ชาวม้งทำนาที่เชียงใหม่ 1

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/05/2009
ชาวม้งกำลังเตรียมไถคราดเพื่อปรับพื้นที่และเก็บเกี่ยววัชชพืช ใช้ควายเหล็กไถคราดปรับพื้นนาให้เรียบ นาปี หรือนาดำ ที่ใช้ต้องมือขยุ้มปักต้นกล้าเป็นจุดๆ นาดำจะมีแปลงข้าวพืนเล็กๆเพื่อกักเก็บน้ำ มีคันนากั้นแบ่งพื้นที่ตามระดับของน้ำลดหลั่นกันไป  ต้นกล้าที่พึงปักดำเสร็จ แต่รู้สึกว่าขยุ้มต้นกล้าไม่เท่ากัน กอเล็กบ้างใหญ่บ้าง เหมือนยังไม่ค่อยชำนาญการปักดำ น้ำ เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการทำนาปี และต้องมีน้ำหล่อเลี้ยงกันตลอดเวลาจนข้าวแก่กล้า ริมถนนสายใหม่รอบเมืองเชียงใหม่ ซ้ายไปพิพิธภัณฑ์ ขวาไปห้วยตึงเฒ่า ภูเขาข้างหน้าคือดอยสุเทพ ชาวนาม้งกำลังงมหอยขม เด็กสาวชาวม้งตัวเล็กๆ ถูกสอนให้รู้จักการหากินแล้ว หอยขมน่าจะเป็นอาหารเมนูใหม่สำหรับชาวม้งที่อยู่บนดอย เมื่อมาหากินบนพื้นราบจึงต้องปรับตัว  สาวม้งตัวจริง บอกว่าจะกลับแล้ว แต่ถูกกั้นไม่ให้ไป ต้องให้ถ่ายภาพก่อนจึงจะยอมให่ผ่าน..ต่อรองกันนานกว่าจะยอม   	 	 	 	 แม่เฒ่าชาวม้งผู้นี้ให้ความร่วมมือในการถ่ายภาพโดยดี พูดไทยได้นิดหน่อยบอกอายุแปดสิบกว่าปีแล้ว รอยย่นบนใบหน้าแสดงถึงวัยที่ผ่านการตรากตรำกับชีวิตมานานพอสมควร ลูกชาวม้งไม่มีคนเลี้ยงเด็กเหมือนคนเมือง เด็กสาวผู้เป็นพี่จึงต้องทำหน้าที่นี้ ใครจะรู้ว่าชาวนาที่ทำนากันอยู่หลายแห่งในเชียงใหม่ จะเป็นชาวเขาที่มาจากดอย.. ที่นาแปลงนี้อีกไม่นานก็คงต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นบ้านจัดสรรหรือสถานประกอบการ กำลังถอนข้าวกล้าเพื่อตัดยอดและนำไปปักดำต่อ ข้าวกล้าเปรียบเหมือนแปลงเพาะชำที่รอการนำไปปักดำในแปลงใหญ่  ต้นอ่อนของข้าวกล้ามองไกลๆเหมือนต้นหญ้าสีเขียวสด มัดข้าวกล้า รอการตัดยอด
ที่มา: 
เว็บไซต์โฟโต้ออนทัวร์ http://www.photoontour.com

จากดอยสู่พื้นราบ

ภาพริมทางชุดนี้ได้มาขณะขับรถจากห้วยตึงเฒ่าเพื่อไปยังศูนย์โบราณสถานของ เชียงใหม่ ที่ได้ทราบมาว่ากำลังโปรโมทให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ มีชื่อว่าอะไรก็จำไม่ได้แล้ว แต่ก็เห็นป้ายโฆษณาอยู่หลายแห่งตามจุดต่างๆ

วันนั้นเป็นวันที่ 12 สิงหาคม 2547 เป็นช่วงหน้าฝน ท้องทุ่งตามริมทางจะเห็นชาวนากำลังลงมือปักดำกันหลายแห่ง เป็นภาพที่ดูเขียวสดชื่นและเป็นบรรยากาศของชนบทที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ไม่ ค่อยจะเห็นภาพชนบทไทยๆแบบนี้กันบ่อยนัก

เวลา นั้นน่าจะราว 4 โมงเย็น ขณะขับรถอยู่บนถนนรอบเมืองสายใหม่ที่เห็นทุ่งโล่งกว้างไกล ก็เห็นชาวนาอยู่กลุ่มหนึ่งกำลังถอนกล้า และ ลงมือปักดำปลูกข้าวอยู่ในระยะที่ไกลพอสมควร ผมจอดรถเพื่อสังเกตการณ์อยู่สักพัก เผื่อว่ามีอะไรน่าสนใจ ท้องฟ้าขณะนั้นก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเดี๋ยวครึ้มเดี๋ยวสว่าง ซึ่งดูแล้วก็คิดว่าหากไปอยู่กลางทุ่งก็อาจจะเห็นเป็นภาพสวยๆได้บ้าง

คนชอบถ่ายภาพก็แบบนี้แหละ ใจมันไม่อยู่นิ่งหรอก มักคิด มักสังเกตุดูสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ ยิ่งมีกล้องติดกายด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องคิดไขว่ขว้าหาภาพอยู่ตลอด ขับรถไป คุยกับผู้ร่วมทางไป ขณะเดียวกันสายตาก็ต้องสังเกตุภาพข้างหน้าตามไปด้วยเสมอ และภาพที่เห็นๆกันในเวปนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจากที่ว่านี้แหละครับ

ผมจอดรถชิดไหล่ทางตรงที่เห็นชาวนาประมาณ 10 กว่าคน กำลังทำนากันอยู่ไกลๆ เป็นกลุ่มคนที่ดูจะมีมากกว่าที่เห็นตามเส้นทางที่ผ่านมา มันน่าสนใจก็จริงแต่ถ้าจะไปถ่ายภาพตรงนั้นก็ต้องเดินเลาะคันนาที่เลอะเทอะ เฉอะแฉะไปไกลไม่น้อย กว่าจะถึงแข้งขาก็คงถูกละเลงไปด้วยโคลนแน่ๆ

ชั่งใจอยู่นาน เพราะจะทำให้โปรแกรมที่จะไปเที่ยวโบราณสถานที่อยู่อีกไม่ไกลนั้นก็คงต้อง เปลี่ยนไป คิดแล้วก็เอาแน่ ดับเครื่องยนต์แล้วไปหยิบกระเป๋ากล้องทันที พร้อมกับบอกญาติโยมที่มาด้วยกันว่า ขอเวลาหน่อย จะเดินตามคันนาเพื่อไปถ่ายภาพชาวนาที่เห็นข้างหน้าโน้น ก็ไกลพอที่จะตะโกนไม่ถึงกัน ผมจัดแจงถอดรองเท้าและพับขากางเกง เพราะงานนี้ ต้องบอกว่าลุยแน่ และลุยเละด้วย

ผมเคยเดินตามคันนาก็ตอนเด็กๆ ครั้งที่พ่อเคยพาไปเที่ยวบ้านนอก คราวนั้นกับคราวนี้มันต่างกันลิบ ครั้งนี้จะเดินตัวปลิวเหมือนเด็กๆคงไม่ได้แน่ เก้ๆกังๆพอสมควรกับคันน่าที่ย่ำลงแต่ละทีมันทำให้รู้สึกว่าจะเสียศูนย์ทุก ย่างก้าว หากหกล้มหน้าคะมำก็คงยุ่งแน่ ลำพังตัวเองคงไม่เท่าไร แต่กระเป๋ากล้องนี่ซิ จะเสียหายแค่ไหนก็ไม่รู้ ไม่ง่ายนะครับกับการเดินบนคันนาแบบนี้ เห็นชาวนาเค้าเดินเหินคล่องแคล่วเวลาเดินสวนกันเค้าก็เลี่ยงหลบลงข้างล่าง ไม่เห็นจะเดือดร้อนลำบากอะไร ย่ำจมโคลนจนถึงหัวเข่าแล้วขึ้นมาเดินต่อเฉย

สนุกดีครับ กับการเดินเท้าเปล่าบนดินโคลนที่หนียวหนึบ ให้ความรู้สึกสัมผัสที่ดีไม่น้อย ได้บริหารเท้า ได้นวดเท้าโดยวิธีธรรมชาติน้อยคนนักจะมีโอกาสแบบนี้ คนส่วนใหญ่มักมองดินมองโคลนเป็นสิ่งสกปรก ว่าไม่สะอาดบ้าง มีเชื้อโรคบ้าง มันก็อาจจะจริงอยู่แต่ไม่ ่ทั้งหมด หากมนุษย์เราไม่แก่วิชาการมากไป ทิ้งๆมันไปลืมๆมันบ้าง ก็อาจได้สิ่งดีๆให้กับชีวิต

ถ้ารู้จักติดดิน ร่างกายเราจะได้อยู่ในสมดุลย์ของธรรมชาติ มันอาจช่วยปกป้องและปรับร่างกายเราให้ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บได้ คำว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ ตามคำกล่าวของหยินและหยาง ส่วนหนึ่งก็มาจากการให้ร่างกายเรารู้จักติดดิน ได้ใกล้ชิดผืนโลก เหมือนได้สร้างภูมิคุ้มกันโดยวิธีธรรมชาติ

กลุ่มชาวนาที่เห็นกำลังทำงานอยู่กลางทุ่งนี้ แท้จริงแล้วไม่ไช่ชาวบ้านแถบนั้น แต่เป็นชาวเขาเผ่าม้งที่อยู่บนดอย ต.โป่งแยง เขต อ.แม่ริม เชียงใหม่ สอบถามผู้รู้ว่า ไอ้โป่งแยงนี่มันไปทางไหน ก็ได้รับคำตอบว่า โน่นนะทางไปสะเมิงนั่นแหละ

" แล้วสะเมิงมันอยู่ตรงไหน" อันนี้ผมไม่ได้ถามแต่ก็รู้คำตอบมานานแล้วว่าสุดฤทธ์สุดเดชไม่เบา เส้นทางนี้เคยไปเมื่อหลายปีก่อน ภูเขา สลับซับซ้อนมาก เวียนหัวจนน่าอาจียน สมัยนั้นเป็นเส้นทางที่น้อยคนจะผ่านไปเพราะลงเขาไปก็เป็นอำเภอสะเมิงที่ดู เล็กๆ เหมือนเป็น หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล

ชาวม้งบอกว่าจะมาที่นี่ตอนเช้าโดยนั่งรถปิ๊กอัพของญาติๆมาจากหมู่บ้าน ตกเย็นก็จะมารับกลับ ไม่มีบ้านช่องอยู่แถวนี้ และจะเป็นแบบนี้กันตลอดฤดูกาล พอช่วงต้นข้าวแข็งแรงมีน้ำพอเพียงก็เพียงแค่นานๆมาดูสักครั้ง

ผมมีโอกาสพูดคุยกับชาวเขาเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างกับพืนนาที่เห็นสุดลูกหูลูกตา แน่นอนว่าเจ้าของที่นาคงน้อยนักที่จะทำประโยชน์จากที่ดินของตนเอง ส่วนใหญ่จะให้เช่าและแบ่งผลประโยชน์เล็กๆน้อย และที่เห็นๆตามริมทางสายนี้ ก็ต้องบอกว่ามันเปลี่ยนมือมาเป็นของนายทุนหรือนักเก็งกำไรกันหมดแล้ว หากมองในแง่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ถือว่าเสียโอกาสไปไม่น้อย เพราะถูกให้ทิ้งรกร้างไม่ได้ทำประโยชน์อะไรมากมายนัก กฏหมายปฏิรูปที่ดินหรือที่จะมีกฏหมายเรียกเก็บภาษีที่ดินว่างเปล่า ก็เห็นมีข่าวมาตลอด ป่านนี้ ม่รู้ว่าไปถึงไหนกันแล้ว

ชาวเขาที่มาเช่าที่นานี้บอกว่าเสียค่าเช่าเป็นรายปี ตกปีละ 600 บาทต่อไร่ต่อปี เช่าเอาไว้ 10 ไร่ก็เป็นเงิน 6,000 บาทต่อปี ดูเหมือนเป็นเงินไม่มาก แต่สำหรับชาวเขาที่ไม่ได้ร่ำรวยแล้วแล้วรู้สึกจะเป็นเงินไม่น้อยทีเดียว

เค้าบอกว่า ปลูกข้าวไว้เพื่อกินอย่างเดียว ได้มาก็จะแบ่งๆกันในหมู่ญาติ ที่มีอยู่ 3 ครอบครัว มีสมาชิกประมาณ 60 คน หรือครอบครัวละ10 คน เหตุที่ต้องมาปลูกข้าวก็เพราะซื้อกินราคามันแพง เลยต้องมาปลูกเอง และหลังจากได้เป็นข้าวเปลือก แล้วก็จะนำไปตำยังหมู่บ้านการตำก็คงใช้ครกกระเดื่องที่ใช้เท้าเหยียบหรือตำ มือที่เรียกว่าข้าวซ้อมมือนั่นแหละครับ

วันที่ผมมาถ่ายภาพนั้น พวกเด็กชาวเขาและคนแก่จะให้นั่งๆนอนกันที่เพิงริมทาง โดยขนเครื่องใช้และอาหารการกินมาบ้างเล็กน้อยตามความจำเป็น เพิงริมทางหลังเล็กๆก็เป็นที่บังแดดบังฝนของชาวนาและเป็นที่พักกินข้าวไปใน ตัว

สิ่งที่ สัมผัสในวันนั้นก็ทำให้ผมรับรู้อะไรมากขึ้น ว่าชาวเขาเผ่าม้งที่อาศัยตามเทือกเขาของภาคเหนือ ปัจจุบันก็คงเพิ่มจำนวนมากขึ้น การดำรงชีวิตก็คงเปลี่ยนไป จากที่เคยทำไร่และอยู่กันแต่บนดอยบนเขา ปัจจุบันก็ได้มาหากินอยู่พื้นราบมากขึ้น เข้ามาประกอบอาชีพ นำผลผลิตจากดอยลงสู่พื้นราบ มีบทบาทการเป็นพ่อค้าทั้งผู้ขายส่งและขายปลีก หากใครไปเที่ยวภาคเหนือก็คงได้มีโอกาสเห็นภาพชาวเขา

นั่งขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรตามตลาดสดกันหลายแห่ง เช่นตลาดสดอัศวินที่ลำปางก็มี ชาวเขาขายลูกพลับที่นำมาจากดอยขายเสร็จก็กลับขึ้นดอยในวันนั้น

ชาวเขาที่เคยปลูกฝิ่นหาเลี้ยงชีพในอดีตนั้น ปัจจุบันก็คงหมดสิ้นไปแล้ว และแน่นอนว่าหากใครพูดถึงเรื่องเหล่านี้ก็คงอดนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวไม่ได้ ที่ทรงริเริ่มโครงการในพระราชดำริหลายๆโครงการ ส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น จากวันนั้นถึงวันนี้ เราก็คงจะเห็นผลผลิตจากชาวเขากันมากมาย เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อชาวเขาเผ่าต่างๆ ให้หันมาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์แทนการปลูกพืชที่เป็นมหันตรายของสังคมมนุษย์

เวปมาสเตอร์
โฟโต้ออนทัวร์
11 มีนาคม 2548


ภาพม้งทำนาที่เชียงใหม่ 2