พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๔

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๓๔
______
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๔
เป็นปีที่ ๔๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ.๒๕๓๔”

        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ให้มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์

        มาตรา ๔ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้

        มาตรา ๕ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ สำหรับพระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร

        การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

        มาตรา ๖ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ แบ่งเป็น ๗ ชั้น มีนามดังต่อไปนี้

        ชั้นที่ ๑ ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ อักษรย่อ ป.ภ.

        ชั้นที่ ๒ ทุติยดิเรกคุณาภรณ์ อักษรย่อ ท.ภ.

        ชั้นที่ ๓ ตติยดิเรกคุณาภรณ์ อักษรย่อ ต.ภ.

        ชั้นที่ ๔จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ อักษรย่อ จ.ภ.

        ชั้นที่ ๕ เบญจมดิเรกคุณาภรณ์ อักษรย่อ บ.ภ.

        ชั้นที่ ๖ เหรียญทองดิเรกคุณาภรณ์ อักษรย่อ ร.ท.ภ.

        ชั้นที่ ๗ เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ อักษรย่อ ร.ง.ภ.

        มาตรา ๗ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ

[แก้ไข]
ชั้นที่ ๑ ปฐมดิเรกคุณาภรณ์
______
        ดวงตราด้านหน้ามีรูปครุฑพ่าห์สีทองอยู่ในวงกลมพื้นลงยาสีแดง ขอบเป็นสร่งเงินรอบนอกมีกระจังเงินแปดทิศและมีเปลวรัศมีทองแทรกตามระหว่าง เบื้องบนมีพระมหามงกุฎทองมีรัศมีห้อยกับสายสะพายขนาดกว้าง ๑๐ เซนติเมตร สีเขียวริมสีแดงชาดมีริ้วสีขาวและสีเหลืองขนาดเล็กควบคั่นทั้งสองข้าง ด้านหลังเป็นดุมสีทองมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ลงยาสีขาว สะพายบ่าขวาเฉียงลงทางซ้าย กับมีดาราอย่างดวงตรา แต่เบื้องบนมีพระมหามงกุฎและอุณาโลมสีทอง ขอบเป็นสร่งทอง รอบนอกมีกระจังเงินแปดทิศ มีรัศมีทองแทรกตามระหว่างประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายด้านหลังเป็นดุมสีทองอย่างดวงตรา

        สำหรับพระราชทานสตรี ดวงตรา ดาราและสายสะพายมีขนาดย่อมกว่า

[แก้ไข]
ชั้นที่ ๒ ทุติยดิเรกคุณาภรณ์
______
        ดวงตราด้านหน้ามีรูปครุฑพ่าห์สีทองอยู่ในวงกลม พื้นลงยาสีแดง ขอบเป็นสร่งเงิน รอบนอกมีกระจังเงินแปดทิศและมีเปลวรัศมีทองแทรกตามระหว่าง ด้านหลังเป็นดุมสีทอง มีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ลงยาสีขาว เบื้องบนมีพระมหามงกุฎทองมีรัศมี ห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง ๔ เซนติเมตร สีเขียว ริมสีแดงชาด มีริ้วสีขาวและสีเหลืองขนาดเล็กควบคั่นทั้งสองข้าง ใช้สวมคอ กับมีดาราอย่างดวงตรา แต่เบื้องบนมีพระมหามงกุฎและอุณาโลมสีทอง ขอบเป็นสร่งเงิน รอบนอกมีกระจังเงินแปดทิศ มีรัศมีทองแทรกตามระหว่าง ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย ด้านหลังเป็นดุมสีทองอย่างดวงตรา

        สำหรับพระราชทานสตรี ดวงตรา ดารา มีขนาดย่อมกว่า และดวงตราห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

[แก้ไข]
ชั้นที่ ๓ ตติยดิเรกคุณาภรณ์
______
        ดวงตราอย่างทุติยดิเรกคุณาภรณ์ ห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง ๔ เซนติเมตร ใช้สวมคอ

        สำหรับพระราชทานสตรี ดวงตรามีขนาดย่อมกว่า และห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

[แก้ไข]
ชั้นที่ ๔ จตุตถดิเรกคุณาภรณ์
______
        ดวงตราอย่างตติยดิเรกคุณาภรณ์ แต่ย่อมกว่า ห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง ๓ เซนติเมตร มีดอกไม้จีบติดบนแพรแถบ ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

        สำหรับพระราชทานสตรี แพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

[แก้ไข]
ชั้นที่ ๕ เบญจมดิเรกคุณาภรณ์
______
        ดวงตราอย่างจตุตถดิเรกคุณาภรณ์ ห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง ๓ เซนติเมตร แต่ไม่มีดอกไม้จีบติดบนแพรแถบ ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

        สำหรับพระราชทานสตรี แพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

[แก้ไข]
ชั้นที่ ๖ เหรียญทองดิเรกคุณาภรณ์
______
        เหรียญรูปกลมสีทอง ด้านหน้ามีรูปครุฑพ่าห์อยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยกระจังกลีบบัวแปดกลีบ เบื้องบนมีพระมหามงกุฎมีรัศมีและอุณาโลม ห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง ๓ เซนติเมตร สีเขียว ริมสีแดงชาด มีริ้วสีขาวและสีเหลืองขนาดเล็กควบคั่นทั้งสองข้าง ด้านหลังมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

        สำหรับพระราชทานสตรี แพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

[แก้ไข]
ชั้นที่ ๗ เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์
______
        เหรียญรูปกลมสีเงิน มีลักษณะและห้อยกับแพรแถบอย่างเดียวกับเหรียญทองดิเรกคุณาภรณ์ ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย

        สำหรับพระราชทานสตรี แพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

        มาตรา ๘ ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ จะได้ประกาศนามในราชกิจจานุเบกษา สำหรับผู้ซึ่งได้รับพระราชทานตั้งแต่ชั้นที่ ๕ ขึ้นไป ให้มีประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธยและประทับพระราชลัญฉกร

        มาตรา ๙ เมื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ได้รับพระราชทานชั้นสูงขึ้น ผู้รับพระราชทานต้องส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นรอง หรือในกรณีที่ทรงเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้คืนตามความในมาตรา ๔ ถ้าผู้รับพระราชทานส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใด ๆ ผู้รับพระราชทานจะต้องใช้ราคาเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ตามที่ทางราชการกำหนด

        มาตรา ๑๐ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี

        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปรากฏว่าได้มีบุคคลซึ่งกระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศศาสนาและประชาชนมากขึ้นเป็นลำดับ เท่าที่ปฏิบัติมาแล้วรัฐบาลได้ตอบสนองคุณงามความดีด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สองตระกูล คือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยให้เป็นบำเหน็จ แต่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมยิ่งขึ้นจึงเห็นสมควรสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลใหม่ขึ้นโดยเฉพาะ สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความดีความชอบแก่บุคคลผู้ทำประโยชน์ดังกล่าวนั้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ประเภทของหน้า: พระราชบัญญัติ