วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
11/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์


การเลือกฤกษ์วันดีของชุมชน เพื่อกินข้าวใหม่ "ยอพูนองหมื่อเช้เออ"


พิธีเลือกฤกษ์วันดี และกินข้าวใหม่ของอาข่า ถือเป็นพิธีที่สำคัญอีกพิธีหนึ่งที่ชนเผ่าอาข่าสืบทอด และปฏิบัติกันมา ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ พิธียอพูนองหมื่อเช้เออ หมายถึง การกำหนดฤกษ์วันดีของชุมชนเพื่อจะให้สมาชิกในชุมชน สามารถที่จะประกอบพิธีกรรมกินข้าวใหม่ หรือ เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว อาข่าเรียกว่า “แช้นึ่มจึเออ” พิธีนี้จะมีส่วนสำคัญของกิจกรรมอยู่ 2 รูปแบบคือ การเก็บเชื้อข้าวพันธุ์ใหม่ “แช้นึ้มยู้เออ” และการกินข้าวใหม่ “แช้นึ้มจึจ่าเออ อนึ่งประเพณีกำหนดวันฤกษ์ดีของชุมชน “ยอพูนองหมื่อเช้เออ” จะใช้ระยะเวลาในการประกอบพิธีเพียง 1 วัน ซึ่งการเลือกฤกษ์วันดีของชุมชนนั้น จะให้ผู้นำศาสนา หรืออาข่าเรียกว่า "เจ่วมา" ดูตับหมู เกี่ยวกับผลผลิตของชุมชน อาข่าเรียกการดูตับของ เจ่วมา ว่า “หยะผี่ท้องเออ” เมื่อทราบว่าในวันรุ่งขึ้น จะมีการอยู่กรรมเพื่อถือเป็นวันฤกษ์ดีของชุมชนแล้ว ในตอนกลางคืนก็จะมีการประกาศที่เรียกว่า “ลองกู้กู้เออ” ซึ่งจะประกาศให้คนในชุมชนหยุดการทำงาน อย่าเก็บของป่า อย่ายุ่งเรื่องเพศ และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เมื่อถึงวันรุ่งขึ้น คนในชุมชนก็จะอยู่บ้าน ไม่ออกไปทำงาน แต่บรรดาสตรีก็อาจมีการเย็บผ้า ปักผ้าบ้าง ตอนเย็นก็จะมีการละเล่นสะบ้าได้ สำหรับที่บ้านของครอบครัวที่เป็นแกนนำในการถือฤกษ์วันดี จะมีพิธีกินข้าวใหม่โดย

ช่วงเช้าตรู่ พ่อบ้านที่เป็นผู้ชาย และลูกบ้านพร้อมกับเด็ก จำนวน 3 – 5 คน ของครอบครัวที่จะทำพิธีจะเตรียม เคียว 1 เล่ม ใส่ถุงย่าม โดยพ่อบ้าน (ผู้ประกอบพิธี) นั้นจะใส่หมวกอาข่า "หล่อเฮอ" ส่วนคนอื่นๆ จะเอาถุงย่ามเพื่อเก็บข้าวใหม่ มาทำเป็นข้าวใหม่ คนละ 1 ใบ แล้วเดินทางไปทำพิธีและเก็บข้าวใหม่ ที่ไร่ตั้งแต่เช้ามืด สาเหตุที่ต้องไปเช้ามืดเพราะว่า เพื่อไม่ให้เจอสัตว์ เหล่านี้ คือ งู ลิง เก้ง กวาง เม่น ลิ้น เพราะอาข่า ถือว่า เป็นสัตว์อัปมงคล หากเจอสิ่งเหล่านี้ วันทำพิธี ตอนขาไปต้องเลือกวันใหม่ แต่ถ้าเจอตอนขากลับมาถือว่าโชคเลวที่สุด เพราะจะทำให้เชื้อพันธุ์ข้าวที่เก็บมา ไม่สามารถไปใช้เป็นพันธุ์ข้าวตามที่เทพเจ้า และบรรพบุรุษ ได้ประทานสืบทอดต่อ ๆ กันมา และจะถือเป็นการขาดความสัมพันธ์กับบรรพบุรุษที่ได้สืบทอดกันมา อาข่าเรียกว่า “แช้มาค้าด่อง” จะไม่มีวิธีการแก้ไขได้เลย ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นผู้ประกอบพิธีต้องระวังให้ดีที่สุด ส่วนผู้หญิงก็จะไปตักน้ำบริสุทธิ์
(อนึ่งการตักน้ำบริสุทธิ์ บางครอบครัวจะไปตักหลังจากที่พ่อบ้าน ไปทำพิธีกลับมาถึงบ้านเสร็จแล้ว เนื่องจาก เกรงว่าบางทีหากเจอสัตว์ที่กล่าวมา ก็ต้องทำพิธีใหม่ จึงไม่ไปตักน้ำไว้) พร้อมทั้งการเตรียมอาหารที่เป็นผัก และอื่น ๆ เพื่อใช้งาน ซึ่งการหาอาหารนี้จะหาไว้ล่วงหน้าก็ได้ เช่น ผลไม้ บุก ปลา พริก ฯลฯ ซึ่งในพิธีกรรมนี้จะเป็นการโชว์อาหารครั้งใหญ่ และเป็นหน้าตาของผู้หญิงโดยตรง

เมื่อไปถึงไร่แล้ว ก็ไปเด็ดใบเผือกมา 2 ใบ แล้วปูใส่บนหมวกวางบนหลังคา ซุ้มพิธี “ยาชุ้ม ขึ่มผี่” จากนั้นก็เด็ดรวงข้าวที่สมบูรณ์ให้มีใบข้าวติดอยู่ 1 ใบ จำนวน 3 รวง อาข่า เรียกว่า “แช้นึ้มจึเออ” แล้ววางบนหลังคา ซุ้มพิธีไว้ แล้วเกี่ยวรวงข้าวที่สมบูรณ์อีก 3 ครั้ง เกี่ยวครั้งละ 3 รวง แล้ววางทับซ้อนกันเป็นรูปสามเหลี่ยม (เหมือนการกองข้าว) จากนั้นก็ใช้เท้าขวา เหยียบรวงข้าวที่กองเป็นพิธีแล้ว จากนั้นก็เอารวงข้าวที่เด็ดไว้ 3 รวง ใส่กับเมล็ดข้าวที่เกี่ยว แล้วมัดโดยใช้ใบข้าวมัดใส่ถุง แล้วเริ่มเก็บเมล็ดข้าว เพื่อนำไปเป็นข้าวใหม่ “ห่อสึ” เมื่อเก็บได้พอประมาณก็ เลือกรวงข้าวที่สวยๆอีก 3 รวง เกี่ยวทิ้งไว้บนซุ้มพิธี 3 รวง เหตุผล เนื่องจาก บางทีตอนเกี่ยวข้าวไร่ อาจมีการลืมข้าวที่เกี่ยว ฉะนั้นหากมีการเกี่ยวข้าวแล้วทิ้งไว้บนหลังคาซุ้มพิธี ก็จะสามารถเก็บข้าวที่ลืมในไร่แล้วคนมาใช้บริโภคได้ แต่หากไม่เกี่ยวข้าวทิ้งไว้บนหลังคาซุ้มพิธี ข้าวที่ลืมในไร่ จะไม่สามารถใช้เป็นข้าวที่คนบริโภค นิยมทำเป็นอาหารสัตว์เท่านั้น อาข่าเรียกข้าวที่ลืมแบบนี้ว่า “แช้ แง้” จากนั้น ก็เดินทางกลับบ้าน 

เมื่อกลับมาถึงบ้านเตรียมทำพิธีกรรม โดยเอาถุงที่ใส่ห่อรวงข้าว ห้อยไว้ที่เสา ใกล้กับบริเวณที่จะทำพิธี อาข่าเรียกว่า “ลอข่า” เป็นฝากั้นระหว่างห้องหญิง ชาย จากนั้นเอาถุงใบอื่น ๆ ที่เอาข้าว จากในไร่ออกไปผึ่งแดด พอเป็นพิธี ซึ่งถือว่า เป็นตากข้าวจากแสงอาทิตย์นั่นเอง แล้วนำกลับมาในบ้านคั่วในกะทะ แล้วนำไปตำจากนั้นมาทำเป็นข้าวเม่า “แจะ หย่อ” มีวิธีการทำคือ เอาข้าวใหม่ที่คั่วและตำเสร็จแล้ว นำมา ผสมน้ำเพื่อให้อมน้ำ แล้วใช้ใบตองมัดให้แน่น แล้วทิ้งไว้ระยะหนึ่ง ยิ่งนาน ยิ่งดี เพราะจะทำให้ข้าวใหม่นุ่มขึ้น และเมื่อเที่ยงวัน จะมีการเซ่นไหว้พิธีกรรมมีขั้นตอน คือ

เอาอุปกรณ์เซ่นไหว้จากตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้ อาข่าเรียกตู้เก็บนี้ว่า “เปาะเหลาะเปาะทู้”เพื่อนำอุปกรณ์มาล้างในน้ำบริสุทธิ์ เมื่อล้างเสร็จให้ทำการผึ่งให้แห้ง โดยวางไว้บนชานที่ห้อยอยู่เหนือเตาไฟ ทางฝั่งผู้หญิงอาข่า เรียกชานนี้ว่า “ข่อต๊ะ” จะผึ่งไว้ในขณะที่มีการเตรียมการ เช่น การฆ่าไก่ เป็นต้น (อุปกรณ์ เครื่องเซ่นไหว้ มีดังนี้ คือ ขันโตกเล็ก / ตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว จำนวน 2 ใบ / กระบอกถ้วยที่เป็นไม้ไผ่ เพื่อใส่เหล้า , เนื้อ , น้ำชา จำนวน 3 ใบ / ม้านั่งเล็ก 1 ตัว สำหรับม้านั่งบางตระกูลก็ไม่ใช้)

นำกระบอกเหล้าพิธี “จี้บ่าจี้สี่” 1 กระบอก โดยเอาเศษขี้เถ้าที่อัดปิดกระบอกออก ทิ้งบริเวณที่เตาไฟ และเสียบไม้ขนาดเล็กเท่าไม้จิ้มฟัน ไว้ในกระบอก และเอาหลอดดูด 1 หลอด (ที่ทำด้วยไม้ไผ่) จากนั้นเอาถ้วย 1 ใบ พร้อมที่ตักน้ำใบเล็ก ๆ เพื่อใส่น้ำบริสุทธิ์ อาข่า เรียกว่า “อี้ จ้อง” ไปตั้งไว้ตรงหน้าตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้

ให้ไปจับไก่บริสุทธิ์ที่เป็นไก่ตัวผู้ ซึ่งไม่ใช่ไก่ขนสีขาว มา 1 ตัว โดยไก่ต้องมีอวัยวะครบทุกส่วน ไม่พิการใดๆทั้งสิ้น จากนั้น นำน้ำบริสุทธิ์ ที่ใส่ถ้วย และตั้งไว้หน้าตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้ รดที่ ขา – ลำตัว – หัว จุดละ 3 ครั้ง ซึ่งการรดน้ำนี้ถือว่าเป็นการชำระล้างไก่ให้บริสุทธิ์ แล้วตีหัวไก่ให้ตาย

เมื่อไก่ตายสนิท ก็เผาทำความสะอาด จากนั้นก็ทำการชำแหละ ซึ่งการชำแหละไก่ ต้องระวัง อย่าให้เครื่องในไก่ เวลางัดออกต้องให้ติดทางซี่โครงเท่านั้น หากเครื่องในติดออกมาด้านส่วนนอกก็ต้องฆ่าไก่ตัวใหม่ เนื่องจากถือว่าผิดธรรมชาติ ตามที่สรีระดำรงอยู่ จากนั้นสับไก่เพื่อต้ม โดยก่อนที่จะเอาเนื้อใส่หม้อต้องมีถ้วยรองเนื้อ อาข่าเรียกว่า “ขึ่ม หม่าหละด่า” ในถ้วยจะมี ขิง / ข้าวสารเหนียว / เกลือ เพื่อที่จะต้มกับเนื้อไก่ ห้ามใส่เครื่องปรุงอื่นๆเด็ดขาด เพราะถือว่า ไม่บริสุทธิ์ และชิ้นส่วนไก่ที่ทำพิธีนั้นจะมี ปีกไก่ / และเนื้อ ส่วนอื่น ถือว่าใช้ 5 ชิ้น ในการเซ่นไหว้ เมื่อเนื้อไก่ที่ต้มสุกแล้ว ก็ให้เอาขันโตกพิธีมาตั้ง แล้วใส่อาหาร เครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ กล่าวคือ -ใส่เนื้อไก่ในส่วนของ น่องไก่ / เนื้ออกไก่ / ตับไก่ กรณีครอบครัวที่ทำพิธีเซ่นไหว้ โดยใช้เนื้อไก่ 3 ชิ้น ส่วนตระกูลที่ใช้ 5 ชิ้น ให้เพิ่มปีกไก่ / เนื้อจากส่วนอื่น อีก 2 ชิ้น ลงในถ้วยไม้ไผ่ 1 ใบ พร้อมทั้งน้ำแกงไก 

ใส่เหล้าพิธี ที่ได้จากการดูดขึ้นกระบอกเหล้าพิธี ที่ตั้งไว้หน้า ตู้เก็บเครื่องเซ่นไหว้ ใส่ถ้วยไม้ไผ่ใบที่ 2

ใส่น้ำชาต้ม หรือจะใช้เฉพาะ ใบชา / ขิง ใส่น้ำบริสุทธิ์ ใส่ถ้วยไม้ไผ่ใบที่ 3 (อย่างใดอย่างหนึ่ง)

เอาข้าวสารที่ได้จากข้าวใหม่ ใส่ตระกร้าใบที่ 1 (บางตระกูล ใช้ข้าวสารเก่าต้ม เพื่อทำเป็นข้าวปุ๊ก)

แล้วนำข้าวใหม่ “ห่อสึ” ที่ทำเป็นข้าวเม่า อาข่าเรียกว่า “แจะหย่อ” ใส่ตะกร้าใบที่ 2

หลังจากเตรียมเครื่องเซ่นไหว้แล้ว ให้ผู้ประกอบพิธี แกะห่อใบเผือกที่นำกลับมา จากไร่ แล้วเอารวงข้าว 3 รวงออก มาล้างด้วยน้ำบริสุทธิ์ วางบนขันโตกพิธี จากนั้นเอารวงข้าว แตะชิมเครื่องเซ่นไหว้ที่เตรียมไว้ เอาไปใส่กระบอกหิ้งบูชา “อ่าเผ่วบอลอ” โดยให้ลำต้นข้าวใส่ลงในกระบอกให้รวงข้าว ออกมาทางปากกระบอก จากนั้นให้ปิดปากกระบอกพิธี แล้วทำการเซ่นไหว้ โดยมีไม้สนจุดไฟให้สว่าง ขณะเซ่นไหว้เสร็จ ก็ให้ผู้ประกอบพิธีกินอาหารเทพเจ้า อาข่า เรียกว่า “อ่าเผ่วลอจ้าจ่าเออ” พร้อมทั้งให้สมาชิกคนอื่น ๆ กินด้วย

อนึ่งบางตระกูล มีขั้นตอนการเซ่นไหว้ต่างกันคือ เมื่อเตรียมเครื่องเซ่นไหว้เสร็จแล้ว ก็จะเอาเชือกจากกระบอกหิ้งบูชา อาข่า เรียกว่า “อ่าเผ่วบอลอ” โดยเปิดห่อใบเผือกที่นำมาจากไร่และมีรวงข้าวอยู่ นำเชือกที่กล่าวมา คล้องกับรวงข้าง 3 รวง ซึ่งรวงข้าวนี้ ต้องล้างด้วยน้ำบริสุทธิ์ก่อน แล้วเอาขึ้นไว้บนขันโตก จากนั้นทำการบูชา ประมาณ 3 นาที โดยใช้ไม้สนจุดไฟให้สว่าง ซึ่งปัจจุบันใช้ตะเกียงก็มี จากนั้นยกลงมาข้างล่าง เอารวงข้าวทั้ง 3 รวง ไปแตะที่อาหารเทพเจ้า แล้วนำไปใส่ในกระบอกหิ้งบูชา วิธีการทำเช่นนี้เรียกว่า “แช้นึ้มเจาะเออ” เมื่อทำการใส่เรียบร้อยแล้ว ก็ใช้วัสดุเก่ามาอุดปากให้แน่น ผู้ประกอบพิธีกินอาหารเทพเจ้า เป็นคนแรกก่อน จากนั้นก็ให้สมาชิกคนอื่น ๆ กิน เมื่อกินเสร็จให้เก็บขันโตกอาหารเครื่องเซ่นไหว้ใส่ตู้ข้าวสาร จากนั้นให้ปรุงเนื้อไก่ ตัวที่ทำพิธี ให้ผู้อาวุโสกินก่อน และประมาณบ่าย 3 โมง ก็ทำพิธีฆ่าหมู โดยมีขั้นตอน คือ

จับหมูตัวแม่สีดำ ขนาดขึ้นอยู่กับเจ้าบ้าน แล้วทำการตั้งกระบอกเหล้าพิธี พร้อมถ้วยน้ำบริสุทธิ์ พร้อมที่ตักเรียกว่า
“อีจ้อง” ก่อนทำการฆ่าหมู ให้รดน้ำหมูเพื่อชำระล้างให้บริสุทธิ์ โดยรดน้ำจาก ขา – ลำตัว – หัว จุดละ 3 ครั้ง แล้วให้หมูนอนทับกับเขียงโดยให้ทับมือซ้ายของหมู แล้วให้ผู้อาวุโสฆ่า เมื่อฆ่าตายแล้ว ก่อนทำการชำแหละ ให้ใช้มีดทำการบากเป็นรอยที่มือ และเท้าหมู จากนั้นก็ทำการผ่าท้อง และควักเครื่องในออกมาทั้งหมด แล้วฉีกเฉพาะตับ เพื่อทำนาย อาข่าเรียกว่า “หยะผี่ท้อง” โดยจะทำนายเกี่ยวกับการทำมาหากินเป็นหลัก จากนั้นก็นำหมูไปเผาชำแหละเป็นอาหาร และเชิญผู้อาวุโสมากิน - เมื่อกินเสร็จก็มีการดูดเหล้าพิธีก่อน เพื่อเป็นการปิดพิธี เรียกว่า “จี้บ่า จี้สี่ เช้” โดยกรณีฆ่าหมู จะมีกระบอกเหล้าพิธี ทั้งหมด 4 กระบอก พร้อมหลอดดูด 2 หลอด มีชื่อเรียกกระบอกเหล้าพิธีดังนี้คือ

กระบอกที่ 1 “อ่าเผ่วล้อจี้ส่ ” คือกระบอกที่ใช้บูชาเซ่นไหว้
กระบอกที่ 2 “หยะแสะผู่” คือกระบอกที่ตั้งตอนที่ฆ่าหมู
กระบอกที่ 3 “จี้เช้” กระบอกใหม่แทนความหมายผู้เป็นญาติหรือน้า
กระบอกที่ 4 “เจ่วจี้หม่อจี้” เป็นกระบอกใหม่แทนผู้อาวุโส


เมื่อพร้อมแล้วก็ทำการตั้งกระบอกเหล้าพิธี โดยให้กระบอกที่ 1 อยู่ด้านในสุด และตามด้วยกระบอกที่ 2 /3 และ 4 ซึ่งจะบอกที่ 4 จะอยู่ด้านนอกสุด (บริเวณประตูทางเข้า)จากนั้นก็เริ่มพิธีดูดเหล้าคือ

หาตัวแทนอาวุโสที่เกี่ยวข้องเป็นญาติจะดีมาก จำนวน 2 คน พร้อมทั้งคนเตรียมอีก 1 คน รวม 3 คน จากนั้นก็เริ่มดูดเหล้าพิธี คือดูดกระบอกที่ 1 ถึงกระบอกที่ 4 กระบอกละ 3 ครั้ง จากนั้นก็ให้เจ้าของบ้านดูดกระบอกที่ 3 พร้อมทั้งเอาน้ำจากกระบอกเหล้าพิธีมาใส่ถ้วย อาข่าเรียกน้ำจากกระบอกพิธีนี้ว่า
“จี้บ่าจี้เช้” หลังจากนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะอวยพรให้ จากนั้นก็ยกถ้วยให้ทางแม่บ้าน เพื่อให้สมาชิกชิม หลังจากที่สมาชิกชิมครบทุกคนแล้ว ก็จะตักน้ำจากกระบอกเหล้าพิธี สลับกลับไปมา แล้วพูดว่า “จี้จ่า หล่อง มาเด” แล้วเทใส่กระบอกที่ 3 ดูดซ้ำอีกครั้งเป็นอันเสร็จพิธี