วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าอาข่า :การนับวัน

ตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของอาข่า การนับวันถือเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งที่ต้องใช้ประกอบกับวิถีชีวิตประจำวัน และการถือฤกษ์ยามดี เพื่อประกอบ พิธีกรรมต่างๆ โดยมีตำนานเล่าขานที่มาของการนับวันของอาข่าว่า “ในอดีตอาข่าจะไม่รู้เลยว่าวันแต่ละวันนั้นแตกต่างกันอย่างไร เพราะเมื่อมี พระอาทิตย์ขึ้นมาก็สว่างไสว และเมื่อพระอาทิตย์ตกดินก็จะมืด เป็นเช่นนี้ตลอด ฉะนั้นจึงมีการกำหนดการนับวันของอาข่าขึ้นมา โดยใช้ชื่อของสัตว์ เป็นตัวแทนของแต่ละวัน และสัตว์แต่ละตัวที่เข้าไปอยู่ในการนับวันอาข่า ต้องมีประวัติ และความสำคัญด้วย นอกจากนี้หากชุมชนใด ถ้าลืมการนับวันและจำเป็นต้องไปสอบถามในหมู่บ้านอื่นๆ จะต้องเสียเงินแถบ 1 รูปี พร้อมเหล้า 1 ขวด อาข่าเรียกว่า “หง่าสี่ ผ่อชู” ด้วยเหตุนี้การนับวันของอาข่า จึงใช้สัตว์ 12 ตัว หรือเรียกได้อย่างหนึ่งว่า “12 ราศี” เป็นตัวแทนวันแต่ละวัน โดยมีวิธีการนับวัน 1 สัปดาห์ มี 12 วันอาข่าเรียกว่า “ถี่จอ” และสัตว์ 12 ตัวนี้ประกอบด้วย

วัน “ย้อ” หมายถึงวันแกะ ถือเป็นวันเกิดของเทพเจ้า (อ่าเผ่วหมี่แย้)
ผู้ซึ่งให้กำเนิดจักรวาล อาข่าจึงให้การเคารพนับถือในวันนี้ทุกคนจะหยุดอยู่ที่บ้าน ไม่มีการประกอบอาชีพใดๆ ไม่มีการตอกฝังเสา วันนี้จึงเป็น "วันหยุด" ของอ่าข่า ถ้าเทียบกับปัจจุบันถ้าวันนี้ตรงกับวันทำงานราชการ หรืองานทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับการเกษตรก็จะไม่หยุด
วัน “โหมยะ” หมายถึงวันลิง (วอก) เป็นวันเสียชีวิตของหมอสวดพิธีกรรม (พี้มา) คนแรกของอาข่า จึงได้ให้ความสำคัญและกำหนดเอาไว้
วัน “ยา” หมายถึงวันไก่ (ระกา) ไก่
เป็นสัตว์ที่อาข่าเชื่อว่ารู้การปิด-เปิดของพระอาทิตย์ รู้ว่าเป็นกลางวันกลางคืน จึงได้ให้ความสำคัญกับไก่ และได้มีการกำหนดวันไก่ขึ้นมา
วัน “ขื่อ”หมายถึงวันสุนัข (จอ) เป็นสัตว์ที่ซื่อสัตย์ และเฝ้าดูแลสิ่งของ หรือทรัพย์สินต่างๆ ให้กับมนุษย์ จึงได้กำหนดวันสุนัขขึ้นมา
วัน “หยะ” หมายถึงวันหมู (กุน) หมูเป็นสัตว์ที่อาข่าเลี้ยงขึ้นมา เพื่อบริโภค และใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ถือว่าสำคัญ จึงได้กำหนดวันหมูขึ้นมา
วัน “โฮ” หมายถึงวันหนู (ชวด) หนูตามการนับวันของอาข่านี้ เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีชื่อเรียกเต็มว่า (ก่องโฮ) เป็นตระกูลเดียวกับหนูทั่วไป
วัน “โหย่” หมายถึงวันควาย เป็นสัตว์ที่ช่วยมนุษย์ในการทำงาน และการขนส่ง จึงได้ให้ความสำคัญ และกำหนดวันควายขึ้นมา
วัน “ข่าหล่า” หมายถึงวันเสือ (ขาล) เสือเป็นสัตว์ที่ดุร้าย และมีอำนาจกว่าบรรดาสัตว์เดียวกัน จึงได้นับวัน ในฐานะเป็นผู้นำ นอกจากนี้วันดังกล่าวยังถือเป็น "วันหยุด"ของอาข่าอีกเช่นกัน วันนี้ถือเป็นวันที่รองลงมาจากวันแกะ "ย้อ"ปัจจุบันยังถือเป็นวันหยุดเช่นกันแต่ยังมีการทำงานที่ไม่เกี่ยวกับการเกษตรของตนเอง แต่จะไปรับจ้างทำงานที่อื่นอยู่
วัน “ถ่องละ” หมายถึงวันลา ลาเป็นสัตว์ที่แข็งแรง อดทน สามารถใช้งานเพื่อต่างสิ่งของให้มนุษย์ จึงได้กำหนดเอาไว้
วัน “หล่อง” หมายถึงวันกระต่าย (เถาะ) เป็นวันเกิดของเทพเจ้า ผู้สร้างดินที่ชื่อว่า จาบีจาหล่อง
และจะไม่มีการฝังไม้ลงดินในวันนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืน หรือกระทำการดังกล่าวในวันนี้ อาจทำให้หูหนวก ต้องทำพิธี ขอขมาถึงจะหาย และในวันนี้กลุ่มอาข่า โลมิ ถือเป็นวันหยุดเช่นกัน
วัน “แซ้ย”
เป็นสัตว์ที่คล้ายสุนัขจิ้งจอก อาศัยอยู่ในเขตหนาว สัตว์ตัวนี้ยังไม่สามารถจะบอกได้ว่ามีจริงหรือไม่ มีตำนานเล่าถึงสัตว์ตัวนี้ว่า วันหนึ่งได้เกิดพายพัดอย่างแรง สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนของมนุนย์ และสัตว์ตัวนี้เองที่ไปนอนปิดรูพายุ อาข่าเชื่อว่าสัตว์ตัวนี้เป็นสัตว์ที่มีพละกำลังมาก สามารถคุ้มครอง ไม่ให้เกิดความเสียหายแก่มนุษย์ อาข่าจึงให้ความสำคัญ และกำหนดวันเอาไว้
วัน “หม่อง” หมายถึงวันม้า (มะเมีย) ม้าเป็นสัตว์ที่ใช้ในการต่างของ และเป็นพาหนะในการเดินทางม้าจึง เป็นสัตว์ที่มีประโยชน์กับมนุษย์ จึงได้กำหนดวันม้าเอาไว้

อนึ่ง อาข่ามีการถือโดยไม่ตอกไม้ ฝังเสาลงในดิน โดยเลือกอยู่ 3 วันคือ วัน “ย้อ” (แกะ) วัน “หล่อง” (กระต่าย) และวัน"ข่าหล่า" (เสือ) เป็นวันที่ราศีสัตว์ตรงกับการนับวัน และนับปี เช่น ปีไก่ ตรงกับนับวัน วันไก่ อาข่าเรียก “โขะเกอะ นองเกอะ” และในรอบ 1 ราศี หรืออาข่าเรียกว่า "ถี่จอ" มีวันหยุด 2 วัน ด้วยกันคือ วันย้อ (แกะ) และวันข่าหล่า (เสือ) ในสองวันนี้อาข่าจะไม่ประกอบการใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นวันหยุดของอาข่า