วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าอาข่า: การเมืองการปกครอง

โครงสร้างสังคมและการปกครอง
ชาวอาข่าจะให้เกียรติกับผู้ที่อาวุโสกว่า เพราะผู้อาวุโสจะมีอำนาจในการตัดสินใจ ส่วนการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ในเชิงสังคมล้วนเป็นหน้าที่ของผู้ชาย แต่สตรีก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยจะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือสนับสนุน และเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ในระดับครอบครัว จึงถือว่าเป็นผู้ร่วมทุกข์ ร่วมสุข บนพื้นฐานความพึงพอใจ
ระบบโครงสร้างทางสังคมของอาข่ามีตำแหน่งการปกครองในด้านต่าง ๆ ดังนี้

• ตำแหน่ง “เจ่วมา” เป็น ผู้นำศาสนาของชุมชน มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างชุมชน จึงเป็นผู้นำหลักในการบริหาร ตามโครงสร้างชุมชนอาข่าแบบดั้งเดิม ตำแหน่งเจ่วมา นี้ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือการสืบสายโลหิตก็ได้
• ตำแหน่ง “เจ่วหย่า” เป็นตำแหน่งที่รองลงมาจาก “เจ่วมา” ซึ่งตำแหน่งนี้ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งเป็น “เจ่วมา” มาก่อน
• ตำแหน่ง “จิบ่า/บาจี่” เป็นตำแหน่งที่ใช้เรียกกับช่างตีเหล็กของหมู่บ้าน เนื่องจากตำแหน่งนี้ต้องมีการผลิต หรือซ่อมแซมเครื่องมือ อุปกรณ์การเกษตรของชุมชนทุกชนิด
• ตำแหน่ง “พิมา/เบ้วหม่อ” เป็นตำแหน่งของหมอสวดพิธีกรรมทางศาสนา ทำหน้าที่ในการสวดพิธีตามงานต่าง ๆ ตำแหน่งนี้เปรียบเสมือน พระ ในสังคมของคนไทย
• ตำแหน่ง “หน่าเหง่อ” มีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ และเป็นคนไกล่เกลี่ยคู่กรณี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในชุมชนอาข่า
• ตำแหน่ง “ยี้ผ่า” เป็นตำแหน่งหมอทรง มีหน้าที่ในการรักษาคนไข้ คนไม่สบายในชุมชน โดยใช้ยาสมุนไพร และการเข้าทรง
• ตำแหน่ง “ขะมา/หละจ่า” เป็นผู้ที่มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องต่าง ๆ ทำหน้าที่ประสานงานกับบุคคลภายนอก ปัจจุบันเปรียบเสมือนผู้ใหญ่บ้านทางการ อย่างไรก็ตามโครงสร้างการปกครองของอาข่าในประเทศไทย หลายหมู่บ้านยังมีการใช้รูปแบบการปกครองนี้อยู่

กฎหรือข้อห้ามของเผ่าอาข่า

• ห้ามผิดลูกผิดเมียคนอื่น
เช่น ถ้ามีภรรยาแล้ว ห้ามไปถูกเนื้อต้องตัวหรือแตะต้องภรรยาของคนอื่น (ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่) ถ้าผิดลูกผิดเมียคนอื่นจะต้องโดนลงโทษด้วยการปรับเงิน เสียหมู 1 ตัว และเหล้า ถ้าไม่มีเงิน ก็ต้องยืมคนอื่นมาเสียค่าปรับ มิฉะนั้นจะถูกไล่ออกจากบ้าน
• ห้ามจับต้องสิ่งของต่าง ๆ
เช่น ประตูผี (จะตัดหรือฟันไม่ได้) บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ศาลเจ้า ชิงช้า ที่ตีเหล็ก เพราะถ้าจับแล้วจะเกิดเหตุร้าย ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนก็จะต้องเสียหมู 1 ตัวและเหล้า เพื่อใช้ในการทำพิธีกรรมขอขมาที่ล่วงเกิน โดยไม่ล่วงรู้มาก่อนหรือล่วงรู้มาก่อนก็ตาม
รูปแบบการลงโทษ เช่น การปรับเงิน หมูหรือเหล้า ขึ้นอยู่กับระดับความผิด ว่ามากหรือน้อยเพียงใด


ลักษณะผู้อาวุโสของอาข่า

รูปแบบของการลงโทษผู้กระทำผิด
รูปแบบการลงโทษของอาข่ามี 2 แบบ คือ

• ในกรณีที่ก่อความวุ่นวาย หรือก่อการทะเลาะวิวาทในหมู่บ้าน ซึ่งในกรณีนี้ผู้ที่มี อำนาจในการตัดสิน คือ ผู้เฒ่า ผู้แก่ในหมู่บ้าน และพ่อหลวง ต่างมารวมตัวกัน และมาดูว่าใครเป็นต้นเหตุของปัญหาจากพยานหลักฐาน จากนั้นก็ให้คู่กรณีที่ก่อความวุ่นวายหรือก่อการทะเลาะวิวาท เสียเหล้าให้กับทุกคน และต้องดูอีกว่า ผู้ที่ได้รับความเสียหาย เขาเรียกร้องอะไรบ้าง ถ้าผู้ที่เสียหายเกิดไม่ยอมจริง ๆ จะต้องทำพิธีให้กับผู้เสียหาย อาจเป็นการเสียหมูให้ 1 ตัว หรือเสียค่าปรับเล็กๆน้อยๆ ให้ ตามประเพณี และกฎของเผ่าอาข่า
• กรณีการทำผิดกับประเพณีวัฒนธรรม ถ้าว่าเรื่องประเพณี วัฒนธรรมชาวอาข่าถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะชาวอาข่าจะยึดถือ และให้การเคารพในประเพณีและวัฒนธรรม จะยึดหลักความถูกต้องในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จะผิดเพรี้ยนไม่ได้ สำหรับบุคคลภายนอกที่เข้ามาในชุมชนของเผ่าอาข่า จะต้องให้การเคารพ ในประเพณีและวัฒนธรรม ไม่ลบหลู่ หรือดูถูก แค่การลบหลู่ก็ถือว่าผิดประเพณี ซึ่งอาจเป็นการลบหลู่สถานที่หรือของที่ต้องใช้ในการทำพิธี เช่น ประตูผี ชิงช้า ศาลเจ้า บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงสถานที่ต่างๆ ในชุมชนอาข่า ถ้าใครทำผิดประเพณี จะมีความผิด ฐานลบหลู่ และไม่ให้เกียรติกับผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ในกรณีอย่างนี้ต้องเสียเหล้า และหมู เพราะตามความเชื่อของชาวอาข่าที่นับถือดั้งเดิมว่า เวลามีใครก็ตามทำผิดประเพณี จะต้องช่วยกันทำพิธีเลี้ยงผี ตลอดจนประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งเป็นการปฏิบัติ และสืบทอดต่อๆกันมา ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

ผู้มีอำนาจในการตัดสินคดีความ
• ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินคดีความต่างๆคือผู้เฒ่า ผู้แก่และหมอผี ซึ่งทุกคนช่วยในการตัดสินคดีต่างๆ แต่หมอผีเป็นคนตัดสินชี้ขาด แต่ในปัจจุบันผู้ที่จะตัดสินคดีความต่างๆ ในชุมชนคือ ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการที่ได้มาจากการเลือกตั้งของคนในชุมชน ตลอดจนรับความเห็นของผู้อาวุโส แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ใหญ่ เกินที่ผู้นำและคณะกรรมการจะตัดสินได้ ก็จะเป็นเรื่องของทางราชการที่จะมาดำเนินการต่อไป

การคัดเลือกผู้นำ
• ในสมัยก่อนการคัดเลือกผู้นำชุมชน ไม่ต้องเป็นเรื่องที่สำคัญนัก ไม่เน้นที่การอ่านออกเขียนได้ แต่ขอให้เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ และสามารถปกครองดูแลให้ความยุติธรรมกับชาวบ้านการคัดเลือกผู้นำจะเป็นไปใน ลักษณะเอาเสียงข้างมาก และชี้ขาดให้เป็นผู้นำ ไม่มีการสืบเชื้อสาย นอกจากนั้นจะไม่มีการเกษียณหรือหมดวาระ แล้วแต่ว่าคนที่รับตำแหน่งเป็นผู้นำอยากลาออกเมื่อไหร่ก็ได้ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น 4 ปีต่อ 1 ครั้ง ส่วนหมอผีเกิดจากการเรียนรู้และอาจจะมีการสืบเชื้อสายได้ แต่หมอผีคนเก่าจะเป็นคนเลือกหมอผีคนใหม่ และหมอผีจะเป็นคนทำหน้าที่ทำพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น โล้ชิงช้า ประตูผี ส่วน “ เจว่มะ ” จะเป็นคนเตรียมพิธีกรรมต่างๆ

โครงสร้างครอบครัว
• อาข่ามีการจัดระเบียบโครงสร้าง เพื่อความสะดวกในการอยู่ร่วมและการปกครอง ตลอดจนการช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันกล่าวคือ โครงสร้างครอบครัวของอาข่า ผู้ชายถือเป็นหัวหน้าครอบครัว ที่มีความสำคัญ เนื่องจากผู้ชายจะเป็นผู้สืบสายวงศ์ตระกูลของครอบครัวอาข่า ดังนั้นชาวอาข่าจึงมีการสืบสายโลหิต มาตั้งแต่อดีต โดยมีการนับ ลำดับชื่อบรรพบุรุษ อาข่าเรียกว่า “จึ” โดย มีชื่อผู้ชายเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้การขยายครอบครัวอาข่า จึงเป็นการขยายออกทางบิดา ฉะนั้นผู้ชายในครอบครัวอาข่า จึงมีความจำเป็นทีต้องเรียนรู้ลำดับชื่อของบรรพบุรุษ ตลอดจนพิธีกรรมประเพณีของครอบครัว เพื่อจะได้สืบสาน ถ่ายทอดให้กับน้องหรือลูกหลานต่อไป โดยมีความสำคัญในการถือสายโลหิต