พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/01/2008
ที่มา: 
พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙

พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙
___________

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙
เป็นปีที่ ๖๑ ในรัชกาลปัจจุบัน


        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต

        พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้


        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙”


        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


        มาตรา ๓ ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า

         “สินเชื่อ” ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

         “สินเชื่อ” หมายความว่า การให้กู้ยืมเงินหรือวงเงินในการให้กู้ยืม หรือให้ยืมหลักทรัพย์ให้เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อแบบลิสซิ่ง ค้ำประกัน รับอาวัล รับรองตั๋วเงิน ซื้อ ซื้อลดหรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงินเป็นเจ้าหนี้เนื่องจากได้จ่ายหรือสั่งให้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ของผู้เคยค้าหรือเป็นเจ้าหนี้เนื่องจากได้จ่ายเงินตามภาระผูกพันตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิตหรือภาระผูกพันอื่น การรับเป็นลูกค้าเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ และธุรกรรมอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”


        มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความใน (๕) ของบทนิยามคำว่า “สถาบันการเงิน” ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๕) บริษัทประกันวินาศภัย”


        มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตพ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

        “มาตรา ๑๘ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและประมวลผลข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตให้สมาชิกส่งข้อมูลของลูกค้าของตนแก่บริษัทข้อมูลเครดิตที่ตนเป็นสมาชิกและแจ้งให้ลูกค้าของตนทราบเกี่ยวกับข้อมูลที่ส่งไปเป็นหนังสือ หรือโดยวิธีอื่นตามที่ตกลงกันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งข้อมูลแก่บริษัทข้อมูลเครดิต ในกรณีที่สมาชิกไม่อาจดำเนินการได้ทันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว สมาชิกอาจขอขยายระยะเวลาต่อคณะกรรมการได้อีกไม่เกินสิบห้าวัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”

        การส่งข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของประวัติการชำระสินเชื่อ และประวัติการชำระราคาสินค้าหรือบริการโดยบัตรเครดิตให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต ให้สมาชิกแจ้งให้ลูกค้าของตนทราบตามหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด


        มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

        “มาตรา ๒๐ ให้บริษัทข้อมูลเครดิตเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่สมาชิกหรือผู้ใช้บริการที่ประสงค์จะใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อและการออกบัตรเครดิต โดยในการเปิดเผยหรือให้ข้อมูลดังกล่าวจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อนทุกครั้ง เว้นแต่เจ้าของข้อมูลได้ให้ความยินยอมไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”


        มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

        “มาตรา ๒๙ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต”ประกอบด้วย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการประกันภัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนห้าคน เป็นกรรมการ”


        มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

        “มาตรา ๔๘ สมาชิกผู้ใดไม่ส่งข้อมูลของลูกค้าของตนแก่บริษัทข้อมูลเครดิตที่ตนเป็นสมาชิกต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องสมาชิกผู้ใดไม่แจ้งให้ลูกค้าของตนทราบเกี่ยวกับข้อมูลที่ส่งให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือไม่แจ้งภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๑๘ หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”


        มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตพ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

        “มาตรา ๕๑ บริษัทข้อมูลเครดิตใดหรือผู้ประมวลผลข้อมูลผู้ใดเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่สมาชิกของตนหรือผู้ใช้บริการเพื่อประโยชน์อย่างอื่นหรือเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่ผู้อื่นนอกเหนือจากที่กำหนดในมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”


        มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๖๓ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

        “มาตรา ๖๓ ความผิดตามมาตรา ๔๒ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๕ มาตรา ๕๖ มาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ หรือมาตรา ๕๙ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด”

 

        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

        นายกรัฐมนตรี

 

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้การส่งข้อมูลและการแจ้งข้อมูลให้เจ้าของข้อมูลทราบเกี่ยวกับข้อมูลที่ส่งให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตและการขอรับคำยินยอมของเจ้าของข้อมูลในการเปิดเผยหรือให้ข้อมูลแก่สมาชิกหรือผู้ใช้บริการจะต้องจัดทำเป็นหนังสือและต้องดำเนินการภาu3618 .ในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทำให้เป็นภาระแก่บริษัทข้อมูลเครดิตและไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสามารถดำเนินการโดยใช้วิธีการอื่นได้ และอัตราโทษทางอาญาในความผิดที่เกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวมีความรุนแรงเกินสมควรสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อให้เกิดความเหมาะสมแก่การบังคับใช้ยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้