พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (ฉบับที่ 3) พ. ศ. 2535

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/01/2008
ที่มา: 
พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ฯ

พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (ฉบับที่ 3) พ. ศ. 2535

        ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2535 เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ ว่า

        โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ รัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535"

        มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่ มาตรา 9 และ มาตรา 10 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหกสิบวันนับ แต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 3 ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า "จัดหาเงินทุนจากประชาชน" และคำว่า "บัตรเงินฝาก" ระหว่างคำว่า "กิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ" และคำว่า "ให้กู้ยืมเงิน" ใน มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2526

        "จัดหาเงินทุนจากประชาชน" หมายความรวมถึง กู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนด้วย

        "บัตรเงินฝาก" หมายความว่า ตราสารซึ่งเปลี่ยนมือ ได้ที่บริษัทเงินทุนออกให้แก่ผู้ฝากเงินเพื่อ เป็นหลักฐานการรับฝากเงิน และเพื่อแสดงสิทธิของผู้ทรงตราสารที่จะได้รับเงินฝากคืนเมื่อสิ้น ระยะเวลาอันกำหนดไว้ โดยจะมีการกำหนดดอกเบี้ยไว้ด้วยหรือ ไม่ก็ได้"

        มาตรา 4 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า "เงินกองทุน ใน มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

        ""เงินกองทุน" หมายความว่า

         (1) ทุนชำระแล้วซึ่งรวมทั้งส่วนล้ำมูลค่าหุ้นที่บริษัทได้รับ และเงินที่บริษัทได้รับจากการออก ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นของบริษัทนั้น

         (2) ทุนสำรอง

         (3) เงินสำรองที่ได้จัดสรรจากกำไรสุทธิเมื่อสิ้นงวดการบัญชี ตามมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นหรือ ตามข้อบังคับของบริษัท แต่ไม่รวมถึงเงินสำรองสำหรับการลดค่าของสินทรัพย์และ เงินสำรองเพื่อการชำระหนี้

         (4) กำไรสุทธิคงเหลือจากการจัดสรร

         (5) เงินสำรองจากการตีราคาสินทรัพย์ เงินสำรองอื่น และ

         (6) เงินที่บริษัทได้รับเนื่องจากการออกตราสารแสดงสิทธิ ในหนี้ระยะยาวเกินห้าปีที่มีสิทธิด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญ

        เงินกองทุนตาม (1) (2) (3) และ (4) ให้หักผลขาดทุนที่เกิดขึ้น ในทุกงวดการบัญชีออกก่อน และให้หักค่าแห่งกู๊ดวิลล์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

        ชนิด ประเภท และการคำนวณเงินกองทุนตาม (5) หรือ (6) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

         เงินกองทุนตาม (1) (2) (3) (4) (5) และ (6) ให้หักเงินตามตราสารใน (6) ของ ธนาคารพาณิชย์และบริษัทอื่นที่บริษัทนั้นถือไว้และสินทรัพย์อื่นใด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด"

         มาตรา 5 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเงินทุน และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

         " มาตรา 17 บริษัทเงินทุนต้องมีจำนวนหุ้นที่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยถืออยู่ไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวน หุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และต้องมีกรรมการเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานของบริษัทเงินทุนนั้น รัฐมนตรีด้วยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจผ่อนผันให้มีจำนวนผู้ถือหุ้นหรือกรรมการเป็นอย่างอื่น ได้ในการผ่อนผันนั้นจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้"

         มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น มาตรา 27ทวิ และ มาตรา 27ตรี แห่งพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522

         " มาตรา 27ทวิ บริษัทเงินทุนจะรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้โดยวิธีออกบัตรเงินฝากก็ได้

บัตรเงินฝากต้องมีรายการดังต่อไปนี้

         (1) คำบอกชื่อว่าเป็นบัตรเงินฝาก

         (2) ชื่อบริษัทเงินทุนผู้ออกบัตรเงินฝาก

         (3) วันที่ออกบัตรเงินฝาก

         (4) จังหวัดที่ออกบัตรเงินฝาก

         (5) ข้อตกลงอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะจ่ายเงินเป็นจำนวนหนึ่ง ที่แน่นอนพร้อมด้วยดอกเบี้ย (ถ้ามี)

         (6) วันถึงกำหนดจ่ายเงิน

         (7) สถานที่จ่ายเงิน

         (8) ชื่อของผู้ฝากเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้จ่ายเงินแก่ผู้ถือ

         (9) ลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัทเงินทุนผู้ออกบัตรเงินฝาก

         " มาตรา 27ตรี ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 ถึง มาตรา 907 มาตรา 911 มาตรา 913 (1) แล ะ(2) มาตรา 914 ถึง มาตรา 916 มาตรา 917 วรรคหนึ่ง และ วรรคสาม มาตรา 918 ถึง มาตรา 922 มาตรา 924 มาตรา 926 มาตรา 938 ถึง มาตรา 942 มาตรา 945 มาตรา 946 มาตรา 948 มาตรา 949 มาตรา 959 มาตรา 967 มาตรา 971 มาตรา 973 มาตรา 986 มาตรา 994 ถึง มาตรา 1000 มาตรา 1006 ถึง มาตรา 1008 มาตรา 1010 และ มาตรา 1011 มาใช้บังคบแก่บัตรเงินฝากโดยอนุโลม"

         มาตรา 7 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

        " มาตรา 29 ให้บริษัทเงินทุน ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็น ชอบของรัฐมนตรี"

        มาตรา 8 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

         " มาตรา 35 ห้ามมิให้บริษัทเงินทุนให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนในกิจการของผู้อื่นหรือก่อภาระผูกพันหรือจ่าย เงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันเมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เกินจำนวนเงินหรืออัตราส่วนกับเงินกองทุนทั้งหมดหรือเงินกองทุนชนิดหนึ่งชนิดใดหรือหลายชนิดตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการอนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนด เงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

         การให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนในกิจการของบุคคลหรือห้างหุ้นส่วน ดังต่อไปนี้หรือก่อภาระผูกพันหรือจ่าย เงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนหรือก่อ ภาระผูกพันหรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งด้วย

         (1) คู่สมรสของบุคคลตามวรรคหนึ่ง

         (2) บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลตามวรรคหนึ่ง

         (3) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่บุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) เป็นหุ้นส่วน

         (4) ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่บุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือบุคคลตาม (1) (2) หรือ (3) เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หรือเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่มีหุ้นรวมกัน เกินร้อยละสามสิบของทุนทั้งหมด ของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น

         (5) บริษัทจำกัดที่บุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือบุคคลตาม (11) หรือ (2) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (3) หรือ (4) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่าย ได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น

         ในการให้กู้ยืมเงินหรือก่อภาระผูกพันหรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันตามวรรคหนึ่ง ถ้าบุคคลตาม วรรคหนึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด จำนวนเงินที่ให้กู้ยืมหรือก่อภาระผูกพันหรือจ่ายเงินตามภาระ ผูกพันรวมกันจะต้องไม่เกินอัตราส่วนกับทุนหรือเงินกองทุนของบุคคลนั้นตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้รับผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการผ่อนผันธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเฉพาะธุรกิจเงินทุนบางประเภท และจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้การกำหนดตามมาตรานี้ จะกำหนดตามประเภทธุรกิจเงินทุน แต่ละประเภทก็ได้"

        มาตรา 9 ให้ยกเลิกความใน มาตรา 70 แห่ง พระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน

         " มาตรา 70 บริษัทใด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 10 มาตรา 12 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง มาตรา 15 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 22ทวิ มาตรา 23 วรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือ วรรคสาม มาตรา 23ทวิ วรรคหนึ่ง มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26ทวิ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสี่ มาตรา 26ตรี วรรคหนึ่ง มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 34 มาตรา 35 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม มาตรา 37 มาตรา 51 มาตรา 53 มาตรา 54 หรือ มาตรา 55 หรือ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งที่กำหนดตาม มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 20 (1) (2) (4) (5) (6) (8) หรือ (11) มาตรา 22ตรี มาตรา 23ทวิ มาตรา 26 วรรคสอง มาตรา 26ทวิ วรรคหนึ่งหรือ วรรคสอง มาตรา 26ตรี วรรคสอง มาตรา 26จัตวา มาตรา 29ทวิ มาตรา 35 วรรคหนึ่งหรือ วรรคสาม มาตรา 37 มาตรา 54 (1) (4) (5) (6) (8) หรือ (9) มาตรา 55 มาตรา 57 มาตรา 57ทวิ มาตรา 57ตรี หรือ มาตรา 65 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไข ในกฎกระทรวงตาม มาตรา 7 วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกิน วันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง"

         มาตรา 10 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของ มาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และให้ ใช้ความต่อไปนี้แทน

         "ในกรณีที่บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 20 มาตรา 23ทวิ มาตรา 26ทวิ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสี่ มาตรา 26ตรี วรรคหนึ่ง มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง หรือ วรรคสอง มาตรา 32 มาตรา 35 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม มาตรา 54 หรือ มาตรา 55 หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งที่กำหนดตาม มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 20 (1) (2) (4) (6) หรือ (11) มาตรา 22ตรี มาตรา 23ทวิ มาตรา 26 วรรคสอง มาตรา 26ทวิ วรรคหนึ่ง หรือ วรรคสอง มาตรา 29ทวิ มาตรา 35 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม มาตรา 54 (1) (4) (5) (6) หรือ (9) มาตรา 55ทวิคี่ 57 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง กรรมการ หรือผู้จัดการของบริษัทนั้น หรือบุคคล ใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้นด้วย "

        มาตรา 11 ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมิได้ออกประกาศตาม มาตรา 29 หรือ มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ หรือออกประกาศแล้วแต่ประกาศดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับ ให้ บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ถือปฏิบัติ ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งออกตาม มาตรา 29 หรือ มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 ไปพลางก่อน

        มาตรา 12 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

:: ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
:: อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี

        *หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติม บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์และ เพิ่มเติมบทบัญญัติใหม่เพื่อขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจเงินทุน โดยให้บริษัทเงินทุนสามารถรับฝาก เงินจากประชาชนโดยการออกสมุดคู่ฝากหรือออกบัตรเงินฝากได้ นอกจากนี้ ได้ยกเลิกข้อกำหนด เกี่ยวกับการกระจายหุ้นให้บุคคลธรรมดารายย่อยเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด และปรับปรุงข้อกำหนดในเรื่องเงินกองทุนของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เพื่อให้เป็นไป ตามแนว ทางสากลตามข้อเสนอของ BANK FOR INTERNATIONAL SETTLEMENTS (BIS) ซึ่งเป็น องค์การระหว่างประเทศที่ช่วยพัฒนาและกำกับสถาบันการเงินที่ดำเนินกิจการในตลาดประเทศให้มี ความมั่นคงเป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้(ร.จ. เล่ม 109 ตอนที่ 44 หน้า 7 วันที่ 9 เมษายน 2535)