วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าอาข่า : การแต่งงาน

อาข่า เป็นชนเผ่าที่มีความละเอียดในการดำรงชีวิต และการถือฤกษ์ยามดีเพื่อการประกอบพิธีกรรมต่างๆ หากวันไหน หรือเดือนไหนฤกษ์ยามไม่ดี ก็จะไม่มีการปฏิบัติเพื่อการเลือกคู่ครอง แม้ผู้ชายอาข่าจะสามารถแต่งงานกับสตรีที่ตนรัก และไว้วางใจ ถึงแม้เกิดการพบเห็นเพียงครั้งเดียวก็สามารถ ที่จะแต่งงานกันได้ แต่อาข่ามีหลักการในการเลือกคู่ครอง ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็น และสำคัญอย่างมาก กล่าวคือ การสอบถามถึงเชื้อสาย วงศ์ตระกูล ของแต่ละฝ่าย หากอยู่ในตระกูลเดียวกันก็จะไม่แต่ง ยกเว้นถ้ามีช่วงห่างของระดับชื่อบรรพบุรุษ 7 ช่วง ก็อนุโลมให้แต่งงานกันได้ ไม่เพียงแค่การสอบถาม เชื้อสาย วงศ์ตระกลูยังจะต้องสอบถามถึง วันเดือนปีเกิดอีกด้วย

ซึ่งการสอบถามวันเดือนปีเกิดอาข่าถือ และให้ความสำคัญ อย่างมากและจะมีวันเกิดที่ต้องระวังคือ หากวันเกิดของ ผู้ชายตรงกับวันเสือ (ข่าหล่า) และวันเกิดของผู้หญิง ตรงกับวันหมู (หยะ)ก็จะไม่มีการจัดงานแต่งงาน เพราะเชื่อว่าเป็นวันกัด (นองเกาะ) มันเป็นเรื่องของ ความเชื่อ ว่าเสือเป็นสัตว์ที่กินหมู ยังไงๆ มันก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ แต่ ่อย่างไรก็ตามในกรณีนี้อาข่าบางส่วนยังมีการแต่งอยู่ เพราะเชื่อว่าหากผู้ชายเป็นฝ่ายกัดผู้หญิง ผู้หญิงก็จะหนี กลับบ้านของตนเองได้ แต่ถ้าหากวันเกิดของผู้หญิงตรงกับวันเสือ และวันเกิดของผู้ชายตรงกับวันหมู ในกรณีนี้ ไม่มีการแต่งงานโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่า ถ้าผู้หญิงกลับเป็นฝ่ายไล่กัดผู้ชาย ผู้ชายก็จะไม่มีที่หนี เพราะผู้หญิง มาแต่งงานกับผู้ชาย และมาอยู่บ้านผู้ชาย จากที่นี่เราจะเห็นว่าอาข่าเป็นชนเผ่าที่มีความละเอียดในการเลือก คู่ครอง โดยใช้หลักของความเชื่อเข้ามาข้องเกี่ยวกัน และสืบทอดต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน และในกรณีหนึ่งถ้าหากสามีภรรยาแต่งงานอยู่ด้วยกันแล้ว ไม่สามารถที่จะมีบุตรชายได้ ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่สามีจะต้องแต่งงานใหม่ เพื่อจะให้ได้มาซึ่งบุตรชายไว้สืบสานวงศ์ตระกูลต่อๆ ไป

ถ้าผู้หญิงและผู้ชายตกลงจะแต่งงานกัน ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะต้องไปสู่ขอ กับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เมื่อตกลงกัน ได้แล้ว ฝ่ายชายก็จะพาผู้หญิงมายังหมู่บ้านของตัวเอง โดยให้อยู่บ้านญาติพี่น้องก่อนหนึ่งคืน พิธีแต่งงาน ของคนอาข่าจะมีด้วยกันทั้งหมด 3 วัน ในวันแต่งงานนั้นจะมี “แยะหม่อ” (คนแก่ที่รู้เรื่องพิธีกรรม)เป็น คนทำพิธีให้ก่อนที่เจ้าสาวจะเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน จะต้องมีการชำระล้างร่างกายให้กับเจ้าสาวและผู้เฒ่าผู้แก่จะเอาไม้ตีลงตรง บนหลังคาบ้านทางเข้าบ้านของเจ้าบ่าว เพราะเชื่อว่า จะทำให้วิญญาณของเจ้าสาวเข้าบ้าน เมื่อเขาพา คู่บ่าวสาวเข้าไปในบ้านแล้วเขาก็จะให้คู่บ่าวสาวส่งไข่ไก่สลับวนกันระหว่าง คู่บ่าวสาว จำนวน 3 รอบ โดยจะต้อง ระวังไม่ให้ไข่ตก เพราะเชื่อกันว่าถ้าไข่ตกจะทำให้ไม่มีลูกและจะไม่ได้บุญ ซึ่งพิธีนี้เป็นพิธีที่สำคัญที่สุด หลัง จากนั้นจะมีการฆ่าไก่หนึ่งตัว และตัดส่วนขา น่อง หัว หัวใจ ไส้หวาน ตูดไก่ และเนื้ออีกหนึ่งชิ้น นำไปต้ม เพื่อให้คู่บ่าวสาวกิน โดยจะถือเป็นการกินข้าวครั้งแรกของคู่บ่าวสาว และจะต้องกินให้หมดด้วยเพราะเชื่อว่า คู่นี้จะมีลูก หรือไม่ และลูกจะแข็งแรงสมบูรณ์แค่ไหนขึ้นอยู่กับพิธีกรรม

นอกจากนั้นจะมีการฆ่าหมู และผ่าท้องหมูดูหัวใจ และตับเพื่อเป็นการทำนายว่า ลูกที่เกิดมาจะเป็นผู้หญิง หรือ ผู้ชาย และจะมีลักษณะอย่างไรพอวันรุ่งขึ้นผู้หญิงก็จะตื่นแต่เช้าเพื่อทำงานบ้าน ทุกอย่าง ทั้งตักน้ำ และหุงข้าว ปลาอาหารแล้วก็จะเรียกผู้เฒ่าผู้แก่มากินข้าวร่วมกันที่บ้านของเจ้าบ่าว และผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะร้องเพลง เพื่อเป็น การให้พรแก่คู่บ่าวสาว ในตอนเย็นก็จะมีการดื่มเหล้า โดยผู้บ่าวสาวจะต้องถือแก้วเหล้า ไปให้คนเฒ่าคนแก่ริน ให้ดื่ม ซึ่งถือเป็นการขอบุญจากผู้เฒ่าผู้แก่และในวันที่ 3 เจ้าสาวจะต้องออกไปตัดต้นกล้วยแดง ( งาเนะ ) ในป่า ซึ่งจะต้องเอาหยวกกล้วยมาเผาให้แขกกินในวันนี้ จะมีการฆ่าไก่ให้ผู้เฒ่าผู้แก่กิน และจะมีการอวยพร ให้คู่บ่าวสาวด้วย นอกจากนี้ยังมีการทาเขม่า (หมิ่น)กันและกัน โดยแขกที่มาร่วมงานจะทาน้ำมันพืชที่มือจากก็ลูบเขม่า(หมิ่น)จากก้นหม้อ แล้วไล่ทากัน และจะทาคู่บ่าวสาวด้วย เพื่อเป็นการทดสอบความอดทน ก่อนที่จะดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน