ชนเผ่าลาหู่ - บทความ สืบสานงานทอผ้าลาหู่

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

บทความ : สืบสานงานทอผ้าลาหู่

เสียงจักจั่นร้องระงมทั่วราวไพรทั้งยามกลางคืนและกลางวัน บ่งบอกว่าฤดูร้อนกำลังย่างกรายมาเยือน เป็นฤดูกาลที่คนทำงานหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินว่างเว้นจากการทำงานในไร่นา เป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนของผู้ที่กำลังอยู่ในวัยเรียน ช่วงนี้เด็กๆ หมู่บ้านจะแล หมู่บ้านชนเผ่าลาหู่ลาบาที่ฉันมีโอกาสได้เข้าไปทำงานด้วยบ่อยครั้ง ก็กำลังวิ่งไล่จับจักจั่นกันอย่างสนุกสนาน เพื่อนำมาปรุงสูตรอาหารรสเยี่ยม แต่มีเด็กผู้หญิงอยู่หนึ่งคน อายุอานามย่าง 11 ปี มือหนึ่งถือไม้ไล่จับจักจั่น มืออีกข้างถือสร้อยข้อมือลาหู่ สอบถามได้ความว่า หลังจากปิดเทอมมาได้ไม่กี่วัน ช่วงเวลาว่างๆ เธอก็ทอสร้อยข้อมือเพื่อนำมาขายให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนหมู่บ้าน

ฉันเข้าไปเก็บข้อมูลบ้านจะแล ก็มีโอกาสได้สนทนากับเธอบ้าง

สุกัญญา กุเลา หรือ นากุย เป็นเด็กที่เคยเข้าร่วม ประกวดการทอผ้าลาหู่ ที่ทางโครงการ hilltribe.org ร่วมกับชุมชนบ้านจะแลจัดขึ้น เธอได้รับรางวัลอันดับ 3 ของรุ่นเยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปี หลังจากเสร็จสิ้นการประกวดทอผ้า เธอก็ทอผ้าบ้างในช่วงเวลาที่ต้องการทำ และเก็บรวบรวมสร้อยข้อมือจากฝีมือของตนไว้

ก่อนเที่ยงวันนั้น หลังจากฉันเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์เสร็จเรียบร้อย และนากุยจับจักจั่นได้พอประทังความหิวในยามกลางวันแล้ว ทั้งฉันและเธอก็พร้อมที่จะนั่งพูดคุยกัน นากุยนำด้ายและไม้ เพื่อเตรียมขึ้นด้ายสำหรับทอสร้อยข้อมือ ส่วนฉันก็เตรียมกล้องถ่ายภาพ สมุด และดินสอ เธอตอกไม้ 6 ซี่ปักลงบนพื้นดิน แล้วเลือกด้ายหลากสีสันเพื่อทอเป็นสร้อยข้อมือสวยงาม ก่อนจะคล้องด้ายกับซี่ไม้อย่างคล่องแคล่ว จนได้ปริมาณความกว้างของเส้นด้ายที่พอเหมาะจะทอเป็นสร้อยข้อมือ นากุยจึงม้วนเส้นด้ายพันรอบไม้ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการทอผ้าต่อไป

นากุยบอกว่า ด้ายที่เธอทอสร้อยข้อมือมาตลอดนั้น เป็นด้ายที่เธอได้มาตั้งแต่ช่วงฝึกหัดทอผ้า ก่อนจะเข้าร่วมแข่งขันการทอผ้าลาหู่ และเธอยังบอกอีกว่า ถ้าด้ายชุดนี้หมด เธอจะนำเงินที่ได้จากการขายสร้อยข้อมือไปซื้อ เพื่อเป็นอุปกรณ์ที่จะต่อยอดในการทอสร้อยข้อมือต่อไป

“ แล้วนากุยทออย่างอื่นเป็นไหมนอกจากสร้อยข้อมือ ”

“ ถ้าเป็นลายเส้นตรงธรรมดาก็ทอได้หมด ไม่ว่าจะเป็นสร้อยข้อมือ ที่คาดหัว เข็มขัด สายย่าม หรือย่าม เพราะการขึ้นด้ายเหมือนกัน เพียงแต่ถ้าทอผ้าอย่างอื่นที่หน้าผ้ากว้าง เช่น ย่ามหรือเข็มขัด ต้องขึ้นด้ายให้มีความกว้างมากกว่าที่ขึ้นด้ายทอสร้อยข้อมือ ”

นากุยยังบอกอีกว่า ถ้าการทอผ้าด้วยลวดลายอื่นๆ ซึ่งถือเป็นลายยาก เช่น ลายดาว ลายซิกแซก หรือลายสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม เป็นต้น เธอยังไม่สามารถทอได้ เพราะต้องเรียนรู้อีกมาก อีกทั้งต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์เป็นหลัก เธอเพิ่งหัดทอต้องเรียนรู้จากลวดลายที่ง่ายๆ ก่อน แต่นากุยบอกฉันว่า เธอจะใช้เวลาว่างหัดทอลวดลายยากๆ จากผู้รู้ในหมู่บ้าน

“ แล้วนากุยปักผ้าเป็นไหม ” ฉันถามขึ้น เมื่อเหลือบไปเห็นย่ามที่แขวนบนผนังบ้านที่เป็นไม้ฟาก ย่ามที่ปักจากผ้าสีสันสดใส เป็นลายสามเหลี่ยม ลายสี่เหลี่ยม ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ว่าจะพบเห็นลวดลายแบบนี้บนย่าม กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ หรือเครื่องแต่งกายอื่นๆ ก็จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นงานผ้าปักของชนเผ่าลาหู่

“ ปักเป็นค่ะพี่ แต่ยังทำไม่สวย ต้องหัดไปเรื่อยๆ ” เธอตอบคำถามพร้อมกับทอผ้าไปด้วย

นากุยใช้เวลาทอผ้าไม่นาน ก็ได้ผ้าทอลวดลายสวยงาม เธอจึงนำผ้าทอเส้นนั้นมาตัดเป็นสร้อยข้อมือ ได้ทั้งหมด 8 เส้น ฉันจึงขอให้เธอผูกข้อมือให้ 1 เส้น

“ พี่จะปักลูกเดือยด้วยไหม หนูทอสร้อยข้อมือขายทั้งแบบที่เป็นลวดลายและตกแต่งลูกเดือยด้วย ”

“ ถ้าอย่างนั้นพี่เอา 2 เส้น เอาแบบธรรมดาและให้นากุยปักลูกเดือยให้ด้วย ”

นากุยนำลูกเดือยเม็ดเล็กๆ มาปักเป็นลวดลายบนสร้อยข้อมือ ทั้งลายเส้นตรงธรรมดา ลายแฉก ลายดอกไม้ ลายรูปดาว แล้วแต่เธอจะจินตนาการ ก่อนจะผูกสร้อยข้อมือให้ฉัน

ก่อนที่เธอจะขอตัวไปจับจักจั่นต่อ เพราะเห็นเพื่อนๆเดินผ่านหน้าบ้านวน ไปวนมาหลายครั้งแล้ว ฉันก็ขอบันทึกภาพผลงานสร้อยข้อมือทั้งหมด ที่เธอเริ่มทอตั้งแต่โรงเรียนปิดภาคเรียน ฉันลงจากบ้านไม้ฟากหลังคามุงหญ้าคาด้วย ภาพหลากหลายอากัปกิริยาที่บันทึกไว้ในกล้อง พร้อมกับสร้อยข้อมือ 2 เส้น

นากุยใช้เวลาว่างในช่วงปิดภาคเรียนให้เกิดประโยชน์ นอกจากจะทอผ้าเพื่อฟื้นความทรงจำที่ได้ร่ำเรียนมาก่อนที่จะประกวดทอผ้าแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้เธออีกด้วย แต่อีกหนึ่งสิ่งที่นากุยคงไม่ได้นึกถึงไกลไปกว่านั้นคือ การที่เธอนั่งทอผ้า ถือเป็นการสืบทอดสิ่งที่ผู้หญิงชนเผ่าได้ถ่ายทอดให้เธอ และเธอก็คือเด็กชนเผ่าคนหนึ่งที่จะสืบสานงานผ้าทอของลาหู่ต่อไป

 

 


ข้อมูลจาก http://www.hilltribe.org/thai/lahu/lahu-weave.php