วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าลาหู่ : ประเพณี การละเล่นในพิธีกรรม

การละเล่นของชนเผ่าลาหู่
การละเล่นเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งของชนเผ่าลาหู่ที่นิยมเล่นกันยามที่ว่างจาก การทำไร่ ทำสวน และช่วงที่มีพิธีกรรมทางศาสนา หรือประเพณี ซึ่งเด็กหรือผู้ใหญ่จะมารวมตัวกันบริเวณรางที่กว้างๆ พร้อมจัดกลุ่มแล้วก็เล่น เป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และจะเน้นการเล่นเป็นกลุ่ม เพื่อให้เกิดความสมัคสามัคคีกันภายในกลุ่ม เป็นการใช้ภูมิปัญญาของชาวบ้านในการนำสิ่ง ของต่าง ๆ มาประดิษฐ์เป็นของเล่น โดยการใช้วัสดุธรรมชาติ ที่หาได้ง่ายและไม่ได้ใช้ต้นทุนเยอะของท้องถิ่นมาดัดแปลง และทำเป็นของเล่นในยามที่ไปไร่ไปสวน ระหว่างทางก็จะเด็ดใบไม้แล้วก็มาเป่าให้เกิดเป็นเสียงเพลง ซึ่งจะทำให้เกิดความสุขในการเดินทาง และการเป่าใบไม้หนุ่ม ๆ ยังใช้เป่าในการจีบสาว ซึ่งจะเป็นการเป่าเพลงที่ข้องข้างเศร้า และมีความหมายอันลึกซึ้ง ถือได้ว่าเป็นวิธีการในการหาคู่ของหนุ่มสาวอีกวิธีหนึ่ง การละเล่นของชนเผ่าลาหู่แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

การละเล่นในพิธีกรรม
เป็นการละเล่นเฉพาะในช่วงที่มีพิธีกรรมหรือประเพณีเท่านั้น ซึ่งชาวลาหู่ทั้งหญิงและชายจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าเต็มยศ แล้วจะมาเล่นกัน
อันได้แก่ การเต้น “จะคึ” และประกอบด้วยการเล่นสะบ้า (หมะยี้สื่อต่อดะเว) เล่นลูกข่าง (ข่อสือบ่าดะเว) โยนผ้า (แข่ปุกสื่อเหล่ดะเว) ซึ่งหนุ่มสาวจะนิยมเล่นกันมากที่สุด ในช่วงที่มีพิธีกรรม หรือกินวอ เป็นเวลาว่างที่มีค่ามากสำหรับหนุ่มสาว

การเต้นจะคึ (ปอย เต เว)
เป็นการบ่งบอกถึงความหลากหลายของการทำมาหากิน จะเต้นในช่วงที่มีงานประเพณี (กินวอ) เต้นเพื่อเฉลิมฉลองในงานประเพณี และเป็นการกล่าวขอบคุณแขกที่มาร่วมในงานพิธีกรรม อาจมาจากต่างหมู่บ้าน หรือต่างท้องถิ่น การเต้นจะคึ จะเป็นการเต้นเป็นจังหวะ ตามเสียงกลอง (เจะโข ่) ฉิ่งฉาบ (แซ) และฆ้อง (โบโลโก่) โดยจะมีท่าทางประกอบหลากหลายท่าอย่างพร้อมเพรียงกัน เช่น ท่าเกี่ยวข้าว ท่าตักข้าว และ ท่าตีข้าว เป็นต้น

การเต้นจะคึจะมีอีกหลากหลายท่า คือ ท่าสวัสดี ท่าขอบคุณ และยินดีต้อนรับ ก็จะมี อยู่ในตัว ท่าสวัสดี และยินดีต้อนรับ นั้นจะอยู่ในจังหวะเดียวกัน ช่วงปีใหม่ หรือกินวอ จะมีแขกจากบ้านอื่นมาเที่ยว และชาวลาหู่จะมีการเต้นจะคึ เพื่อเป็นการต้อนรับแขกที่มาร่วมในงาน


(ก่า เคอะ เว)
เป็นการละเล่นอีกแบบหนึ่ง เป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนาน โดยมีอุปกรณ์ที่ใช้คือ แคน โดยผู้ที่มีความชำนาญในเรื่องของแคน จะเป็นคนเป่าแล้วเต้นเป็นการและเพื่อเฉลิมฉลอง
ในงานประเพณี ให้ เทวราช หรือ หงื่อซา รับทราบว่า ถึงเวลา แล้วที่ชาวลาหู่จะเฉลิมฉลองให้กับท่าน และขอให้ท่านเทพเจ้าลงมาอวยพรให้กับคนในชุมชนด้วย


การละเล่นลูกข่าง (ค่อซือ)
เป็นการละเล่นของชนเผ่าลาหู่ จะนิยมเล่นกันในช่วงปีใหม่ กินวอ ของลาหู่ ลูกข่างนั้นทำจากไม้เนื้อแข็งวิธีการเล่น มีดังนี้ อย่างแรก ทำเชือกสำหรับเหวี่ยงลูกข่าง แล้วมัดกับด้ามไม้ พอเสร็จก็พันลูกข่างแล้วโยนไปยังเป้าหมาย แล้วดึงเชือกคืนไว ๆ ก็จะทำให้ลูกข่างหมุน และถ้าลูกข่างของเราไปโดนของคู่ต่อสู้ ถือว่าเราเป็นฝ่ายชนะ


(น่อ) แคน
เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ชาวลาหู่นิยมมาก และเป็นเครื่องดนตรีในเวลาที่ว่าง ๆ ก็เป่าแคนมาเล่นกันเป็นทีม เพื่อที่จะให้รู้ว่าทีมใครมีความสามารถมากกว่ากันเมื่อประเพณี เช่น เวลาเต้นรำ

การโยนผ้า (แข่ปุกสื่อบ่าดะเว)
เป็นชนิดหนึ่งที่หนุ่ม สาว จะเล่นนิยมเล่นกันมาก แต่หนุ่ม สาว มักจะเล่นช่วงปีใหม่ หรือ กินวอ วิธีการเล่นก็จะมีการแบ่งฝ่ายเป็น 2 ฝ่ายหนุ่ม ๆ ก็จะอยู่ฝ่ายหนึ่ง และสาว ๆ ก็จะอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง แล้วมีกติกาว่าถ้าหนุ่ม ๆ โยนผ้าให้ฝ่ายสาว ๆ แล้วสาว ๆ รับไม่ได้และรับไม่ทันทำให้ตกสู่พื้น 3ครั้งหรือ 3 ที แล้วแต่จะตั้งกติกากี่ที หรือกี่ครั้งก็แล้วแต่ ที่จะตั้งกันเองในกลุ่ม จะมีการยึดสิ่งของต่าง ๆ เช่น สร้อย นาฬิกา ข้อมือ ฯลฯ จากฝ่ายที่แพ้มา แต่ก็จะคืนให้กันหลังจากเสร็จการกินวอกัน