วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าลาหู่ : ประเพณี หอเหย่

วิถีชีวิตของคนในสังคมเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ ความอยู่รอดของชาวลาหู่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ไม่ว่าเป็นดิน ความพอดีของน้ำจากท้องฟ้า วัฒนธรรมของชาวลาหู่ผูกพันอยู่เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติได้สะท้อน ออกมาในรูปแบบวรรณกรรมปากเปล่า ซึ่งผู้นำศาสนามักจะสอนศาสนิกชน ของตน “กระดูกของเราเป็นก้อนหิน เนื้อหนังของเราเป็นดิน สายเลือดเป็นสายน้ำ ลมหายใจเป็นอากาศ และความอบอุ่นภายในกายเป็นแสงแดด” ดินเป็น ตัวแทนธรรมชาติที่มีความผูกพันที่ใกล้ชิดมนุษย์

สถานที่ประกอบพิธีกรรม
ชาวลาหู่เกือบทุกหมู่บ้านจะมีสถานที่ประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า หอแหย่ มีไว้เพื่อประกอบพิธีกรรม ทางศาสนาของลาหู่ ชาวลาหู่นับถือบรรพบุรุษ วิญญาณ และเทพเจ้ากือซา จึงทำให้ไม่เหมือนกับศาสนาพุทธทั่วไปในประเทศไทย “หอแหย่” เปรียบเสมือนโบสถ์หรือวัด ตามความเชื่อ ของศาสนานั้น ๆ สถานที่ประกอบพิธีกรรม หรือหอแหย่ของชาวลาหู่ จะสร้างอยู่ที่สูงและใกล้ๆ กับบ้านของ ผู้นำศาสนา (โตโบ) จึงสังเกตได้ว่าถ้ามีหอเเหย่อยู่ที่ไหนก็มีบ้านของโตโบที่ตรงนั้น

สิ่งของสำคัญูในหอเหย่
โต๊ะบูชา หรือชาวลาหู่เรียกว่า “กะปะแต” เป็นที่สำหรับเทพเจ้า (กือซา) ลงมาประทับ และเป็นที่สื่อสารกับผู้นำศาสนาถือว่าเป็น ที่สำคัญที่สุด ในศาสนสถาน นกเทพเจ้าจะมี 2 ตัวคู่กันมีตัวผู้และตัวเมีย ชาวลาหู่เรียกตัวผู้ว่า นานะบุจุแงะ และตัวเมียเรียกว่า นะสิจุแงะ เขาจะเชื่อกันว่าเป็น นกของพระเจ้าที่จะนำพาขวัญของผู้ที่เสียขวัญกลับคืนมาเข้าสู่ร่างกาย นกไม้ 2 ตัวนี้จะอยู่คู่กับบ่อน้ำทิพย์ เรียกว่า ลิเด่ ซึ่งผู้นำศาสนา จะคอยเติมน้ำทุก ๆ วันศีลโดยแต่ละเดือนจะมีวันศีลอยู่ 2 วันคือ วันแรม และขึ้น 15 ค่ำของทุกเดือนจะถือวันศีล ดังนั้นชาวลาหู่ก็หยุดทำงานเพื่อถือศีล และได้มีการจัดเตรียมเครื่องบูชาที่จะนำไปทำบุญที่หอเเหย่เพื่อทำพิธีกรรม ทางศาสนาจากนั้นก็มีการเต้น “ปอยแตแว” หรือ “จะคึ” กันอย่างสนุกสนาน ถือกันว่าถ้าเต้นมากก็จะได้บุญมาก

ผู้ทำพิธีกรรมทางศาสนา
ผู้ไหว้และบูชาขอพรสวดมนต์นั้นจะต้องเป็น “โตโบ” ซึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่สอนศาสนา และเป็นสื่อกลาง ระหว่างชาวบ้านกับเทพเจ้ากือซา นอกจากนี้โตโบยังต้องปฏิบัติหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาหอแหย่อีกด้วย เพราะเป็นคนที่มีความเมตตากรุณา และเป็นบุคคลที่ชาวบ้านยอมรับนับถือ การเป็นโตโบจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการสื่อสารจากเทพเจ้า หรือกือซาเข้าทรง ผู้เฒ่าในชุมชนเล่าว่าผู้ที่จะมาเป็น โตโบ ได้นั้นจะต้องมีบุคลิกดังนี้

1. เป็นคนที่มีความเมตา และชอบช่วยเหลือผู้อื่น โดยจะให้ความรักกับทุกคนในหมู่บ้าน และไม่เลือกที่ จะลำเอียงข้างใดข้างหนึ่ง
2. เป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ต่อตนเองและผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่นในทั้งทางตรง และทางอ้อม
3. เป็นคนที่มีจิตใจ กายที่บริสุทธิ์ ไม่ชอบการฆ่าสัตว์
4. ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และน้ำมึนเมาทุกชนิด


จะเป็นโตโบได้นั้นอยู่ที่เทพเจ้า หรือกือซาจะทรงร่างเท่านั้นถึงเป็นโตโบได้ หรือเป็นผู้นำศาสนาชาวลาหู่ในขณะที่บุคคลภายนอกมองไม่เห็นประโยชน์ของความ เชื่อของชาวลาหู่ แต่กลับมองเป็นความเชื่อที่งมงาย ไร้สาระ ลาหู่ซึ่งมีวิถีชีวิตแตกต่างจากชาวเขาเผ่าอื่น ๆ ซึ่งยังคงเหนียวแน่น ในวิถีชีวิตที่บรรพบุรุษสร้างสมกันมา และถ่ายถอด ไว้ป็นมรดกของเผ่าพันธุ์ อาจกล่าวได้ว่าชาวเขาทั้งหมด ลาหู่เป็นชาวเขาที่สม่ำเสมอ ในขนบธรรมเนียมประเพณีทางศาสนาของตนเองมากที่สุด คนลาหู่จะเชื่อฟังคำสั่งสอน ของผู้นำศาสนา มีการไปชุมนุมกันที่หอแหย่ ทุกวันขึ้นและแรม 15 ค่ำ เพื่อการทำพิธีกรรมทางศาสนา เนื่องจากเป็นวันศีล มีการรดน้ำเพื่อล้างบาปในตอนเย็น และตอนค่ำก็จะมีการเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน