้เด็ก เมื่อโตโบสวดคาถาต่าง ๆ เสร็จแล้ว พ่อแม่เด็กต้องกราบ และรดน้ำล้างมือให้โตโบ
เพื่อขอให้การทำพิธีนี้มีความใสสะอาด บริสุทธิ์แบบน้ำ และมีการผูกข้อมือให้เด็ก ถ้าหมู่บ้านใดไม่มีโตโบ ต้องไปหาคนที่มีลูกเยอะๆ อาจจะเป็นคนภายในหมู่บ้าน หรือคนหมู่บ้านอื่นก็ได้ให้ตั้งชื่อลูกให้ โดยพ่อแม่เด็กต้องฆ่าไก่ 1 ตัว ให้กับคนที่มาทำพิธีให้ เพื่อเป็นการขอบคุณที่ตั้งชื่อให้เด็ก และเด็กก็สามารถเรียกผู้ที่มาตั้งชื่อให้ว่าพ่อแม่ได้

ปัจจุบันการตั้งชื่อจริง จะตั้งเป็นภาษาไทยบางคนพ่อแม่ตั้งให้ บางคนหมอ พยาบาลตั้งให้ บางคนเจ้าหน้าที่เทศบาลตั้งให้ เมื่อไปแจ้งเด็กเกิด โดยดูจากตำราตั้งชื่อ สำหรับชื่อเล่นก็ยังเป็นภาษาลาหู่อยู่ โดยพ่อแม่เด็ก หรือผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเป็นคนตั้งให้

ข้อห้ามเมื่อมีการตั้งท้อง คือ

  1. ห้ามแบกหญ้าคาเขียว เพราะเชื่อว่าจะทำให้แท้งลูก
  2. ห้ามไปอยู่ใต้ต้นมะละกอ เพราะเชื่อว่าจะทำให้แม่ไม่สบายและจะส่งผลให้ลูกในท้องไม่สบายด้วย

ปัจจุบันเมื่อมีการตั้งท้อง แม่เด็กจะไปฝากท้องที่อนามัย หรือโรงพยาบาล และการคลอดลูกก็จะเป็นไปตามวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบัน