วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าอาข่า : กฏ หรือ ข้อห้าม

กฎ หรือข้อห้ามที่สำคัญของชาวอ่าข่า
ดัง ที่กล่าวมาแล้วว่า ชนเผ่าอ่าข่ามีด้วยกันทั้งหมด 8 ประเภทในประเทศไทย แต่ละประเภทมีความคล้ายคลึงกันทั้งการแต่งกาย ภาษา วิถีชีวิต เทศกาลและพิธีกรรม ฯลฯ ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชนเผ่า ในแต่ละปีก็มีเทศกาลที่สำคัญๆ 12 อย่าง อ่าข่าจึงมีข้อห้ามเพื่อใช้ควบคุมคนในชุมชนโดยผ่านมิติของวัฒนธรรมออกมา และข้อปฏิบัติเพื่อส่งเสริมให้มีปฏิสัมพันธ์ในชุมชน ข้อห้ามของอ่าข่าบางอย่างไม่ได้มีไว้เพื่ออ่าข่าเท่านั้น แต่รวมไปถึงคนนอกชุมชนด้วย ในกรณีที่เข้ามาทำผิดกฎก็ต้องถูกปรับเหมือนกับชนอ่าข่าทั่วไป เช่น การเอามีดไปฟันประตูหมู่บ้าน ฯลฯ การเข้ามาชุมชนอ่าข่าจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องรู้จักกฎหรือข้อห้าม ข้อหรือสิ่งที่ไม่ควรทำในกรณีต่างๆของอ่าข่าดังนี้

1. การเห็นงูแล้วไม่ประกอบพิธีกรรมใดๆ
ตามความเชื่อของอ่าข่างูเป็นสัตว์ที่เป็นเสนียดจัญไร หรือที่อ่าข่าเรียกว่า "ต๊อ" เพราะว่าในอดีตงูเคยเป็นสัตว์ชั้นสูง และอะเผ่วหมี่แย้เลี้ยงไว้ แต่งูไม่ยอมเชื่อฟังขโมยของอะเผ่วหมี่แย้อีก จึงถูกสาปให้ขาขาด เลยต้องใช้ท้องเลื่อยตลอด การประกอบพิธีกรรมใดๆ ของอ่าข่าเมื่อพบเห็นงู จึงต้องยกเลิกพิธีกรรมนั้น เช่น การทำพิธีกรรม "อะเผ่วล้อ – เออ" ถ้าเจองูผู้เจอเข้าบ้านไม่ได้ จนกว่าพิธีกรรมแล้วเสร็จ

2. การไม่เอามีดฟันในสถานที่ดังต่อไปนี้
2.1 ประตูหมู่บ้าน (ล้องข่อง) เป็นสถานที่ที่อ่าข่าทำไว้เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายเข้ามาในหมู่บ้าน ประตูหมู่บ้านมีส่วนที่สำคัญอยู่ เช่น รูปนกอินทรีย์ เพราะมีความเชื่อว่านกอินทรีย์เป็นสัตว์ที่บินเบื้องบน จึงมองเห็นสิ่งไม่ดีที่เข้ามาหมู่บ้านอ่าข่า นกอินทรีย์บินมาที่ประตูหมู่บ้านมาบอกรูปปั้นผู้หญิงผู้ชายให้ทราบ เพื่อเตรียมตัวในการขับไล่สิ่งไม่ดีให้ออกห่างจากชุมชน ส่วนลวดลายที่เขียนเสานั้น เพื่อเป็นยันต์ให้สิ่งไม่ดีกลัว นับว่าประตูหมู่บ้านเป็นสถานที่สำคัญอีกอย่าง ที่อ่าข่าให้ความเคารพ ไม่ยืนตรงกลางเสา ไม่คายน้ำลาย และไม่เอาของมีคมทุกชนิดไปฟัน ผู้ทำผิดถูกปรับเป็นหมู 1 ตัว และเหล้า เพื่อใช้ในการทำพิธีแก้ หากใครทำแล้วจับตัวไม่ได้ชาวบ้านต้องเสียเอง

2.2 เสาโล้ชิงช้า (หล่า เฉ่อ)
เมื่อถึงเทศกาลโล้ชิงช้าทุกปี อ่าข่าก็ไปตัดเสาใหญ่ๆ จำนวนสี่ต้นมา เพื่อมาประกอบเป็นชิงช้า และในหนึ่งปีการละเล่นชิงช้ามีเพียงครั้งเดียว ชาวอ่าข่าจึงเล่นเต็มที่ หลังจากสิ้นสุดเทศกาลก็ต้องมัดเชือกติดเสาให้เรียบร้อย และจะไม่มีใครไปแกะเชือกมาเล่นอีก หากแกะมาเล่นต้องเสียหมูเพื่อทำพิธี ชิงช้าไม่สามารถเอาของมีคมไปฟันได้ ถ้าผิดก็ต้องเอาหมูและเหล้าไปเลี้ยงแก้บน เทศกาลนี้ได้ชื่อว่าเป็นเทศกาลสำหรับเชิดชูผู้หญิงอ่าข่า

2.3 ศาลพระภูมิเจ้าที่ของหมู่บ้าน (มิ๊ซ้อง) เป็นสถานที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสร้างหมู่บ้าน สร้างขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองจากสิ่งไม่ดีให้หมู่บ้าน ชาวอ่าข่าทุกคนจึงไม่เอามีดหรือของมีคมไปฟันสถานที่ดังกล่าว เพราะเป็นการไม่ให้เกียรติเจ้าที่ ซึ่งอาจทำอันตรายกับคนในชุมชนได้ และหากผู้ใดทำผิดก็ต้องเอาหมูและเหล้าไปขอขมา

2.4 บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (อีซ้อล้อเขาะ) ในการประกอบพิธีกรรมนั้น เมื่อต้องการใช้น้ำบริสุทธิ์ก็ต้อง มาตักในบ่อน้ำนี้ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของอ่าข่า การตักน้ำในบ่อก็มีจารีตกฎเกณฑ์บางตัว เช่น เมื่อไปถึงก่อนตักน้ำต้องมีการล้างหน้า มือ และขา เพราะมีความเชื่อว่าการประกอบพิธีกรรมต้องใช้น้ำบริสุทธิ์ จึงให้สิ่งสกปรกตกข้างในไม่ได้ และการตักน้ำก็ต้องตักตามลำดับมาก่อนหลัง เพราะเป็นการควบคุมสังคมไม่ให้เกิดความวุ่นวายในสังคมอ่าข่า โดยผ่านมิติวัฒนธรรม บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้านอ่าข่ามีเพียงแห่งเดียว แต่ในชุมชนที่ประกอบพิธีกรรมทุกครัวเรือน เมื่อไปถึงถ้าไม่เรียงลำดับก่อนหลัง ก็จะเกิดการแย่งน้ำในสถานที่ตรงนี้ และไม่สามารถเอาของมีคมไปฟันได้ ผู้เอาของมีคมไปฟันต้องเสียหมูและเหล้าเพื่อขอขมาเช่นกัน

2.5 ป่าช้า (หล่อ บยุ้ม)
ป่าช้าเป็นสถานที่ที่คนอ่าข่าให้ความเคารพมากอีกสถานที่หนึ่งเนื่องจากว่าป่าช้า เป็นป่าเยอะและครึมๆ และไม่เอาของมีคมไปฟันรวมถึงการไม่นำของมาจากป่าช้า เช่น หน่อ ฟืน ฯลฯ ถ้าทำผิดขึ้นมาก็ต้องเอาหมูไปเลี้ยงและเหล้า เพื่อขอขมาด้วยเช่นกัน

2.6 ลานวัฒนธรรม (แต ห่อง)
สถานที่ตรงนี้เป็นสถานที่เดียวกับที่คนไทยทั่วไปรู้จักในนาม ลานสาวกอด ที่ผ่านมาสถานที่ตรงนี้แปลและตีความหมายผิดมาโดยตลอด เนื่องจากผู้ที่มาสะท้อนวัฒนธรรมอ่าข่า ไม่ใช่คนอ่าข่า ซึ่งอาจสื่อคลาดเคลื่อนด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ภาษา ฯลฯ ทำให้ผู้มาสะท้อนออกมาผิดจากความเป็นจริง จากการที่สอบถามผู้รู้และมีอายุไม่มีใครตอบว่าเป็นลานสาวกอด แต่ตอบเป็นลานวัฒนธรรม ซึ่งมาจากภาษาอ่าข่าว่า แต ห่อง แยกศัพท์ได้ดังนี้ แต แปลว่าที่เที่ยว ห่อง แปลว่าสถานที่ ซึ่งแปลคือ สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ตรงนี้ในอดีตผู้มีความรู้ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่อนุชน แบบทำให้เห็น ชวนทำตาม เพื่อทำเป็น เทียบได้กับของคนเมืองคือ เติ๋นผญา ไม่ควรทำการใดๆที่เป็นการลบหลู่สถานที่นี้ เพราะถือเป็นสถานที่ศักดิ์ของอ่าข่า

3. การไม่ตัดผมและไม่ซักผ้าในวันที่มีงานศพในชุมชน
ตามประเพณีของอ่าข่า ถ้าคนเป็น จะทำพิธีกรรมใดๆก็ตาม ต้องทำจากขาขึ้นหัว ความหมายคือ ทุกสิ่งที่เพิ่มความสูงหรือขยาย ถ้ามีชีวิตหรือเป็น ประกอบพิธีสำหรับคนตาย จะทำจากหัวลงสู่ขา ความหมาย คือ ความสูงไม่เพิ่ม มีแต่ความสลายไป การทำพิธีกรรมจึงแบ่งเป็นมหาภาคได้ 2 ภาค คือ ภาคแรกคือประกอบให้คนตาย และภาคที่สองประกอบให้คนเป็น เมื่อประกอบให้คนตาย คนเป็นก็ไม่ปฏิบัติกัน เช่น อ่าข่ามีความเชื่อว่าไม่เอามีดวางที่ไหล่ ไม่ใช้เท้าถีบประตูบ้าน และไม่ซักผ้า ตัดผมในวันที่มีคนตายในชุมชน ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านั้นประกอบให้กับคนตาย นับว่าเป็นการสื่อความหมายอย่างหนึ่ง ซึ่งบอกความหมายโดยผ่านมิติพิธีกรรม

4 . การไม่ทำไร่และตัดฝืนในวันแกะและวันเสือ ( ย้อ , ข่าหล่า )

สองวันนี้ตามความเชื่อของอ่าข่าเชื่อว่าเป็นวันหยุดของ"อะเผ่วหมี่แย้" ผู้สร้างสรรพสิ่งในโลก และ"อะเผ่วหมี่แย" ได้หยุดพักผ่อนการสร้างสรรพสิ่งต่างๆในโลกในสองวันนี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการให้เกียรติผู้มีพระคุณ จึงไม่ตัดฟืนและทำไร่ในสองวันนี้ หากมีผู้ใดฝ่าฝืนก็ถูกปรับตามความผิดที่กระทำ เช่นอาจเป็นเหล้าหรือไก่