ชนเผ่าอาข่า - พิธีปลูกสร้างประตูหมู่บ้าน

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าอาข่า : พิธีปลูกสร้างประตูหมู่บ้าน


เป็นศาสนสถานที่สร้างไว้ก่อนเข้าสู่ชุมชนของชาวอ่าข่า ทางทิศเหนือ และทิศใต้ของชุมชน ประตูหมู่บ้านนี้อ่าข่าเรียกว่า “ล้อข่อง” แปล ความหมายได้คือ เขต หรือเขตคุ้มครอง ซึ่งบางคนก็นิยมเรียกประตูหมู่บ้านนี้ว่า ประตูผี พิธีปลูกสร้างประตูหมู่บ้านของอ่าข่าจะนิยมทำกันในเดือน เมษายน ของทุกปี ตรงกับเดือนอ่าข่าคือ “ขึ่มสึบาลา” โดย ชุมชนจะกำหนดวันฤกษ์ดีขึ้น แล้วทำการปลูกสร้าง อ่าข่ามีความเชื่อต่อการปลูกสร้าง ประตูหมู่บ้านว่า ทำเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี หรือสิ่งเลวร้ายที่อาจมาเยือนในชุมชน รวมไปถึงถูตผีปีศาจ และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ถือเป็นรั้วในการป้องกัน และคุ้มครองคนในชุมชน ตลอดจนการปลูกสร้างประตูหมู่บ้าน ยังเป็นตัวที่บอกถึงอายุการก่อตั้งของหมู่บ้านอ่าข่าอีกด้วย ส่วนในการประกอบพิธีกรรม ก็จะใช้เวลาเพียง 1 วัน

สำหรับประตูหมู่บ้านของอ่าข่า ถือเป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน ห้ามบุคคลทุกเพศทุกวัยทำการล่วงละเมิด หรือแตะต้องประตูหมู่บ้านนี้ หากบุคคลใดทำการล่วงละเมิด หรือแตะต้องประตูหมู่บ้านจะต้องทำพิธีเลี้ยงผีตรง ประตู หมู่บ้าน ถือว่าเป็นการแก้ และกล่าวขอโทษที่ล่วงละเมิด โดยมิได้ตั้งใจ หรือล่วงรู้มาก่อน ส่วนขั้นตอนในการปลูกสร้างประตูหมู่บ้านก็มีดังนี้คือ ถ้าผู้นำศาสนาของชุมชน “โจ่วมา” ได้ กำหนดวันฤกษ์ดี และประกาศว่า วันพรุ่งขึ้นทางชุมชนจะมีการปลูกสร้างประตูหมู่บ้าน ให้ทุกคนรับรู้ไว้ด้วย และประมาณ 20.00น ผู้นำศาสนาก็จะประกาศข่าวอีก อ่าข่า เรียกว่า “ล้องกู้กู้เออ” โดยให้คนในชุมชนงดเว้นการทำไร่ ทำสวน หยุดการจับปลา เก็บเห็ด หรือทุกอย่าง ที่อยู่ในป่า ในวันที่จะปลูกสร้างประตูหมู่บ้าน

ส่วนช่วงเช้าอีกวันหนึ่ง หัวหน้าครัวเรือนทุกครัวเรือนก็จะนำอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ในการปลูกสร้างประตูหมู่บ้าน แล้วมารวมตัวกันที่บ้านของผู้นำศาสนา พอรวมตัวกันครบแล้วก็ออกไปดำเนินการปลูกสร้างประตูหมู่บ้าน ในการปลูกสร้างประตูหมู่บ้านต้องสร้างทั้ง 2 ด้านของชุมชน หรือตัวผู้ตัวเมีย
ในวันเดียวกัน และต้องสร้างให้เสร็จก่อนอาหารเที่ยง คือถ้าสร้างไม่เสร็จก็ยังไม่รับประทานอาหารเที่ยง จึงมีการแบ่ง และมอบหมายงานอย่างดี จะมีทั้ง คนที่ต้องไปตัดไม้สำหรับมาทำเป็นเสาและคาน ส่วนที่เหลือก็จะจัดการเรื่องสถานที่รอบๆ ประตูหมู่บ้านก็มีการดายหญ้า เพราะการจัดการสถานที่หรือ การทำประการใดๆ บริเวณประตูหมู่บ้าน จะทำได้แค่วันนี้วันเดียวเอง

ข้างๆประตูหมู่บ้านจะมีตุ๊กตาคน เพศชาย และเพศหญิง จัดวางอยู่ ซึ่งเป็นการแสดงถึงต้นกำเนิดของชาวอ่าข่า ในการสร้างประตูหมู่บ้านจะมีการแกะสลัก รูปร่างต่างๆ แล้วติดไว้บนคานไม้ข้างบน อาจเป็นลูกข่าง ปืน ดาบ นก เป็นต้น การแกะสลักรูปต่างๆ นี้บอกถึงวิถีชิวิตและพิธีกรรมของอ่าข่าโดยรวม เช่น ลูกข่างบ่งบอกถึงพิธีกรรมประเพณีของอ่าข่า ปืนและ ดาบก็เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันของอ่าข่า ส่วนนกนั้นอ่าข่าเชื่อว่าเป็นนกที่คอยมาบอกถึงภัย ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในชุมชน นี่เป็นความเชื่อของอ่าข่าในการแกะสลักรูปเหล่านี้มาติดไว้บนคานประตูหมู่ บ้าน แต่หลังๆ เริ่มมีการนำรูปเครื่องบินมาประดับด้วย เชื่อว่าเป็นผลมาจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีของสังคมเมือง จึงทำให้อ่าข่าเองตื่นตัว และเริ่มปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน หลังจากปลูกสร้าง ประตูหมู่บ้านเสร็จก็จะมีการสานไม้ไผ่ แล้วนำมาประดับรอบๆ ประตูหมู่บ้าน และจะติด ตาแหลว ไว้ตามต้นไม้ที่ขึ้นอยู่รอบๆประตูหมู่บ้าน เพื่อห้ามไม่ให้ใครมาตัดหรือทำลายเด็ดขาด จากที่นี่เราจะเห็นว่า เครื่องหมาย ตาแหลว ตาแหลว คือเครื่องหมายที่อ่าข่าทำขึ้นมาจากไม้ไผ่ โดยนำไม้ไผ่มาผ่าบางๆ แล้วสานถี่ๆ ติดกันหลายรอบแล้วนำไปติดตามต้นไม้ เป็นสัญลักษณ์ว่า "ห้าม ” ฉะนั้น เวลาเราเดินทางไปหมู่บ้านอ่าข่า หากเห็นตาแหลวผูกติดอยู่บริเวณใดก็ตามห้ามไปจับต้อง หรือทำการใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นความเชื่อที่ชาวอ่าข่าสืบทอดกันมานาน หลังจากที่สร้างประตูหมู่บ้านด้านหน้าเสร็จ ก็จะไปสร้างต่ออีกประตูหนึ่ง ทางด้านหลังของหมู่บ้าน หลังจากสร้างเสร็จทั้งสองประตู ก็ถือว่าพิธีการปลูกสร้างประตูหมู่บ้าน ก็ได้เสร็จสิ้นลง ชาวบ้านต่างก็แยกย้ายกันไปทานข้าวเที่ยงที่บ้านของตน วันนี้ถือเป็นวันสำคัญ อีกวันหนึ่ง อ่าข่าจะไม่ออกไปไหน หรือประกอบการใด ๆ ทั้งสิ้น