ชนเผ่าลาหู่ - บทความ เกษตรชาวดอย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าลาหู๋ : บทความ เกษตรชาวดอย

บรรพบุรุษเป็นผู้สร้าง และสะสมวิถีนี้มา จนกลายเป็นอาชีพหลักของชาวดอยเหล่านี้ เมื่อมองไปยังดอยสูง หลาย ๆ คนอาจจะทึ่ง และสงสัยว่าเขาทำกันได้ยังไง กับการทำการเกษตรบนที่สูง ๆ และลาดชัน อย่างนั้นทำได้ไงเนี่ย? อาจเป็นข้อคำถามที่คนพื้นราบสงสัย แต่สำหรับชาวดอย แล้วเรื่องนี้ดูจะเป็นเรื่องที่ธรรมดา และดูเป็นเรื่องง่าย ๆ ด้วยซ้ำไป

การถางแล้วเผา เป็นระบบการเกษตรที่เก่าแก่ที่ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่-ย่า ตา-ยาย จากรุ่นสู่รุ่น เป็นระบบการเกษตรที่ถางป่า เพื่อปลูกพืชเป็นหย่อม ๆ แล้วจะเผาในช่วงฤดูแล้งก่อนที่จะเข้าฤดูฝน เพื่อให้เป็นทุ่งโล่ง และเพิ่มธาตุอาหารในดินก่อนที่จะลงมือปลูกพืชในช่วงหน้าฝน และจะทำการเพาะปลูกจากธาตุอาหารที่สามารถทำได้โดยธรรมชาติ การจัดการที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน แล้วนี่เอง.. สมัยก่อนนั้น ชาวดอย ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีในการซื้อมาเพื่อบำรุงพันธุ์พืช เพียงแต่ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการหล่อเลี้ยง และเพาะพันธุ์ผลผลิตของตนอย่างพอเพียง หลังจากนั้นก็ย้ายพื้นที่เพาะปลูกใหม่ เพื่อให้พื้นที่เก่านี้ฟื้นตัวขึ้นมา เพื่อที่จะทำไร่ปีหน้า โดยการปล่อยทิ้งไว้ในช่วงระยะเวลา 1 ปีหรือ 2 ปี เมื่อกลายสภาพเป็นป่าแล้ว จะไปทำไร่ได้อีก แต่มาถึงปัจจุบันพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน ปล่อยทิ้งไว้ในช่วงระยะเวลา 1 ปีหรือ 2 ปี ให้คืนสภาพป่า


เจ้าหน้าที่ป่าไม้แจ้งว่าทำไร่ดอยสูงทำไม่ได้ จะยึด โดยอ้างว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็นเขตป่า ถึงแม้เดิมจะเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านก็ตาม และไร่หมุนเวียนในปัจจุบันถูกมองว่าเป็นการทำลายป่าไม้ ตามนิยามของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ปัจจุบันเมื่อวิทยาการนำสมัยมากขึ้น และความเป็นเมือง รวมถึงการแพร่ระบาดของสื่อเข้ามาหมายรวมไปถึง เรื่องราวของการเกษตร และนำสิ่งทันสมัยที่บอกว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิตให้งอกงามดี และเพิ่มมากขึ้นได้ จึงทำให้สารเคมีต่าง ๆ กระจาย เข้ามาสู่วิถีการเกษตรชาวดอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลาย ๆ ครั้งที่หลักทฤษฎีของคนเมือง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงในชีวิตที่ เขาเคยทำมา บางทีบทพิสูจน์ของนักวิชาการที่ทำเพียงระยะหนึ่งกับการดำรงอยู่ของชาวเขา อาจจะไม่สอดคล้องกันก็เป็นได้ เมื่อวิชาการบอกว่า การเผาหญ้าไม่ดี ควรบำรุงดิน ด้วยผลิตภัณฑ์น้ำยาเคมีต่าง ๆ ด้วยความที่การศึกษา และบทบาทของนักวิชาการดูน่าเชื่อถือ เพราะมีทั้งหลักในการอ้างทฤษฎีอย่างมากมาย ทำให้ชาวบ้านหันมาใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น...ในระยะแรกผลผลิตต่าง ๆ งอกงามดีมาก และเพิ่มมากขึ้น แต่..ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ในการทำเกษตรครั้งต่อ ๆ ไป จำเป็นที่ต้องใช้ยาเพิ่ม ดินเริ่มเสื่อมคุณภาพ สารเคมีราคาสูงขึ้น ปัญหาผลผลิตที่ล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำลง แน่ละเงินกู้นอกระบบเกิดขึ้น.. มีหลาย ๆ พื้นที่ ที่ต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคาให้ แต่ปัญหานั้น ก็ไม่ได้รับการแก้ไข้อย่างทั่วถึง เพราะมันมากเกินไปนั่นเอง ในที่สุดคำว่าเกษตรทางเลือกจึงถูกนำมาใช้ นักวิชาการหันมาบอกชาวบ้านว่าควรใช้ปุ๋ยชีวภาพ ใช้สิ่งที่เป็นธรรมชาติ มาทดแทนสารเคมี ในขณะเดียวกัน สื่อโฆษณาต่าง ๆ ยังคงออกมาบอกกล่าวถึง สรรพคุณของน้ำยาสารเคมีเหล่านั้น... ให้ผลผลิตดี เมื่อทุกอย่างถูกเปลี่ยนแปลงโดยกระแสของเทคโนโลยีแล้ว การที่เคยเพิ่มปริมาณของสารเคมี และจะต้องกลับมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว เพราะกว่าที่หน้าดินจะคืนสภาพอย่างน้อยต้องใช้เวลานานหลายปีเลยทีเดียว แล้วระหว่างที่รอ ค่ากินอยู่ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหล่ะ? ถามหาคนรับผิดชอบไม่มีแล้ว ทำอย่างไรถึงจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงได้ นี่คือคำถามที่ยังไม่พบคำตอบเสียที

สมัยก่อนใช้ควายเป็นเพื่อนคู่หูในการทำนา แต่ถึงปัจจุบันใช้รถไถแทน ต้องเร่งเพื่อทำเวลาให้เสร็จเร็ว ๆ เน้นการส่งออกขาย สุดท้ายผลเหล่านั้นก็ตกอยู่ที่ชาวบ้าน และในที่สุดก็ออกมาปฎิรูปกัน....ให้กลับมาใช้ปุ๋ยธรรมชาติ ใช้วิถีเดิม ๆ ที่เคยทำมาก่อน