วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าลาหู่ : แจะโก ศาสตร์แห่งดนตรีลาหู่

กลอง หรือ แจะโก่ ในภาษาลาหู่ เป็นเสียงดนตรีที่สำคัญในการเต้นรำจะคึ เป็นเสียงที่สร้างความเร้าใจ สร้างจังหวะจะโคน และเป็นดนตรีที่นำในการเต้นรำ ถ้าเสียงกลองเบา นักเต้นรำก็จะเต้นรำช้า ดูอ่อนช้อยสวยงาม ถ้าจังหวะกลองหนักแน่น รวดเร็ว ท่วงท่าของผู้เต้นรำก็จะเร็วตาม กลองเป็นเครื่องดนตรีหนึ่งที่มีความสำคัญของชนเผ่าลาหู่ เป็นศาสตร์แห่งดนตรีของชนเผ่า ที่ผู้รู้ได้ถ่ายทอดให้ลูกหลานได้สืบทอดมานาน ทั้งการบรรเลงเสียงและการประดิษฐ์ ผู้ประดิษฐ์กลองก็ต้องมีศิลปะในการสร้างสรร เพื่อให้เกิดเสียงที่เสนาะหู

ฉันมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในชุมชนอยู่บ่อยครั้ง ยามสายของวันหนึ่งฉันเข้าไปหาข้อมูลเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่หมู่บ้านจะแล หมู่บ้านของชาวลาหู่ลาบา พลันโสตประสาทก็ได้ยินเสียงกลองดังมาจากบ้านโตโบ (ผู้นำศาสนาของชาวลาหู่) วันนั้นจึงได้รู้ว่าโตโบกำลังประดิษฐ์กลอง สำหรับการเต้นรำจะคึ , สำหรับบรรเลงในหอแหย่ (วัดของชาวลาหู่) ส่งสารจากชาวลาหู่เพื่อบูชา ถวายแด่พระเจ้า หรือขอพรจากพระเจ้า , สำหรับลูกหลานชนเผ่าได้มีเครื่องดนตรีชิ้นใหม่ๆ ในการเต้นรำ และสำหรับอื่นๆ อีกมากมาย

โตโบบอกว่า การทำกลองต้องทำจาก ไม้เซาะ หรือที่ลาหู่เรียกว่า ใหม่เซาะซึ ไม้ เซาะเป็นไม้เนื้อแข็ง ทนทาน นำมาทำกลองแล้วอยู่ได้นาน ปลวกไม่กินมอดไม่เจาะ ปกติความสูงของไม้เซาะหนึ่งต้นสามารถทำกลองได้ประมาณ 10 ตัว แต่ต้นไม้เซาะที่โตโบตัดมา ทำกลองได้เพียง 4 ตัว เพราะต้นไม่สูงมาก

“ ตามองไม่ค่อยเห็น จึงตัดมาเท่าที่ตัดได้ ” โตโบเล่าไปพร้อมกับใช้มีดคมมาเฉือนไม้ทำเป็นรูปร่างของกลอง วันนั้นเกือบทั้งวันโตโบก็นั่งตัดแต่งไม้ท่อนตรงขนาดกว่า 2 ข้อศอก ให้เป็นกลองที่มีรูปร่างคล้ายๆ แก้วไวน์

ขั้นตอนต่อจากการเฉือนไม้ทำเป็นกลอง คือ การนำ แซะ เครื่องมือที่ทำมาจากเหล็ก รูปร่างคล้ายเสียมแต่มีขนาดเล็ก มาเจาะไม้ด้านบน ก่อนจะใช้ขวานสับไม้ออกให้มีความลึกขนาด 1 คืบ

“ กว่าจะเจาะไม้ สับไม้ออกให้ตัวกลองเป็นช่อง แล้วใช้เหล็กแหลมขูดตกแต่งให้ด้านในเรียบ สวย ก็ใช้เวลานาน 3-4 วัน เพราะขั้นตอนนี้ใช้เวลานาน ต้องออกแรงเยอะด้วย โตโบเฒ่าแล้วออกแรงมากก็เหนื่อย ต้องทำไปพักไป ” โตโบหันมาบอก เพราะเห็นฉันกำลังตั้งท่าจะบันทึกภาพ

4 วันผ่านไป ฉันไปเยือนหมู่บ้านจะแลอีกครั้ง ยามสายเช่นเดิม โตโบกำลังปรับแต่งด้านในของกลองให้สวยงาม โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า จ่าโกว่แกวะตู่เว ที่ทำมาจากเหล็ก ส่วนปลายโค้งงอ แหลมคม ใช้ขูดไม้ด้านในของกลอง โดยมือขวาของโตโบถือจ่าโกว่แกวะตู่เว มือซ้ายจับไม้เพื่อยันจ่าโกว่แกวะตู่เวไว้ การขูดไม้เพื่อให้ผิวเรียบ ต้องขูดเป็นวงกลม ขูดจนกระทั่งตัวกลองเหลือความหนาประมาณ 1 ข้อของนิ้วชี้ การขูดต้องมีสิ่งยึดกลองไว้ไม่ให้เคลื่อน โดยนำกลองวางไว้ตรงกลางของไม้ท่อนเล็กๆ 4 อัน ที่ตั้งไว้เป็นฐานยึด และใช้เชือกมัดไม้พันรอบๆ กลองอีกที เพื่อให้ยึดแน่น

โตโบหันมายิ้มให้ฉัน ก่อนจะเล่าว่า ใช้เวลาถึง 3 วัน ในการเจาะไม้ สับไม้ ขูดไม้ด้านในของกลอง รวมถึงใช้แซะเจาะขาตั้งของกลองให้เป็นช่อง และขูดฐานด้านล่างให้เป็นวงเช่นเดียวกับด้านบน ตอนที่ฉันไปถึงนั้น โตโบขูดตัวกลองด้านในเพื่อตกแต่งผิวกลองให้เรียบเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะขูดไม้ส่วนฐานของกลอง
เพื่อตกแต่งให้โค้งมนเช่นเดียวกับด้านบน

“ ทำส่วนนี้เสร็จแล้ว ก็จะทำหน้ากลองแล้ว ไม่นานเหมือนตอนสับไม้ รอถ่ายรูปได้เลย ” โตโบเริ่มต้นขึงหน้ากลอง โดยนำหนังวัวที่แช่น้ำไว้ทั้งคืนมาทาบลงด้านบนของกลอง  “ ต้องตากหนังวัวประมาณ 10 วัน แล้วใช้มีดขูดให้หนังเรียบ ก่อนจะนำไปแช่น้ำ เวลาแช่น้ำก็แช่เฉพาะส่วนที่จะเอามาขึงหน้ากลองเท่านั้นนะ ”

การทาบหนังวัวลงด้านบนของกลองนั้นต้องใช้หวายพันรอบหนังวัวไว้ ก่อนจะตอกตะปูระหว่างหนังวัวกับกลอง เพื่อกำหนดจุดร้อยเชือกบนตัวกลอง จากนั้นโตโบได้นำหนังวัววางบนพื้นดิน แล้วใช้เหล็กปลายแหลมเจาะหนังวัวให้เป็นรู โดยพันหนังวัวทับเส้นหวายอีกที แล้วจึงนำลวดมาร้อยเชือกเข้าไปในรูของหนังวัว โดยเชือกที่ร้อยต้องวัดขนาดให้เท่ากัน พอร้อยเชือกเสร็จก็มัดเชือกให้ติดแน่นกับหนังวัว

ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการขึงหน้ากลองให้เรียบเพื่อสร้างเสียงให้ไพเราะ โดยนำหนังวัวที่ร้อยเชือกเรียบร้อยวางทาบลงบนหน้ากลอง นำไม้เล็กๆ มาขึงเชือกรอบๆ ตัวกลอง ก่อนที่ใช้เชือกร้อยระหว่างเชือกด้านบนที่มัดติดหนังวัวและเส้นหวายที่พัน ไว้รอบๆ ตัวกลองด้านล่าง พอร้อยเชือกแต่ละจุดเรียบร้อยก็ดึงไม้ที่ใช้ขึงเชือกออก เมื่อเชือกทำหน้าที่ในการยึดหน้ากลองให้แน่นเรียบร้อยแล้ว ก็ตัดแต่งหนังวัวให้สวยงาม เจาะรูตรงหนังวัวและฐานกลอง สำหรับใช้ร้อยผ้าเป็นสายกลอง

โตโบประดิษฐ์ กลองเรียบร้อย ฉันจึงอาสาเป็นผู้ทดลองเสียงกลอง ตีกลองไปได้ไม่กี่จังหวะ ฉันรีบวางทันที เพราะแบกน้ำหนักกลองไม่ไหว โตโบจึงเอ่ยขึ้นว่า     

“ เสียงยังไม่ค่อยดี ต้องดึงเชือกเรื่อยๆ ให้หน้ากลองแน่น และต้องวางไว้สักเดือน น้ำหนักไม้ก็จะเบาลงเอง แต่ถ้าจะให้เบาจริงๆ ต้องใช้เวลาเป็นปี ”

วันนั้นฉันนั่งทดลองเสียงกลองจนมือบวม แต่มองไม่เห็นลูกหลานบ้านจะแลมานั่งดูโตโบทำกลองแม้แต่คนเดียว แต่ฉันก็เชื่อว่า การที่โตโบ ซึ่งเป็นผู้รู้ในศิลปะดนตรีได้ถ่ายทอดศิลปะให้ลูกหลาน โดยการทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง จะสามารถกระตุ้นให้พวกเขาสนใจที่จะเรียนรู้ แม้ว่าจะไม่ใช่วันนี้ก็ตาม 


ข้อมูลจาก http://www.hilltribe.org/thai/lahu/lahu-jaeko.php