ชนเผ่าอาข่า - กลุ่มอาข่าในประเทศไทย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าอาข่า : กลุ่มอาข่าในประเทศไทย

สมาคมเพื่อการศึกษาและ วัฒนธรรมชาวอ่าข่าเชียงราย . 8 กลุ่มชาติพันธ์ อ่าข่า – ไทย เอกสารเผยแพร่ : 2546 ได้กล่าวถึงกลุ่มอ่าข่าในประเทศไทยดังนี้ อ่าข่าเป็นชื่อรวมที่เรียกกลุ่มชาติพันธ์ ซึ่งมีภาษาพูด ความเชื่อ วิถีชีวิต การแต่งกาย คล้ายคลึงกัน เช่นอู่โล้อ่าข่า ลอมี้อ่าข่า ฯลฯ อ่าข่าแต่ละประเภทสื่อภาษาไม่เหมือนกัน เช่น พูดต่างกันจนสื่อกันไม่ได้เลย เช่น อู่โล้อ่าข่า กับอาเค่ออ่าข่า สื่อกันไม่รู้เรื่อง เนื่องด้วยสายสัมพันธ์ได้ห่างไกลมานาน แต่มีข้อสังเกตถึงความเป็นอ่าข่าตรงลงท้ายมีคำว่าอ่าข่า ถึงแม้ว่ามีประเภทที่แตกต่างกันออกไป ในประเทศไทยมีอ่าข่าอยู่ 8 ประเภท ดังต่อไปนี้

1 . กลุ่มอู่โล้อ่าข่า
อู่โล้อ่าข่า หรืออ่าข่าไทย เป็นกลุ่มอ่าข่าที่เข้ามาประเทศไทยเป็นกลุ่มแรก เข้ามาทางภาคเหนือของประเทศไทย เช่นเข้ามาที่ดอยตุง แม่ฟ้าหลวง กลุ่มนี้มีมากที่สุดในจังหวัดเชียงราย กระจายไปสู่จังหวัดอื่นๆ เช่นเชียงใหม่ จากการศึกษาพบว่าหมู่บ้านอู่โล้อ่าข่า ซึ่งเป็นที่รู้จักและแพร่หลาย และมีโอกาสได้รับการพัฒนาจากรัฐบาลไทย มี 2 ชุมชน คือ บ้านอ่าข่าดอยแสนใจ อำเภอแม่ฟ้าหลวง และบ้านอ่าข่าดอยสะโง้ะ อำเภอเชียงแสน ซึ่งสองชุมชนนี้เป็นชุมชนอ่าข่าอู่โล้ที่ได้มาตั้งยาวนานหลายชั่วอายุคน สาเหตุที่ต้องเรียกกลุ่มนี้ว่า อูโล้ หมายถึง หมวกหัวแหลม สามารถแยกคำได้คือ อู่ ย่อมาจากคำว่า อู่ดู่ หมายถึงหัว โล้ หมายถึงกลมแหลมสูง เป็นการตั้งชื่อกลุ่มตามลักษณะการใส่หมวก ซึ่งกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มที่เด่นที่สุดในการใส่หมวกอ่าข่า ประชากรอู่โล้อ่าข่าเป็นกลุ่มอ่าข่าที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีประชากรรวมราวประมาณ 32,500 คน กระจ่ายอยู่ 5 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ และตาก ศาสนาและความเชื่อ อู่โล้อ่าข่า ส่วนมากยังนับถือประเพณีดั้งเดิมอยู่ กราบเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ และบางส่วนได้หันไปนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หมู่บ้านอ่าข่าอู้โล้ที่มีประชากรมากที่สุดคือบ้านแสนเจริญเก่า ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ในส่วนภาษาพูดที่กลุ่มอู่โล้ใช้ ถือเป็นภาษาที่มาตรฐานและเป็นกลางในการสื่อสารกันกับอ่าข่าประเภทอื่นๆ ทั่วไป

2 . กลุ่มลอมี้ อ่าข่า
ล่อมี้อ่าข่า หรืออ่าข่าพม่า เป็นกลุ่มอ่าข่าที่มีความขยันขันแข็ง มีประชากรรองมาจากอู่โล้อ่าข่า กลุ่มนี้อพยพมาจากประเทศพม่า และได้เข้ามาอาศัยประเทศไทยในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เป็นส่วนมาก กลุ่มนี้อพยพเข้ามาประเทศไทยหลังอู่โล้อ่าข่า มีมากที่สุดสองอำเภอ คืออำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย สาเหตุที่เรียกชื่อ ล่อมี้ หมายถึง ดอยหมี เนื่องจากอ่าข่ากลุ่มนี้เคยอาศัยอยู่ในประเทศพม่า ที่มีชื่อดอยว่าดอยหมี ชนเผ่าอ่าข่าเรียกเพี้ยนไปเป็น ลอยหมี ชื่อกลุ่มนี้จึงถูกเรียกลอยหมีในประเทศพม่า พออพยพเข้าสู่ดินแดนประเทศไทยเรียกเพี้ยนอีกเป็น ล่อ มี้ และใช้เรียกกันถึงจนทุกวันนี้ ประชากรและพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มอ่าข่าล่อมี้ เป็นกลุ่มประเภทที่มีประชากรรองลงมาจากอู่โล้อ่าข่า มีประชากรราว 30 % หรือประมาณ 19,000 คน กระจ่ายอยู่ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และตาก ศาสนาและความเชื่อ ล่อมี้อ่าข่า ประมาณ 55 % ยังนับถือความเชื่อดั้งเดิม คือบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ มีการประกอบเทศกาลและพิธีกรรมเหมือนกับอู่โล้อ่าข่า และบางส่วนได้ได้หันไปนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ ภาษาพูด กลุ่มนี้มีการใช้ภาษาพูดเหมือนกับกลุ่มอู่โล้ แต่มีการเน้นเสียงไม่สูง

3 . กลุ่มผาหมีอ่าข่า
ผา หมีอ่าข่า หรืออ่าข่าจีน กลุ่มนี้ได้รับการขนานนามว่า กลุ่มพ่อค้า เนื่องจากกลุ่มนี้เคยอาศัยร่วมกับคนจีน มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ ทำให้วิถีชีวิตหลายอย่างเหมือนกับคนจีน พื้นเพเคยอาศัยที่เขตสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ประชากรส่วนมากอาศัยอยู่ในประเทศจีน และมีน้อยในประเทศไทย กระจ่ายอยู่ในเขตอำเภอแม่สาย แม่จัน และแม่สรวย จังหวัดเชียงราย และจังหวัดตาก สาเหตุที่เรียกกลุ่มนี้ว่าผาหมี ผาหมี คือ ชื่อดอยที่เป็นภูเขาหิน มีหน้าผาเป็นที่อาศัยของหมีในเขตพื้นที่อำเภอแม่สาย และเมื่ออ่าข่ามาตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณนี้ ก็ตั้งชื่อหมู่บ้านว่าดอยผาหมี ส่งผลให้อ่าข่ากลุ่มนี้ว่าผาหมีอ่าข่า และกลุ่มนี้มีชุมชนอยู่ 2 แห่งในประเทศไทย คือบ้านผาหมี อยู่ในเขตอำเภอแม่สาย และบ้านแม่จันใต้ อำแม่สรวย จังหวัดเชียงราย แต่ระยะหลังมีการอพยพเข้าไปอยู่ในเขตอำเภอแม่จัน เช่นบ้านกิ่วสะไต และเมื่อมีเทศกาลต่างๆ กลุ่มนี้มีการไปมาหาสู่กันประจำทุกปี การเรียกชื่อกลุ่มนี้สามารถเรียกได้หลายแบบ เช่น หละบื่ออ่าข่า หมายถึงอ่าข่าจีน อู่บย่าอ่าข่า ฯลฯ ประชากรและพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มผาหมีอ่าข่า ผาหมีเป็นกลุ่มอ่าข่าที่มีประชากรเป็นอันดับที่ 3 มีประชากรประมาณ 8 % หรือประมาณ 5,200 คน กระจายอยู่ในจังหวัดตากเล็กน้อยและเชียงราย ศาสนาและความเชื่อ กลุ่มผาหมีอ่าข่าประมาณ 80% นับถือความเชื่อดั้งเดิม ยึดถือการบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ โดยการประกอบพิธีกรรมในแต่ละปีเหมือนอ่าข่าทั่วไป และบางส่วนได้เข้านับถือศาสนาคริสต์ ภาษาพูดกลุ่มนี้ใช้ภาษาพูดเหมือนกลุ่มอื่นๆ แต่มีสำเนียงเสียงที่นิ่ม ฟังไพเราะมากที่สุดในบรรดาอ่าข่าอ่าข่าทั่วไป และมีการใช้ศัพท์ที่เรียกสิ่งของเครื่องใช้ที่ไม่เหมือนกันบางอย่าง โดยเฉพาะการเรียกชื่อสัตว์ เช่น หมู ไก่ วิทยุ กล่อง ฯลฯ

4 . กลุ่มเปียะอ่าข่า
อ่าข่ากลุ่มนี้ส่วนมากอพยพมาจากประเทศพม่า เนื่องจากทนอยู่กับการถูกปล้นและขนเครื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ไม่ไหว จึงได้เข้ามาในประเทศไทยทางอำเภอแม่ฟ้าหลวง สาเหตุที่ต้องเรียกชื่อว่า เปียะอ่าข่า เปียะอ่าข่า แปลได้ดังนี้ เปียะ เป็นชื่อเรียกตำแหน่งผู้นำสมัยที่อยู่ในประเทศพม่า และชนเผ่าอ่าข่ากลุ่มนี้เคยอยู่ภายใต้การปกครองดูแลโดยตำแหน่งดังกล่าว อ่าข่ากลุ่มนี้จึงถูกเรียกเปียะอ่าข่ามาจนถึงบัดนี้ ประชากรและพื้นที่อยู่อาศัยกลุ่มเปียะอ่าข่า มีประชากรอยู่ราวประมาณ 7% หรือประมาณ 4,500 คน กระจ่าย อยู่ในจังหวัดเชียงราย ลำปาง เป็นส่วนใหญ่ศาสนาและความเชื่อ อ่าข่ากลุ่มนี้ประมาณ 10% นับถือความเชื่อดั้งเดิม ที่เหลือไปนับถือศาสนาคริสต์ ภาษาพูดจะเหมือนกับกลุ่มอู่โล้ แต่ศัพท์การพูดบางอย่างมีความแตกต่างกัน มีห้วงเสียงสั้นๆ เสียงแหลม พูดแบบตะโกน ซึ่งหากบางท่านเข้าไปประสบเห็นก็อาจนึกว่าทะเลาะกัน

5 . กลุ่มหน่าคะอ่าข่า
หน่าคะอ่าข่า เดิมทีอยู่ที่ประเทศจีน อยู่ระหว่างรอยต่อดินแดนระหว่างพม่ากับจีน อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย เนื่องจากถูกโจรคุกคาม และไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลจีน เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในระหว่างสองประเทศ ซึ่งยากต่อการดูแลและยังมีปัญหาชายแดนอยู่ สาเหตุที่ต้องเรียกชื่อว่า หน่าคะอ่าข่าหน่าคะ เป็นชื่อชุมชนที่เรียกสมัยอยู่ในประเทศจีน เมื่อมีการอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็ได้มีการตั้งชื่อกลุ่มประเภท ขึ้นมา และเรียกกลุ่มนี้ว่าหน่าคะอ่าข่า และใช้มาจนถึงปัจจุบัน ประชากรและพื้นที่อาศัยของกลุ่มหน่าคะอ่าข่า มีประชากรน้อยรองอาเค้ออ่าข่า อยู่ราวประมาณ 3% หรือประมาณ 1,900 คน โดยอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงรายเพียงจังหวัดเดียว พื้นที่อำเภอแม่สรวย เป็นส่วนใหญ่ ศาสนาและความเชื่อ อ่าข่ากลุ่มนี้ได้เปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิมหมดแล้วในประเทศไทย จึงไม่เหลือชุมชนที่ศึกษาเทศกาลและพิธีกรรม และเป็นอ่าข่าประเภทเดียวที่หาศึกษาประวัติศาสตร์ ความเชื่อยากที่สุด ส่วนมากหันไปนับถือศาสนาคริสต์ ภาษาพูด พูดเหมือนกับกลุ่มอ่าข่าผาหมี ฟังนิ่ม ไพเราะน่าฟัง ชุมชนหน่าคะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่บ้านพัฒนาเสรี ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

6 . กลุ่มอาเค้ออ่าข่า
อาเค้ออ่าข่า เดิมเป็นกลุ่มอ่าข่าที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน ใกล้พรมแดนธิเบต ต่อมาได้อพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่ตอนเหนือของประเทศพม่า เพราะการปฏิวัติการปกครองและวัฒนธรรมในประเทศจีน สมัยประธานเหมาเจ๋อตุง และมาอาศัยอยู่ประเทศพม่าได้ระยะหนึ่ง ก็ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ เพราะปัญหากองโจรและเรียกค่าคุ้มครองของว้า จึงได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยในเวลาต่อมา สาเหตุที่ต้องเรียกอาเค้ออ่าข่า อาเค้อ เป็นชื่อที่ถูกเรียกโดยชนกลุ่มอ่าข่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากมีความแตกต่างกันในการแต่งกาย ไม่เหมือนอ่าข่าทั่วไป ทั้งภาษาพูด อาเค้อเรียกตนเองว่า กอคื้อ หรืออาจเรียกว่า อ่อนเจยอ ซึ่งเป็นชื่อเรียกกลุ่มอ่าข่าที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามชื่อคำว่าอาเค้อ ก็เป็นที่ยอมรับของกลุ่มในปัจจุบัน ประชากรและพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มอาเค้ออ่าข่า กลุ่มอาเค้ออ่าข่ามีประชากรประมาณ 1 % มีประชากรน้อยที่สุดในประเภทอ่าข่าในประเทศไทย หรือประมาณ 650 คน โดยอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงรายเพียงจังหวัดเดียว อาศัยอยู่บ้านอาเค้อ ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย ศาสนาและความเชื่อ อ่าข่ากลุ่มนี้นับถือศาสนาดั้งเดิมมากกว่า 96 % ยังทำเทศกาลและพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิม อีกส่วนหันไปนับถือศาสนาคริสต์ ( * ชุมชนบ้านอ่าเค้อจำนวน 7 หลังคาเรือน เมื่อปี 2545) ภาษาพูด ภาษาพูดแตกต่างไปจากกลุ่มอ่าข่าทั่วไปอย่างสิ้นเชิง การสื่อสารอ่าข่าประเภทอาเค้อ จึงใช้ของอู้โล้เป็นภาษากลางในการสื่อกับอ่าข่าประเภทอื่น และเป็นที่แปลกใจของอ่าข่าประเภทต่างๆ ที่อาเค้อสามารถพูดภาษาอ่าข่าประเภทต่างๆ ยากแก่การแยกออก ปัจจุบันบ้านอ่าเค้อมีการประยุกต์ใช้เทศกาลหลงเหลือแค่ 3 เทศกาล และมีอ่าเค้อจำนวนประมาณ 10 หลังคาเรือน ได้ย้ายจากบ้านหนองแหวน ไปอยู่บ้านยาแดง ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

7. กลุ่มอู่พี้อ่าข่า
กลุ่มนี้เดิมทีได้อาศัยอยู่ในประเทศพม่า อพยพเข้าสู่ประเทศไทย เนื่องจากถูกคุกคามโดยกองโจร และความไม่สงบทางการเมืองในพม่า จึงอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย อย่างไรก็ตามในเขตพื้นที่เชียงตุง กลุ่มอ่าข่ากลุ่มนี้ก็ยังมีชุมชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สาเหตุที่ต้องเรียกอู่พี้อ่าข่า สามารถแยกเป็นคำๆ ได้ดังนี้คือ อู่ มาจากคำว่า อู่ดู่ แปลว่าหัว ส่วนคำว่าพี้ หมายถึง การแบกรับ หรือ หาม เนื่องจากหมวกของกลุ่มอ่าข่ากลุ่มนี้มีลักษณะทรงแบกรับ จึงตั้งชื่อว่าอู่พี้ ตามการใส่หมวก ใช้เรียกกันถึงจนทุกวันนี้ และเป็นที่ยอมรับของอ่าข่าอู่พี้ ประชากรและพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มอู่พี้อ่าข่า อ่าข่าอู่พี้มีประชากรน้อยมาก รวมกันแล้วประมาณ 1 % หรือประมาณ 650 คน โดยอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงราย อำเภอแม่ฟ้าหลวงเป็นส่วนใหญ่ ศาสนาและความเชื่อ อ่าข่ากลุ่มนี้ได้หันไปนับถือศาสนาอื่นๆหมดแล้ว จึงไม่เหลือชุมชนที่นับถือดั้งเดิมและประกอบพิธีกรรม โดยส่วนมากได้หันไปนับถือศาสนาคริสต์ ภาษาพูด พูดเหมือนกับกลุ่มอู่โล้ทุกประการ

8. กลุ่มอาจ้ออ่าข่า
อ่าข่ากลุ่มนี้ส่วนมากได้อพยพมาจากประเทศพม่า เนื่องจากมีปัญหาเหมือนกลุ่มอื่นๆ โดยอพยพเข้ามาประเทศไทยในเขตอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ สาเหตุที่ต้องเรียกชื่ออาจ้อกับกลุ่มนี้ เนื่องจากกลุ่มนี้ได้ถูกเปลี่ยนแปลงและกลายพันธ์ คล้ายชนกลุ่มอื่นๆ จึงถูกเรียกชื่อว่า อาจ้อ ซึ่งสามารถแยกคำได้ดังนี้ อา ย่อมาจากคำว่าอ่าข่า จ้อ แปลว่า หักเห เปลี่ยนไป หรือกลายพันธ์ ประชากรและพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มอาจ้อ อ่าข่ากลุ่มนี้มีประมาณ 1 % หรือประมาณ 650 คน โดยส่วนมากอยู่ในเขตอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ( อยู่บ้านโป่งป้อม ซึ่งเป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านห้วยศาลา ต . ท่าตอน อ . แม่อาย จ . เชียงใหม่ ) ศาสนาและความเชื่อ กลุ่มอาจ้อนี้ประมาณ 5 % ที่ยังหลงเหลือนับถือความเชื่อดั้งเดิม ที่เหลือไปนับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ ภาษาพูดจะเหมือนกับกลุ่มอู่โล้ แต่ศัพท์การพูดเหมือนกับพูดไม่ชัด และมีศัพท์บ้างคำที่เรียกไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามการสื่อสารกับกลุ่มอ่าข่าอื่นๆ สามารถสื่อเข้าใจซึ่งกันและกันได้

ข้อมูลจาก งานวิจัยของ ปฏิภาณ อายิ