ชนเผ่าอาข่า - ประเพณีเชิดชูตำแหน่งรองผู้นำศาสนา "ยอลาอ่าเผ่ว"

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าอาข่า : ประเพณีเชิดชูตำแหน่งรองผู้นำศาสนา "ยอลาอ่าเผ่ว"

หลังจากเทศกาลโล้ชิงช้าผ่านไป 13 วัน หรือ 1 รอบสัปดาห์ของอ่าข่า ก็จะมีประเพณียอลาอ่าเผ่ว ประเพณีนี้จะจัดขึ้นประมาณเดือน กันยายนของทุกปี ตรงกับเดือนอ่าข่าคือ ยอลาบาลา โดยจะประกอบพิธีกรรมเป็นระยะเวลา 2 วัน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ประวัติความเป็นมาของประเพณีนี้ว่า เกิดขึ้นเนื่องจาก ในชุมชนอ่าข่านอกจากจะมีผู้นำศาสนา หรือที่อ่าข่าเรียกว่า “โจ่วมา” แล้ว ในชุมชนอ่าข่าก็ยังมีรองผู้นำศาสนา อ่าข่าเรียกตำแหน่งนี้ว่า "โจ่วหย่า" เป็นบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำศาสนา “โจ่วมา” ในอดีต ดังนั้นประเพณี ยอลาอ่าเผ่ว จึงจัดขึ้นมาเพื่อเชิดชูอดีตผู้นำศาสนา ฉะนั้นประเพณีนี้ถือเป็นประเพณีของอดีต ผู้เคยดำรงตำแหน่ง โจ่วมา มาก่อนก็ว่าได้ ดังนั้นบรรดาผู้เป็นรองผู้นำศาสนาหรือ "โจ่วหย่า" ก็จะมีการประกอบพิธีกรรมเพื่อไหว้ครู และมีการเลี้ยงอาหาร เรียกว่า โจ่วยองล้อเออ โดยมีกิจกรรมของพิธีกรรมดังนี้
วันแรก การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ วันนี้มีการประกอบพิธีเซ่นไหว้ให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมคือ

ช่วงเช้า ผู้หญิงอ่าข่าก็จะออกจากบ้าน เพื่อไปตักน้ำบริสุทธิ์ที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อมาใช้ในการประกอบพิธีกรรม โดยก่อนตักน้ำก็มีการชำระล้างส่วนต่างๆของร่างกายให้สะอาด โดยล้างขา ล้างมือ ล้างหน้า อ่าข่าเชื่อว่าผู้ที่จะไปตักน้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์จะต้องมีความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา และใจ หลังจากที่ชำระล้างร่างกายเสร็จแล้ว ก็จะเข้าคิวตักน้ำ อ่าข่าเรียกน้ำที่ตักนี้ว่า “อี๊จุ อี๊ซ้อ” หมายถึงน้ำบริสุทธิ์ เมื่อตักน้ำกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็จะทำการแช่ข้าวเหนียว เพื่อจะตำข้าวปุ๊ก หรืออ่าข่าเรียกว่า “ห่อถ่อง” เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม เมื่อถึงเที่ยงก็จะทำการนึ่งข้าวที่แช่ไว้ และขณะที่รอข้าวสุกก็จะคั่วงาดำ เพื่อผสมกับข้าวปุ๊ก พร้อมเอาเครื่องเซ่นไหว้ออกจากตู้เก็บ แล้วนำมาล้างด้วยน้ำบริสุทธิ์ เมื่อล้างเสร็จก็ทำการผึ่งไว้บนชานเหนือเตาไฟ ซึ่งจะอยู่ทางฝั่งที่นอนของฝ่ายหญิง อ่าข่าเรียกที่นี้ว่า “ข่อต๊ะ” อุปกรณ์เครื่องเซ่นไหว้ก็มี ขันโตกเล็ก ตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว จำนวน 2 ใบ กระบอกสำหรับใส่เหล้า น้ำชา และเนื้อ จำนวน 3 ชิ้น ม้านั่งเล็ก 1 ตัว (บางตระกูลไม่ใช้ม้านั่งนี้) และเมื่อข้าวสุกก็ตักข้าวออก 1 ถ้วย เพื่อมาทำเป็นข้าวบริสุทธิ์ ชนิดไม่ตำ เพื่อใช้ในการทำพิธี อ่าข่าเรียกข้าวบริสุทธิ์นี้ว่า “ห่อส้อ” จากนั้นนำข้าวสุกที่เหลือเป็นส่วนใหญ่ไปตำเป็นข้าวปุ๊ก ในครกขนาดใหญ่ เมื่อตำข้าวปุ๊กเสร็จ ก็นำกลับมาที่บ้าน แล้วนำเนินการบิดข้าวเหนียวออกมา 3 ชิ้น อ่าข่าเรียกว่า "อ่าเผ่วล้อฮี้" แล้วใส่ไว้ในตะกร้าเครื่องเซ่นไหว้

เอากระบอกเหล้าพิธี "จี๊บ่าจี๊ชู /จี๊บ่าจี๊สี่" จำนวน 1 กระบอก โดยทิ้งเศษขี้เถ้าที่อัดปิดกระบอกออกทิ้งบริเวณเตาไฟ และเสียบไม้ขนาดไม้จิ้มฟัน อ่าข่าเรียกว่า จี๊ฉ้อ และหลอดดูดที่เป็นหลอดไม้ไผ่ อีก 1 หลอด พร้อมที่ตักน้ำใบเล็กๆ เพื่อจะใส่น้ำบริสุทธิ์ อ่าข่าเรียกว่า "อี๊จ๊อง" พร้อมใส่น้ำบริสุทธิ์ ไปตั้งไว้ตรงหน้าตู้เครื่องเซ่นไหว้ จับไก่เพศเมียมา 1 ตัว จากนั้นก็ใช้น้ำบริสุทธิ์รด 3 จุด คือ ที่ขา ปีก และหัว รดจุดละ 3 ครั้ง จากนั้นก็เชือกไก่ หลังจากชำแหละไก่เสร็จ ก็ทำการสับเนื้อไก่ ใส่หม้อต้ม แต่ต้องมีถ้วยรองเนื้อ เรียกว่า "ขี่มหม่าหละต่า" ในถ้วยจะมี ขิง ข้าวเหนียว เกลือ เพื่อต้มกับไก่ สาเหตุที่ต้องใช้ถ้วยรองเนื้อก่อนจะต้มเนื้อก็เพื่อป้องกัน ไม่ให้เนื้อไก่ที่สับเป็นชิ้นๆ ตกลงพื้น เพราะถือว่าไม่สะอาด และห้ามใส่เครื่องปรุงอื่นๆ เด็ดขาด นอกจากขิง เกลือ และข้าวเหนียว หากใส่เครื่องปรุงลงไปหลากหลายถือว่าไม่บริสุทธิ์ และอ่าข่าเชื่อว่า ถ้าเครื่องปรุงเยอะ เทพเจ้าไม่ชอบ สำหรับชิ้นส่วนไก่ที่ใช้ในการเซ่นไหว้ จะมี น่องไก่ ตับ อก สำหรับตระกูลที่เซ่นไหว้ โดยใช้เนื้อไก่ 3 ชิ้น บางตระกูลใช้ 5 ชิ้นในการเซ่นไหว้ ซึ่งจะเพิ่ม ปีก และเนื้อส่วนอื่นด้วย เมื่อ ต้มไก่สุกแล้ว ให้เอาขันโตกพิธีมาตั้ง จากนั้นก็เริ่มประกอบพิธี โดยคนทำพิธีจะเป็นผู้ชาย ก็จะยกขันโตกไปตั้งไว้ที่หน้าตู้เครื่องเซ่นไหว้ เพื่อทำการบูชา ซึ่งช่วงนี้ต้องหันหลังให้กับขันโตกพิธี เพราะเชื่อว่า เทพเจ้าจะลงมารับประทานอาหาร จากนั้นก็ยกขันโตกลงมาข้างล่าง ผู้ประกอบพิธีจะกินอาหารของเทพเจ้าเป็นคนแรก อ่าข่าเรียกอาหารนี้ว่า “อ่าเผ่วลอจ๊า” เมื่อผู้ประกอบพิธี กินเสร็จแล้วก็ให้สมาชิกคนอื่น ๆ กิน เมื่อกินเสร็จกันแล้ว ก็ทำการเก็บขันโตก และอาหาร เครื่องเซ่นไหว้ ใส่ตู้ข้าวสาร ถือว่า พิธีกรรมวันแรกก็ถือว่าเสร็จสิ้น

อนึ่งช่วงที่มีการทำพิธี ทางชุมชนจะจัดบุคคลขึ้นมา 1 คน เพื่อทำการปักตาแหลว “ตาแหลว 7 ตา” สิหมะด้าแล้ เพื่อเป็นการแสดงถึง การป้องกัน คุ้มครอง ที่สำคัญเพื่อบ่งบอกให้บุคคลภายนอกที่เข้ามาในชุมชนรู้ว่า หากเข้ามาในชุมชนแล้ว จะต้องอยู่ร่วมงานพิธี จะออกไปไม่ได้ หากอยู่ร่วมพิธีไม่ได้ก็ไม่ให้เข้ามา โดยจะปักไว้ทางทิศเหนือ และทิศใต้ของชุมชน
วันที่สอง วันฉลองตำแหน่ง "โจ่วหย่า"

สำหรับวันที่สองนี้ บุคคลผู้มีตำแหน่งรองผู้นำศาสนา "โจ่วหย่า" จะมีการประกอบพิธีไหว้ครูในตำแหน่ง ที่ยังคงดำรงอยู่ โดยจะมีการเลี้ยงอาหารกับแขกที่มาร่วมงาน และเชิญผู้อาวุโสในหมู่บ้านมาร่วมงานด้วย

ขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรม

นำหมูสีดำมา 1 ตัว ขนาดแล้วแต่ที่หาได้ จับเข้าไปในบ้าน แล้วทำการตั้งกระบอกเหล้าพิธี พร้อมทั้งน้ำบริสุทธิ์ เพื่อรดน้ำหมู อ่าข่าเรียกน้ำนี้ว่า “อี๊จ๊อง” โดยตั้งไว้ที่เตาไฟฝั่งผู้ชาย จากนั้นให้เจ้าของบ้านซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองผู้นำศาสนา โจ่วหย่า ก็จะทำการรดน้ำหมู จากขา ลำตัว และหัว จุดละ 3 ครั้ง แล้วใช้มีดในตำแหน่ง ฆ่าหมู หลังจากฆ่าเสร็จก็ทำการเผา เมื่อเผาและทำความสะอาดตัวหมูเสร็จแล้ว ก็ทำการชำแหละ เพื่อประกอบพิธี ซึ่งการทำอาหารนั้น จะต้องมีการลาบ ที่ใส่เลือด เรียกว่า "แบยะเน้" และลาบที่ไม่ใส่เลือด เรียกว่า "แบยะพยู้" จากนั้นก็ประกอบอาหาร เมื่อทำอาหารเสร็จก็เชิญ แขก ผู้อาวุโส ร่วมรับประทานอาหาร เมื่อรับประทานอาหารเสร็จก็ทำขั้นตอนต่อไปคือ

การดูดเหล้าตอนเลิกวงอาหาร “จี๊บ่าจี๊สี่เต๊อะ” ให้เอากระบอกเหล้าพิธีกระบอกที่1 ที่ตั้งตอนที่ฆ่าหมู เรียกว่า “หยะแสะผู่” กระบอกที่ 2 เรียกว่า "เจ่วจี้ หม่อจี้" โดยทำการดูเหล้าในกระบอกที่ 1 จำนวน 3 ครั้ง แล้วมาดูดที่กระบอกที่ 2 จำนวน 3 ครั้ง จากนั้นผู้อาวุโสก็จะอวยพรให้ เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเสร็จพิธีในวันนี้ เมื่อถึงหัวค่ำ หรือประมาณ 19.00น ก็ทำการเก็บเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ เข้าตู้เก็บ เรียกการเก็บเครื่องเซ่นไหว้นี้ว่า “อ่าเผ่ว ล้อก่องอุ๊เออ” หลังจากเก็บเครื่องเซ่นไหว้แล้วก็ถือว่าเสร็จสิ้นพิธีกรรม

ข้อมูลจากสมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอาข่าเชียงราย