วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าลีซู : การแต่งกาย

เครื่องแต่งกายของสตรีลีซู เป็นประจักษ์พยานอันชัดถึงการแข่งขันกันเป็นหนึ่งอย่างไม่ยอมน้อยหน้าใคร เห็นได้ตั้งแต่ส่วนบ่า และตันแขน ขอเสื้อซึ่งใช้แถบผ้าเล็ก ๆ ซ้อนทับสลับสีไล่กันไปรอบๆ คอ และไส้ไก่ปลายเป็นปุยมากมายที่ห้อยสยายลงมาจากปลายผ้ารัดทางด้านหลัง ทั้งเครื่องประดับเงิน และมีแต่งทับสลับช้อนเป็นแผงเต็มอกไม่มีที่ว่าง การแต่งกายของสตรีลีซูเปลี่ยนแปลงไปจากดั้งเดิมมาก ซึ่งจะเห็นได้ชัดในบริเวณช่วงไหล เนื่องจากสมัยก่อนใช้การเย็บด้วยมือ แต่สมัยนี้เย็บด้วยจักร การเย็บจะปราณีตกว่า สวยกว่า แต่เล็กกว่าแบบดั้งเดิม เดิมที่ลีซูทำเสื้อผ้าฝ้ายใยกัญชา แต่ทุกวันนี้หญิงลีซูแถบเหนือจะใช้ผ้าฝ้าย ส่วนพม่าในจีนก็ยังคงนุ่งกระโปรง ผ้าใยกัญชาจีบสลับซับซ้อน ลีซูในพม่าการแต่งกายจะแตกต่างกัน และหลายแบบ ซึ้งไม่เหมือนกันชนเผ่าลีซูในเมืองไทย หญิงลีซูในเมืองไทยหันมาใช้ผ้าฝ้าย หรือผ้าใยสังเคราะห์ซึ่งมีขายทั่วไปในท้องตลาด ตัวเสื้อทรงตรงหลวมยาวผ่าข้างทั้งสองขึ้นมาถึงเอว ด้านหน้าคลุมเข่า ด้านหลังห้อยลงไปคลุมน่อง คอกลมติดสาบเฉียงแบบจีนจากกลางคอลงไปถึงแขนขวา ผ้าชิ้นอกของเสื้อมักต่างกันส่วนอื่นๆ ตัวเสื้อมักเป็นสีฟ้าอมเขียวหรือสีอื่น ๆ


เสื้อผู้หญิง

เสื้อหญิง

ชิ้นอกก็มักใช้ผ้าสีเขียว หรือฟ้าใสไปเลยส่วนบ่าของเสื้อนั้น ใช้ผ้าดำตัดเป็นวงกลมคว้านวงคอตรงกลางแล้วจึงใช้แถบผ้าสีสด หลากหลายเย็บเรียงซ้อนกันเข้าไปจัดเส้นรอบวงนอก และทำแบบเดี่ยวกันที่ต้นแขน ผู้สาวใหญ่ หรือผู้มีอายุแถบสีผ้าจะไม่ค่อยมีสี แต่สำหรับสาวรุ่นใหม่ยิ่งซ้อนสลับสีต่างๆ ีแถบไว้ที่บ่า และต้นแขนจะทำให้ดูโดดเด่นได้มากก็เป็นที่ฮือฮากว่าสาวทั้งหลาย ใต้เสื้อยาวนี้สตรีสวมกางเกงขาก๊วยสีดำ และรัดน่องแดง แต่งขอบด้วยสีฟ้าแถมปักประดับด้วยสีอื่น รอบเอวพันไว้แน่นหนาด้วยผ้าดำผืนกว้าง ยาวถึงหกเมตร ด้านหลังห้อยพู่หางม้าหนึ่งคู่ยาวครึ่งเมตร แต่ละสายในหางม้านี้เป็นใส้ไก่ผ้าม้วนเสียแน่นหนา แล้วเย็บตรึงด้วยไหมสีตัดกับผ้า ที่ปลายเส้นยังติดตุ้มไหมพรมหลากสีเล็กๆ ไว้อีก แต่ก่อนนี้แต่ละพู่ก็มีไส้ไก่ราว 250 - 300 เส้น แต่ความที่หญิงลีซูต่างคนก็ต่างไม่ยอมแพ้กัน ทุกวันนี้พู่ของใครมีน้อยกว่า 100 เส้น คนนั้นเป็นขี้เกียจ รวมแล้วประมาณ 550 เส้น แต่ปัจจุบันหญิงลีซูจะทำแค่ 150 เส้น เพราะว่ามันเยอะเกินไปดูแล้วไม่สวย ผู้สาวใช้ผ้าโพกศีรษะดำเวลาแต่งเต็มยศ ซึ่งทำด้วยแถบผ้าพับให้กว้างราว 3-4 ซม. วัดรอบศีรษะให้ขนาดพอดี แล้วจึงใช้หัวเข่าตัวเองเป็นหุ่นพันแถบผ้านี้หลายรอบจนเป็นหมวกรูปทรงที่ เห็นเย็บตรึงให้แน่นหนา แล้วใช้เส้นไหมพรมหลากสีติดกัน ออกจากหลืบผ้าด้านบนซ้ายของหมวกอ้อมใต้ชะโงกด้านหน้า แล้วปัดขึ้นอย่างเก๋ไก๋ทางด้านขวาไปห้อยเป็นหางม้าจากกลางกระหม่อมด้านหลัง เส้นไหม ส่วนอ้อมใต้หน้าหมวก นั้นประดับด้วยลูกปัดแก้ว และปุยไหมพรมอย่างงดงาม ส่วนสาวใหญ่ใช้แถบผ้าดำพันศีรษะหลวมๆ เรียบๆ เท่านั้น


หมวกของผู้หญิง


เสื้อผู้ชาย

เทศกาล ปีใหม่เป็นยามที่ดรุณีลีซูทั้งหลายแต่งกายกันอย่างเต็มที่ เครื่องประดับเงินจะทับโถมอยู่เต็มทรวงเจ้าหล่อน จะสวมเสื้อกั๊กกำมะหยี่ดำ ซึ่งปักปรายไปด้วยดุมเงิน เป็นสาย และดอกดวง ทั้งด้านหน้า และหลังยืดอกปิดด้วยหัวเข็มขัดเงินแผ่นสีเหลี่ยม เรียงลงมาเป็นแถวรอบคอ รัดด้วยแถบผ้าติดสร้อยระย้า ซึ่งแผ่สยายอยู่เต็มอก ส่วนติ่งหูเจาะรูสองข้างเกี่ยวตะขอห้อยตุ้มระย้าซึ่งติดพู่ไหมพรมเพิ่มสี สันเข้าไปด้วย แถมสร้อยเงินหลายสายที่โยงผ่านใต้คางจากตุ้มซ้ายไปสู่ตุ้มขวา ส่วนข้อมือทั้งสองสวมกำไลแผ่นกว้าง แต่งด้วยอัญมณี แม้นิ้วก็สวมแหวนเงินไว้

ชุดของผู้ชายเรียบประกอบด้วยกางเกงเป้าต่ำสีฟ้าหรือสีอะไรก็ได้ สวมเสื้อแขนยาว จะติดด้วยกำมะหยี่ ซับในขวามักแต่งด้วยดุมเงินยิ่งมากยิ่งดี ที่ได้มาตรฐานถึง 1000 เม็ด เอวคาดด้วยผ้าแดง และในย่ามก็ห้อยพู่หางม้ายาวคล้ายของผู้หญิง แต่ว่าหนุ่มนั้นห้อยไว้ข้างหน้า เดิมทีผู้ชายจะสวมผ้าโพกศีรษะทำด้วยผ้าไหมสีแดง ฟ้า เหลือง และดำ แต่ปัจจุบันหายากแล้ว เห็นใช้กันแต่ผ้าขนหนูขาว สอดกระดาษแข็งให้ตั้งขึ้นราว 20 ซม. พันรอบศีรษะง่าย ๆ และห้อยตุ้มหูเงินข้างเดียวจากรูที่เจาะไว้ที่ติ่งหูซ้าย สวมกำไลก้านเงินเรียบ ๆ ที่ข้อมือข้างละวง



ย่ามของลีซู

ย่าม ใช้งานของลีซูทอด้วยด้ายขาว หรือด้ายดิบโดยใช้ที่ผูกข้อมือ เป็นผ้าพื้นขาวยกลายทางสีแดง หรือสีอื่นๆ นอกจากสะพายบ่าเหมือนเผ่าอื่น ยังมีการติดสายหวายถัก ซึ่งใช้คาดศัรษะให้ตัวย่าม ห้วอยู่บนบ่าอีกด้วย ย่ามไปงานทอด้วยเส้นด้าย มีการทิ้งครุยกรายด้านข้าง แล้วยังมีหู คือชิ้นผ้าสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่มุมทั้งสองของย่าม ลายปักงดงามแปลกตาที่ หูนี่ไม่มีซ้ำกัน เพราะถือว่าเป็นลายเซ็นของคนทำ บางคนก็จะติดกระดุมเงินเม็ดน้อยไว้ที่มุมหู ปากย่ามกุ๊น และปะแต่งด้วยแถบผ้าหลากสี และยังทิ้งแถบผ้าสีแดง และสีฟ้าเข้มห้อยจากหูลงไปด้วย ย่ามที่งดงามที่สุดไม่ว่าจะเป็นของลีซู หรือเผ่าอื่นใดคือ ย่ามเกี้ยวสาว ของหนุ่มวัยกำดัดนั้นทำเหมือนย่ามที่กล่าวมาแล้ว แต่แผ่นหน้าปักลูกปัดเป็นเม็ดเล็ก ๆ หลายสีไว้เต็มพืดเป็นลายละเอียดแถบผ้าที่ห้อยจากหูนั้นยาวร่วม 20 ซม. ปักประดับด้วยด้ายสีสดหลายสีไม่มีว่างเว้นกัน ย่ามห้อยครุยไหมพรมหลากสียาวเทาแถบผ้าจากหู และปกย่ามติดกระดุมตุ้มระย้าเงินตลอดแนว

การผลิต
หน้าที่ ผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเป็นของฝ่ายหญิง เช่นเดียวกับชนเผ่าอื่น ๆ วัสดุที่ใช้ผลิตปัจจุบันซื้อผ้าทอ และด้ายย้อมสีสำเร็จรูปจากโรงงานที่มีขายตามร้าน ลักษณะการทอผ้าของลีซูเหมือนกลุ่มมูเซอ คือ เป็นแบบห้อยหลัง หรือสายคาดหลัง การทอผ้าเพื่อเย็บสวมใส่ ไม่มีปรากฏในชุมชนลีซูของประเทศไทย ปัจจุบันมีเพียงการทอผ้าหน้าแคบขนาดเล็ก ๆ เพื่อนำมาเย็บประกอบเป็นย่ามเท่านั้น

การตกแต่ง
ลักษณะการตกแต่งเสื้อผ้า ส่วนใหญ่เน้นประดับด้วยแถบริ้วผ้าสลับสี ผ้าตัดปะและเม็ดโลหะเงินมีการตกแต่งด้วยลายปักบ้างเล็กน้อย และด้านข้างสายย่ามช่วงต่อกับพู่ที่จะทิ้งชายลงมาทั้งสองด้านเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีการตกแต่งเพิ่มเติมให้ดูโดดเด่นขึ้นอีกหลายแบบ เช่น ใช้พู่ไหมพรมหลากสี กระจุกด้ายลูกปัด และเครื่องเงิน

ลวดลาย
ลักษณะลวดลายพื้นฐานซึ่งเป็นที่รู้จักดีในกลุ่มผู้หญิง และส่วนใหญ่เป็นลวดลายที่เกิดจากการใช้แถบริ้วผ้าสลับสีผสมผสานกับลายตัด ผ้าปะ เช่น คัวะเพียะคว้า (ลายหางธนู) เพี่ยะกุมาคว้า (ลายหน้าอกเสื้อ) อ๊ะหน่า (ลายเขี้ยวหมา) ลายนี้ยิ่งทำเขี้ยวได้เล็กมากเท่าไหร่ แสดงว่าผู้ทำมีฝีมือดี ฟูยี่ฉี่ (ลายท้องงู) นะหูเมี่ยซืย (ลายตาหมวก) อี๊กือจะย่า (ลายริ้วผ้าสลับสี) ใช้สลับหรือกำหนดลาย จะสังเกตได้ในการตกแต่งคอเสื้อผู้หญิง จะใช้ลายเพียงสองลาย คือ อี๊กือจะย่า หรือ ลายริ้วผ้าสลับสี และลายอ๊ะหน่าหรือ ลายเขี้ยวหมาซึ่งง่ายต่อการ ปรับให้โค้งไปตามแนวรอบคอ ลายอี๊กือจะย่า ลายริ้วผ้าสลับสี และลายเขี้ยวหมา จะใช้ประกอบกับทุกลาย ส่วนลายอื่นๆ ไม่นิยมนำมารวมกัน จะเลือกใช้เพียงลายใดลายหนึ่ง นำมาเป็นลายหลักแล้วแต่งประกอบด้วยลายอี๊กือจะย่า และลายอ๊ะหน่าซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ตกแต่งแขนเสื้อ เข็มขัด และหมวกเด็ก

การเย็บผ้าเป็นไส่ไก่
ลีซูมีความเชี่ยวชาญในการเย็บผ้าเป็นเส้นเล็กๆ ยาวประมาณ 8-12 เมตร สีสรรสดใสเพื่อนำมามัดรวมกัน ติดปลายแต่ละเส้นด้วยกระจุกด้ายเล็ก ๆ สวยงาม เพื่อใช้เป็นพู่ประดับผ้าคาดเอวทั้งชาย และหญิง ส่วนหมวกผู้หญิงเพื่อสวมใส่ในโอกาสสำคัญ ๆ จำนวนไส่ไก่มัดหนึ่ง ๆ ต้องมากกว่า 200 เส้น มิฉะนั้นพู่ประดับจะแกว่งไกวไม่สวยเวลาเคลื่อนไหวเต้นรำ

<- กลับไปหน้ารวม link การแต่งกายชนเผ่า ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ มูลนิธิกระจกเงา