ชนเผ่าอาข่า - ของใช้ในชีวิตประจำวัน

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าอาข่า : ของใช้ในชีวิตประจำวัน

เมื่อเราเข้าไปภายในบ้านของอาข่า เราจะเห็นว่าทุกซอกทุกมุมของบ้าน เต็มไปด้วยสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นของที่จำเป็น และต้องใช้เป็นกิจวัตร ของส่วนมากมาจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน ที่คิดค้นขึ้นมาเอง มีส่วนน้อยที่หาซื้อมาใช้ แต่นี่คืออดีต ซึ่งต่างกับปัจจุบันที่กำลังเป็นอยู่ในตอนนี้ ที่อะไร ๆ ก็ต้องใช้เงินซื้อ เป็นยุคที่อะไร ๆ ก็ต้องใช้เงินซื้อ ของใช้ต่าง ๆ ก็มีดังนี้


1. มีดอาข่าเรียกว่า "มีแช้"
เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่ต้องใช้ในการเกษตร และเป็นของที่คู่กับการดำเนินชีวิตของทุก ๆ คน มีดที่ชาวอาข่าใช้กันในสมัยก่อนจะตีเอาเอง โดยได้เหล็กมาจากจีนบ้าง หรือหาเองหรือซื้อมาเวลาที่เข้ามาในตัวเมือง เนื่องจากอาข่าเป็นชนเผ่าที่ค้าขายร่วมกับจีน บางทีจึงเป็นในแนวของการแลกเปลี่ยนสินค้า เมื่อได้เหล็กมาก็จะมาให้ช่างตีเหล็กของหมู่บ้านตีให้ ซึ่งช่างตีเหล็กของอาข่ามีชื่อว่า “ปาจี่” มาจากการคัดเลือกโดยคนในชุมชน

ซึ่งจะเป็นคนที่มีความรู้เรื่องงานเหล็ก บทบาทสำคัญของ ปาจี่ คือ ตีมีดพิธีให้กับหมอผี หรือ “พิ้มา” นอกจากตีมีดให้กับพิ้มาแล้ว ต้องตีอุปกรณ์ทางการเกษตรให้กับชาวบ้าน ได้แก่ มีด จอบ เสียม ฯลฯ เวลาชาวบ้านอยากให้ตีมีด ก็เอาถ่านไปให้ช่างตีเหล็ก หลังจากตีเสร็จต้องไปช่วยทำไร่ให้ปาจี่ 1 วัน หรือถ้าครอบครัวไหนไม่ว่างที่จะไป ก็อาจเป็นแบบจ่ายค่าตอบแทนให้ตามเห็นสมควร ปัจจุบันตำแหน่งนี้ยังคงมีอยู่ในชุมชนอาข่าที่มีการนับถือดั้งเดิมอยู่ แต่อาจมีบ้างที่มีการตีมีดหรืออุปกรณ์การเกษตรตามบ้านใครเรือนมัน หรือส่วนใหญ่ก็ซื้อมาใช้ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและไม่เสียเวลา


2. น้ำเต้า หรืออาข่าเรียกว่า อี๊ผู่ น้ำเต้านี้ชาวอาข่านิยมปลูกไว้ตามหลังบ้าน หรือตามสวนที่ ๆ ไม่ไกลจากบ้านนัก เพราะสมัยก่อนไม่ได้มีขวดสำหรับจะใส่น้ำ ชาวอาข่าจึงปลูกต้นน้ำเต้าขึ้นมาเพื่อเอามาใส่น้ำสำหรับดื่มกิน โดยชาวอาข่าจะเก็บน้ำเต้าที่เก็บไว้มา แล้วตากให้แห้ง จากนั้นก็เจาะรูแล้วเอาเมล็ดออก จากนั้นก็ตักน้ำใส่แล้วทิ้งไว้ระยะหนึ่งเพื่อระงับกลิ่น แล้วตักน้ำใส่แล้วดื่มได้เลย น้ำในน้ำเต้า และหอมด้วยกลิ่นของธรรมชาติ น้ำเต้านอกจากจะใช้ในการใส่น้ำแล้ว ชาวอาข่ายังใช้น้ำเต้าในการเก็บเมล็ดพันธ์ต่าง ๆ สำหรับใช้ในการปลูกปีต่อ ๆ ไป การใช้น้ำเต้าในปัจจุบันเริ่มหาดูได้ยาก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก บวกกับชาวบ้านเริ่มหันมาใช้แกลอนน้ำมันแทนน้ำเต้า


3. ของที่ใช้รองเวลาฆ่าสัตว์ (ส่าเซอ) ซึ่งเป็นของที่ชาวอาข่าจะขาดไม่ได้ ซึ่งเอาไม้ไผ่มาสานและจะเอาไว้ใช้รอง เวลาฆ่าสัตว์ต่าง ๆ เช่น หมู หมา กา ไก่ เป็นต้น


4. เขียงสำหรับสับถั่วเน่า (อ่าฉี่ห่องทอง ) ซึ่งเขียงนี้จะต้องมีขนาดใหญ่พอสมควร เอาไว้สำหรับสับถั่วเน่า


5. ชะลอม (อาค๊าหรือคาค๊า) ซึ่งทำมาจากไม้ไผ่จะมีทั้งขนาดเล็ก และใหญ่ใช้สำหรับใส่ของต่าง ๆ เช่น ฟืน ของใช้ต่าง ๆ ชะลอมจะมีขนาดที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ไม่เท่ากัน


6. งัดหรืออาข่าเรียกว่า “หล่าเหง่อ” เป็นอุปกรณ์ที่ชาวอาข่าใช้ในการถางหญ้าในไร่ข้าว ซึ่งจะมีขนาดเล็กกะทัดรัด พกพาไปในไร่สะดวก ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญกับชาวอาข่ามาก


7. ใบพัด (บอเซอ) เป็นอุปกรณ์ที่ทำมาจากไม้ไผ่ ชาวอาข่าจะใช้ในการพัดเศษหญ้าต่าง ๆ ออก หลังจากที่ตีข้าวเสร็จ บอเซอนี้ อาข่าชอบเก็บเอาไว้แบบผิงไฟ เพื่อกันไม่ให้แมลงกัด และสามารถใช้งานได้นาน


8. ป่าแต๊ะ เป็นอุปกรณ์ที่ทำมาจากพืชชนิดหนึ่ง มีลักษณะใบยาว และชาวอาข่าก็นำมาใช้ประโยชน์ในการทำไร ทำสวน ชาวอาข่าจะเอาพืชชนิดนี้มาทำเป็นที่บังแดดและฝน ซึ่งมีประโยชน์มาก และในปัจจุบันพืชชนิดนี้เริ่มหาได้ยาก


9. กาโหยะ เป็นอุปกรณ์ที่คล้ายกับชะลอม แต่มีลักษณะการสานแบบถี่ ๆ เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญมากที่ทุกครัวเรือนจำเป็นที่จะต้องมี เพราะต้องใช้ในการประกอบพิธีกรรม เช่น พิธีแต่งงาน งานศพ และพิธีกรรมต่าง ๆ ถ้าครัวเรือนไหนไม่มีอุปกรณ์นี้ไม่สามารถที่จะทำพิธีกรรมได้ ต้องไปยืมเอามาจากครัวเรือนอื่นที่มี “กาโหยะ” จึงมีความสำคัญมากกับชาวอาข่า


10. หมวก (หล่อเฮอ) เป็นอุปกรณ์ที่อาข่าใช้ใส่ เวลาประกอบอาชีพ เพื่อกันแดด เมื่อก่อนหมวกนี้ชาวอาข่าก็ทำเองเหมือนกัน แต่ปัจจุบันก็หาซื้อตามร้านขายของ ซึ่งก็สร้างความสะดวกสบายให้กับชาวอาข่า แต่หาทนทานกว่าที่มาจากภูมิปัญญาของชาวบ้านเอง


11.ที่ดักนก (หล่อ , ส่าโต) การดักนกเป็นวิถีชีวิตของอาข่าที่นิยมใชกันมาก เพื่อมาประกอบเป็นอาหาร โดยใช้ดักแด้ (อ่าโหบ๊ะ) และแมลงเม่า (อ่าอี่) เป็นเหยื่อล่อให้นกทุกชนิดมาติดกับดัก โดยจะนำแมลงมาติดไว้กับตัวกับดัก และให้แมลงดิ้น เมื่อนกเห็นแมลงดิ้น ก็จะบินเข้ามาเพื่อจะมากินแมลงก็จะทำให้ติดกับดัก ดิ้นออกไม่ได้ และจะตายในที่สุด การดักโดยใช้หนอนไม้ไผ่ จะดักทิ้งเอาไว้ได้นานหลายวัน ต่างกับการดักโดยใช้แมลงเม่า ไม่สามารถดักทิ้งไว้ได้หลายวัน เพราะตอนกลางคืน อาข่าเชื่อว่าผีจะไปติดกับดักเพราะกลางคืนของเราเป็นกลางวันของผี ผีจึงออกทำมาหากิน อาข่าจึงเกรงกลัวและเป็นความเชื่อว่า ที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ


12. กระดิ่ง (จาชุ) เป็นกระดิ่ง ที่ใช้มัดกับตัวสัตว์เพื่อให้เกิดเสียงดัง เช่น วัว ควาย ม้า และเวลาสัตว์หนี ก็จะทำให้เราตามหาสัตว์ได้เร็วจากเสียงกระดิ่ง และชาวอาข่าบางครัวเรือนยังนิยมในการเอากระดิ่งมาแขวนไว้ หน้าประตู เวลาเปิด-ปิดประตูจะทำให้เกิดเสียงดัง

13. เสียมที่ใช้ในการปลูกข้าว (จอแป๊ะ) เป็นอุปกรณ์ที่ชาวอาข่าใช้ในเวลาปลูกข้าว โดยจะเอาไม้ที่ยาวๆ มาเสียบกับเสียม แล้วปลูก โดยผู้ชายจะเป็นคนเจาะเป็นรู และผู้หญิงจะเป็นคนหยอดเมล็ดข้าวลงในหลุม


14. กระบอกไม้ไผ่ (บ่อลอ) ชาวอาข่าจะตัดไม้ที่มีขนาดใหญ่ และเอามาทำเป็น ที่ใส่ของต่าง ๆ เช่น เนื้อหมู พริก ตะเกียบ และเมล็ดพันธ์ต่าง ๆ ที่เตรียมเอาไว้สำหรับจะเพาะปลูกในปีต่อ ๆ ไป และยังใช้ในการดองผักกาดได้อีกด้วย  


15. ห่อก่อง ที่ใส่ข้าว ชาวอาข่าสมัยก่อนไม่มีที่ใส่ข้าว จึงต้องใช้ความชำนาญในการประดิษฐ์ที่ใส่ข้าวขึ้นมา และชาวอาข่าถือว่า ไม่ควรเอาห่อก่องนี้ใส่บนหัว เพราะจะทำให้เกิดแผลและไม่สบายได้ นี่คือความเชื่อของเผ่าอาข่า


http://www.hilltribe.org/thai/akha/akha-use.php