วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าลีซู : ยาสมุนไพรสำหรับแม่ที่ไม่มีน้ำนม

การใช้ยาบำรุงน้ำนม
กรณีที่แม่มีน้ำนมไม่เพียงพอนั้น มีวิธีแก้ไขได้ คือ ต้มยาบำรุงให้ดื่ม (บุวุ้ย) กับไก่กระดูกดำ เขากวางอ่อน กวาหลูซือ ใส่เครื่องเทศ เอายานี้ให้แม่ลูกอ่อนกินตอนอยู่รอบไฟ ซึ่งต้องกินหลายครั้ง จะช่วยบำรุงเลือด บำรุงน้ำนมให้ไหลได้ดียิ่งขึ้น

ข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามหญิงอยู่เดือน
หลังจากที่พักอยู่ไฟ (หลังคลอด 7 วัน และผ่านการอบสมุนไพร) แม่และเด็กสามารถถูกน้ำเย็นได้บ้างแล้ว สามารถซักผ้า และทำอาหารเอง หรือทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ แต่ไม่ให้ยกของหนัก ไม่ควรทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา เพราะจะทำให้สายตาเสียได้ และไม่ควรปล่อยให้ร่างกายเย็นจนเกินไป ต้องใส่เสื้อผ้าหนา ๆ สวมหมวก ใส่ถุงเท้าเพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายตลอดเวลา

ข้อห้ามสำหรับหญิงอยู่รอบเดือน
1. ในระยะอยู่เดือน ห้ามสามีกับภรรยามีความสัมพันธ์ทางเพศอย่างเด็ดขาด
2. ห้ามหญิงที่อยู่รอบเดือนไปบ้านผู้อื่นอย่างเด็ดขาด
3. ห้ามทำงานหนักและห้ามใช้สายตามาก เช่น การเย็บผ้า

การอบสมุนไพร
การอบสมุนไพรช่วงนี้ ทำให้แม่เด็กนั้นร่างกายแข็งมากขึ้น ก่อนที่จะไปทำไร่ทำนาหรือทำงานอย่างอื่น ๆ จะช่วยให้ทนแดด ทนฝน ทำงานหนักได้เหมือนเดิม ลีซูนั้นพอครบหนึ่งเดือนหญิงที่คลอดจะต้อง “อ้าขื่อโดพั๊ว” พออยู่ครบเดือนแม่เด็กต้องพาเด็กไปที่ไร่ ซึ่งเป็นการเปิดหูเปิดตาของเด็กให้รู้จักไร่ นา เพื่อเป็นศิริมงคลกับเด็กในอนาคต

วิธีการอบสมุนไพร
นำสมุนไพรทั้งหมดมาต้มไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง แล้วก็ทำกระโจมเป็นที่อบสมุนไพรของแม่เด็ก แล้วให้แม่เด็กเข้าไปอบประมาณ 1 ชั่วโมง สำหรับชนิดของสมุนไพร และสรรพคุณนั้นเหมือนกับตอนอบสมุนไพรอยู่ไฟทั้งหมด

วิธีการหย่านม
ช่วงที่หย่านมนั้นแม่เด็กจะพยายามไม่อยู่ใกล้กับเด็ก โดยให้พ่อเด็กและปู่ ย่า ตา ยาย เลี้ยงทั้งกลางวันและกลางคืน จนกว่าเด็กลืมความสุข และความอบอุ่นที่ได้จากการดูดนมแม่ กรณีบังคับให้เด็กหย่านมด้วยตนเอง แม่จะหาอาหารหรือผลไม้ที่มีรสขม เช่น มะเขือที่มันขมหรืออื่น ๆ ที่มีรสขม แต่ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก มาทาที่หัวนมไว้พอเด็กมาดูดนมจะทำให้เด็กขม เด็กก็จะไม่กล้าดูดนมอีก ทำเช่นนี้บ่อย ๆ ไม่นานเด็กก็จะเลิกไปเอง   

สูตรยาสมุนไพรทั่ว ๆ ไปและวิธีการรักษา
1. สมุนไพร เช่น เพียะหว่าหล่า หลูขว่าแน มีสรรพคุณ ใช้แก้ลม เป็นยารักษาอาการชัก วิธีการรักษา โดยนำยามาต้มแล้วรับประทานร้อน ๆ
2. สมุนไพร เช่น นาฉึสุ่ยส่ย มีสรรพคุณ ใช้แก้ร้อนใน นำยามาต้มแล้วทิ้งไว้จนเย็น ค่อยรับประทาน
3. สมุนไพร เช่น อ๊าวุ้ย มีสรรพคุณ ใช้แก้หวัด สำหรับเด็ก นำสมุนไพรมาเสียบที่หมวกของเด็กทารก แล้วให้เด็กสวมไว้
4. สมุนไพร เช่น กึ่งหนึ่งคัว มีสรรพคุณ ใช้แก้ช้ำใน แก้ปวดเมื่อย ปวดตามข้อต่าง ๆ ดองกับเหล้าแล้วดื่ม หรือทาตรงบริเวณที่ปวดเมื่อยและทาบริเวณที่ แมลงสัตว์กัดต่อย (ยาสมุนไพรชนิดนี้ หากดื่มมากเกินไปอาจถึงตายได้)
5. สมุนไพร เช่น ยาเบอเรอ มีสรรพคุณ ใช้แก้ท้องเสีย โดยมาต้มแล้วดื่มตอนร้อน ๆ
6. สมุนไพร เช่น แกะหญ้า มีสรรพคุณ ใช้แก้อาหารเป็นพิษนำมาต้มดื่ม
7. สมุนไพร เช่น อิ้น่านาฉึ ป้าฟุนาฉึ นาฉึสุ่ยสุ่ย มีสรรพคุณ เป็นยาบำรุงร่างกาย เลือด น้ำนม นำมาต้มดื่ม
8. สมุนไพร เช่น ขิง ตะไคร้ มีสรรพคุณ ใช้แก้เจ็บคอ หรือไอ นำมาต้มดื่ม
9. สมุนไพร เช่น ตี้ต่ายู อี้นำมานาฉึ อาก้าจึงโต มีสรรพคุณ ขับเลือด ขับเหงื่อ และของเสียในร่างกายของมารดาที่อยู่รอบไฟ
10. สมุนไพร เช่น น้ำปัสสาวะ มีสรรพคุณ แก้ช้ำใน กรณีเด็กหกล้มหรือตกจากที่สูง นำน้ำปัสสาวะมาให้ดื่ม
11. สมุนไพร เช่น ขี้เถ้า มีสรรพคุณ รักษากลากเกลื้อน นำเอาขี้เถ้าอุ่นๆมาถูบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน
12. สมุนไพร เช่น หม่าสุโกจึงกับเกลือ มีสรรพคุณ รักษาโรคน้ำกัดเท้า นำหม่าสุโกจึงกับเกลือมาต้มให้เดือด แล้วมาล้างบริเวณที่เป็นน้ำกัดเท้า
13. สมุนไพร เช่น น้ำมูก มีสรรพคุณ รักษาส้นเท้าแตก เอาขี้มูกมาทาที่บริเวณสั้นเท้าที่แตก
14. สมุนไพร เช่น ซางซึง มีสรรพคุณ รักษาฝี นำซางซึงมาห่อที่ฝี (ฝีที่ยังไม่เป็นหัว)
15. สมุนไพร เช่น จินาเพียะ กับไอข้าว มีสรรพคุณ รักษาโรคตาแดง นำมาต้มแล้วมาอบที่ตา สำหรับไอข้าวนั้นนำข้าวที่ต้มสุกตักใส่ถ้วย แล้วเอาผ้าบาง ๆ มาปิดที่ปากถ้อยแล้วนำมาประกรบกับตา เพื่อให้ไอข้าวนั้นเข้าไปในตา

การเตรียมยาสมุนไพรก่อนคลอด
ลีซู จะมีการเตรียมยาสมุนไพรสำหรับแม่และเด็กตั้งแต่การตั้งครรภ์แรก ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าที่มีความรู้ทางด้านสมุนไพร เวลาไปไร่แล้วไปพบยาสมุนไพรต่าง ๆ ก็จะเก็บมาตากแห้งไว้ให้ไว้ก่อนแล้ว

ยาสมุนไพรสำหรับกินในเดือนหรือรบในเดือน
เช่น จะกุ ปาโก ผู้หญิงที่พอรู้ตัวว่าตัวเองท้องก็จะหาซื้อหรือหาเก็บไว้ก่อน และจะนำคั่วให้สุกแล้วตำให้ละเอียดเก็บไว้อย่างดี เพราะสมุนไพรเหล่านี้กินแล้วมีน้ำนมเยอะ ส่วนสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ที่จะกินตอนอยู่ไฟหรืออยู่ในรอบเดือน ก็จะมีการเตรียมไว้เห็นที่ไหนก็จะเก็บไว้ที่บนชั้นหิ้ง (กาเถาะ) ถึงเวลาใช้เมื่อไหร่ก็ค่อยเอาออกมาใช้

ข้อมูลนี้ได้นำมาจาก ศ.ว.ท / impect 


ข้อมูลจาก http://www.hilltribe.org/thai/lisu/lisu-mother-no-milk.php