วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
11/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

 ชนเผ่าอาข่า :อยู่กรรม

ในการประกอบการต่าง ๆ เพื่อการยังชีพเป็นสิ่งที่ชาวอาข่าเราต้องดิ้นรน และไขว่คว้าอยู่ทุกวัน ไม่หวังที่จะเป็นใหญ่เป็นโตเหมือนภูเขา ไม่หวังจะมีมากหรือร่ำรวย ขอเพียงแค่พออยู่พอกินไปวัน ๆ วันนี้ลำบากแค่นี้ คืนนี้นอนพักผ่อน ความเหนื่อยยากของวันวานก็จะเลือนหายไปพร้อมกับความฝัน ตื่นเช้ามาก็สูดดมอากาศที่สดชื่นบนภูเขา ผู้หญิงอาข่าก็จะมาหุงข้าวปลาอาหาร ให้อาหารกับ หมู หมา กา ไก่ หลังจากนั้นทุกคนก็จะมานั่งรอบ ๆ โตกที่ได้จัดเตรียมไว้ พร้อมรับประทานอาหารเช้าพร้อมหน้ากันทั้งพ่อ แม่ ลูก และทุกคนในครอบครัว

หลังจากทานข้าวเสร็จก็จะพากันเดินไปไร่ไปสวน ซึ่งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านไม่ต่ำกว่า 3-5 กิโลเมตร หลังจากเสร็จภาระกิจในไร่ก็เดินทางกลับมายังบ้าน อาบน้ำอาบท่า ทานข้าวเสร็จก็เข้านอน ซึ่งเป็นวิถีของอาข่าที่ถือปฏิบัติกันอยู่ทุกวัน แต่ปัจจุบันการเดินทางไปไร่ในระยะ 3-5 กิโลเมตรในแต่ละวัน รู้สึกจะเป็นเรื่องยากสำหรับคนรุ่นใหม่ หรือแม้กระทั่งคนสามัญชนทั่วไป เนื่องจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตแทบทุกวัน ไม่ว่า รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือเครื่องใช้ต่าง ๆ นานา แต่ถึงแม้สภาพชุมชนจะไปในแนวใด คนจะรับมาซึ่งสิ่งไหน ลึก ๆ เข้าไปในจิตใจของพวกเค้า ก็ยังมีบางอย่างที่แฝงอยู่ และนั่นก็คือความเชื่อ สิ่งที่พวกเขาคิดว่ามีจริง และต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เป็นความเชื่อที่ได้รับและปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ และจะยังคงสืบทอด และถือปฏิบัติกันต่อ ๆ ไป

การอยู่กรรมในชนเผ่าอาข่าที่ยังมีการดำรงไว้ควบคู่กับความดั้งเดิมของประเพณี วัฒนธรรมจนถึงทุกวันนี้ การอยู่กรรมอาข่าเรียกว่า "ลองเออ" คือไม่มีการประกอบกิจกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าในหมู่บ้าน หรือนอกหมู่บ้าน อาข่าเชื่อว่าเป็นวันที่แบ่งดินแดนระหว่างคนกับผี หรืออาข่ากับสรรพสิ่งในธรรมชาติ ซึ่งการอยู่กรรมของอาข่าก็มีดังนี้

1. พิธีอยู่กรรมวันหมู (หยะลองเออ)


การอยู่กรรมในวันหมูนี้ อาข่าเรียกว่า “ หยะลองเออ ” ซึ่งจะตรงกับการนับวันตามราศีสัตว์ คือ วันหมู โดยจะอยู่กรรมหลังจากทำพิธีถอนขนไก่ คำว่าหยะ สามารถแปลความหมายได้ 2 ลักษณะคือ หมายถึงสัตว์เลี้ยงที่ขึ้นชื่อว่าหมู และอีกความหมายหนึ่ง คือ การซ่อน ซึ่งผู้อื่นจะมองไม่เห็น 

แต่การอยู่กรรมในวันหมูนั้น หยุดเพียง 1 วัน โดยไม่มีการประกอบกิจกรรมใด ๆ ตามความเชื่อของอาข่า เกี่ยวกับการอยู่กรรมในวันนี้ เพื่อซ่อนตัว ระหว่างโลกที่สัมผัสไม่ได้ (ผี) กับโลกมนุษย์ โดยไม่ให้แต่ละฝ่ายมองเห็นกัน จึงถือว่าเป็นการอยู่กรรมเพื่อแบ่งเขตของแต่ละฝ่าย โดยถือเอาวันหมูมาใช้ เนื่องจากหมู เวลาออกหากินมักจะมองลงแต่พื้นดิน จะไม่มองอย่างอื่น จึงถือวันนี้ในการอยู่กรรม 

2. พิธีอยู่กรรมวันแซ้ย์ (แซ้ย์ลองเออ)

การอยู่กรรมวันแซ้ย์นี้ จะเริ่มขึ้นเมื่อเสร็จสิ้นพิธี ยอลาอ่าเผ่ว โดยหยุดอยู่ที่บ้าน ไม่ไปไหน เมื่อถึงการนับวันแซ้ย์ ตามราศีสัตว์ การนับวันอาข่า แซ้ย์ อาข่าเล่ากันว่า เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายสุนัขจิ้งจอก ซึ่งจะอาศัยอยู่ในเขตหนาว ที่มีหิมะปกคลุม จากการศึกษาพบว่า ไม่เคยมีผู้ใดพบเห็นสัตว์ประเภทนี้มาก่อน และเสมือนในนิทานมากกว่า ซึ่งอาข่าก็ยังให้การนับถือ อย่างไรก็ตามสัตว์ดังกล่าว อาข่าเล่าว่า มีคุณสมบัติ สามารถที่จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ ทั้งกลางวัน และกลางคืน และเชื่อว่า แซ้ย์ตัวนี้สามารถมองเห็นมิติโลกของวิญญาณ ที่สัมผัสไม่ได้ 
ดังนั้นอาข่าไม่ปรารถนาที่จะให้มนุษย์มองเห็นผีเหมือนสัตว์ตัวนี้ ซึ่งเชื่อว่า หากมนุษย์สามารถมองเห็นโลกของวิญญาณได้เหมือนสัตว์ประเภทนี้ ก็จะทำให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย และอาจถึงแก่ชีวิตได้ อาข่าจึงได้มีการอยู่กรรมในวันนี้ เพื่อไม่ให้มองเห็นเหมือนสัตว์ที่ได้ชื่อว่า แซ้ย์ตัวนี้ จนถึงปัจจุบัน
จากการศึกษาของนักวิจัย พบว่าผู้อาวุโสหลายท่านได้นิยามสัตว์ที่ชื่อว่า แซ้ย์ตัวนี้ว่า เป็นหงส์ และนิยามไปถึงสัตว์ที่ชื่อว่า หล่อง ซึ่งปัจจุบันอาข่าใช้ในการนับวัน คือวันกระต่าย (หล่อง) แต่ผู้อาวุโสกล่าวว่า น่าจะเป็นมะโรง หรือพยานาค เนื่องจากสัตว์สองตัวนี้จะเป็นสัตว์ประเภทชั้นสูง ที่มีอิทธิฤทธิ์ต่อสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตามนักวิจัยยังคงต้องศึกษาและค้นคว้าต่อไป

3. พิธีอยู่กรรมไม่จุดไฟเผาป่า (หมี่จ่าเข่อหมี่ลองเออ)

พิธีกรรมนี้จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนกันยายนของทุกปี หลังจากที่มีการถางไร่เสร็จแล้ว ก็จะมีการจุดไฟเผาไร่ของตน เพื่อทำการเพาะปลูก โดยก่อนที่จะมีการจุดไฟเผาไร่นั้นต้องมีการเลือกฤกษ์วันที่ดีด้วย ชาวอาข่านิยมเผาไฟในไร่มากที่สุด คือ วันหมา “ขื่อ” เพราะมีความเชื่อว่าในไร่ที่ทำการแผ้วถางแล้ว ถ้าจุดไฟเผา ก็จะไหม้ดี เหมือนถูกหมาเลีย และบุคคลที่จะไปเผาไฟในไร่ก่อน 1 วัน ต้องไม่อาบน้ำ เป็นความเชื่อของอาข่าว่า ถ้าอาบน้ำแล้ว จะทำให้การเผาไร่ไม่ดี และไหม้ไม่หมด เพราะอาข่าเชื่อว่า น้ำกับไฟเป็นของคู่กัน แต่จะมาอาบน้ำกันหลังจากที่ทำการเผาไร่เสร็จ พร้อมกันนี้ระหว่างเดินทางไปเผาไฟในไร่นั้น จะมีการเป่าเขาควายไปด้วย อาข่าเรียกว่า “ยาจ่า” เป่าเพื่อให้เกิดลมพัด และเป็นการเป่าประกาศว่า วันนี้เป็นวันดีเพื่อจะทำการเผาไร่ และก่อนที่จะทำการจุดไฟเผาไร่ ก็จะมีการทำแนวกันไฟรอบ ๆ ไร่ของตน เพื่อไม่ให้ไฟลุกลามไปที่อื่น อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ อาข่าเรียกการทำแนวกันไฟว่า “หมี่จาหมี่ก๊าพี้เออ” และเมื่อทำแนวกันไฟเสร็จแล้ว ก็จะจุดไฟเผา แต่ก่อนที่จะจุดไฟมีการอธิฐานครั้งสุดท้ายว่า “ขอให้สัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณไร่ ที่จะเผา จงหนีออกจากพื้นที่ไร่ไปซะ” จากนั้นก็ทำการจุดไฟเผา

เมื่อทุกครัวเรือนทำการเผาไฟในไร่เสร็จแล้ว ก็จะอยู่กรรม อาข่าเรียกว่า “หมี่จ่าเข่อหมี่ลองเออ” หมายถึงอยู่กรรมเนื่องจากเผาไฟในไร่ และในการอยู่กรรมดังกล่าวไม่ได้ทำพิธีกรรมใด ๆ โดยใช้เวลาเพียง 1 วัน มีความเชื่อในการอยู่กรรมว่า หยุดเพื่ออโหสิกรรมกับสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ ต้นไม้ใบหญ้า หรือสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่ได้ตายในช่วงการเผาไร่ โดยอย่าให้มีโทษซึ่งกันและกัน
ความหมายและความสำคัญของพิธีกรรมนี้ คือ

1. แสดงถึงหมดฤดูกาลเผาไฟ เพื่อการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ
2. เป็นการแสดงความอาลัยแก่สิ่งมีชีวิตที่ล่วงลับไปจากการเผาไร่ ซึ่งเป็นการอโหสิกรรม ไม่ให้เกิดความพยาบาท โดยหยุดการทำงานเป็นเวลา 1 วัน
3. แผ่จิตเมตตา อุทิศส่วนบุญกุศลไปให้สัตว์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสบายใจของมนุษย์ ซึ่งได้แสดงถึงการให้ความสำคัญ ในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตร่วมโลกด้วยกัน

ข้อมูลจากสมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอาข่าเชียงราย