ชนเผ่าอาข่า - การละเล่น

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าอาข่า : การละเล่น

อาข่า เป็นชาวเขาที่มีการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย หาเช้ากินค่ำ เวลาไปทำไร่หลังจากที่พ้นจากประตูหมู่บ้าน ก็จะมีการร้องเพลงไปด้วยผู้ชายจะร้องว่า โอ้เรา เวลาไปไร่ หรือไปทำอะไรก็รู้สึกเหงาเหลือเกิน เราอยากได้คนๆหนึ่ง มาอยู่กับเรา จะได้หายเหงา และเมื่อไปถึงไร่ของตนเองก็จะร้องเพลงโต้ตอบกับฝ่ายผู้หญิง โดยฝ่ายหญิงอาจทำไร่อยู่คนละฝั่งกับฝ่ายชาย เวลาจะกลับก็ล่ำลากันด้วยเสียงเพลง แล้วจะนัดกันตอนกลางคืน ที่ลานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นชีวิตที่มีสีสันมากแต่สมัยนี้การใช้ชีวิตแบบนี้เริ่มหาดูได้ยาก เนื่องจากการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา สิ่งเหล่านี้ก็เลยถูกกลืนไป เหลือเพียงแต่คำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน

การละเล่นของเผ่าอาข่าแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
การละเล่นในพิธีกรรม ได้แก่
* ลูกข่าง (ฉ่อง) เป็น การละเล่นของอาข่าที่เล่นในช่วงที่มีพิธีกรรม หรือประเพณีเท่านั้น จะมีปีละครั้ง การละเล่นลูกข่างเป็นการละเล่นที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน และเป็นการละเล่นของผู้ชาย โดยเมื่อถึงวันที่มีพิธีกรรมผู้ชายจะออกจากบ้านตั้งแต่เช้า เพื่อจะไปตัดไม้เนื้อแข็งมาทำเป็นลูกข่าง เมื่อกลับมาถึงบ้านก็จะเริ่มทำลูกข่างโดยเหลาปลายไม้ให้ปลายแหลมๆ บางคนจะใส่เหล็กตรงปลาย เพื่อให้ลูกข่างหมุนได้นาน จากนั้นก็จะมาเล่นกัน โดยแบ่งเป็นสองฝ่ายๆละกี่คนก็ได้จากนั้นก็เล่นกัน
* โล้ชิงช้า (หล่าเฉ่อบี่เออ) ประเพณีโล้ชิงช้า เป็นประเพณีที่จัดขึ้นช่วงประมาณปลายเดือนสิงหาคม – ต้นเดือนกันยายนของทุกปี หลังจากที่ทำการเพาะปลูกข้าว หรือข้าวโพดเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยชิงช้าที่ทำจะมี 3 ลักษณะคือ ชิงช้าใหญ่ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้น (หล่าเฉ่อ) ชิงช้าหมุน (ก่าลาหล่าเฉ่อ) และชิงช้าขนาดเล็กที่สร้างไว้หน้าบ้านของแต่ละครอบครัว (เออเลอ) ประเพณีโล้ชิงช้าเป็นประเพณีที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน และเป็นโล้เพื่อเร่งผลผลิตต่างๆ ที่เพาะปลูกให้เจริญงอกงาม


* การเต้นรำ (บ่อฉ่องตูเออ) จะ เล่นในช่วงที่มีพิธีกรรม หรือประเพณีเท่านั้น โดยทั้งชาย และหญิงจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าที่งดงาม แล้วมารวมตัวกันที่ลานหมู่บ้าน หรือที่ๆ มีพื้นที่กว้างขวางโดยจะมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการเต้นรำดังนี้ กลองที่ทำมาจากไม้ หนังวัว-กวาง (ถ่อง) ฆ้อง (โบวโล) ฉิ่ง (แจและ) และกระบอกไม้ (บ่อฉ่อง) สำหรับลักษณะการเต้นก็มีหลายแบบด้วยกัน ดังนี้
* เต้นเป็นวงกลมโดยทุกคนจะเต้นเป็นจังหวะตามเสียงกลอง โดยจะเต้นจากด้านซ้ายไปยังด้านขวาอย่างพร้อม เพรียงกัน
* เต้น แบบราวกระทบไม้ เป็นการเต้นที่เน้นในเนื่องของจังหวะ โดยผู้หญิงจะมีกระบอกไม้ไผ่สำหรับกระทบไม้แล้วให้ เกิดเสียงดัง และผู้ชายก็อาจเต้นเป็นวงกลมล้อมรอบผู้หญิงก็ได้

 


สะบ้า(อ๊ะเบอฉ่อเออ) การเล่นสะบ้าจะนิยมเล่นกันในช่วงที่มีงานประเพณี หรืออยู่กรรม เพราะชาวบ้านจะมีเวลาว่างจึงหันมาเล่นสะบ้า การละเล่นสะบ้าเป็นการละเล่นของผู้หญิง โดยจะเก็บผลสะบ้าจากป่ามาแล้วเล่นกัน สะบ้าจะเป็นการเล่นเป็นทีม

 

 

 

 


การละเล่นทั่วไป ได้แก่

สามล้อ (ลาหล่อ) การเล่นสามล้อถึงแม้เป็นการละเล่นที่หาต้นกำเนิดไม่ได้ แต่เป็นการละเล่นที่เด็กอาข่า นิยมเล่นกันมาก โดยเมื่อต้องการทำสามล้อก็จะไปหาตัดท่อนไม้ที่มีขนาดใหญ่พอสมควร มา 3 ล้อ จากนั้นก็ตัดไม้มามัด หรือตอกให้แน่น โดยข้างหน้าจะมีเพียงล้อเดียว และข้างหลังมี 2 ล้อ ทุกอย่างพร้อมแล้วก็สามารถนำมาเล่นได้เลย ส่วนในเรื่องของความเร็ว เด็กๆ จะใช้เปลือกไม้ชนิดหนึ่ง นำเปลือกไม้มาแล้วทุบ หรือตำให้ละเอียดแล้วทาบริเวณล้อ เพราะเปลือกไม้ชนิดนี้จะเหนียว และลื่น ซึ่งจะทำให้สามล้อวิ่งได้เร็ว อีกทั้งยังเอาเปลือกไม้เหล่านี้มาดองเก็บไว้ในขวดพลาสติก เพื่อเอาไว้ใช้ในคราวต่อๆ ไป อีกทั้งเด็กอาข่าชอบไปกัดเปลือกไม้แล้วเคี้ยวๆ ให้ละเอียด จากนั้นเอามาแปะที่ล้อ การเล่นสามล้อ (ลาหล่อ) เป็นการละเล่นที่ค่อนข้างอันตรายเหมือนกัน ถ้าเด็กทำ หรือประดิษฐ์สิ่งของไม่แน่น และอาจทำให้เกิดอันตรายได้

 



ไม้โกงกาง (หม่อหน่อ) เป็น ของเล่นที่ค่อนข้างหวาดเสียวสำหรับบุคคลที่ยังไม่เคยเล่น เพราะจะต้องจัดทรงให้ได้ก่อน และก็สูงอีกด้วย สำหรับไม้โกงกางของอาข่ามีความเป็นมา ดังนี้
**นานมาแล้วชาวอาข่าได้อาศัยอยู่ด้วยกันกับไทยลื้อ ซึ่งอาข่ากับไทยลื้อไม่ค่อยถูกกันเท่าไหร่นัก ไทยลื้อก็ได้มีการจัดการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ขึ้น ก็มียิงธนู วิ่ง ฯลฯ แต่ว่าอาข่าก็พ่ายให้กับไทยลื้อเกือบทุกชนิด ต่อมาอาข่าได้รวมตัวกัน พร้อมประชุมปรึกษาหารือกันว่าทำอย่างไรถึงจะเอาชนะไทยลื้อได้ จึงได้คิดทำไม้โกงกางขึ้น เพื่อจะเอาชนะไทยลื้อ โดยอาข่าแบ่งทีมสำหรับจะเล่นโกงกางขึ้น พร้อมทำการฝึกฝนอย่างหนักโดยตัดไม้โกงกาง มาให้สูงที่สุดเท่าที่จะสูงได้

พอเวลาดึกอาข่าจะขี่ไม้โกงกางแล้วเข้าไปในหมู่บ้านของไทยลื้อ โดยหยิบขี้แพะไปแล้วไปทิ้งไว้เป็นจุดๆ ในลานหมู่บ้าน รุ่งเช้ามาไทยลื้อก็ออกมามุงดู ขี้แพะ และก็รู้สึกแปลกใจมากที่มีขี้แพะ แต่ไม่มีรอยเท้าของแพะ พออีกคืนหนึ่งอาข่าก็ได้ขี่ไม้โกงกางแล้วไปยังหมู่บ้านของไทยลื้ออีกที นี้ไปหลอกล่อให้หมาเห่า ชาวบ้านของไทยลื้อก็ออกมาดูแต่ก็มองไม่เห็น เพราะไม้โกงกางที่อาข่าขี่ไปนั้นสูงมาก และมืดด้วย อยู่ไปหลายวันชาวไทยลื้อก็รู้สึกหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้น คิดว่าโดนผีหลอก จึงได้ย้ายออกไปจากหมู่บ้านนั้น อาข่าจึงได้หมู่บ้านของไทยลื้อมาครอบครอง และนี่ก็คือที่มาของไม้โกงกางของอาข่า **

ลานวัฒนธรรม /ลานชุมชน (แดข่อง /กาปา) การละเล่นในลานวัฒนธรรมเป็นการละเล่นในเวลาค่ำคืนใต้แสงพระจันทร์ที่สวยงาม โดยหลังจากกลับมาจากการทำไร่ทำสวนทั้งหนุ่มสาวก็จะเตรียมตัวจะมาที่ลาน วัฒนธรรม (แดข่อง) โดยแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า เพื่อร้องรำทำเพลง และมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้อาวุโสเรื่องประเพณีวัฒนธรรม มาถึงหนุ่มๆ ก็จะไปหาฟืนเพื่อมาดังไฟให้สว่าง จากนั้นก็จะเต้นรำกัน เป็นโอกาสของหนุ่มสาวที่จะเลือกคู่ครองกัน หลังจากร้องรำทำเพลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว หนุ่มสาวก็จะกลับไปยังบ้านของตนเอง เพื่อพักผ่อนเอาแรง เพราะรุ่งเช้าต้องไปทำไร่ทำสวน การใช้ชีวิตของหนุ่มสาวอาข่าในสมัยนั้นเป็นแบบนี้ เนื่องจากในสมันนั้นการศึกษาไม่ทั่วถึง หนุ่มสาวอาข่าจึงอ่อนในเรื่องการศึกษา แต่เต็มไปด้วยความฉลาดในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวอาข่าควรอนุรักษ์ ไว้ให้ลูกหลานสืบทอดต่อๆ กันไป


* การแข่งขันสูบยา (ห่อฉี่ห่อถ่าเออ) เป็นการละเล่นของผู้อาวุโสที่สูบยาขื่น โดยเวลาว่างๆ ผู้อาวุโสจะมารวมตัวกันแล้วสูบยาขื่นให้แดงที่สุด จากนั้นก็มีการทาย ปัญหาเล่น หลังจากทายปัญหาเสร็จแล้ว มาลองสูบดูว่าของใครยังดับ ถ้าดับถือว่าคนนั้นแพ้ แต่ถ้าของใครยังไม่ดับก็จะถือว่าชนะ นี่ก็เป็นการละเล่น ของคนแก่ยามที่ว่างๆ
* ปั้นถ้วย (อู่หม่าแตเออ) เด็ก จะขุดดินเหนียวมาแล้ว เอาศอกตำลงตรงกลางดินเหนียว ให้เป็นรู และลักษณะคล้ายๆ กับถ้วย แล้วเด็กก็จะใส่น้ำลงไป เป็นการเล่นของเด็ก ที่ต้องใช้ในพิธีกรรม คือ จะต้องสวดคาถาเวลาที่คนแก่เสียชีวิตลง ฉะนั้นถือเป็นการละเล่น ที่มีความสำคัญมากของอาข่า