วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าอาข่า : การเกิด

เด็กอาข่าที่เกิดมา จะเป็นที่เฝ้าดูของพ่อและแม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ถ้าลูกที่เกิดมาเป็นชายก็จะสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้เป็นพ่อ เนื่องจากตามความเชื่อ ของอาข่าเด็กชายเท่านั้นผู้ซึ่งจะสืบทอดตระกูลของพ่อ และถ้าพูดถึงเรื่องการเกิดในชนเผ่าอาข่า หรือแม้กระทั่งชนเผ่าอื่นที่อาศัยอยู่บนดอยสูง คงไม่ได้เกิดที่โรงพยาบาล ซึ่งจะได้รับการดูแลจากพยาบาลเป็นอย่างดี ตลอดจนความสะดวกในเรื่องอื่นๆ เช่น การแจ้งเกิด การเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ตลอดจนสิทธิต่างๆที่ลูกพึงจะได้รับ ตรงกันข้ามการเกิดลูกในสมัยก่อนนั้น จะทำคลอดกันเองในชุมชน ซึ่งมีหมอตำแยของชุมชน อาข่าเรียกว่า"หย่าฉี่อ่ามา" โดยใช้ภูมิปัญญาและวัสดุอุปกรณ์ที่หาง่ายในท้องถิ่น เช่น ใช้ไม้เฮี่ยที่คมกลีบ แทนกรรไกรในการตัดสายสะดือของเด็ก ซึ่งปราศจากเชื้อโรค และแม่ของเด็กก็จะพักอยู่ที่บ้านเพียงไม่กี่วันก็จะออกไปประกอบอาชีพตามเคย เมื่อเกิดในชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ เด็กที่เกิดมาจะไม่ได้รับสิทธิตามกฏหมาย เนื่องจากชนเผ่าไม่รู้เรื่องการแจ้งเกิด จึงเป็นปัญหากับเด็กชาวเขามาจนถึงทุกวันนี้ แต่มาปัจจุบันอาข่าเองก็เริ่มมีความรู้ในเรื่องการจัดการต่างๆมากขึ้น เนื่องจากคนรุ่นใหม่ก็ได้เข้าเรียนหนังสือ ได้รับการศึกษา จึงทำให้เกิดความรู้ในชุมชน การนำความรู้มาใช้กับชุมชน เริ่มมีมากขึ้น....


การเกิด
สมัยก่อนการเกิดลูกของคนอาข่า ถ้าหากผู้ที่กำลังจะเกิดลูกนั้นเป็นลูกสะใภ้ของบ้าน เขาจะไม่ให้เกิดลูกในบ้านของตัวเอง จะต้องไปเกิดลูกอีกบ้านหนึ่ง ที่เขาสร้างไว้ให้สำหรับเป็นที่พักของสะไภ้ และถ้าหากเป็นลูกสาวของเจ้าของบ้านก็จะให้เกิดลูกในบ้านของตัวเอง สำหรับคนที่จะมาทำคลอดนั้นจะต้องเป็นคน เฒ่าคนแก่ที่มีความรู้ในด้านการทำคลอด หรือเป็นหมอตำแยในหมู่บ้านก็ได้ ซึ่งคนอาข่าจะเรียกว่า "หย่าฉี่อ่ามา" เวลาหมอตำแยจะไปทำคลอดจะต้องเตรียมไม้เฮี่ยที่คม ๆ เอาไปตัดสายสะดือ และด้ายสำหรับผูกสายสะดือเด็กเวลาเด็กคลอดออกมา พอเด็กคลอดออกมาเสร็จหมอตำแยจะอุ้มเด็กไปให้แม่ และเอาที่รองรกไปใส่รกเพื่อนำไปฝังไว้ที่ใต้ถุนบ้านตรงบริเวณเสาเอกของบ้าน และจะต้องเอาไม้มาหนีบปากรกเอาไว้ เวลาฝังจะต้องให้ปากหงายขึ้งข้างบน และนำไม้มาปิดไว้ที่ปากหลุม พอรุ่งเช้าก่อนไก่ขันของอีกวันจึงค่อยเอาขี้เถ้ามาถม หลังจากที่หมอตำแยอุ้มเด็กมาให้แม่ แม่ก็จะต้องนำเด็ก มานั่งบนเก้าอีกที่ตั้งไว้ตรงเสาเอกของบ้าน และหมอตำแยก็จะแกะไข่ต้มให้แม่เด็กกินฟองหนึ่ง เนื่องจากคนอาข่าเชื่อว่า ไข่ต้มสามารถบรรเทาอาการเจ็บ และจะช่วยไม่ให้เลือดไหลออกมาก นอกจากนั้นก็จะเอาจับปิ้งของผู้หญิง คนอาข่าเรียกว่า "เจ่วจ่อง" มารัดที่หน้าท้องของแม่ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการรักษาโรคอย่างหนึ่งเหมือนกัน การรัดหน้าท้องจะช่วยแก้อาการหน้ามืดหรือเป็นลมของแม่เวลาคลอดลูกใหม่ ๆ ส่วนแม่ก็จะเอาหมวกของอาข่ามาใส่ให้เด็ก หลังจากนั้นก็จะนำเด็กมาทำพิธีตั้งชื่อและรับขวัญเด็ก หลังจากนั้นภายใน 9 – 10 วันหลังคลอด เขาก็จะไม่ให้แม่และเด็กอออกไปไหนเลยจะต้องอยู่ที่บ้านซึ่งคนอาข่าเขาจะ เรียกว่าอยู่ กรรม (หย่าสึลองเออ) เมื่อถึงวันที่สายสะดือของเด็กหลุดแล้ว และเก็บสายสะดือได้ โดยไม่หาย ก็จะต้องนำไปฝังไว้ที่หลุมฝังรกด้วย

หลังจากนั้นแม่ก็จะพาลูกไปเยี่ยมบ้านของญาติพี่น้องภายในหมู่บ้าน เป็นการพาลูกไปรู้จักกับคนในหมู่บ้านเป็นครั้งแรก จากนั้น 10 วัน แม่ก็จะต้องพาลูกออกไปเที่ยวนอกหมู่บ้าน และระหว่างทางกลับบ้านหากลูกเป็นผู้หญิงก็จะต้องเก็บใบไม้มาบ้านหนึ่งใบด้วย และถ้าหากเป็นผู้ชายก็จะต้องเก็บยอดใบไม้มาด้วย ซึ่งถือเป็นการบอกสถานภาพว่า ลูกของเขาเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย

การตั้งชื่อให้เด็ก
เมื่อเด็กเกิดมาวันแรกเขาก็จะนำเด็กไปทำพิธีตั้งชื่อ พร้อมกับการทำพิธีรับขวัญเด็ก โดยมีหมอตำแยเป็นคนทำพิธีและตั้งชื่อให้หลักการตั้งชื่อของคนอาข่า การตั้งชื่อของเด็กจะต้องเอาคำลงท้ายของชื่อพ่อมาตั้งเป็นชื่อตัวแรกของลูก เสมอ และเมื่อทำพิธีตั้งชื่อลูกเสร็จ เขาก็จะไม่ให้พ่อแม่บอกกับใครว่าเด็กชื่ออะไรเป็นเวลา 9- 10 วัน เพราะเขาเชื่อว่าถ้าหากบอกไปลูกก็จะตกใจและร้องไห้ด้วย