วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าละหู่ : ข้อห้าม

ห้ามดื่มสุรา หรือของมึนเมา
โดยมีเรื่องเล่าว่า นานมาแล้วมีชาวลาหู่คู่หนึ่ง ผู้ชายชื่อ จะหวะ ผู้หญิงชื่อ นาแวะ ทั้งสองมีอาชีพทำสวนกล้วย เมื่อถึงคราวเก็บผลผลิตแล้ว ทั้งสองก็ไปเก็บกล้วยมา และเตรียมที่จะเอากล้วยไปถวายให้กับเทพเจ้า แต่ระหว่างทางได้เจอพ่อ และพ่อก็ได้ขอกินกล้วย แต่ลูกทั้งสองบอกว่าไม่ให้กิน เพราะว่าจะเอาไปถวายให้กับเทพเจ้า ทั้งสองจึงได้เดินทางต่อไป พอไปถึงที่อยู่ของเทพเจ้าก็ได้บอกว่า เราทั้งสองได้เอากล้วยมาถวายให้ท่าน เทพเจ้าจึงถามว่า “ที่เอามาให้ข้ากินเนี่ย พ่อเองได้กินหรือยัง” ทั้งสองจึงตอบไปอย่างมั่นอกมั่นใจว่า ”ยัง” เทพเจ้าจึงบอกให้เอากลับไปให้พ่อกินก่อน แล้วค่อยเอากลับมาให้ข้ากิน ทั้งสองจึงได้เดินทางกลับไปตามคำสั่งของเทพเจ้า พอไปถึงที่พ่ออยู่ ก็ได้เอากล้วยให้พ่อกิน แต่พ่อของนายจะหวะกลับไม่กิน เพราะรู้สึกโกรธที่เมื่อกี้ขอแล้วไม่ให้กิน ด้วยความโกรธ พ่อของนายจะหวะ จึงได้เอากล้วยทิ้งลงไปในแม่น้ำ พอนานเข้ากล้วยในแม่น้ำก็เริ่มส่งกลิ่นของกล้วย ทำให้สัตว์ที่อยู่ในระแวกนั้นต่างเข้ามาดูดกินน้ำในแม่น้ำกันใหญ่ แต่แล้วก็มีชายคนหนึ่งมาเจอเข้า จึงได้ตักน้ำจากแม่น้ำนั้นมาดื่มกินอย่าง เอร็ดอร่อย แต่พอกลับไปถึงบ้านชายผู้นั้นรู้สึกมึนเมา อย่างบอกไม่ถูก และที่ชายคนนี้ก็ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะว่าน้ำในแม่น้ำนั้นกลายเป็นเหล้าแล้วนั่นเอง ชาวลาหู่จึงห้ามไม่ให้ดื่มเหล้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ห้ามลักทรัพย์

ชาวลาหู่มีความเชื่อถือว่าถ้าใครขโมยสิ่งของคนอื่นของอะไรก็ตาม เมื่อตายไปแล้วคนที่เอาสิ่งของนั้นจะไปตกอยู่ลำบากกับสิ่งของนั้น โดยไม่มีความสุข

ห้ามเล่นการพนัน

มีเรื่องเล่าว่า สมัยก่อนมีเทพเจ้าองค์หนึ่งได้แปลงร่างเป็น 7 คน แล้วได้เข้าไปเล่นการพนันใน 7 หมู่บ้าน พอไปเล่นแล้วเทพเจ้าก็ได้พนันกับชาวบ้านจนหมดตัว เทพเจ้าจึงประกาศว่า ห้ามเล่นการพนันเป็นสิ่งที่ไม่ดี ทำให้จิตใจไม่สงบสุข และในหมู่บ้านลาหู่นี้ในสมัยก่อนจะเล่นการพนันไม่ได้ แต่ปัจจุบันมีการอยากได้ อยากเอา แล้วในหมู่บ้านลาหู่ก็คงจะมีเล่นพนันบ้าง

รูปแบบของการลงโทษผู้ที่กระทำผิด

การลงโทษไม่ว่าจะมีความผิดประเภทใดจะปรับเงิน แต่ต้องดูความผิดว่ามาก หรือน้อย หรือเมื่อทำความผิดแล้วไม่มีเงินเสียค่าปรับ จะต้องเอาทรัพยสิทธิ์ที่มีอยู่ขาย แล้วนำเงินมาใช้ ถ้าทำผิดมากก็อาจจะไล่ออกจากหมู่บ้าน เป็นต้น

ผู้มีอำนาจในการตัดสินคดีทุกอย่าง
ผู้เฒ่า ผู้แก่ ชาวบ้าน และพ่อหลวง ช่วยกันในการตัดสินคดีต่างๆ แต่พ่อหลวงเป็นคนตัดสินชี้ขาด การคัดเลือกผู้นำโดยชาวบ้านช่วยกันออกเสียง อาจจะมีการสืบเชื้อสายบ้าง แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเลือกกันเองมากกว่า จะไม่มีการเกษียณ อยู่ที่พ่อหลวงว่าจะลาออกหรือไม่ แต่ถ้าพ่อหลวงทำความผิด เช่น ไม่ดูแลหมู่บ้าน หรือพัฒนาหมู่บ้าน ก็อาจจะโดนไล่ออกได้ นอกจากนั้นทุก ๆ คนในหมู่บ้านจะต้องร่วมมือช่วยกันดูแล

ข้อห้ามเหล่านี้ ปัจจุบันยังใช้กันอยู่บ้าง แต่มักจะเปลี่ยนไปตามสภาพความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป