วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
11/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าอาข่า : ลานวัฒนธรรม

อาข่าแปลตามภาษาของอาข่าได้ว่า อา...เป็นคำขึ้นต้นที่อาข่าใช้เรียกบุคคล ข่า..แปลว่า ไกล-ห่างไกล เมื่อมารวมกันจึงให้ความหมายว่า กลุ่มคนที่อาศัยอยู่บนดอยสูง ซึ่งห่างไกลจากความเจริญ ฉะนั้นวิถีของอาข่าจึงเป็นแบบง่าย ๆ ไม่ยึดติดกับอะไรมากไป

อาข่าเป็นชนเผ่าที่รักความสนุกสนาน ชอบการร้องรำทำเพลง แม้กระทั่งเวลาเดินทางไปไร่ ก็มีการร้องเพลงไปด้วย เด็ดใบไม้ข้างทางมาเป่าเป็นเสียงเพลงอันไพเราะ และขณะทำไร่อยู่หนุ่มอาข่าก็ร้องเพลงโต้ตอบกับสาวอาข่า โดยเสียงเพลงที่เปล่งออกมา จะลั่นไปทั่วทั้งหุบเขา เสียงเพลงเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างหนุ่มสาวอาข่า ตอนใกล้ค่ำถึงเวลาจะกลับบ้านก็ร่ำลากันด้วยเสียงเพลง ตกกลางคืนหนุ่มสาวอาข่าก็จะมาเจอกันในลานวัฒนธรรมของหมู่บ้าน บางคนเรียกสถานที่นี้ว่าลานชุมชนหรือหมู่บ้าน หรือลานสาวกอดหรือลานสันทนาการ อะไรหลายอย่าง แต่คำว่าลานสาวกอดเป็นคำที่แพร่หลายมากในปัจจุบัน และเป็นที่รู้จักของคนอย่างแพร่หลาย ถ้าพูดว่าลานสาวกอดมันเหมือนกับว่า เป็นลานที่ใช้กอดสาวจะว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม คิดว่าลานวัฒนธรรมจึงเป็นคำที่เหมาะสมมากที่สุดกับสถานที่นี้เพราะเป็นสถานที่ๆแลกเปลี่ยนทางภูมิปัญญาชาวบ้านและวัฒนธรรมร่วมกัน ทั้งหนุ่มสาว แม่บ้านแม่เรือน ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือแม้กระทั่งเด็กๆ ก็สามารถที่มาร่วมรับฟังหรือแลกเปลี่ยนกันได้อาข่าเรียกสถานที่นี้ว่า แดห่อง หรือกาบา มีความหมายว่าลานกว้าง หรือลานชุมชน หนุ่มสาวอาข่าจะแต่งกายด้วยชุดอาข่า ที่มีการประดับประดาอย่างสวยงามด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่หาง่ายในท้องถิ่น เสียงกระทบของเหรียญบาทตามตัวดังอย่างน่าฟังนัก

ลานวัฒนธรรมจึงเป็นสถานที่พบปะของหนุ่มสาวในเวลากลางคืน ความในใจที่มีอยู่จะเปล่งออกมาเป็นเสียงเพลง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนอาข่า ในการมาเที่ยวบริเวณลานวัฒนธรรมต้องสำรวม ไม่กระทำการใดที่จะเป็นการล่วงละเมิด หนุ่มสาวที่ชอบพอกันก็จะมีการพูดคุยกันหลังเสร็จจากการละเล่นในลาน ถ้าถูกคอกันก็จะอยู่จนถึงรุ่งเช้า ลานวัฒนธรรมนอกจากเป็นสถานที่พบปะของหนุ่มสาวแล้ว ยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดความดีงามของประเพณีวัฒนธรรมชนเผ่า หนุ่มสาวก็จะมารับฟังการบรรยายทางวัฒนธรรมจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน จึงเป็นสถานที่เพื่อการเรียนรู้วิถี หรือประเพณีวัฒนธรรมไปด้วย เพลงแต่ละเพลงที่เปล่งออกมา ล้วนเป็นแนวของวิถีชีวิตอาข่าที่ปฏิบัติอยู่ทุกวัน แต่การใช้ศัพท์อีกชั้นหนึ่งในการร้อง ซึ่งต่างกับศัพท์ที่เราใช้พูดคุยกันอยู่ทุกวัน

จากที่นี่เราจะเห็นว่าหนุ่มสาวอาข่ามีเวลาในการพบปะกันน้อยมากในแต่ละวัน ตื่นเช้ามาหญิงสาวก็จะทำงานบ้าน หลังจากทำงานบ้านเสร็จก็เดินทางไปไร่ แทบไม่ได้เจอหนุ่มหรือคู่รักของตนในเวลากลางวัน ลานวัฒนธรรมจึงเป็นความหวังเดียวของหนุ่มสาวอาข่าในการมาพบปะกัน

ความเจริญของสังคมเมือง และการขยายบริการไฟฟ้าจากชุมชนใหญ่เข้าสู่ชุมชนอาข่าที่ยังมีการนับถือดั้งเดิมอยู่ ประเด็นนี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วจะเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ลานวัฒนธรรมของอาข่า ร้างราผู้คนในเวลากลางคืนที่ทุกคนได้กลับจากไร่นา กลายเป็นช่วง เวลา ที่ไม่เงียบเหงาอีกต่อไป เพราะมีรายการโทรทัศน์ หลายรายการที่น่าสนใจ ติดตาม และให้ข้อมูล ข่าวสารที่ทันต่อความเจริญก้าวหน้าของโลกได้มากกว่า การยืนล้อมเป็นวงกลม ร้องเพลงที่ไม่มีวันจบ และดูเหมือนว่าจะมีรายละเอียดของประเพณีมากมายเหลือเกิน ลานวัฒนธรรม (แดข่อง) ในวันนี้กำลังเลือนหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นใหม่ หมู่บ้านชาวเขาเผ่าอาข่า ในยามค่ำคืนที่ท้องฟ้าโปร่งใส ดวงดาวกระจายอยู่เต็มฟากฟ้า ไม่เงียบเหงาอีกต่อไป เพราะเสียงเพลงของ loso และ Taxi กำลังดังก้องไปทั่วทั้งหุบเขา และนั่นหรือคือทางที่เราได้เลือกแล้ว ?