ชนเผ่าลาหู่ - บทความ เต้นจะคึ...วิถีแห่งการแสดงของลาหู่

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

บทความ : เต้นจะคึ...วิถีแห่งการแสดงของลาหู่

แรม 15 ค่ำ แสงดาวกะพริบระยิบระยับทั่วแผ่นฟ้าที่มืดมิดไร้ซึ่งแสงจันทร์ แต่ภายในหอแหย่หรือวัดของชาวลาหู่ กลับสว่างไสวไปด้วยแสงจากเปลวเทียน ส่องกระทบใบหน้าของผู้คนที่นั่งรายล้อม เพื่อชมการแสดงตรงกลางอย่าง ใจจดจ่อ พร้อมสดับเสียงดนตรีอันไพเราะ จากเครื่องดนตรีหลากหลายของชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็นกลอง (แจะโก่)
, ฉาบ (แซะแหยะ) , ฆ้อง (โบโลโก่) หรือ แคน (หน่อ) พวกเขากำลังชื่นชมกับการเต้นรำของชนเผ่าที่เรียกว่า“ เต้นจะคึ หรือ ปอยเตเว ”

ค่ำคืนเดือนแรมวันนี้เป็นวันศีลของชาวลาหู่ ในวิถีชีวิตของพวกเขานั้น วันศีลจะเป็นวันหยุดพักผ่อน ชาวลาหู่จะหยุดงานในไร่ นา หรือสวน ซึ่งในหนึ่งเดือนจะมีแค่ 2 วัน คือ ขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ พวกเขาจะประกอบพิธีกรรมในวันศีล โดยจะจัดเตรียมน้ำ เทียน เข้าไปในหอแหย่เพื่อบูชาสักการะตามความเชื่อของชนเผ่า ตอนเย็นจะนำน้ำมาล้างมือให้แก่ผู้เฒ่าผู้แก่ และผู้นำศาสนา ชาวลาหู่เชื่อว่าการรดน้ำเป็นการล้างบาปที่มือได้กระทำลงไป พอเวลาเย็นย่ำตะวันลับเหลี่ยมเขา ฟ้าเริ่มมืดสลัว หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในบ้าน ทุกคนจะมารวมกันที่หอแหย่เพื่อเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน

การเต้นรำลาหู่หรือที่เรียกว่า “ เต้นจะคึ (ปอยเตเว) ” นั้น เป็นการละเล่นที่สำคัญของชาวลาหู่ ที่พวกเขาจะเต้นรำในวันสำคัญของชนเผ่า อาทิ วันศีล เฉลิมฉลองงานประเพณีปีใหม่กินวอ หรือแสดงเพื่อต้อนรับและขอบคุณแขกที่มาร่วมพิธีกรรม การเต้นจะคึนั้น จะมีท่าเต้นรำตามจังหวะของเครื่องดนตรี ทั้ง กลอง ฉาบ ฆ้อง รวมถึงแคนด้วย ซึ่งจังหวะในการเต้นรำขึ้นอยู่กับผู้เล่นดนตรีเป็นหลัก ว่าจะนำพาคนเต้นรำไปตามจังหวะช้าหรือเร็ว ในการประกอบพิธีกรรมนั้น
แม้ชาวลาหู่จะได้สัมผัสเสียงจากเครื่องดนตรีที่เพิ่งเริ่มบรรเลงเพียงนิด ความสนุกสนานก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

สำหรับท่าเต้นรำจะคึของชาวลาหู่นั้น พวกเขาจะประยุกต์มาจากวิถีชีวิตของชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพ เช่น เต้นรำเกี่ยวข้าว (จ่าเกอะเว) , เต้นรำถางไร่ (แฮพ้อเว) , เต้นรำปั่นด้าย (ส่าลาวอเว) เป็นต้น หรือประยุกต์ท่าเต้นรำตามความเชื่อ เช่น เต้นรำพระเจ้า (อื่อซาปอยเตเว) เพราะลาหู่เป็นชนเผ่าที่นับถือพระเจ้า (อื่อซา) มีการบูชาพระเจ้าเพื่อคุ้มครองให้พวกเขาอยู่ดีมีสุข และขอพรให้พระเจ้าบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้ผลิตผลในเรือกสวนไร่นา หรือเลียนแบบท่าทางของสัตว์ตามธรรมชาติ ที่ชาวลาหู่ผู้ได้ชื่อว่าเป็นชนเผ่าแห่งนักล่าได้ผ่านพบตามภูผาและป่าเขา เช่น เต้นรำนกบิน (แงะปอยเตเว) เต้นรำแฮส่าแป้วูเรเว (ท่าผึ้งบิน) หรือเต้นรำแฮนูลอกาต่อเว เป็นการประยุกต์จากท่าทางของกวาง เป็นต้น

ค่ำคืนนั้นฉันได้เห็นความสามัคคีของชนเผ่าลาหู่ทั้งหญิงชาย ที่พร้อมเพรียงกันเข้ามาร่วมเต้นรำเพื่อความสนุกสนาน แทนที่ผู้ชายจะเป็นคนตีกลอง ฉาบ หรือฆ้อง ฉันก็ได้เห็นหญิงวัยรุ่นเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ และผู้ชายก็เป็นฝ่ายก้าวเท้าเต้นรำด้วยรอยยิ้มที่ไม่เคอะเขิน ศิลปะการแสดงของชนเผ่าก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่ง ที่แสดงถึงความเสมอภาคทางเพศของชนเผ่าลาหู่ นอกเหนือจากสิ่งอื่นๆ ที่ชนเผ่านี้ให้ความสำคัญเรื่องความเสมอภาคของหญิงและชาย

แสงมืดมิดในยามวิกาลของคืนเดือนแรม กลับส่องสว่างในใจของฉันที่ได้มีโอกาสมาสัมผัสกับการดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตแห่งความเป็นชนเผ่า ที่แม้จะอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของความเป็นปัจจุบัน แต่ชาวลาหู่ก็ยังรักษาขนบดั้งเดิมที่มีมานานไว้ให้คงอยู่ อย่างน้อยในคืนวันศีลหลายคนก็ยังคงมารวมตัวกันที่หอแหย่ แม้แต่ละครโทรทัศน์ที่ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนติดตามชมอย่างเหนียวแน่น ก็ยังมีความสำคัญน้อยกว่า


http://www.hilltribe.org/thai/lahu/lahu-dancing.php