วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
11/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าอาข่า : ความเชื่อ

ความเชื่อในภาษาอาข่าเรียกว่า "นือจอง" อาข่าเป็นชนเผ่าที่มีความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ ภูตผี ปีศาจ ไสยศาสตร์ สิ่งเร้นลับ พิธีกรรมคำสอนที่ได้รับการปลูกฝังมาจากบรรพบุรุษ และสืบทอดปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผี "แหนะ" ตามความเชื่อของอาข่ามีดังนี้ 


1. ผีเรือน หรือผีบรรพบุรุษ ชาวอาข่าถือว่าเป็นผีที่ดีที่สุด เพราะเป็นวิญญาณบรรพบุรุษที่คอยคุ้มครองดูแลครอบครัว มาโดยตลอดหลายชั่วอายุคน
2. ผีหมู่บ้าน ก็คือผีที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ที่คอยปกป้องรักษาคนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข จะสถิตย์อยู่ที่ศาลผีประจำหมู่บ้าน บริเวณทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ซึ่งศาลนี้จะต้องสร้างก่อนที่จะตั้งหมู่บ้าน
3. ผีทั่วไป เป็นผีที่สิงอยู่ประจำที่ต่างๆ ทั่วไปนอกจากผีที่บอกมาในเบื้องต้นแล้วก็ยังมี ผีไฟ ผีดิน ผีน้ำ ผีดอย ผีฟ้าผ่า ผีจอมปลวก เป็นต้น
4. ผีเร่ร่อน คือผีตายทั้งกลมกับผีตายโหง ตามความเชื่อของอาข่าถือว่าทั้งสองประเภทนี้เป็นผีที่ไม่ดี เป็นผีที่ไม่มีที่อยู่ ร่อนเร่ไปทั่ว บางครั้งคอยหลอกหลอนคนที่จิตใจไม่เข้มแข็ง

ตลอดชีวิตของชาวอาข่า ผูกพันอยู่กับภูตผีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การบูชาเซ่นไหว้สิ่งเหล่านี้ จะทำให้ชีวิตอยู่ดีมีสุข หากลบหลู่จะทำให้มีอันเป็นไป และให้โทษต่อผู้คน ต้องทำพิธี เซ่นไหว้ขอขมา ก่อนจะทำการใดๆ จะต้องเสี่ยงทายให้แน่ใจเสียก่อน ฉะนั้นในรอบปี ชาวอาข่าจึงมีพิธีกรรมต่างๆ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติที่แยกย่อยออกมากมาย นอกจากนี้ชาวอาข่ายังเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ หมู่บ้านชาวอาข่าจึงมี สุสาน เพราะเชื่อว่าคนตายที่นำไปฝังไว้ในบริเวณเดียวกัน เมื่อเกิดใหม่จะได้อยู่ร่วมกันอีก
อาข่าเป็นกลุ่มชนที่ใช้ความเชื่อ เพื่อการดำรงชีวิต ทั้งนี้เนื่องจากความผูกพันของชีวิตกับธรรมชาติ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวอาข่าใช้ความเชื่อในการปฏิบัติต่อตนเอง และต่อธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ความเชื่อของอาข่าที่ปฏิบัติและใช้อยู่มีดังนี้

ความเชื่อเกี่ยวกับการเกิดโลก และสรรพสิ่งต่างๆอาข่ามีตำนานและความเชื่อ เกี่ยวกับการเกิดของสรรพสิ่งต่างๆที่เป็นอยู่บนโลก ซึ่งสามารถแบ่งแยก ออกเป็นตอนใหญ่ๆได้ 3 ตอนดังนี้

ตอนที่ 1 การเกิดของสรรพสิ่งต่างๆ ที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต อาข่าเรียกว่า "ปรึ่มกา"
หมายถึงขั้นตอนของการเกิดสิ่งต่างๆ อาทิ ดิน น้ำ อากาศ มนุษย์ ฯลฯ และสิ่งอื่นๆที่มีอยู่บนปฐพี ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต

ตอนที่ 2 การเกิดกฎระเบียบ พิธีกรรม ประเพณี อาข่าเรียกว่า “ย้องกา”
เป็นขั้นตอนของการเกิดของสัตว์ที่อาข่าเชื่อว่าไม่ดี และไม่นำมาเลี้ยงเด็ดขาด หรือถ้ามีก็ต้องนำมาฆ่ากิน และเซ่นไหว้ผีเสีย ได้แก่

1. หมูที่เกิดลูกในหมู่บ้าน อาข่าเชื่อว่าธรรมชาติของหมูต้องเกิดในป่า
2. หมูที่เกิดลูกน้อยกว่า 3 ตัว อาข่าเชื่อว่าธรรมชาติของหมูต้องเกิดลูกมากกว่า 3 ตัวขึ้นไป
3. สุนัขที่เกิดในป่า อาข่าเชื่อว่าธรรมชาติของสุนัขต้องเกิดในบ้าน
4. หมู หรือ สุนัขที่แท้งลูก
5. หมูที่มีกีบเท้ายาวเพียงกีบเดียว อาข่าเชื่อว่าธรรมชาติของหมูต้องมีเท้าสองกีบต่อ 1 ขา และต้องยาวเท่ากันด้วย
6. หมูที่เกิดลูก แล้วลูกตายหมด
7. ไก่ที่ไข่ออกมาแล้วเปลือกไข่ไม่แข็ง
8. สัตว์พิการทุกชนิด เช่น กระบือเข่าแตก หมูขาด้วน สุนัขหูแหว่ง
9. สัตว์ทุกชนิดที่ปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้าน อาข่าถือว่าไม่ดี เพราะหลังคาบ้านมิใช่ที่ๆสัตว์เลี้ยงเหล่านี้จะขึ้นไป เชื่อกันว่าผีเป็นผู้ส่งขึ้นไป
10. การมีนกต่างๆมาเกาะที่หลังคาบ้าน อาข่าถือว่าไม่ดี แต่ก็ไม่ถึงกับต้องเซ่นสรวง แต่ถ้านกนั้นเป็นนกเขียวอาข่าถือกันมาก เพราะเชื่อกันว่านก เขียวเป็นทูตปีศาจ ที่จะนำความเจ็บป่วย มาสู่สมาชิกในครัวเรือน กรณีเช่นนี้เจ้าของบ้านจะต้องเซ่นผีบรรพบุรุษด้วยหมู 1 ตัว และเหล้า 1 ขวด เพื่อให้ช่วยขับไล่ผี

ตอนที่ 3 ขั้นตอนการเกิดดินแดนที่อยู่อาศัย อาข่าเรียกว่า "จ้อกา"
มีตำนานเล่าว่า เมื่อก่อนอาข่ามีเมืองเป็นของตนเองชื่อว่า "จาแด" แต่ต้องเสียให้กับชนเผ่าอื่น เพราะลูกสาวของผู้นำ "จาแด" ได้ทำลายกฏไปแต่งงานกับคนของชนเผ่าอื่น อาข่าจึงไม่มีเมืองเป็นของเผ่าตนเองมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้อาข่าเชื่อว่า พื้นปฐพีนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากการสร้างของเทพเจ้าต่างๆ ประกอบด้วย เทพเจ้าอึ่มแย้ เป็นเทพเจ้าผู้สร้างน้ำฝน เทพเจ้าอึ่มช้า เป็นผู้สร้างท้องฟ้า จาบีจาหล่อง เป็นเทพเจ้าผู้สร้างแผ่นดิน อย่างไรก็ตามอาข่านิยมเรียกเทพเจ้ารวมกันว่า "อ่าเผ่วหมี่แย้" อันเป็นเทพเจ้าผู้สร้างจักรวาลและฝนฟ้าดิน ตลอดจนสร้างสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต ขึ้นมาไว้จนถึงปัจจุบันนี้ 

ปัจจุบันอาข่าที่นับถือดั้งเดิม ยังมีการใช้หลักความเชื่อในการดำรงชีวิตอยู่ แต่อาข่าบางส่วนก็หันไปนับถือศาสนาคริสต์และอิสลาม เนื่องจากความ ซับซ้อนและความหลากหลายของพิธีกรรม บวกกับสภาพเศรษฐกิจของปัจจุบันที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต เพราะการนับถือดั้งเดิมจะต้องเคร่ง ในการ ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จะขาด หรือ ผิดพลาดไม่ได้ ในขณะเดียวกันต้องใช้สัตว์ต่างๆ ในการทำพิธีเซ่นไหว้เป็นจำนวนมาก เป็นเหตุทำให้หลาย หมู่บ้านต้องทิ้งความเป็นดั้งเดิม แล้วหันไปนับถือศาสนาอื่น