ชนเผ่าลาหู่ - ของใช้ในชีวิตประจำวัน

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าลาหู่ : ของใช้ในชีวิตประจำวัน




มีด (อ๊ะทอี)
มีดมีไว้เพื่อตัดไม้ และจะนำมาทำกิจกรรมทั่วไปได้ ในสมัยก่อนจะหาเหล็กมาทำเป็นนั้นยากมาก และถ้าพ่อค้าไม่ผ่านมาก็คงไม่มีเหล็ก พ่อค้าสมัยนั้นเป็นพ่อค้าไทย - จีน บ้าง ปีหนึ่งก็หมุนเวียนกันมาไม่กี่ครั้ง ต่อปีและมาครั้งหนึ่ง ๆ จะนำอุปกรณ์ใช้ในการทำการเกษตร และเกลือมาขายเป็นเงินบ้าง บางอย่างก็แลกของ ต่อของ เช่น เอาผ้ามาแลกพริก เอาเกลือมาแลกกับพริก อย่างนี้เป็นต้น แต่มาปัจจุบันหาซื้อเหล็ก หรือมีดได้ท้องตลาดทั่วไป


ที่ใส่มีด (อ๊ะทอพือ)
ที่ใส่มีดที่ใส่มีดนี้ทำด้วยนำไม้มาจักเป็นตอกแล้วมาสานรูปแบบสไตร์ชาว ลาหู่ มีมีดแล้วไม่มีที่ใส่มีด ก็ยากสำหรับ ชาวลาหู่เพราะว่าในสมัยก่อน ต้องถางไร่ ล่าสัตว์ จำเป็นต้องมีดและที่ใส่จะต้องใช้ทุกวัน เมื่อก่อนจะไปไหนมาไหน จำเป็นต้องมีมีดพกพากับตัว เป็นอาวุธประจำกายและในบ้านเพื่อป้องกันสิ่งเลวร้าย และคนรอบข้าง


จอบ (จึ๊กวู)
จอบจะนำมาขุดช่วงทำไร่ – นา หรือ ใช้ขุดหลุมสำหรับการก่อสร้างต่างๆ


เสียม (เถาะเป่)
เสียมจะนำไปขุดหน่อ หรือส่วนใหญ่แล้วจะขุดปลูก เช่น ข้าวโพด – ฟักทอง พืช ผัก เป็นต้น นอกจากนั้นก็ จะใช้ขุดหลุมใช้ในการสร้างบ้านก็ได้

ขวาน (จิ๊จี)
แต่ไม่ใช้ขวานที่เห็นกันโดยทั่วไป มีด้ามยาวกว่าขวานจะนำมาตัดต้นไม้ใหญ่ๆ โดยเฉพาะ


ธนู - หน้าไม้ (คะ)
ตัวธนูทำด้วยไม้ และ สายทำด้วยกาบกล้วย เช่น จะนำเปลือกฉีกให้เป็นเส้นๆ แล้วตากแห้งแล้วมา สานเป็นเชือกใส่ก็เป็นสายธนู


แก้วไม้ไผ่ (วาแค)
แก้วไม้ไผ่นั้นทำมาจากไม้ไผ่ ทำไมชาวเขาจึงใช้แต่แก้วไม้ไผ่เพราะว่าในสมัยก่อนนั้นไม่มีแก้วอย่าง ปัจจุบัน และอีกอย่างหนึ่งก็คือแก้วไม้ไผ่นั้นกันความร้อนได้ดี และประหยัด หาวัสดุธรรมชาติทำ และปลอดภัย เสียไป หรือแตกไปก็นำมาใช้เป็นฟืนได้ต่อ


เขียง (ปิ่เถาะ)
เขียง หรือ ปิ่เถาะชาวลาหู่ ทำมาจากไม้เนื้อแข็ง และไม้ชนิดที่ไม่มีพิษ ไม่เป็นภัย ต่อร่างกายคนเท่านั้น


ครก – สาก (แคเถาะโกว)
ครก หรือลาหู่เรียกว่า แคเถาะโกว ก็เช่นเดี่ยวกันกับ เขียงเป็นไม้ชนิดที่ไม่มีพิษ ไม่เป็นภัย ต่อร่างกายคนเท่านั้น


ขันโตก (ผึโกว)
ขันโตก ชาวลาหู่เรียกว่าผึโกววิธีการทำก็คือ ไปหาไม้ไผ่ ไม้ไผ่ต้องอย่างดีเท่านั้นที่จะตัด เหลาเป็นตอก พอได้ครบ แล้วหาหวายมา หวายซึ่งเป็นขาขันโตก หรือโครงสร้าง แล้วเอาตอกไม้ไผ่มาสานกับหวายที่เป็นเส้น ๆ มาผสมผสานกันแล้ว จะกลายเป็นขันโตก หรือผึโกว ตามภูมิปัญญาชาวลาหู่ ประโยชน์ ที่จะมาใช้ขันโตกนั้น ตั้งวางจานข้าว ถึงเวลาชาวลาหู่จะกินข้าวก็จะมีขันโตกตั้ง วางตรงกลางแล้วตักข้าว ตักกับวางขันโตกเสร็จแล้วค่อยรับประทานอาหาร หรือกินข้าวกันอย่าง พร้อมหน้า พร้อมตากันทั้งครอบครัวอย่างอบอุ่น


ตาชั่ง (อย่าจุย)
ตาชั่ง ที่ชาวลาหู่เรียกกันว่า อย่าจุย ด้ามเป็นไม้ทั่วไป ที่สามารถจะนำมาทำได้ และเสริมเชือกให้เป็นสายทั้งสองข้าง เพื่อที่จะผุดอีกตัวที่จะใส่ของชั่ง และที่จะใส่ของชั่งนั้นทำมาจากไม้ไผ่ ตัดไม้ไผ่มาจักตอกแล้วมาสาน คล้าย ๆ ตะกร้า ถ้าเป็นหวายก็ยิ่งดี เพราะว่าหวายนั้นทนกว่าไม้ไผ่ ถ้าทำเสร็จ หรือสานเสร็จ แล้วเอาเชือกมาผูก กับตะกร้าทั้งสองข้าง ก็จะเป็นตาชั่งแบบชาวลาหู่


ครกกระเดื่อง (แชกือ)

ครก กระเดื่องของชาวลาหู่ ลักษณะนั้นเป็นท่อนไม้ยาว เป็นมีน้ำหนักที่จะกระแทก กว่าที่จะกระแทกได้นั้นคนก็ เหยียบแล้วปล่อยให้ขึ้น-ลง ขึ้น-ลง และมีครกกระเดื่องรอรับอยู่ ครกต้องใหญ่กว่า ไม้กระเดื่องสอง-สามเท่า และ เจาะรูกว้าง ๆ เพื่อที่จะใส่ข้าวเปลือกลงในรูที่เจาะไว้แล้วตำให้ข้าวเปลือกลายเป็นข้าวสาร ชาวลาหู่จะตำข้าวช่วงเช้า ทุกวันธรรมดา ถ้าเป็นวันศิล หรือช่วงเทศกาลจะไม่ตำข้าวโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าถ้าเป็นวันศิลคนไหนไม่เชื่อ และตำข้าวคนนั้นจะมีอันเป็นไป เช่น ผู้เฒ่าผู้แก่เคยเจอมาและเล่าให้ฟังว่ามีคน ๆ หนึ่งไปตำข้าวในวันศีล แล้วเกิดคอ พอกขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ คนนั้นเป็นคอพอกพออยู่ ๆไปวันหนึ่งจะเหมือนคนไม่ค่อยเต็มสติไปเลยก็มี และยิ่งเป็นเทศกาลชาวลาหู่ยิ่งจะไม่ให้ทำอะไรกับครกกระเดื่องทั้งสิ้น แต่ถ้าขอใช้ปีใหม่ลาหู่ หรือกินวอ (เขาะจาเว) ชาวลาหู่จะขอยืมใช้แต่ครกไม่เอากระเดื่องได้แต่ไม่เอาครบชุดก็ได้ เฉพาะตำข้าวปุก ข้าวปุกเป็นขนมใช้ ในเทศกาลปีใหม่ลาหู่ (คนสมัยก่อนจะใช้แต่ครกกระเดื่อง ตำข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารทำหน้าที่แทนโรงสีข้าว)


กาต้มน้ำ (ก่อหลากุ่ย)
กาน้ำ หรือลาหู่เรียกว่า (ก่อหลากุ๊ย) ใช้ สำหรับต้มน้ำร้อน เมื่อก่อนชาวลาหู่ใช้กระบอกไม้ไผ่ในการต้มน้ำร้อนแทนกาน้ำ พอนานเข้าก็ได้รับวัฒนธรรมจากคนจีน เห็นคนจีนใช้กาน้ำในการต้มน้ำ ชาวลาหู่จึงนำมาใช้ในวิถีของเขา โดยการสั่งซื้อจากพ่อค้าชาวจีน หรือบางทีก็เป็นไปในเชิงแลกเปลี่ยนกับสินค้า


ตะกร้า (คะจุ่ลู)
ตะกร้า หรือ คะจู่ลู เป็นอุปกรณ์สำหรับแบกของต่าง ๆ อาทิใช้แบกฟืน ใช้เมื่อไปตักน้ำ ตะกร้าในชนเผ่าลาหู่ถือว่ามีความสำคัญมาก ซึ่งใช้กันมานานแล้ว คนแก่เล่าว่าเมื่อก่อนมีม้าสำหรับแบกสัมภาระ หรือสิ่งของต่าง ๆ ขณะเดียวกันคนก็ต้องใช้ตะกร้าในการแบกของในยามที่ขาดม้า การใช้ตะกร้าของลาหู่จึงนิยมมาถึงปัจจุบัน และลาหู่มีความเชื่อว่า เวลามีเด็กเกิดมาในหมู่บ้านก็จะให้ไปนอนในตะกร้า เพราะเชื่อว่าจะช่วยในการป้องกันกระสือหรือปอบ ที่จะมาก่อความวุ่นวาย หรือความไม่สงบมาสู่ในครอบครัว ตะกร้าทำมาจากไม้ไผ่ โดยจะตัดไม้ไผ่มา แล้วสานให้ถี่ ๆ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ และเคยทำมาก่อน ส่วนมากจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน


เคียวเกี่ยวข้าว (หลอดก้อ)
เคียวเกี่ยวข้าวที่ชาวลาหู่เรียกว่า หลอดก้อ ซึ่งในสมัยก่อนชาวลาหู่ จะเอาเหล็กเช่นเดียวกันกับจอบ และมีด จากพ่อค้าคนกลาง ชาวจีน - ไทย มาขายตามหมู่บ้านชาวเขา ความเป็นมาของเคียวในสมัยก่อน ขั้นตอนอย่างแรกก็เอาเหล็กมาจากมีด เช่น มีดที่ใช้มานานหลายปีแล้ว และพอเหล็กเล็กลงหรือใช้ถางทำไร่ไม่ได้แล้วตัดไม้ไม่ได้ หรือคุณภาพไม่ดีพอที่จะเป็นมีดแล้ว ชาวบ้านก็จะนำมีดเหล่านี้ให้กับผู้ตีเหล็กที่อยู่ในชุมชน แล้วผู้ชำนาญในการตีเหล็ก ก็จะนำเหล็กมาตีทำเป็นเคียวขายในชุมชนของตน แต่มาปัจจุบันชาวลาหู่ หรือชนเผ่าต่าง ๆ ก็มีการพัฒนาตามเทคโนโลยี สามารถหาซื้อได้ตามร้านทั่วไป


กระด้ง (ฮามาโกว)
กระด้งหรือที่ชาวลาหู่เรียกว่า ฮามาโกว ทำมาจากไม้ไผ่ เหลาให้เป็นตอก แล้วมาสานเป็นกระด้ง กระด้งเป็นสิ่งของซึ่งจะนำมาใช้กับในชีวิตประจำวัน คนชาวลาหู่ในสมัยก่อน ใช้พัดแกลบออกจากข้าวสารซึ่งข้าวเปลือกที่ตำจากครกกระเดื่อง แล้วกลายเป็นข้าวสาร มีทั้งข้าวและแกลบรวมกัน กระด้งก็จะใช้พัดแกลบออกเพื่อที่ให้เหลือแต่ข้าวสาร