วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
11/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าอาข่า-ประเพณี พิธีเรียกขวัญ

ตำนานเล่าขาน ของพิธีกรรมเรียกขวัญ "ลา คู คู - เออ"
มีตำนานเล่าขานกันมาวามีอ่าข่าคนหนึ่งได้ไปในป่า เพื่อไปหาของป่ามาบริโภค และไปพบเห็นลักษณะเงาลางๆเหมือนคน ก็เกิดสะดุ้ง เพราะนึกว่าผีมาหลอก เมื่อเดินทางกลับมาถึงบ้าน ก็เกิดอาการปวดหัว ตัวร้อน จึงให้ร่างทรงทำนาย และทำนายว่าขวัญอ่อน วิญญาณชั่วร้ายมากหลอกหลอน ต้องประกอบพิธีกรรม ลา คู คู เออ เพื่อเป็นการเรียกขวัญคืนมา อ่าข่าคนที่ไปหาของป่าจึงได้ทำพิธีกรรมตามร่างทรวงบอกกล่าว เมื่อทำพิธีกรรมเสร็จปรากฏว่าอาการต่างๆ ได้หายไปอย่างน่าอัศจรรย์ ตั้งแต่นั้นมาจึงเกิดพิธีกรรมนี้มาและสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

พิธีกรรมเรียกขวัญก็เหมือนกับพิธีกรรมของอ่าข่าอื่นๆ ไม่สามารถหาได้ว่าเกิดขึ้นที่ไหน สมัยใด เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเรียกขวัญ เมื่อประชาชนอ่าข่าไปในป่าหรือสถานที่ที่ใดที่หนึ่ง แล้วไปสะดุ้งกลัว และเกิดความไม่สบายขึ้นมา เช่นตัวร้อน ปวดหัว ฯลฯ เมื่อผู้ประสบเหตุสะดุ้งกลัวกลับมาถึงบ้านก็บอกสมาชิกในครัวครอบมาประกอบพิธีกรรมนี้ การคัดเลือกฤกษ์ยามในการทำพิธี ต้องไม่ตรงกับวันเกิดและวันตายของสมาชิกในครอบครัว จึงนับว่าเป็นวันดี แต่ถ้าเป็นวันเกิดของผู้ที่ประสบเหตุสะดุ้งนั้นได้ และถือว่าเป็นฤกษ์ยามที่ดีมาก สามารถทำได้ 3 รูปแบบ ดังนี้

1. การเรียกขวัญโดยใช้ไข่ " ลา คู คู - เออ ลา แย่ มา เด๊า"
เริ่มพิธีด้วยการไปเรียกผู้อาวุโสในชุมชนคนใดคนหนึ่ง ซึ่งสามารถเรียกได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย มาบ้านผู้ประสบเหตุไม่สบาย เมื่อไปถึงก็ต้มไข่กับข้าวสาร พอไข่สุกก็ไปหาจานอ่าข่า ที่อ่าข่าเรียกว่า ห่อ เวาะ มา 1 ใบ เอาใบตองวางบนจาน และมีเชือก 2-3 เส้นไว้มัดมือ
หาสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ไม่สบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนมากนิยมใช้หมวกหรือเสื้อ มาวางบนจาน เอาไข่และข้าวต้มใส่จาน หาไม้ขนข้าว ที่อ่าข่าเรียก ห่อ แช่ ดา ลา มาใส่จาน ให้ผู้ไม่สบายมายืนที่ประตูบ้าน แต่ให้ยืนอยู่ข้างในบ้าน ผู้อาวุโสอยู่ประตูนอกบ้าน ให้ผู้ไม่สบายกวักมือจานจำนวน 3 ครั้ง พร้อมกับกล่าวว่าขอให้ขวัญของข้าพเจ้ากลับมา ผู้อาวุโสก็ยกจานไปที่ประตูหมู่บ้าน เมื่อไปถึงยกจานลง ใช้ “ ห่อ แช่ ดา ลา ” ตีไข่ให้แตก แกะเปลือกไข่และข้าวต้มซ่อนใต้ใบตอง จำนวน 3 ครั้ง ผู้อาวุโสจึงเดินทางกลับบ้านผู้ไม่สบาย ผู้ไม่สบายได้ยินเสียงผู้อาวุโสเดินกลับมาก็กินข้าวเปล่า 2-3 คำ ผู้อาวุโสเดินทางถึงประตูบ้าน ผู้ที่อยู่กับผู้ไม่สบายก็กล่าว ขวัญกลับมาตั้งนานแล้ว กินข้าวอิ่มแล้วด้วย กลับถึงบ้านมานั่งใกล้ๆ เตาไฟจำลอง ให้ผู้อาวุโสเอาเชือกมัดมือ ถ้าเป็นผู้ชายต้องมัดทางมือข้างขวา ผู้หญิงมัดซ้าย ตามด้วยทุกคนในครอบครัว คืนสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ไม่สบายที่เอาไปให้แกะไข่ทั้งลูกให้ผู้ไม่สบายกินเป็นอันเสร็จพิธีกรรม


2. การเรียกขวัญโดย ใช้ไก่ "ยา จี ลา คู คู - เออ"
เริ่มทำพิธีกรรมด้วยการไปเรียกผู้อาวุโสในชุมชนคนใดคนหนึ่ง ซึ่งสามารถเรียกได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมาบ้านผู้ไม่สบาย เมื่อไปถึงบ้านก็ต้มไข่กับข้าวสารให้สุก นำจานห่อ เวาะ รองด้วยในตองมาวาง ใส่ไข่กับข้าวต้ม สิ่งของเครื่องใช้อย่างใดอย่างหนึ่งของผู้ไม่สบาย เชือก และไม้ขนข้าว มาใส่จานอ่าข่า ไปจับไก่ตัวผู้หรือตัวเมียก็ได้ ( ใช้ไก่ตัวผู้หรือตัวเมีย ขึ้นอยู่กับการทำนายของซา มา ) แต่ต้องไม่มีขนสีขาวและมีอาวัยวะครบ จำนวน 1 ตัว ให้ผู้ที่ไม่สบายไปยืนที่ประตูบ้านข้างใน ให้ผู้อาวุโสอยู่ข้างนอก ผู้ไม่สบายกวักมือในจานแล้วบอกว่าให้ขวัญกลับมา แล้วลูบไก่จากขาขึ้นถึงหัวโดยใช้มือข้างขวา การที่ต้องใช้มือข้างขวาเพราะมือข้างขวาเป็นมือข้างที่ถนัดในการกระทำต่างๆ ผู้อาวุโสเดินทางไปที่ประตูหมู่บ้าน ยกจานลง ใช้ไม้ขนข้าวตีไข่ให้แตก เอาไข่กับข้าวต้มวางซ่อนในใบตอง จำนวน 3 ครั้ง ตามด้วยถอนขนไก่จากน่อง ต้นปีก และหัว ที่ละจำนวน 3 ครั้ง ให้วางซ่อนไว้ในใบตอง จึงยกจานกลับมาบ้าน ผู้ไม่สบายได้ยินเสียงผู้อาวุโสก็กินข้าว 2-3 คำ
เมื่อเดินทางถึงหน้าประตูบ้าน ผู้ที่อยู่กับผู้ไม่สบายต้องกล่าวว่าเห็นขวัญกลับมาตั้งนานแล้ว และกินข้าวอิ่มแล้วด้วย กลับมาถึงบ้านคืนของใช้ของผู้ไม่สบาย มัดมือให้ผู้ไม่สบายตามด้วยสมาชิกในครอบครัวทุกคน แกะไข่ให้ผู้ไม่สบายกินทั้งลูก เอาถ้วยมาตั้งไว้ 1 ใบ ข้างในมีขันน้ำที่ทำมาจากน้ำเต้า เทน้ำใสถ้วยให้เต็ม เอาขันน้ำตักน้ำจากถ้วยมาเทใส่ขา ต้นปีก และหัว ที่ละจำนวน 3 ครั้ง ใช้ไม้ตี่ตูตีใส่หัว เอาไก่ไปเผาถอนขนให้หมด มาล้างด้วยน้ำสะอาดอีกทีหนึ่ง ตัดน่อง ต้นปีก ตับ เป็นชิ้นโตๆ และเนื้อส่วนหน้าอกอีกจำนวนหนึ่ง เอาเนื้อไก่ทั้งน่อง ต้นปีก และตับใส่ถ้วยเก็บไว้ เอาขันโตกมาตั้งห่อด้วยใบตอง ช่วงนี้ให้มัดมืออีกครั้งสำหรับที่ไม่ได้มัดมือในรอบแรก เอาข้าวบริสุทธิ์ ชาบริสุทธิ์ ( หมายถึงต้มชาเสร็จยังไม่มีใครรินดื่ม ) ยกขึ้นบนขันโตก ให้ผู้ไม่สบายชิมทุกถ้วยที่อยู่บนขันโตก การชิมต้องใช้ตะเกียบแทนการใช้อย่างอื่น

3. การเรียกขวัญโดยใช้หมู " อ่าหยะ ลา คู คู - เออ"
ไปเรียกผู้อาวุโสในชุมชนคนใดคนหนึ่ง ส่วนมากการใช้หมูประกอบพิธีนี้ จะไปเรียก อ่าบ้อพี้มา มาประกอบพิธีให้ เนื่องจากว่าสามารถสวดบทต่างๆ ได้มาก มาถึงบ้านก็ต้มไข่ 1 ฟอง กับข้าวสารให้สุก หาลูกเหล้ามาตั้ง ข้างในลูกเหล้ามีหลอดดูด หาถ้วยมา 1 ใบ ข้างในถ้วยมีขันน้ำที่ทำมาจากน้ำเต้า เทน้ำใส่ถ้วย เอาขันน้ำตักน้ำจากถ้วยเทใส่ลูกเหล้าอีกที เอากระด้งลงมา เอาถ้วยตั้งข้างในจำนวน 5 ใบ ใบที่ 1 ) ใส่ชาผสมขิง 2 ) เกลือ 3 ) เหล้า ( ดูดมาจากลูกเหล้า ) 4 ) น้ำบริสุทธิ์ ( ปัจจุบันในพิธีกรรมนี้ใช้น้ำจากที่อื่นๆได้ เช่นน้ำประปา เพียงแต่ตักมายังไม่มีคนรินดื่มเป็นอันใช้ประกอบพิธีกรรมได้ 5 ) ข้าวบริสุทธิ์กับไข่ หาข้าวสารประมาณ 1 กำมือมาใส่ข้างในตรงกลางกระด้ง เชือก 5-6 เส้น ไม้ขนข้าว และตราชั่งขนาดเล็ก เงิน 2-3 บาท ใส่กระด้ง

มีความเชื่อเกี่ยวกับการใส่ตราชั่งนี้ว่า ให้ใช้ตราชั่งชั่งขวัญคืน เงินซื้อขวัญคืน อ่าข่าเรียกการตั้งกระด้งครั้งนี้ว่า ยา มา ซา – เออ แช ล้อง ไปจับหมูมา 1 ตัว ใช้ได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ( ขึ้นอยู่กับการทำนายของซามา ) ให้ยกหมูและกระด้งมาที่ประตูบ้าน ให้ผู้ไม่สบายยืนอยู่ประตูบ้านข้างใน ผู้ประกอบพิธีกรรมยืนอยู่ประตูบ้านนอก ผู้ไม่สบายใช้มือกวักที่กระด้ง เอามือลูบหมูที่ใดก็ได้ จำนวน 3 ครั้ง ยกกระด้งและหมูไปที่ประตูหมูบ้าน ถึงประตูหมูบ้านยกหมูและกระด้งลง ใช้ไม้ขนข้าวตีไข่ให้แตก หยิบข้าวบริสุทธิ์และไข่วางข้างล่างใบตองในกระด้ง จำนวน 3 ครั้ง ตามด้วยถ้วยที่อยู่ในกระด้งทุกใบ ถอนขนหมูจากขา ลำตัวและหัว ที่ละจำนวน 3 ครั้ง จึงยกกระด้งและหมูกลับบ้าน เมื่อผู้ไม่สบายได้ยินเสียงก็ให้เรียบกินข้าว 2-3 คำกับเกลือ


พอกลับเข้ามาถึงบ้าน คนในบ้านคนใดคนหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ ผู้ไม่สบาย กล่าวว่า “ ขวัญได้กลับมาตั้งนานแล้ว ” วางกระด้งและหมูลงที่เตาไฟจำลองตรงกลางบ้าน เอาขันตักน้ำจากถ้วยเทใส่ขา ลำตัว และหัวหมูที่ละ 3 ครั้ง เขียงหงายข้างจากที่ใช้ประจำ ยกหมูวางบนเขียง ให้ผู้นำประกอบพิธีกรรมฆ่าหมูโดยใช้มีดแทงคอ พร้อมกับหากะละมังใส่เกลือรองเลือด ผ่าท้องหมูล้วงแล้วตับออกมา เพื่อดูดวงวาสนาของครอบครัวของผู้ไม่สบาย หนุ่มๆ ที่ไปช่วยงานก็เอาหมูไปเผา ส่วนผู้อาวุโสก็แกะไข่ให้ผู้ไม่สบายกินข้าวพร้อมกับมัดมือให้ เอาซี่โครงหมูข้างใดข้างหนึ่ง จำนวน 2 ซี่ กับตับไปต้มเป็นชิ้นโตๆ โดยใส่เกลือ ข้าวสาร และขิงลงไปด้วย อ่าข่าเรียกการต้มนี้ว่า ฮึ่ม หม่า ลา ดา ระหว่างที่ต้มตับกับซี่โครงยังไม่สุก ก็เอาเนื้อหมูมาทำกับข้าวเป็นหม้อใหญ่ๆ

เมื่อทำกับข้าวสุกก็ไปเชิญผู้อาวุโสในชุมชนทั้งผู้หญิงและผู้ชายมาบ้านผู้ประกอบพิธีกรรม ตั้งขันโตกห่อด้วยใบตอง วางถ้วยพริกป่นกับตะเกียบลงขันโตก เอาถ้วยใส่ซี่โครงกับตับที่ต้มกับแกงอื่นๆวางบนขันโตก ยกมาที่นอนของพ่อบ้าน ให้ผู้อาวุโสที่เชิญมาทีหลังมัดมือ พร้อมกับยกถ้วยที่ใส่ซี่โครงกับตับให้ผู้ไม้สบายกิน ผู้ไม่สบายก็ชิมทุกถ้วยที่วางบนขันโตก หลังจากทุกคนในวงก็เริ่มกินข้าว การกินข้าวต้องใช้ตะเกียบเท่านั้น ด้วยเหตุผลความเชื่อที่ว่าการใช้ตะเกียบมีมารยาทมาก และถูกหลักอนามัย การประกอบพิธีกรรมเป็นเสร็จพิธี

ข้อมูลโดย ป.อายิ