วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

 ชนเผ่าอาข่า : การนับเดือน

อาข่าเป็นชนเผ่าหนึ่งที่มีการนับเดือน เพื่อใช้ดำเนินการประกอบกิจวัตรประจำวัน ทั้งทางด้านพิธีกรรมประเพณี หรือการเกษตร เป็นต้น การนับเดือนของอาข่าเริ่มนับจากข้างขึ้น 1 ค่ำ ถึงข้างแรม 14 ค่ำ เดือนอาข่ามีจำนวนวันโดยเฉลี่ย 30 วัน มีการนับเดือน และความหมายต่าง ๆ ดังนี้

   1. แฎ่ลา บาลา ตรงกับเดือนมกราคม เดือนแฎ่ลา มีชื่อเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า “ย้า หมยะ ย้า ทู้ บาลา” หมายถึง เดือนแห่งการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ดังนั้น เดือนนี้ชาวอาข่าจึงเริ่มมีการจับจองพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก และมีการถางไร่ กำจัดวัชพืช และเดือนนี้เป็นเดือนที่มีดอกซากุระบาน ซึ่งอาข่าเรียกดอกนี้ว่า “แฎ่” จึงมีการใช้ชื่อดอกไม้นี้มาใช้ในการนับเดือนของอาข่าจนถึงปัจจุบัน

   2. จ้อลา บาลา ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ จ้อแปลว่า อยู่ หรือหยุด เดือนจ้อลาจึงถือเป็นเดือนแห่งการหยุดพัก โดยเฉพาะหนุ่ม ๆ อาข่าต่างก็จะมีความพร้อมในเรื่องการหาคู่แต่งงาน จะมีการท่องเที่ยวต่างหมู่บ้าน ส่วนสาว ๆ ก็จะมีการจัดเตรียมในเรื่องเครื่องประดับ พร้อมทั้งการปั่นเส้นด้าย และดึงเส้นด้าย เพื่อนำมาถักทอเป็นผืนผ้าใหญ่ มาใช้ในการเย็บเสื้อผ้า กระโปรง ด้วยเหตุนี้อาข่าจึงมีสุภาษิตว่า “หมี่หย่า พ้าอึ้ม บาลา หง่า หมย้า นึ้มแหง่ แดกา ฎาเออ เช้ หมย้าเพอแชะ นึ้มด่อง เถ่อเออ” หมายถึง เดือนแห่งการหาคู่ครอง และการถักฝ้ายทอผ้า

   3. เบ่ว โหยะ บาลา ตรงกับเดือนมีนาคม เดือนนี้อาข่าได้ขนานนามไว้ว่า “เบ่วโหยะ ส่องชี้ บาลา หม่าชี้เล้เออ บ้อฉ่อง ส่องหล่อง หม่าฉะ” หมายถึง เดือนนี้มีอุณหภูมิร้อนมาก จนทำให้พืชพันธุ์ต่าง ๆ ตาย เป็นเดือนแห่งความแห้งแล้ง อาหารไม่สมบูรณ์ ในทางเกษตรกรรม อาข่ามีการเผาไร่ที่ได้เตรียมเอาไว้ เพื่อการเพาะปลูก

   4. ขึ่มสึบาลา ตรงกับเดือนเมษายน เดือนขึ่มสึบาลาเป็นเดือนแห่งการเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ มีการค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องพิธีกรรม ของผู้ที่สนใจ มีการประกอบพิธีกรรมในระดับครอบครัว โดยเฉพาะพิธี ยกตำแหน่งผู้หญิงให้เทียบเท่าผู้ชาย อาข่าเรียกว่า “ย้าแย้อึ้มเออ” เมื่อประกอบพิธีกรรมนี้แล้ว ผู้หญิงก็จะมีศักดิ์เทียบเท่าผู้ชาย สามารถที่จะร่วมในการทำพิธีกรรมได้ มีตำนานเกี่ยวกับเดือนนี้ว่า เดือนนี้ผู้นำศาสนา จะไม่นอนร่วมกับภรรยาของตน เพราะหากนอนร่วมกัน จะทำให้ฝนฟ้า ไม่ตกตามฤดูกาล สำหรับในเดือนนี้จะมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ดังนี้
4.1 ปีใหม่ไข่แดง “ขึ่มสึขึ่มมี้อ่าเผ่ว”
4.2 พิธีปลูกสร้างประตูหมู่บ้าน “ล้อข่องดู่เออ”
4.3 พิธีเซ่นไหว้ศาลพระภูมิหมู่บ้าน “มี้ซ้องล้อเออ”

   5. ฉ่าหง่อบาลา ตรงกับเดือน พฤษภาคม เดือนนี้อาข่ามีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ฉ่าหง่อ แช้คา บาลา” ฉ่าแปลว่า ดิน หง่อแปลว่า งัด เมื่อมารวมกันแปลว่า เดือนแห่งการเพาะปลูกในพื้นที่ไร่ เนื่องจากจะย่างเข้าหน้าฝนแล้ว และจากเดือนนี้เป็นต้นไปตามวิถีชีวิตอาข่า ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อการเพาะปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ ไว้บริโภคในปีถัดไป และไม่มีการแต่งงานจนกว่าจะผ่านพ้นฤดูกาลเพาะปลูก แต่หากมีความจำเป็น เช่น ฝ่ายหญิงเกิดท้องขึ้นมา ก็สามารถแต่งงานได้ เดือนนี้จะมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา คือ
5.1 ประเพณีปลูกข้าวเริ่มแรก “แช้คาอ่าเผ่ว”
5.2 ซ่อมแซมบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ “อีซ้อล้อเกาะล้อ”
5.3 อยู่กรรม “บู่เด้แจลองเออ” เป็นการอยู่กรรมให้กับแมลงต่างๆที่ตายระหว่างการทำไร่
5.4 อยู่กรรม “เบ่วโอะลองเออ” เป็นพิธีจับด้วงดิน ที่เป็นศัตรูของต้นข้าว

   6. ฎ้องลา บาลา ตรงกับเดือนมิถุนายน สำหรับเดือนนี้อาข่ามีความเชื่อว่า สัตว์ต่าง ๆ ที่เกิดมาจะมีความแข็งแรงกันหมด ต้นไม้พืชพันธุ์ ที่เพาะปลูกก็จะเจริญเติบโต มีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “หม่า ฏ้องล้าเออ โฮหย่า งาหย่า หม่าจ้อ ก้าค้อง หยิอิ่ว ด้องหน่งอ ฎ้อง ล้าง้า อา” หมายถึง สัตว์ที่เกิดมาแล้วโตกันหมด แม้แต่จิ้งหรีดที่อยู่ในรูก็มีปีกที่แข็งแรง เดือนนี้จะมีการประกอบพิธีเซ่นไหว้ ต้นน้ำ อาข่าเรียกว่า “อี้จุ อี้แม้ส้อ”

   7. เช้ลา บาลา ตรงกับเดือนกรกฏาคม หลังจากที่เพาะปลูกข้าวลงไปแล้ว เมื่อถึงเดือนนี้ต้นข้าวที่ปลูกลงไปจะมีความสูงเหนือข้อเท้า อาข่าจึงมีการกำจัดวัชพืชเป็นครั้งแรก ฝนจะเริ่มตกหนัก ส่งผลทำให้หน้าดินพังทลาย มีสุภาษิตว่า “เช้ ลามี้เน้ แย้ฎ้าก่อเออ” หมายถึง การพังทลายของหน้าดิน ทำให้เหลือแต่ดินแดง สำหรับเดือนนี้มีการประกอบพิธีกรรมคือ “ขึ่มผี่ล้อเออ” คือพิธีทำบุญในไร่ข้าว

   8. ฉ่อลาบาลา ตรงกับเดือนสิงหาคม เดือนนี้อาข่า มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฉ่อ เออ เลอ หละเฉ่อบี่บาลา” หมายถึงเดือนแห่งการโล้ชิงช้า เนื่องจากประเพณีโล้ชิงช้าจะจัดขึ้น ช่วงปลายเดือนสิงหาคม ถึงต้นเดือนกันยายน โดยมีการนับรอบการจัดตั้งแต่พิธีปลูกข้าวเริ่มแรก และเมื่อได้ 8 รอบ บริบูรณ์ ตามสัปดาห์อาข่า (97 วัน) และจะย่างเข้ารอบที่ 9 ก็สามารถจัดประเพณีโล้ชิงช้าได้ เดือนนี้ก็มีแค่ประเพณีโล้ชิงช้าเอง

   9. ยอลา บาลา ตรงกับเดือนกันยายน สำหรับเดือนยอลานี้ อาข่าเชื่อว่า ฝนจะตกหนักเป็นพิเศษ และเดือนนี้เป็นเดือนแห่งการประกอบพิธี ยอลา มีเรื่องเล่าว่า สมัยก่อนในการประกอบพิธียอลาอ่าเผ่ว ได้มีการฆ่าควาย เพื่อใช้ในพิธี ปรากฏว่าฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก จนทำให้ควายที่ถูกฆ่าตาย ถูกน้ำท่วมจนถึงระดับใบหู ในที่สุดขนตามใบหูหลุดล่วงออกหมด ควายจึงไม่มีขนที่ใบหูตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และในประเพณีนี้อาข่าจึงไม่มีการฆ่าควายเพื่อใช้ในพิธีกรรม สำหรับเดือนนี้มีการประกอบพิธีกรรม คือ
9.1 ประเพณียอลาอ่าเผ่ว
9.2 อยู่กรรมวันหมู “หยะลองเออ”
9.3 อยู่กรรมวันแซ้ย์ สัตว์ที่มีพละกำลังมาก
9.4 ประเพณีถอนขนไก่ “ยาจิ อ่าเผ่ว”
9.5 เทศกาลไล่ผี “ค๊า แย๊ะ แย๊ะ เออ”

10. สี่แย๊ะบาลา ตรงกับเดือนตุลาคม สี่แย๊ะ ให้ความหมาย ในคำเรียก กล่าวคือ สี่ แปลมาจากคำว่า อ้าสี่ หมายถึงศัพท์ที่เรียกผลไม้ แย๊ะ ซึ่งแปลมาจากคำว่า อ้าแย๊ะ หมายถึงดอกไม้ ดังนั้นในเดือนนี้พืชพันธุ์ต่าง ๆ ก็จะเริ่มออกดอก ออกผล จึงมีการใช้ชื่อนี้เรียกชื่อเดือน นอกจากนี้ ช่วงเดือนนี้จะตรงกับช่วงที่ข้าวในไร่สุกงอม พร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยว อาข่ามีสุภาษิตว่า “สี่แย๊ะ แช้กื่อ เตอะ บาลา” สำหรับเดือนนี้จะมีการประกอบพิธี คือ
10.1 ประเพณีเลือกกฤษวันดีของชุมชน “ยอพูนองหมื่อเช้เออ”
10.2 กินข้าวใหม่ “แช่นึ้มจึเออ”

  11. หน่อง แย๊ะบาลา ตรงกับเดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนที่ชาวอาข่า เริ่มลงมือเกี่ยวข้าวไร่ พร้อมทั้งมีการนวดข้าว เพื่อเก็บไว้ในฉางข้าว และการสร้างฉางข้าวพิธีไว้หน้าบ้าน เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ฉางข้าวพิธีนี้อาข่าเรียกว่า “แช้จี้สี่มาอู่กึ่ม” โดยในฉางข้าวพิธีนี้ จะมีการเก็บฟางข้าวที่เกี่ยวมาครั้งสุดท้าย ที่อาข่าเรียกว่า “บ่อง เยว แปยะเออ” พร้อมทั้งเมล็ดข้าว มาเก็บไว้ในฉางข้าวพิธี ซึ่งในเดือนนี้จะมีการประกอบพิธี เกี่ยวข้าวครั้งสุดท้าย ซึ่งถือว่า กระบวนการทำเกษตรในไร่ข้าวก็เสร็จสิ้นลง

  12. ท้อง ลา บาลา ตรงกับเดือนธันวาคม เดือนท้องลาบาลา เป็นเดือนสุดท้ายที่อาข่าถือในรอบปี เป็นเดือนที่แสดงถึงการหมดฤดูกาลเพาะปลูก เนื่องจากจะเข้าสู่ฤดูแห่งการพักผ่อน หรือฤดูแล้ง ถือเป็นการส่งท้ายปีเก่า ดังนั้นตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป ชาวอาข่าก็จะมีการเปิดฉางข้าวที่ได้บรรจุข้าวเอาไว้ โดยจะเปิดฉางข้าวในวันที่ 3 ของประเพณีตีลูกข่าง สำหรับเดือนนี้จะมีการประกอบพิธีตีลูกข่าง “ค๊าท้อพ้าเออ”