ชนเผ่าอาข่า - ประเพณี ปีใหม่ลูกข่าง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
11/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ประเพณี : ปีใหม่ลูกข่าง

ปีใหม่ลูกข่างหรือ ค๊าท้องอ่าเผ่ว เป็นประเพณีเปลี่ยนฤดูกาลทำมาเลี้ยงชีพ ประเพณีนี้จะจัดขึ้นประมาณ เดือนธันวาคมของทุกปี ตรงกับเดือน อ่าข่า คือ “ท้องลาบาลา” คนทั่วไปนิยมเรียกประเพณีนี้ว่า ปีใหม่ลูกข่าง ประเพณีนี้สามารถแปลความหมายได้ดังนี้ 


 “ค๊า” ให้ความหมายถึงการเพาะปลูก “ท้อง”ให้ความหมายถึงปี หรือฤดูกาล “พ้าเออ” ให้ความหมายว่า เปลี่ยนแปลง แลกเปลี่ยน เปลี่ยน ดังนั้น ถ้ารวมคำทั้งหมดก็จะแปลว่า ประเพณีเปลี่ยน ฤดูกาลเพาะปลูกมีจำนวนในการทำพิธีอยู่ 4 วัน ประเพณีนี้มีประวัติเล่ากันมาว่า เป็นประเพณี ที่แสดงให้เห็นถึง การเปลี่ยนแปลงฤดูกาลทำมาหากิน ซึ่งภายหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์จากท้องไร่นา เสร็จแล้วก็จะเข้าสู่ฤดูแห่งการพักผ่อน ประเพณี “ค๊าท้องพ้าเออ” ถือเป็นประเพณีของผู้ชาย โดยผู้ชายทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ จะมีการทำ ลูกข่าง “ฉ่อง” แล้วมีการละเล่นแข่งตีกัน เพื่อฉลองการเปลี่ยนแปลงวัยที่มีอายุมากขึ้น พร้อมทั้งชุมชน แต่ละครัวเรือน ก็จะมีการแลกเปลี่ยนดื่มเหล้ากันในชุมชน ดังสุภาษิตที่ว่า “ค๊าท้องจี้ฉี่” แปลว่า ประเพณียกเหล้า ฉะนั้น หากประเพณีนี้ถ้ามีคนเมาเหล้า ก็ถือว่า เป็นเรื่องปกติ และเป็นการเริ่มต้นกินข้าวที่เก็บ ไว้ในฉางข้าว ส่วนผู้หญิง ก็จะมีการเล่นสะบ้าในลานชุมชน 

การประกอบพิธีกรรมมีดังนี้

วันแรก “จ่าแบ” วันประกอบพิธีบูชาเซ่นไหว้
วันที่สอง วันทำลูกข่าง “ฉ่อง” หลังจากทำเสร็จก็มีการละเล่น
วันที่สาม วันล้อดาอ่าเผ่ว ในวันนี้จะมีการฉลองกันตามบ้านต่างๆ เชิญแขกมาร่วมรับประทานอาหาร และจะมีการอวยพรให้กับเจ้าบ้านประสบความสำเร็จ ในทุกๆด้าน
วันที่สี่ วันสุดท้าย “จ่าส่า” วันนี้เป็นวันสุดท้ายของประเพณี “ค๊าท้องพ้าเออ” จึงไม่มีการทำพิธีใดๆทั้งสิ้น นอกจาก การเล่นลูกข่าง พอใกล้ค่ำก็จะทำพิธีเก็บอุปกรณ์เครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ไว้ที่เดิม“อ่าเผ่วล้อก่องอู๊” หลังจากเก็บ เครื่องเซ่นไหว้แล้ว ถือว่าเสร็จพิธี