วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าลีซู : มารยาท

สอนให้เด็กรู้จักมารยาท
1. อย่าลบหลู่ และไม่ให้เถียงผู้ใหญ่หรือผู้อาวุธโส จะเป็นบาปกรรม
2. เวลามีแขกมาที่บ้าน ห้ามส่งเสียงดังและห้ามงอแง
3. เวลามีแขกที่บ้าน ห้ามร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกับแขกผู้ใหญ่
4. เวลามีแขกที่บ้าน ต้องไปเล่นไกลจากผู้ใหญ่ที่นั่งพูดกัน
5. เวลามีแขกมาที่บ้าน ลูกสาวต้องช่วยแม่ทำอาหารสำหรับแขก (งานง่าย ๆ)
6. ถ้าเดินผ่านหน้าผู้ใหญ่ ต้องก้มตัวเล็กน้อยแล้วเดินผ่านอย่างเงียบ ๆ
7. เวลามีแขกมาที่บ้าน เอาเก้าอี้กับน้ำดื่มมาต้อนรับหรือเรียกเข้าบ้าน
8. เวลามีแขกมาที่บ้าน เวลากวาดบ้านในขณะที่ยังมีคนอยู่จะต้องกวาดเบา ๆ ห้ามให้ฝุ่นละอองปลิวไปโดนผู้อื่น

สอนให้ช่วยเหลือผู้อื่น
ส่วนใหญ่จะสอนให้ว่าต้องช่วยเหลือผู้อื่น และต้องมีน้ำใจกับคนอื่นที่เขาไม่มีกิน และไม่มีที่อยู่อาศัย สอนให้ไม่คิดร้ายกับคนอื่น และไม่อิจฉาริษยาคนอื่น อาจจะทำให้เราได้การที่คิดร้ายกับคนอื่น และอาจจะได้รับผลตอบแทนด้วยตนเองก็ได้ ถ้าเราคิดแต่ทำร้ายคนอื่น ทำให้เราต้องคิดมาก และทำให้เราไม่มีความสุข ไปไหนมาไหนก็ไม่มีใครชอบ ในลักษณะนี้จะกระทำโดยการบอกเล่าเรื่องราวที่เห็นประสบการณ์ ได้แก่ นิทาน นำนาม คือ การกระทำของผู้ที่คิดร้ายกับคนอื่น เรื่องเล่า (เรื่องขำขัน) เนื้อหาจะมีความละเอียดลึกซึ้ง จึงต้องผ่านเรื่องราวที่สนุก ตื่นเต้นหรือสะเทือนใจ เพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วมกับจิตสำนึกที่ดีต่อผู้อื่น ชาวลีซูมักจะสอนให้กับเด็กรู้จักทำความดี ภาษาลีซูเรียกว่า หล่าโชหม่ามู หนี่หมัว หมายถึง ไม่คิดร้ายกับผู้อื่น ทำความดีหรือทำความชั่ว ถึงแม้คนไม่เห็น แต่ผีเห็น ดังนั้นการขโมยของคนอื่น การคิดร้ายต่อคนอื่น ถึงแม้เขาไม่เห็นและไม่รู้ก็อย่าไปทำ เพราะว่าผีมองเราอยู่ตลอดเวลา เล่าให้เด็กฟังบ่อย ๆ ก่อนนอน หรือช่วงเวลาที่อยู่กับเด็ก เพื่อให้เด็กเกิดมีจิตสำนึกที่ดีในอนาคต

สอนให้เด็กรู้อาปาโหม่ฮี
สอนปฏิบัติตัวเมื่อต้องไปร่วมพิธีกรรมที่อาปาโหม่ฮี จะสอนต่อเมื่อมีพิธีกรรมที่อาปาโหม่ฮี ส่วนเด็กผู้ชายเข้าไปวิ่งเล่นที่บริเวณอาปาโหม่ฮีได้ ส่วนเด็กผู้หญิงสอนให้ว่าห้ามเข้าไปเล่นที่บริเวณอาปาโหม่ฮี เด็กผู้ชายตามผู้ใหญ่ไปร่วมพิธีได้ และสอนเด็กว่าควรทำอะไรก่อน เมื่อไปถึงอันดับแรก จุดธูป ทำความเคารพ ทำตัวให้สุภาพไม่กล่าวร้ายหรือคิดร้ายกับผู้อื่น ห้ามตัดต้นไม้บริเวณอาปาโหม่ฮี เพราะว่าอาปาโหม่ชอบความสงบและชอบความร่มเย็น

สอนปฎิบัติช่วงเทศกาลปีใหม่
ชนเผ่าลีซู มีความเชื่อว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ สมาชิกแต่ละบ้านทุกคนต้องรักษาความประพฤติของตัวให้ดี และต้องรักษาความสะอาดของบริเวณบ้าน เพราะเชื่อว่าจะมีเทพมาตรวจความเรียบร้อย ถ้าบ้านใดสะอาดน่าอยู่ก็จะให้พร โดยให้ขวัญเงินขวัญทองสถิตย์อยู่บ้านที่น่าอยู่เท่านั้น จะทำให้บ้านหลังนั้นทำมาหากินได้ดี หากบ้านไหนสกปรกก็จะสาปแช่งให้ยากจน โดยปกติสอนให้ทุกคนในบ้านช่วยกันรักษาความสะอาดอยู่เสมอ เพราะเชื่อกันว่าขวัญเงิน ขวัญทองนั้นต้องการความสะอาด ถ้าหากบ้านไหนสกปรก ขวัญเงิน ขวัญทองจะไม่อยู่ นอกจากนั้นช่วงปีใหม่จะมีแขกที่เป็นเครือญาติ และนอกวงศาคณาญาติมาร่วมพิธีจำนวนมาก สอนเด็กล่าวหน้าว่าห้ามงอแงเวลามีแขกมาบ้าน

การสอนประสบการณ์และปฏบัติจริง

การสอนกรณี คือการเรียนรู้กระทำต้องผ่านการติดสอยห้อยตาม ผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าหรือผู้อาวุธโส ไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน การที่เด็กติดตามไปกับพ่อแม่ไปไร่ไปสวน เพื่อไปเรียนรู้โดยการสัมผัสกับสถานการณ์จริง เช่น การเรียนรู้พิธีกรรมในไร่ (อามีหนี่กุ๊) เป็นพิธีกรรมที่ทำกันในไร่ปีละครั้ง ก่อนที่จะลงมือเพาะปลูก เป็นการขอพรว่าปีนี้ปลูกอะไรก็ให้ได้ผลผลิตดี โดยนำไก่ตัวหนึ่งไปไหว้ อามีหนี่ (ผีไร่) พิธีนี้ทำที่ไร่และกินที่ไร่ เด็ก ๆ ชอบตามไปไร่ร่วมพิธีด้วย เด็กได้เรียนรู้และได้เรียนรู้การทำเกษตรของพ่อแม่ด้วย

สอนทำงานไร่และการเลี้ยงสัตว์
1. การ ทำมาหากิน พ่อ แม่ ให้เด็กติดตามไปไร่ตั้งแต่เด็ก ให้ไปช่วยงานง่าย ๆ มีสุภาษิตเตือนใจว่า “ให้ดูคนอื่นเขาทำ อย่าไปดูคนอื่นเขากินอยู่” คือ ให้เด็กรู้จักการทำมาหากิน ว่าให้ดูคนอื่นทำงาน เขาทำอย่างไรเขาถึงมีกิน ไม่ลำบาก อย่าไปดูคนอื่นกินอยู่ ที่เขาได้กิน เพราะเขาขยันหมั่นเพียร ไม่มีใคร และไม่มีคนไหนที่ได้กินโดยไม่ทำ
2. การ เลี้ยงสัตว์ เป็นการเลี้ยงแบบง่าย ๆ ให้อาหารไก่ เป็นข้าวโพดข้าวเปลือก ส่วนอาหารหมู ข้าวโพด ให้เฉพาะตอนเช้า-เย็น ส่วนกรณีไปไร่ไปสวน เวลากลับมาบ้านให้เด็กช่วยแบกอาหารหมู เช่น ข้าวโพด หยวกกล้วย หญ้า พอเหมาะตามแรง และความสามารถในการแบกรับน้ำหนักของเด็ก เพื่อฝึกเด็กให้รู้จักการเลี้ยงสัตว์ ฝึกให้เด็กช่วยเหลือพ่อแม่ทำมาหากิน

สอนพิธีแก้ปัญหากรณีหลงป่า

สมัยก่อนมีแต่ป่าดงดิบ ถ้าเข้าไปลึกจะหาทางออกไม่ได้ มีความเชื่อกันว่า ถ้าหลงป่าให้ถอดเสื้อแล้วกลับเสื้อข้างในออกมาข้างนอกแล้วใส่ใหม่ จะทำให้หาทางออกได้ ทางที่ดีที่สุดพยายามจำทางหรือไม่ก็ให้ทำเครื่องหมายไว้

สอนพิธีวิงวอนเจ้าที่เจ้าทางและเจ้าป่าเจ้าเขา
ก่อนที่จะไปล่าสัตว์หรือต้องไปค้างแรมในป่า ต้องมีการขออนุญาตเจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา เพื่อขอเข้าไปล่าสัตว์หรือใช้เป็นเส้นทางเดินผ่าน ขอให้เจ้าป่าเจ้าเขา ช่วยคุ้มครองมิให้สิ่งชั่วร้ายมารบกวน ระหว่างที่ไปทำการล่าสัตว์หรือระหว่างนอนค้างแรมในป่า โดยมีการนำกระดาษทำพิธีและเส้นยาสูบ ธูป ไปบนบานที่บริเวณป่าที่เราไปล่าสัตว์หรือค้างแรม

ข้อมูลนี้ได้นำมาจาก ศ.ว.ท. / IMPECT


ข้อมูลจาก http://www.hilltribe.org/thai/lisu/lisu-manners.php