ชนเผ่าลาหู่ - การเลี้ยงชีพ กับดักสัตว์

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าลาหู่ : การเลี้ยงชีพ กับดักสัตว์

ลาหู่เป็นชนเผ่าที่มีความรอบรู้ และชำนาญในเรื่องของการล่าสัตว์ เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหาร ซึ่งในการล่าสัตว์ยังต้องมีการทำกับดักสัตว์ ไว้ตามป่าเพื่อให้สัตว์มาติด


(เห๊า แต เว) เป็น กับดักที่ใช้กับสัตว์ประเภทใหญ่ เช่น หมูป่า กวาง เสือ ฯลฯ ลักษณะของกับดักนี้ จะเป็นแบบที่เมื่อสัตว์เดิน มาโดนเชือกไม้ที่เหลาไว้แหลม ๆ ก็จะพุ่งมาเสียบตัวของสัตว์ทำให้สัตว์ตายในที่สุด ชาวลาหู่จะนิยมทำกับดักนี้ไว้ตาม ข้างทางที่เป็นทางเดินของสัตว์ หรือทำเมื่อได้เห็นรอยเท้าของสัตว์ ชาวบ้านจะรู้เลยว่า สัตว์ต้องเดินมาทางนี้อีก ชาวบ้านก็จะทำกับดักนี้ไว้ และสัตว์ประเภทเก้ง ชาวลาหู่มีความเชื่อว่า สัตว์ชนิดนี้จะไปไหนมาไหนก็จะเดินกันเป็นแถว หลายตัว จะไม่แตกแถว เพราะสัตว์ชนิดนี้กลัวจะไปเหยียบใส่กิ้งกือเวลาที่เดิน เป็นความเชื่อของลาหู่ที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ฉะนั้นลาหู่จึงนิยมทำกับดักนี้ไว้ตามทางเดินของสัตว์ โดยจะนำไม้เฮ้ยมาเหลาปลายให้แหลม ๆ แล้วเอาเชือกดึงไว้ตัวไม้จะเล็งไว้บริเวณท้อง หรือตรงจุดของหัวใจ แล้วจะมีเชือกดึงขวางทางเดินของสัตว์เอาไว้ เมื่อสัตว์เดินมาแล้วไปเหยียบโดนเชือกไม้แหลม ๆ ก็จะพุ่งมาอย่างแรง ทำให้สัตว์ตาย


ที่ดักไก่ป่า (แฮ้-งวะ-วา)
สามารถดักได้ทุกช่วงเวลา จะใช้ดักเฉพาะสัตว์ปีกที่หากินตามพื้นดินเท่านั้น เช่น ไก่ป่า เป็นต้น ส่วนวิธีการดัก ก็ไม่ยาก โดยก่อนที่จะทำกับดัก ต้องไปดายหญ้าไปเป็นแถว แล้วเอาหญ้าที่ดายมาปิดข้าง ๆ ทั้งสองฝั่ง แต่ต้องเว้นที่ไว้สำหรับจะวางกับดัก เว้นช่องกับดัก และยังเป็นช่องทางเปิดให้สัตว์เดินไปยังกับดัก ส่วนตัวเลาะจูจะทำมาจากไม้ ไผ่ที่เหลาไว้เรียบร้อยแล้ว จะมีลักษณะโค้ง มัดติดกัน แล้วเอาเชือก หรือเถาวัลย์ มาคล้องเป็นวงกลม และจะมีไม้ที่ต้องใช้คู่กับตัวเลาะจู เป็นไม้เล็ก ยาวประมาณ 1 เมตร และจะเอาไม้เสียบกับพื้นให้แน่น แล้วมัดตัวเลาะจู ตรงปลายของไม้ จากนั้นก็งอไม้ให้โค้งลงมายังพื้นดิน และก็ทำตะขอ ร็อกเอาไว้ และทำห่วงให้มีขนาดพอที่หัว จะเข้าไปได้ ห่วงจะอยู่ในระดับเดียวกันกับหัว เวลาเดินมา หัวก็จะไปคล้องกับห่วงที่ทำไว้ และนกก็จะเดินไปเรื่อย ๆ โดยคิดจะให้หลุด ออกจากห่วงแต่หารู้ไม่ว่า เมื่อตะขอหลุดไม้ที่ปักไว้จะเด้งขึ้นหัวก็จะติดไปกับห่วง และจะติดอยู่กลางอากาศกับไม้นั้น


ที่ดักนก (หวะ แก๊ะ แน๊ะ) เป็นกับดักที่ชาวลาหู่ทำขึ้นเพื่อใช้ดักนกต่าง ๆ โดยจะใช้แมลงเป็นเหยื่อล่อให้นกมาติดกับดัก แมลงที่ใช้ ได้แก่ แมลงเม่า (วปุฝ่าย) ดักแด้ (วาร์วปุมา) แมลงเหล่านี้จะออกเป็นฤดู ฉะนั้นการดักนก ส่วนมากจะดักช่วงที่มีแมลงเหล่านี้ แต่บางคนก็สามารถเก็บแมลงไว้ดักหลายวัน หรือเป็นเดือนโดยเก็บไว้ในกระบอกไม้ไผ่ที่ยังหนุ่ม หมั่นเปลี่ยนบ่อยๆ ก็สามารถที่จะเก็บเอาไว้ได้นาน วิธการดักก็นำแมลงมาติดไว้กับตัวกับดักที่ทำไว้ แมลงก็จะดิ้น เมื่อนกเห็นแมลงดิ้นก็จะเข้ามากินแมลง และนกก็จะติดอยู่ที่กับดัก ส่วนมากจะติดบริเวณคอ หรือบางตัวก็ติดบริเวณขา การดักโดยใช้แมลงเม่าจะนิยมดักตอนเช้าตรู่ โดยจะไปดักไว้ตามทาง แล้วรออยู่ข้างๆ กับดักชนิดนี้มีขนาดเล็กเอาไปไหนมาไหนได้สะดวกจึงดักได้ทีละ 20-30 อัน ส่วนการดักโดยใช้ดักแด้

จะนิยมดักเวลาไปไร่ไปสวน โดยจะดักไว้ข้าง ๆ ทาง หรือตามแม่น้ำที่ร่ม ๆ เมื่อถึงเวลาข้าวเที่ยงก็จะมาดูถ้าได้นกก็จะนำไปประกอบอาหาร และจะทำการเปลี่ยนดักแด้ไว้ แล้วจะไปดูอีกรอบตอนเย็นก่อนที่จะกลับบ้าน การดักโดยใช้ดักแด้จึงสามารถดักได้หลายวัน


กับดักนก (หวะ ก๊ะ นุ)
เป็นกับดักที่ใช้ดักเฉพาะนกที่มีขนาดใหญ่ นิยมดักไว้บนต้นไม้ กับดักชนิดนี้จะดักช่วงที่มีผลไม้ ชาวลาหู่เรียกผลไม้นี้ว่า อ๊ะนะกะสื่อ เป็นผลไม้ที่มีขนาดเท่าไข่มีสีแดงเป็นผลไม้ที่นกชอบกินวิธีการดักก็จะนำผล ไม้ชนิดนี้ไปวางไว้ข้างในกับดักที่ทำไว้ เมื่อนกเห็นก็จะเข้ามากินผลไม้ ทันทีที่นกเหยียบโดนเชือกที่ทำไว้ ไม้กับดักก็จะลงมาทับคอหรือลำตัวของนก และจะหนีบเอาไว้ นกก็จะตาย กับดักนี้นอกจากจะใช้ดักนกบนต้นไม้แล้วยังสามารถดักหนูกระรอก หรือสัตว์ต่าง ๆ ที่หากินตามพื้นดิน โดยจะดักไว้ตามพื้นดินที่คิดว่าเป็นที่หากินของสัตว์เหล่านี้ หรือดักตามทางเดินของสัตว์


(หวะ แต เต เว)
สัตว์ที่ชอบหากินตามกอไผ่ ทำไว้บริเวณกอไผ่ทางหากินของสัตว์ต่างๆ โดยจะใช้ท่อนไม้ที่มีขนาดใหญ่พอสมควรมาดักไว้ วิธีการดักก็จะเป็นแบบยกปลายไม้ให้สูงขึ้น แล้วล็อคไว้ข้างบน และข้างล่างจะมีการทำเป็นร่อง และ เอากระดูกของสัตว์เป็นเหยื่อมาวางไว้ข้างในที่เป็นร่อง ๆ เวลาสัตว์มา ก็จะเห็นกระดูก แล้วจะเข้ามากินกระดูก จนเหยียบกับดัก ไม้ท่อนใหญ่ก็จะตกลงมาทับสัตว์ตัวนั้นก็จะทำให้สัตว์ตาย