ชนเผ่าอาข่า - ประเพณี "ขึ่มสึ ขึ่มมี้ อาเผ่ว"

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าอาข่า-ประเพณี "ขึ่มสึ ขึ่มมี้ อาเผ่ว"

ประเพณี "ขึ่มสึ ขึ่มมี้ อาเผ่ว" มี ขึ้นภายหลังจากที่มีการอยู่กรรมจากการเผาไฟในไร่ช่วงกลางเดือนเมษายน ตรงกับเดือนอ่าข่า "ขึ่มสึ บาลา"อ่าข่าจะประกอบพิธี "ขึ่มสึ ขึ่มมี้ อาเผ่ว" ขึ่มสึแปลว่า ปีใหม่ ขึ่มมี่แปลว่า คืนของปีเก่า อาเผ่วแปลว่า บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เมื่อรวมกันแล้ว จึงมีความหมายว่า ประเพณีการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือเรียกอีกอย่างว่า ประเพณีปีใหม่ชนไข่

เนื่องจากประเพณีนี้มีการนำไข่มาใช้ประกอบพิธี และเด็ก ๆ ก็จะมีการเล่นชนไข่โดยการย้อมเปลือกไข่ ่ให้เป็นสีแดง และใส่ตะกร้าห้อยไปมา ประเพณีชนไข่ของชาวอ่าข่า เป็นประเพณีที่มีมาช้านาน ไม่สามารถกำหนดว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด มีเพียงประวัติที่เล่าต่อกันมาว่า มีผู้นำทางวัฒนธรรม และการปกครองอาข่า เรียกว่า “โจ่วมา” และหมอสวดพิธีกรรมที่เรียกว่า “พี้มา” ซึ่งมีบทบาทการปกครองชุมชนได้มีการจัดประชุม ปรึกษาหารือ ด้านการปกครองชุมชน โดยใช้เนื้อหากฎจารีตตามที่ชนเผ่าอ่าข่านับถืออยู่

ด้วยเหตุนี้ที่ประชุมจึงมีการเชิญผู้นำทางวัฒนธรรม และการปกครอง คนแรกชื่อว่า “เจ่วย้อ อึ่มนะ เก่วเจ่ว” พร้อมมีผู้ช่วย คือ “เข่อเยว อ่าย้อ” และเชิญหัวหน้าหมอสวดทางพิธีกรรม “พี้มา” คนแรกที่ชื่อว่า “มี้ดือ สิพี้” พร้อมผู้ช่วยที่ชื่อว่า “จ้องหล่อง" กับ "จ้องนะ” เพื่อมาหาเรื่องราว เกี่ยวกับพิธีกรรมประเพณีของชนเผ่า โดยเริ่มมีการประชุมตั้งแต่วันที่เริ่มข้างแรม 1 ค่ำ จนถึง 14 ค่ำ หรืออ่าข่า จะเรียกว่า “ลาแจ๊ ถี่ หยะ” ช่วงนี้จะมีการหยุดงานทั้งหมด เพราะต้องมีการประชุมของผู้นำต่างๆ

อ่าข่าจึงเริ่มมีการประกอบ พิธิที่เรียกว่า “ขึ่มเอ้ว อาเผ่ว” พิธีกรรมวันแรก เริ่มเมื่อเห็นข้างขึ้น 1 ค่ำ อ่าข่าเรียกว่า “ลาเด๊ะ ถี่หยะ” ก็จะมีการเริ่ม ประกอบพิธีใหม่ที่เรียกว่า “ขึ่มสึ อาเผ่ว” หมายถึง พิธีต้อนรับปีใหม่ อ่าข่าให้ความหมายรวมถึง การต้อนรับสิ่งมีชีวิต ที่เกิดใหม่ทุกชนิดบนโลกในของช่วงเดือนเมษายน เมื่อประกอบพิธีนี้เสร็จก็จะมีการทำพิธีต่ออีกที่เรียกว่า “ขึ่มมี่ อาเผ่ว” เป็นพิธีที่เกิดขึ้นเพื่อฉลองปีใหม่ และฉลองตำแหน่งผู้นำทางวัฒนธรรม และการปกครองชุมชน “โจ่วมา” โดยผู้นำมีการประกอบพิธีของตำแหน่งที่เรียกว่า “โจ่ว หละ หยะ เออ” เป็นการเสร็จสิ้นภารกิจของพิธีกรรม

มีการคิดค้นให้มีกิจกรรมของหนุ่มสาว เด็กจะมีความสนใจ และจะไม่เบื่อหน่าย โดยจะจัดกิจกรรมการเล่นไข่ไก่ แจกหนุ่มสาว ส่วนเด็กให้มีการย้อมเปลือกไข่ให้เป็นสีแดง แล้วเอาไปชนเล่น ขั้นตอนกิจกรรมทางพิธีกรรม การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในประเพณีนี้ จะจัดภายใน 5 วัน เพราะด้วยเหตุใดไม่มีข้อมูล

วันแรก พิธี “ขึ่มเอ้ว อาเผ่ว” ช่วง เช้าตรู่ ครอบครัวแต่ละหลังจะไปตักน้ำเพื่อใช้ในพิธีกรรม ซึ่งชุมชนได้กำหนดแหล่งน้ำบริสุทธิ์ไว้ การไปตักน้ำจะเป็นหญิง หรือชายก็ได้ แต่นิยมคือ หญิงมากกว่า น้ำที่ตักนั้นเรียกว่า น้ำบริสุทธิ์ “อี้จุ อี้ส้อ” โดยก่อนที่มีการตักน้ำต้องมีการล้างหน้าล้างตา ชำระขาให้สะอาด และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ และจะเข้าคิวไปการตัก เมื่อตักน้ำเสร็จก็กลับบ้าน พร้อมทั้งให้แช่ข้าวเหนียวที่จะหุงประกอบพิธี อีกทั้งให้ทำความสะอาดสถานที่หน้าบ้าน ภายในบ้านมีการจัดเก็บของใช้ต่าง ๆ ให้เรียบร้อย เพื่อต้อนรับวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับ โดยเชื่อว่า วิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับจะมารับประทานอาหารที่เซ่นไหว้ และเกิดความโชคดี ดังนั้นผู้ประกอบพิธีต้องใจเย็น และทำจิตผ่องใส เพื่อให้เกิดบุญกุศล และไม่ให้ผิดขั้นตอนประกอบพิธี ซึ่งผู้ประกอบพิธีนั้นต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ห้ามผู้หญิงเป็นผู้ประกอบพิธี เนื่องจากผู้หญิงไม่เป็นผู้สืบสายวงค์ตระกูล แต่สามารถเป็นผู้เตรียมของใช้ในการทำพิธีกรรมได้ ยกเว้น ผู้หญิงที่ยกตำแหน่งเท่าผู้ชาย เรียกว่า “ยาแย้ อ่ามา” สามารถทำพิธีได้ โดยจะทำพิธีกรรม บริเวณฝั่งที่นอนของผู้หญิง เพราะเป็นที่เก็บอุปกรณ์เซ่นไหว้ และเมื่อถึงเวลาเที่ยงวันก็จะมีการเริ่มประกอบพิธี ซึ่งวันแรกของการทำพิธีจะไม่ใช้ไก่ ตอนหัวค่ำมีการสร้างระเบียงขนาดเล็กประมาณ 12 x 12 นิ้ว เรียกว่า “จาแลเก่ว แปะ-เออ กื้อกา” จะเป็นพิธีแกะเปลือกไข่ของวันที่สองของช่วงเช้า โดยชานระเบียงจะมีบันได 9 ขั้น จำนวน 4 เสา ใช้อุปกรณ์ไม้ไผ่ เมื่อสร้างเสร็จก็จะนำเอาก้อนดินมาวางไว้ 1 ก้อนกลางคืนประมาณ 19.00 น. จะมีการทำพิธี “อาเผ่ว ล้อก่อง อุ” เป็นการล้างอุปกรณ์ล้างเครื่องเซ่นไหว้นั่นเอง เมื่อทำการล้างเสร็จให้นำอุปกรณ์เครื่องเซ่นไหว้ไว้ในตู้เก็บ เป็นอันเสร็จพิธีวันแรก และในค่ำคืนของวันนี้จะมีพิธีกรรม คือหนุ่มสาวจะมีการรอตำข้าวเหนียวที่แช่ไว้ อ่าข่าเรียกว่า “แช้มา ถ่อง-เออ” เพื่อห่อเป็นขนมต้ม เรียกว่า “แตะปุ”/”เต๊วะปุ” เพื่อแจกจ่ายให้แขกผู้มาเยี่ยม โดยตำข้าวเหนียวจากครกกระเดื่อง ซึ่งหนุ่มสาวทุกคนจะรอตำ โดยไม่นอนเรียกว่า “ขึ่มสึ ขึ่มโหละโหละ” เมื่อตอนไก่ขันเป็นตัวแรกเชื่อว่าหากผู้ใด เป็นผู้ตำข้าวเหนียวที่แช่ไว้เป็นคนแรกก็จะมีบุญ หรือเป็นวันต้อนรับ ทักทายของวันปีใหม่นั่นเอง

วันที่ 2
“ขึ่มสึ อาเผ่ว” การประกอบพิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ ตอนไก่ขัน ขั้นตอนการทำพิธี คือ เอากระบอกเหล้าพิธี เรียกว่า “จี้ บ่าจี้สี่” และเสียบไม้ขนาดไม่จิ้มฟัน ใส่กระบอกไปมัดติดกับตู้เครื่องเซ่นไหว้ “เปาะ เหลาะ เปาะทู้” และเทน้ำใส่ถ้วย พร้อมขันเล็กตักน้ำ เรียกว่า “อี้จ้อง จ้อง เออ” ใส่หลอดดูดที่ทำด้วยไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “อ้าม้า จี้เต๊อะ” ปัจจุบันใช้ไม้ไผ่อื่นๆ แทนได้ และจะตักน้ำใส่กระบอกไม้ไผ่เอาไว้ นำข้าวสารที่ทำตอนเช้าตรู่มาปั้นเป็นลูกกลมๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว หลายลูกแล้วต้มให้สุก พร้อมกับต้มไข่ 1ใบ ต้มรวมกับข้าวสารเหนียว เพื่อใช้เป็นข้าวบริสุทธิ์ เมื่อสุกแล้วให้คลุกงาดำเรียกว่า “จาแล แลพู้” ทั้งสองส่วนนี้ใช้ประกอบพิธีกรรม โดยจับไก่เพศเมีย ขนสีดำ 1 ตัว ตักน้ำจากถ้วยที่เตรียมไว้ล้างไก่ให้บริสุทธิ์ ไก่ต้องใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จึงต้องทำการชำระล้างไก่ให้บริสุทธิ์ โดยรดน้ำที่ขา ลำตัว หัว จุดละ 3 ครั้ง ถือเป็นการล้างไก่ ให้สะอาด บริสุทธิ์ จากนั้นก็ใช้ไม้ที่ทำไว้ตีที่หัวไก่ และบีบคอให้ตายสนิท การเผาไก่ห้ามใช้ น้ำร้อนลวก เมื่อเผาเสร็จแล้วล้างให้สะอาด แล้วชำแหละไก่ สิ่งแรกที่จะเอากระเพาะอาหารที่ลำคอไก่ออกก่อน แล้วหักขาแบออกสองข้างโดยให้ติดลำตัวอยู่ แล้วงัดอกไก่ออกมาโดยให้เครื่องในไก่ติดกับโครงไก่ไว้ แล้วล้างทำความสะอาดสับชิ้นส่วนต่างๆ ของไก่เพื่อบูชา คือ ตับ น่องไก่ เนื้ออกไก่ แล้วใช้ถ้วยรองรับที่เตรียม ใส่เกลือ ขิง ข้าวสารเหนียวเตรียมไว้ เรียกถ้วยนี้ว่า “ขึ่ม หม่า หละด่า” แล้วแกงให้สุก

* เมื่อ ไก่สุกแล้ว ยกหม้อลง และเอาอุปกรณ์ขันโตกพิธีเข้ามาใกล้ๆ จากนั้นตักชิ้นไก่ใส่ลงในถ้วยไม้ไผ่ใบที่ 1 ซึ่งมีน่องไก่ ตับ อกไก่ 3 ชิ้น และน้ำแกง
* ดูดเหล้าพิธีที่มีน้ำบริสุทธิ์จากกระบอก “จี้ บ่า จี้ สี่” ใส่ลงถ้วยใบที่ 2
* เอาน้ำชาต้มซึ่งส่วนนี้จะใช้ขิง และใบชาใส่รวมกันก็ได้ ใส่ถ้วยไม้ไผ่ใบที่ 3
* เอาข้าวบริสุทธิ์ “ห่อส้อ” คือข้าวที่ยังไม่ได้ผ่านการหุงต้ม มาทำเป็นข้าวบริสุทธิ์เพื่อใช้ในการประกอบพิธี ใส่ในตะกร้าใบที่ 1
* เอาลูกข้าวเหนียวต้มที่ทาด้วยงาดำ จำนวน 3 ลูกใส่ในตะกร้าใบที่ 2
* เมื่อเครื่องเซ่นไหว้พร้อมแล้ว ให้เอาม้านั่งเล็กๆ พร้อมทั้งขันโตก ไปวางไว้ใกล้ๆตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้ ประมาณ 3 นาที เป็นอันว่าเสร็จพิธีบูชา จากนั้นก็ยกลงมา คนทำพิธีก็กินเครื่องเซ่นไหว้เป็นคนแรก และเรียกสมาชิกทุกคนในบ้านมากินด้วย เสร็จแล้วก็เก็บเครื่องเซ่นไหว้ไว้ในตู้ข้าวสาร
* ผู้ประกอบพิธีก็จะนำไข่ที่ต้มไว้ และข้าวเหนียวลูกกลมที่ต้มไว้ ซึ่งข้าวเหนียวจะมีทั้งที่ลงงาดำ และไม่ลงงาดำ และไม้คนข้าวใส่ในจานข้าว ยกออกไปบริเวณที่สร้างชานระเบียง ทำการแกะไข่ และข้าวเหนียวต้มให้ดินกิน เรียกว่า “จาแล แลเก่ว แปะ เออ” หมายถึง แกะไข่เพื่อคุ้มครอง และความเจริญ ซึ่งช่วงที่มีการแกะไข่ให้ดินกินนั้นมีการพูดว่า “อุโมะ จ้อ-เออ อ่าหยะ หยะผ่า ส่อจื้อ โจสะ เล ลอ ยาจิ ยาเพ้ว เพ้วเน้ ถี่ม้อ จ้อ-เออ ยาดะ โจสะ เลลอ” หมายถึง ขอให้หมูที่เลี้ยงใต้ถุนบ้านมีการโตวันโตคืน ขอให้ไก่ตัวผู้สีแดงมีเดือยยาวและใหญ่
* เมื่อทำเสร็จก็ กลับเข้าบ้าน แล้วแกะไข่ใบนั้น (ถือว่าให้กิน) กับอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน อาทิ กระทะข้าว / ไหหุงข้าว สัตว์ลี้ยง และอื่นๆ เพื่อแสดงถึงการคุ้มครองไม่ให้เกิดเภทภัยนั่นเอง ด้วยเหตุนี้หากผู้ใดที่ต้องการจะออกไปล่าสัตว์ หรือหาของป่าจะไม่กินไข่ใบนี้ เพราะเชื่อว่าการไปหาของป่าต่างๆ อาจไม่เจอ เนื่องจากเป็นไข่ที่เกี่ยวกับการปดป้องคุ้มครอง
* ขั้นตอนต่อไปคือการทำพิธี “จาแลแลเก่ว ดะ เออ” คือการขึ้นเครื่องหมายแห่งการคุ้มครองในครอบครัว โดยจะใช้เส้นตอกที่มีความแข็งแรงจำนวน 2 เส้น โดยที่รอบเส้นจะมีการแกะข้าวเหนียวลูกกลมที่ต้มสุก ซึ่งใช้พิธี โดยข้าวเหนียวที่ต้มสุกนี้จะใช้ทั้งสองส่วน คือ ข้าวเหนียวลูกกลมที่ลงงาดำ และไม่ลงงาดำ โดยการแกะสลับที่กัน เส้นละ 9 ลูก จากนั้นก็ไปเสียบไว้ ประตูทางเข้าบ้านที่หลังคา ทั้งฝ่ายผู้ชาย และผู้หญิง ซึ่งแสดงถึงการป้องกันสิ่งเลวร้ายไม่ให้เข้ามาในบ้าน
* เมื่อ ทำพิธีเสร็จแล้ว ฝ่ายผู้หญิงหรืออาจเป็นหญิงสาวก็จะมีการต้มไข่โดยการย้อมเปลือกไข่ให้เป็น สีแดงแล้วใส่ตะกร้า ให้เด็กสะพายไปมา ของแต่ละครอบครัว หรือบางคนเมื่อต้องการกินไข่ก็ทำการชนไข่ให้แตกแล้วมากินก็ไม่ผิด และหากมีแขกมาเยี่ยมบ้านของตนก็จะมีการมอบไข่ หรือให้ไข่กับญาติพี่น้อง สื่อถึงความรักที่มีให้กัน
* ตอนค่ำประมาณ 19.30 น.ก็จะทำพิธี “อ่าเผ่ว ล้อก่อง อุ๊ เออ” คือการล้างเครื่องเซ่นไหว้ แล้วเก็บใส่ตู้เป็นอันเสร็จพิธีวันที่สอง

วันที่ 3 อยู่กรรม
(หยุด) “ขึ่มสึ เจ่ ลอง เออ” คือการอยู่กรรมต้อนรับฟ้าใหม่ที่จะมีฝนตกลงมาเป็นครั้งแรกในประเพณีนี้ โดยจะมีการปักตาแหลว อาข่าเรียกว่า “ด๊า แล้” เพื่อ แสดงให้บุคคลภายนอกรู้ว่า ทางชุมชนจะมีการทำพิธี หากไม่มีความจำเป็นก็อย่าเข้ามาในชุมชน แต่ถ้าเข้ามาแล้วต้องอยู่ให้ครบงานพิธีจึงจะออกได้ ทั้งนี้เพื่อถือว่าเป็นการอยู่กรรมให้เกิดการคุ้มครองสูงสุด

วันที่ 4 พิธี “ขึ่มมี้ อ่าเผ่ว” ในวันนี้จะไม่ใช้ไข่ไก่ ในการประกอบพิธีกรรม วันนี้จะทำเหมือนกับวันแรกทุกประการ แต่ในค่ำคืนนี้เจ้าภาพที่มีการกระทุ้งกระบอกไม้ไผ่ จะมีการเลี้ยงอาหาร สุราตลอดทั้งคืน

วันที่ 5 พิธี “ขึ่มมี้ เจ่วหละ หยะ-เออ” วันนี้จะเป็นวันประกอบพิธีกรรมและประเพณีชนไข่ เป็นวันสุดท้าย มีพิธีไหว้ครูตำแหน่งผู้นำวัฒนธรรมและการปกครอง มีการฆ่าหมู เพื่อเลี้ยงแขก กลุ่มที่เป็นหมอสวด เป็นกลุ่มที่มีมีดหมอประจำตำแหน่ง จะทำพิธีบูชามีดหมอ เรียกว่า “หละ แหย่ ทูเออ” โดย ใช้ไก่เพศผู้ และกลุ่มช่างตีเหล็กก็ทำพิธีบูชา เครื่องเป่าลม วันนี้ถือว่าเป็นการบูชาตำแหน่งที่ได้สืบทอดจากบรรพบุรุษ ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ตกกลางคืนหลังจากรับประทานอาหารเสร็จก็จะทำการเก็บอุปกรณ์ เครื่องเซ่นไหว้ถือว่าเป็นการเสร็จพิธีกรรม "ขึ่มสึ ขึ่มมี้ อาเผ่ว"