พระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/01/2008
ที่มา: 
พระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒

พระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒
เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน


        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒”

        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

         (๑) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว พ.ศ. ๒๕๐๒

         (๒) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๐๖

         (๓) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๙

         (๔) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๑

         (๕) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๖

         (๖) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๗

         (๗) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๑๘

         (๘) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๑๙

        มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

         “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” หมายความว่า อุตสาหกรรมที่จัดให้มีหรือให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักรโดยมีค่าตอบแทน และหมายความรวมถึง

         (๑) ธุรกิจนำเที่ยว

         (๒) ธุรกิจโรงแรมนักท่องเที่ยว

         (๓) ธุรกิจภัตตาคาร สถานบริการและสถานที่ตากอากาศสำหรับนักท่องเที่ยว

         (๔) ธุรกิจการขายของที่ระลึกหรือสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยว

         (๕) ธุรกิจการกีฬาสำหรับนักท่องเที่ยว

         (๖) การดำเนินงานนิทรรศการ งานแสดง งานออกร้าน การโฆษณาเผยแพร่ หรือการดำเนินงานอื่นใดโดยมีความมุ่งหมายเพื่อชักนำหรือส่งเสริมให้มีการเดินทางท่องเที่ยว

         “ผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” หมายความว่า ผู้ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         “นักท่องเที่ยว” หมายความว่า บุคคลที่เดินทางจากท้องที่อันเป็นถิ่นที่อยู่โดยปกติของตนไปยังท้องที่อื่นเป็นการชั่วคราวด้วยความสมัครใจและด้วยวัตถุประสงค์อันมิใช่เพื่อไปประกอบอาชีพหรือหารายได้

         “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

         “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

         “ผู้ว่าการ” หมายความว่า ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

         “รองผู้ว่าการ” หมายความว่า รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

         “พนักงาน” หมายความว่า พนักงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหมายความรวมถึงผู้ว่าการและรองผู้ว่าการด้วย

         “ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

        มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา*รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

[แก้ไข]
หมวด ๑ การจัดตั้ง ทุน และเงินสำรอง

_____________

        มาตรา ๖ ให้จัดตั้งองค์การขึ้นเรียกว่า “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” เรียกโดยย่อว่า “ททท.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “TOURISM AUTHORITY OF THAILAND” เรียกโดยย่อว่า“TAT” และ ให้มีตราเครื่องหมายของ “ททท.”

        รูปลักษณะตราเครื่องหมายตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง

        มาตรา ๗ ให้ ททท. เป็นนิติบุคคล มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และจะจัดตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใดภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรก็ได้ แต่การตั้งสำนักงานสาขาภายนอกราชอาณาจักรต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา* หรือรัฐมนตรีผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

        มาตรา ๘ ททท. มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

         (๑) ส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตลอดจนการประกอบอาชีพของคนไทยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๒) เผยแพร่ประเทศไทยในด้านความงามของธรรมชาติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา และวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ตลอดจนกิจการอย่างอื่นอันจะเป็นการชักจูงให้มีการเดินทางท่องเที่ยว

         (๓) อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว

         (๔) ส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความเป็นมิตรไมตรีระหว่างประชาชนและระหว่างประเทศโดยอาศัยการท่องเที่ยว

         (๕) ริเริ่มให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยว และเพื่อพัฒนาปัจจัยพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว

        มาตรา ๙ ให้ ททท. มีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๘ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

         (๑) ให้คำปรึกษา แนะนำ ร่วมมือและประสานงานกับส่วนราชการ องค์การ สถาบัน นิติบุคคลและเอกชน ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร

         (๒) ส่งเสริม ร่วมมือ หรือดำเนินการในการฝึกอบรมและให้การศึกษาวิชาการต่าง ๆ เพื่อสร้างบุคลากรให้ได้มาตรฐานและเพียงพอในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๓) ส่งเสริมการทัศนศึกษา

         (๔) สำรวจและรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ จากส่วนราชการ องค์การสถาบัน นิติบุคคลและเอกชนผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อประโยชน์ในการจัดทำสถิติเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๕) สำรวจ กำหนดพื้นที่และสถานที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่ต้องสงวนไว้เป็นของรัฐและให้อยู่ในความควบคุมดูแลของ ททท. โดยให้จัดทำเป็นพระราชกฤษฎีกา

         (๖) สำรวจ วางแผนและดำเนินการ จัดสร้าง ส่งเสริม อนุรักษ์ พื้นฟู บูรณะ หรือพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว ตลอดจนทรัพยากรทางการท่องเที่ยวและคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ

         (๗) ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่าที่จำเป็นรวมตลอดถึงการลงทุน หรือร่วมทุนเพื่อเป็นการริเริ่มให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวหรือพัฒนาปัจจัยพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว

         (๘) กู้หรือยืมเงินภายในและภายนอกราชอาณาจักร

         (๙) ให้กู้หรือให้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สินเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๑๐) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุนหรือร่วมทุนในกิจการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๑๑) ถือกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง ทำการแลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้          (๑๒) กระทำกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของ ททท.

        มาตรา ๑๐ ทุนของ ททท. ประกอบด้วย

         (๑) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนตามมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒ เมื่อได้หักหนี้สินออกแล้ว

         (๒) เงินที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดินให้เป็นทุน หรือเพื่อดำเนินงานหรือเพื่อขยายกิจการ

         (๓) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

        มาตรา ๑๑ ททท. อาจมีรายได้ดังต่อไปนี้

         (๑) รายได้จากทรัพย์สินของ ททท.

         (๒) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล

         (๓) รายได้จากการดำเนินกิจการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๔) รายได้จากการลงทุนหรือการร่วมทุน

         (๕) รายได้อื่น

        รายได้ที่ได้รับในปีหนึ่งให้นำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เงินลงทุนหรือร่วมทุนเพื่อกิจการของ ททท. และสมทบกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานใน ททท. ตลอดจนสะสมไว้เป็นเงินสำรองตามมาตรา ๑๒ เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ แต่ถ้ารายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับรายจ่าย นอกจากเงินสำรองตามมาตรา ๑๒ และ ททท. ไม่สามารถหาเงินจากทางอื่นได้ รัฐบาลพึงจ่ายเงินให้แก่ ททท. เท่าจำนวนที่จำเป็น

        มาตรา ๑๒ เงินสำรองของ ททท. ให้ประกอบด้วยเงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองเพื่อไถ่ถอนหนี้ และเงินสำรองอื่น ๆ เพื่อความประสงค์แต่ละอย่าง โดยเฉพาะตามที่คณะกรรมการจะเห็นสมควร

        เงินสำรองธรรมดาจะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยมติของคณะกรรมการ

        มาตรา ๑๓ ให้ ททท. เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

        มาตรา ๑๔ ทรัพย์สินของ ททท. ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

[แก้ไข]
หมวด ๒ การกำกับ การควบคุมและการบริหาร

_____________

        มาตรา ๑๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา* หรือรัฐมนตรีผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจและหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ ททท. และเพื่อประโยชน์ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา* หรือรัฐมนตรีผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจเรียกกรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างใน ททท. มาชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือให้ทำรายงานเสนอ และมีอำนาจที่จะสั่งยับยั้งการกระทำของ ททท. ที่เห็นว่าเป็นการขัดต่อนโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรีได้ด้วย

        มาตรา ๑๖ ในกรณีที่ ททท. จะต้องเสนอเรื่องใด ๆ ไปยังคณะรัฐมนตรี ให้ ททท. นำเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา*หรือรัฐมนตรีผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี

        มาตรา ๑๗ ททท. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินการต่อไปนี้ได้

         (๑) กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงินมีจำนวนเกินคราวละห้าล้านบาท

         (๒) ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน

         (๓) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์อันมีราคาเกินหนึ่งล้านบาท

         (๔) จำหน่ายทรัพย์สินอันมีราคาเกินหนึ่งล้านบาทจากบัญชีเป็นสูญ

         (๕) ลงทุนหรือร่วมทุนในกิจการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีจำนวนเงินเกินห้าล้านบาท

        มาตรา ๑๘ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา* หรือรัฐมนตรีผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทน ปลัดกระทรวงคมนาคมหรือผู้แทน ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือผู้แทน และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินสามคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และให้ผู้ว่าการเป็นกรรมการและเลขานุการ

        มาตรา ๑๙ ให้กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี

        ในกรณีที่กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

        เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

        กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

        มาตรา ๒๐ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๙ กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

         (๑) ตาย

         (๒) ลาออก

         (๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก

         (๔) เป็นบุคคลล้มละลาย

         (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

         (๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

        มาตรา ๒๑ เพื่อประโยชน์แห่งกิจการของ ททท. ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของ ททท. ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

        มาตรา ๒๒ ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ ททท. อำนาจและหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

         (๑) กำหนดนโยบายและอนุมัติแผนงานของ ททท. เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๒) ออกข้อบังคับหรือระเบียบเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา ๘ และมาตรา ๙

         (๓) ออกข้อบังคับว่าด้วยการประชุม และดำเนินกิจการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ

         (๔) ออกข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานต่าง ๆ

         (๕) ออกข้อบังคับกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่น ๆ ของพนักงานและลูกจ้าง

         (๖) ออกข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน การเลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้าง ระเบียบวินัย การลงโทษ และการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงานและลูกจ้าง

         (๗) ออกระเบียบว่าด้วยการร้องทุกข์ของพนักงานและลูกจ้าง

         (๘) ออกข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างและครอบครัว โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

         (๙) ออกข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายค่าพาหนะ เบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าทำงานล่วงเวลา เบี้ยประชุม และการจ่ายเงินอื่น ๆ

         (๑๐) ออกระเบียบว่าด้วยเครื่องแบบพนักงานและลูกจ้าง

        ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานหรือการเงินที่คณะกรรมการกำหนดขึ้น ถ้ามีข้อความให้มีผลเป็นการจำกัดอำนาจผู้ว่าการหรือรองผู้ว่าการในการทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอกไว้ประการใด ให้ประกาศข้อบังคับหรือระเบียบเช่นว่านั้นในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา ๒๓ ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

        ประธานกรรมการ กรรมการ พนักงานและลูกจ้างอาจได้รับเงินรางวัลตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

         มาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งและกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้ว่าการและรองผู้ว่าการด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

         มาตรา ๒๕ ผู้ว่าการและรองผู้ว่าการต้อง

         (๑) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๒) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับ ททท. หรือในกิจการที่กระทำให้แก่ ททท. ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการลงทุนโดยสุจริตในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น

         (๓) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ

         มาตรา ๒๖ ผู้ว่าการหรือรองผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

         (๑) ตาย

         (๒) ลาออก

         (๓) คณะกรรมการให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ

         (๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

         (๕) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๕

        มติของคณะกรรมการให้ผู้ว่าการหรือรองผู้ว่าการออกจากตำแหน่งตาม (๓) ต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดนอกจากผู้ว่าการ และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

        มาตรา ๒๗ ให้ผู้ว่าการเป็นผู้ดำเนินกิจการของ ททท. ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของ ททท. และตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด และให้มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างทุกตำแหน่ง

        ผู้ว่าการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการดำเนินกิจการของ ททท.

        มาตรา ๒๘ ให้ผู้ว่าการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

         (๑) วางรูปการจัดองค์กร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

         (๒) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนให้พนักงานและลูกจ้างออกจากตำแหน่ง ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด แต่ถ้าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างชั้นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการฝ่าย หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไปจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน

         (๓) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของ ททท. โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อระเบียบข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนดไว้

         (๔) แต่งตั้งคณะบุคคลเป็นกรรมการเฉพาะกิจเพื่อปฏิบัติการใด ๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว

         (๕) ดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

        มาตรา ๒๙ ให้รองผู้ว่าการมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างทุกตำแหน่งรองจากผู้ว่าการ และมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของ ททท. ตามที่ผู้ว่าการมอบหมาย

        ในกรณีที่ผู้ว่าการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองผู้ว่าการเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน ในกรณีที่มีรองผู้ว่าการมากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้ว่าการกำหนดผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามลำดับไว้ล่วงหน้า

        ในกรณีที่ผู้ว่าการและรองผู้ว่าการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งกรรมการหรือพนักงาน ททท. ผู้หนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนผู้ว่าการ

        ในการปฏิบัติหน้าที่ของรองผู้ว่าการตามวรรคสอง หรือผู้รักษาการแทนผู้ว่าการตามวรรคสาม ให้รองผู้ว่าการหรือผู้รักษาการแทนผู้ว่าการมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ว่าการ เว้นแต่อำนาจและหน้าที่ของผู้ว่าการในฐานะกรรมการ

        มาตรา ๓๐ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำในนามของ ททท. และเป็นผู้แทนของ ททท. และเพื่อการนี้ผู้ว่าการอาจมอบอำนาจให้รองผู้ว่าการหรือตัวแทนของ ททท. ตามมาตรา ๗ หรือบุคคลใด ปฏิบัติกิจการเฉพาะอย่างแทนได้ แต่ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

        นิติกรรมที่ผู้ว่าการกระทำโดยฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบตามมาตรา ๒๒ วรรคสอง ย่อมไม่ผูกพัน ททท. เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน

[แก้ไข]
หมวด ๓ การร้องทุกข์และการสงเคราะห์

_____________

        มาตรา ๓๑ ให้พนักงานและลูกจ้างมีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

        มาตรา ๓๒ ให้ ททท. จัดให้มีกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นเพื่อสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างและครอบครัว ในกรณีพ้นจากตำแหน่ง ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์

        การจัดให้มีกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่นตามวรรคหนึ่งการออกเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ การกำหนดประเภทของผู้ที่พึงได้รับการสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ การจ่ายเงินสงเคราะห์ และการจัดการกองทุนสงเคราะห์ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

[แก้ไข]
หมวด ๔ การเงิน การบัญชีและการตรวจสอบ

_____________

        มาตรา ๓๓ ให้ ททท. จัดทำงบประมาณประจำปีโดยจำแนกเงินที่จะได้รับในปีหนึ่ง ๆ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ

        ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการให้แยกเป็นงบลงทุนและงบทำการ งบลงทุนนั้นให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

        มาตรา ๓๔ ให้ ททท. วางและรักษาไว้ซึ่งระบบการบัญชีอันถูกต้องแยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำและมีสมุดบัญชีลงรายการ

         (๑) รายรับและรายจ่ายเงิน

         (๒) สินทรัพย์และหนี้สิน

        ซึ่งแสดงการงานที่เป็นอยู่จริงและตามที่ควร ตามประเภทงาน พร้อมด้วยข้อความแสดงที่มาของรายการนั้น ๆ

        มาตรา ๓๕ ให้ผู้ว่าการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีภายในคนหนึ่งหรือหลายคนทำการตรวจสอบบัญชีและหลักฐานต่าง ๆ ของทุกหน่วยงานของ ททท. ได้ทุกเวลา ในระหว่างเวลาทำการแล้วรายงานโดยตรงต่อผู้ว่าการเป็นประจำทุกเดือน

        มาตรา ๓๖ ทุกปี ททท. ต้องจัดทำงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนให้เสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี

        มาตรา ๓๗ ทุกปีให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชี ทำการตรวจสอบรับรองบัญชี และการเงินทุกประเภทของ ททท.

        มาตรา ๓๘ ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุด บัญชีและเอกสารหลักฐานของ ททท. เพื่อการนี้ ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ พนักงานหรือลูกจ้างของ ททท.

        มาตรา ๓๙ ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานผลการสอบบัญชีและการเงินเสนอต่อคณะกรรมการภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี

        มาตรา ๔๐ ให้คณะกรรมการทำรายงานปีละครั้งเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานของ ททท. ในปีที่ล่วงมาพร้อมทั้งคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า

        ให้ ททท. โฆษณารายงานประจำปีที่สิ้นไป โดยแสดงงบดุลบัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้อง รวมทั้งรายงานสรุปผลงานในปีที่ล่วงมาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีของ ททท.

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

_____________

        มาตรา ๔๑ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และความรับผิดขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว พ.ศ. ๒๕๐๒ ที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปเป็นของ ททท. ทั้งนี้ ภายในเวลาไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        มาตรา ๔๒ ให้โอนงบประมาณรายจ่ายขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว พ.ศ. ๒๕๐๒ ที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปเป็นของ ททท. ทั้งนี้ ภายในเวลาไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        มาตรา ๔๓ ให้ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ และบรรดาพนักงานหรือลูกจ้างขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว พ.ศ.๒๕๐๒ ซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นผู้ว่าการ รองผู้ว่าการและพนักงานหรือลูกจ้างของ ททท. แล้วแต่กรณี กับให้ถือว่าเวลาการทำงานของบุคคลดังกล่าวในองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นเวลาการทำงานใน ททท. นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        มาตรา ๔๔ บรรดาข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คงใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีการออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส. โหตระกิตย์
รองนายกรัฐมนตรี

        หมายเหตุ :- ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อจัดตั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยขึ้นแทนองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว และให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและดำเนินกิจการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

        พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕

        มาตรา ๑๘ ในพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้แก้ไขคำว่า “นายกรัฐมนตรี” เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา”

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้