วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าลีซู : ประเพณีปีใหม่ “โข่เซยี่ย”


จัดขึ้นในวันที่ 1 เดือน 1 ของเดือนลีซู ซึ่งลีซูเรียกเดือนนี้ว่า “โข่เซยี่ยอาบา” เป็นวันที่มีความสำคัญมากสำหรับชาวลีซู เพราะเชื่อว่าเป็นวันที่เริ่มต้นสำหรับชีวิต และสิ่งใหม่ ให้สิ่งเก่า ๆ ที่ไม่ดีหมดไปพร้อมกับปีเก่า จึงต้องมีการเฉลิมฉลองด้วยการทำพิธีกรรม และจัดงานรื่นเริง เช่น การทำบุญศาลเจ้า และเทพเจ้าต่าง ๆ ของชาวลีซู การขอศีลพรจากเทพเจ้า และผู้อาวุโส การร้องเพลง การเล่นดนตรี และการเต้นรำ เป็นต้น ก่อนวันปีใหม่ 1 วัน หรือวันสุดท้ายของเดือน “หลายี” ( เดือน 12) จะมีการตำข้าวปุ๊ก หรือเรียกว่า “ป่าปาเตี๊ยะ”

สำหรับกิจกรรมและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ทำในวันนี้คือ
นึ่งข้าวเหนียว เพื่อตำข้าวปุ๊กในตอนเช้า เมื่อข้าวสุกแล้วก็นำข้าวเหนียวไปตำใน “ลูทูว” จนนุ่ม และโรยแป้งหรืองา เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวติดมือ และปั้นเป็นก้อนพอประมาณ ใส่ลงไปในใบตองที่เตรียมไว้ โดยทบไปตองไปมา หน้าละ 2 ก้อน จนกระทั่งใบตองหมดแผ่น จึงทำแผ่นใหม่เรื่อย ๆ จนหมด

หมายเหตุก่อนวัน “ป่าปาเตี๊ยะ” 1 วัน ตอนเย็นวันนั้น “มือหมือ” จะต้องเป็นคนแช่ข้าวเหนียวก่อน และจุดประทัดเป็นสัญญาณบอก จากนั้นชาวบ้านอื่น ๆ จึงจะแช่ข้าวเหนียวได้ - ช่วงเย็นต้องเตรียมต้นไม้ “โข่เซยี่ยและจึว” ซึ่งจะเลือกเอาจากต้นไม้ที่มีลักษณะงาม ลำต้นเรียวยาว สูงประมาณ 1.5 เมตร โดยนำต้นไม้มาปักกลางลานบริเวณบ้าน จากนั้นนำ “ป่าปา” และเนื้อหมูหั่นยาวประมาณ 6-7 นิ้ว “ซาซือ” แขวนที่เสา และจุดธูป 2 ดอก และมีการเตรียมไข่ต้ม และเส้นด้ายยาวขนาดที่จะมัดที่คอหรือข้อมือได้ เท่ากับจำนวนสมาชิกในบ้าน ผู้อาวุโสในบ้าน (จะเป็นผู้ชาย) เป็นผู้ทำพิธีเรียกขวัญ “โชวฮาคูว” โดยการเอาไข่ต้มทั้งหมด และเส้นด้ายที่จะใช้มัดวางขนถ้วยที่ใส่ข้าวสุกที่วางบนผ้าอีกชั้นหนึ่ง ไปยืนเรียกขวัญที่หน้าประตูบ้านเมื่อทำพิธีเสร็จ จึงทำการผูกด้ายสายสิญจน์ และให้ไข่ต้มแก่สมาชิกคนละใบ เพื่อให้ขวัญที่อาจหลุดลอยไปจากร่างกายของเจ้าของได้กลับเข้าร่างของตน

สำหรับการตั้ง “โข่เซยี่ยและจึว” นั้น เพื่อเป็นการอันเชิญให้เทพผู้หญิงลงมาประทับ ซึ่งจะให้ศีลและพรแก่เจ้าของบ้าน และจะลงมาเยี่ยมเยียนปีละครั้งในตอนเช้าของวัน “อาพูวที่งี” (วันแรกของวันปีใหม่) ดังนั้นจึงต้องทำความสะอาดบ้าน ก่อนที่เทพองค์นี้จะลงมา เชื่อว่าหากบ้านไหนสกปรกจะไม่ให้พร นอกจากนี้ยังใช้สำหรับเป็นจุดศูนย์กลางในการเต้นรำรอบ ๆ ต้นอีกด้วย เพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่ และขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากบริเวณบ้านเมื่อตั้ง “โข่เซยี่ยและจึว” แล้วก็เตรียมทำเทียนโดยเอาก้อนขี้ผึ้งไปรนไฟให้อ่อน แล้วปั้นเป็นก้อน และไปรูดกับด้ายที่ขึงเตรียมไว้จนหมดด้าย แล้วนำมาตัดเป็นท่อน ๆ ยาวพอประมาณสำหรับใช้ทำพิธีบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวิญญาณบรรพบุรุษ กลางคืนจะมีการเต้นรำรอบ ๆ “โข่เซยี่ยและจึว” ของทุก ๆ บ้านตลอดคืน โดยจะมีการเวียนจนครบทุกบ้าน เพื่อเป็นการขับไล่สิ่งเลวร้ายไปให้หมด พร้อมกับปีเก่า และต้อนรับสำหรับปีใหม่ ซึ่งชาวลีซูเรียกว่า “โข่เบ่จั๊วะ”

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการเต้นรำ ได้แก่ ซึง “ชือบือ” แคนน้ำเต้า “ฟู่วหลูว” มีหลายประเภท มีทั้งแคนสั้น และแคนยาว และขลุ่ย “จู่วหลู่ว” เป็นต้น

อาพูวที่งี คือ วันแรกสำหรับของการปีใหม่ ในวันนี้ ทุกบ้านจะต้องตื่นแต่เช้า เพื่อเตรียมอุปกรณ์สำหรับทำพิธีเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ และเทพ “อาปาโหม่ว” เช่น ปิ้ง “ป่าปา” ต้ม “ซาซือ” เป็นต้น รวมทั้งการตักน้ำ ในเช้านี้เชื่อว่าจะนำมาซึ่งโชคลาภ และเงินทองที่ไหลมาตามน้ำ นอกจากนี้จะไม่นำเศษขยะที่กวาดทิ้งภายในบ้านไปทิ้งนอกบ้านเด็ดขาด จนกว่าพิธีปีใหม่จะเสร็จสิ้น จะนำเศษขยะไปเก็บไว้ในถังขยะภายในบ้านก่อน

เมื่อเตรียมอุปกรณ์เสร็จแล้ว ก็เดินทางไปศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน “อาปาโหม่วฮี” โดยทุกบ้านต้องส่งตัวแทนไปร่วม 1 คน ซึ่งต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น อุปกรณ์ที่นำไป ได้แก่ ป่าปา 1 คู่ เหล้า 1 ขวด และซาซือ 1 อัน เพื่อนำไปขอศีลพรจากเทพ “อาปาโหม่ว” ซึ่งเป็นเทพที่ปกป้องดูแลคนภายในหมู่บ้าน โดยมี “มือหมือ” เป็นผู้นำพิธี เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็กลับมาพร้อมกับพรต่าง ๆ ส่วนสมาชิกคนอื่น ๆ ก็รอที่บ้าน เมื่อได้ยินเสียงประทัดดัง ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าพิธีขอพรจากเทพ “อาปาโหม่ว” เสร็จสิ้นลงแล้ว จะมีการเรียกหมู เรียกไก่ หรืออื่น ๆ ตามแต่ที่แต่ละคนอยากได้

เพราะ เชื่อกันว่าเช้านี้ “อาปาโหม่ว” จะให้พรแก่ทุกคนตามต้องการ จากนั้นจึงจัดเตรียมของเซ่นไหว้บรรพบุรุษในบ้าน และเซ่นไหว้ และในเช้ามืดวันนี้ห้ามผู้หญิงออกนอกบ้าน จนกว่าพระอาทิตย์จะขึ้น หากเข้าไปบ้านของผู้อื่นจะโดนราดด้วยน้ำสกปรก เพราะเชื่อว่าจะนำความชั่วร้ายมาสู่คนในครอบครัวนั้น จึงต้องขับไล่ออกไป ส่วนผู้ชายสามารถไปบ้านของคนอื่นได้ โดยที่ผู้ชายคนแรกที่เข้าบ้านเรียกว่า “ฉะหมื่อ” คนในครอบครัวนั้นจะให้ของต่าง ๆ เช่น ขนม เงิน หรือของใช้ต่าง ๆ ตามแต่เจ้าของบ้านจะให้ เพราะเชื่อว่าเขาจะนำความโชคดีมาให้ และในวันนี้เป็นวันศีลจะไม่มีการฆ่าสัตว์ใด ๆ พอสายก็เตรียมอุปกรณ์เพื่อไปร่วมพิธีดำหัว “มือหมือ” ซึ่งเรียกว่า “มือหมือไป๊” อุปกรณ์ที่เตรียมไป ได้แก่ ป่าปา ซาซือ ดอกไม้ ธูปเทียน และเหล้า สำหรับพิธีนี้ เป็นการแสดงความขอบคุณ “มือหมือ” ซึ่งเป็นผู้นำพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดปีที่ผ่านมา และขอศีลพรจาก “มือหมือ” อีกด้วย จากนั้นจะมีการเต้นรำ ร้องเพลง โดยหนุ่มสาวจะแต่งกายด้วยชุดชนเผ่า และสวมเครื่องประทับอย่างสวยงามมาเต้นรำอย่างสนุกสนาน ผู้ใหญ่ก็จะร้องเพลง พูดคุยกัน จนกระทั่งดึก ก็จะมีการเต้นรำเวียนรอบบ้านทุกบ้าน ซึ่งเรียกว่า “โข่เซยี่ยจั๊วะ” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และต้อนรับปีใหม่ ตลอดจนเพื่อให้พร และสิริมงคลแก่เจ้าของบ้านต่าง ๆ โดยเจ้าบ้านจะคอยต้อนรับด้วยการนำขนม น้ำชา และเหล้ามาเลี้ยงขอบคุณ

อาพูวงี่งคือวันที่สองสำหรับงานปีใหม่ ในวันนี้ชาวบ้านจะมาทำพิธีดำหัวผู้นำชุมชน “ฆั่วทูวไป๊” เพื่อ ขอบคุณผู้นำชุมชนที่ดูแล และปกครองคนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดปี ซึ่งพิธีกรรมและกิจกรรมเหมือนการดำหัว “มือหมือ” แต่จะไม่มีการ “โข่เซยี่ยจั๊วะ” จะร่วมกิจกรรม และเต้นรำตลอดวัน และตลอดคืนที่นี่

อาพูวส่างี คือวันที่สามสำหรับงานปีใหม่ ในวันนี้ช่วงเช้าจะไปยังบริเวณศาลเจ้า “อิ๊ด่ามอ” หรือ “มึ๊ว กวูกัว” เพื่อขอศีลขอพรจากเทพ “อิ๊ด่ามอ” ซึ่งเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ที่ปกป้องดูแลไม่ให้เกิดสิ่งชั่วร้ายสำหรับคน แม้แต่จะอยู่นอกเขตหมู่บ้านก็ตาม จะปกป้องทั่วทุกทิศ สำหรับเครื่องเซ่นไหว้ ได้แก่ ซาซือ ป่าปา และเหล้า และต้องมีหนุ่มสาวที่บริสุทธิ์ ความประพฤติดี จำนวน 4 คน ประกอบด้วย หญิงสาว 2 คน และชายหนุ่ม 2 คน เพราะเทพ “อิ๊ด่ามอ” เป็นเทพแห่งความบริสุทธิ์ (หนุ่มสาวที่ไปร่วมพิธี 2 คู่ ไม่ได้นำไปประหัดประหารแต่ประการใด เพียงแค่เป็นหนึ่งในเครื่องเซ่น ไปร่วมพิธีเท่านั้น) นอกจากนั้นก็จะมีบุคคลอื่น ๆ ไปร่วมได้ เมื่อทำพิธีขอพรแล้วก็เต้นรำ ร้องเพลง จากนั้นจะมีการดำหัวผู้นำคนอื่น ๆ ตามแต่ชาวบ้านจะเห็นสมควร และอยากทำพิธีดำหัว เช่น ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น

หมายเหตุ: พิธีสำคัญในงานปีใหม่จะมีเพียง 3 วันเท่านั้น นอกจากนั้นจะสามารถจัดงานรื่นเริง เต้นรำ ร้องเพลง ได้เรื่อย ๆ ประมาณ 3- 7 วัน หรือตามแต่คนในชุมชนอยากจะจัด