ชนเผ่าอาข่า - ประเพณี พิธีการทำบุญในไร่ข้าว

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าอาข่า-พิธีการทำบุญในไร่ข้าว

พิธีทำบุญในไร่ข้าว หรือ อึ่มผี่ล้อเออ พิธีนี้จะทำหลังจากทำพิธีปลูกข้าวเริ่มแรกประมาณ 1 เดือน หรือ ประมาณ 3 อาทิตย์ของอ่าข่า (สุ่มนองจ๊อง) พิธีนี้ทำขึ้นเพื่อให้ผลผลิตในไร่ข้าวเจริญงอกงาม ปราศจากสิ่งรบกวน เช่น ตั๊กแตน ปลวก ฯลฯ ในการทำพิธีนี้ต้อง นับวันฤกษ์วันดีของครอบครัว (เป็นวันเกิดของคนในครอบครัว แต่ไม่ตรงกับวันตายโหงของคนในครอบครัว)

การนับวันเกิดของอ่าข่า จะนับตามชื่อสัตว์ 12 ตัว ก็มีวันแกะ "ย้อ" วันลิง "โหมยะ" วันไก่ "ยา" เป็นต้น แล้วกำหนดวันที่จะทำพิธีขึ้นมา การประกอบพิธี ทำบุญในไร่ข้าว "อึ่มผี่ล้อเออ" สามารถแบ่งออกได้ 2 ลักษณะคือ การประกอบพิธีแบบธรรมดาโดยใช้ไก่ และการประกอบพิธีขนาดใหญ่ โดยใช้หมู ส่วนการประกอบพิธีโดยใช้ไก่มีวิธีการทำดังนี้ลำดับแรกจะมีการเตรียมตัว ในเรื่องสิ่งของที่ต้องใช้ในการทำพิธี ได้แก่

 


1.ไข่ 2 ฟอง ต้มให้สุกพร้อมข้าวต้ม
2. ไก่ 1 ตัว ไก่ต้องไม่เป็นไก่ที่ขาด้วนหรือขาดอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง
3. แกลบที่ได้จากการต้มเหล้า (จี๊บ่าจี๊ชู)
4. ชา (ล้อป่อ)
5. ขิง (ฉ่อจึ)


โดยแต่ละอย่างจะแบ่งออกเป็น 2 ชุดด้วย เมื่อทุกอย่างพร้อมคนที่จะทำพิธีก็ออกจากบ้านเพื่อจะไปทำพิธี โดยจะสานตะกร้า สำหรับใส่ ไก่ (กาโล้) ระหว่าง ที่เจ้าของบ้านไปทำพิธีที่ไร่ แม่บ้านต้องนำใบไม้มาปักไว้หน้าประตูทั้ง 2 ข้างของบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์หรือสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาในบ้าน ระหว่างที่ทำพิธีในไร่ เป็นความเชื่อของอ่าข่าที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และในระหว่างเดินทางถ้าเจองูในวันนั้นก็ไม่สามารถที่จะทำพิธีได้ต้องกลับมา ยังบ้าน และรอวันดีของครอบครัวต่อไป อ่าข่าจึงจะไม่นิยมนำสุนัขติดไปด้วยในการทำพิธี เพราะเกรงว่าสุนัขจะไล่สัตว์ หรืองูออกมา เมื่อไปถึงที่ไร่ก็จะไปตัดไม้ แล้วปักไว้เหนือศาลที่อ่าข่าทำไว้ที่ไร่ (อึ่มผี่) จาก นั้นก็นำไก่มาและเอาน้ำที่ยังไม่ได้ใช้ ราดเริ่มที่ขา ปีก หัว ที่ละ 3 ครั้ง แล้วฆ่า พอฆ่าไก่เสร็จแล้วก็จะเอาเลือดไปติดตรงตะกร้า เพื่อให้เจ้าป่า เจ้าเขา รู้ถึงการมาทำพิธีในวันนี้ และอ่าข่าเชื่อว่าเป็นการขอขมากรณีที่มีการฆ่างู หนู หรือสัตว์อื่นๆจนเป็นเหตุให้ตาย ซึ่งการใช้ไก่ตัวนี้ถือเป็นการชำระล้างให้เกิดความบริสุทธิ์ จากนั้นก็ถอนขนจากปีกของไก่ออก 9 เส้นจาก 2 ข้าง แล้วนำมาเสียบรอบๆ ไม้ที่ปักไว้เหนือศาล แล้วทำพิธีเซ่นไหว้ (ลาคา) โดยถอนขนไก่ลงบริเวณเสาที่ปักไว้ 3 ครั้ง แกะไข่ แล้วเอาเปลือกไข่ลง 3 ครั้ง รวมทั้ง ชา,ขิง และข้าวแกลบที่ได้จากการต้มเหล้า (จี๊บ่าจี๊ชู) ก็เอาลง 3 ครั้ง

เสร็จจากนั้นก็ไปที่ตรงเป็นจอมปลวก (จะปุ๊) หรือใช้ก้อนดิน ถ้าหาจอมปลวกไม่ได้ แล้วก็แกะไข่อีก 1 ฟอง พร้อมชา ขิง และข้าวแกลบที่ได้จากการต้มเหล้า แล้วทำพิธีเซ่นไหว้ (ลาคา) เหมือนที่ทำหน้าศาลอย่างละ 3 ครั้ง จากนั้นก็ห่อไข่ทั้ง 2 ฟอง (ล้ออู) ให้ แยกจากกันเพื่อจะนำกลับไปยังบ้านของตน เมื่อห่อไข่เสร็จก็นำตะกร้าที่ใส่ไก่เสียบไว้กับไม้หน้าศาล โดยให้หันไปทางทิศตะวันออก จากนั้นก็เดินทางกลับบ้าน เมื่อมาถึงที่บ้านก็จะนำถุงไปแขวนไว้ตรงกลางของบ้าน (ลอข่า) จากนั้นก็เอาไข่ออกจากถุง นำกระบอกไม้ (จี๊บ่าจี๊สี่) ที่อ่าข่าใช้ในการทำพิธีต่างๆ มาตั้งไว้ แล้วนำไก่ตัวนั้นมาประกอบอาหาร ให้ผู้เฒ่าผู้แก่กิน (จ่าปุ๊ยาอูบีจ่าเออ) หลังจากทานข้าวเสร็จก็ทำพิธี (จี๊บ่าเตอเออ) หลังจากเสร็จนี้ พิธีทำบุญในไร่ข้าว (อึ่มผี่ล้อเออ) ก็ถือว่าเสร็จสิ้นการทำพิธีโดยใช้ไก่ สำหรับการประกอบพิธีแบบใหญ่โดยใช้หมู จะทำกันสำหรับครอบครัวที่เป็น "ยาแย้อ่ามา" คือผู้หญิงที่ได้ประกอบพิธียกตำแหน่งเทียบเท่าผู้ชาย ครอบครัวเหล่านี้จะใช้หมูในการประกอบพิธี การทำบุญในไร่ข้าว "อึ่มผี่ล้อเออ" ซึ่งจะใช้คู่กับไก่ ถ้าไก่ตัวผู้ก็จะใช้หมูตัวเมีย ถ้าไก่ตัวเมียก็จะใช้หมูตัวผู้สลับกัน