วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/01/2008
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์

ชนเผ่าอื่นๆในไทย

 ชาวกูย (Kui) กวย (Kuoy) ส่วย (Suay)

ชาวกูยมีถิ่นเดิมอยู่บริเวณตอนเหนือของเมืองกำปงธม ประเทศกัมพูชา ชาวกูยเคยเป็นรัฐอิสระ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 เคยส่งทูตมาค้าขายกับอยุธยา และเคยช่วยกษัตริย์์เขมรปราบขบถ ต่อมาเขมรได้ใช้อำนาจทางทหารปราบชาวกูยและผนวกอาณาจักรเข้าไป เป็นส่วนหนึ่งของเขมร ชาวกูยชอบการอพยพ เพื่อแสวงหาที่ดินอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูก ชาวกูยอพยพขึ้นเหนือเข้า สู่เมืองอัตตะบือ แสนปาง จำปาศักดิ์ และสารวัน ทางตอนใต้ของลาว อพยพข้ามลำน้ำโขงเข้าสู่ภาคอีสาน ทางด้านแก่งสะพือ อำเภอโขงเจียม

หลังจากนั้นลูกหลานชาวกูยแยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือน ชาวกูยอพยพเข้าประเทศไทยครั้งใหญ่ในสมัยปลายอยุธยา (พ.ศ.2245-2326) ชาวกูยที่อพยพมา มีหัวหน้าของตัวเอง คนไทยเรียกชาวกูยว่า เขมรป่าดง ชาวกูยเรียกตัวเองว่ากุย กูย โกย หรือกวยซึ่งแปลว่า “คน” ปัจจุบันพบชาวกูยในจังหวัดบุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ และสุพรรณบุรี

ชาวกูยมีการนับถือผีและศาสนาพุทธผสมกัน ภายในชุมชนมีทั้งวัดและศาลผีประจำหมู่บ้าน ชาวกูยยังนับถือวิญญาณ ได้แก่ ภูติผีปีศาจเจ้าที่เจ้าทางเจ้าป่าเจ้าเขา เป็นต้น ชาวกูยยังเชื่อเรื่องผีปอบ และเรื่องขวัญในหมู่บ้าน จะมีแม่เฒ่าทำหน้าที่ดูแลความเจ็บไข้ ชาวกูยเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการกระทำของผีจึงมีการอ้อนวอนให้ผีพอใจ โดยมีการรำผีมอ ผู้ที่จะรำผีมอต้องผ่านพิธีไหว้ครู ครอบครู

ชาวกูยนิยมเลี้ยงช้าง ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ชาวกูยจะออกไปจับช้างในป่าด้วยการคล้องช้าง เรียกว่า “โพนช้าง” เป็นการจับช้างโดย หมอช้าง ใช้บ่วงมาศที่เรียกว่า “เชือกปะกำ" ทำจากหนังควาย ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สิงสถิตของดวง วิญญาณ บรรพบุรุษ ครูบาอาจารย์คล้องเท้า ช้างแล้วผูกกับ ต้นไม้ และนำมาฝึกใช้งาน

การแต่งกายของชาวกูย หญิงสูงอายุจะนุ่งผ้าที่มีลายใส่เสื้อคอกระเช้า ใส่สร้อยคอลูกปัด เงิน นิยมใส่ดอกไม้หอมไว้ที่ ติ่งหู ชาวกูยนิยมทอผ้า เช่น ผ้าจิกกะน้อย เป็นผ้าที่มีลักษณะคล้ายผ้าหางกระรอกมีสีเดียวเป็นผ้า สำหรับผู้ชายนุ่งในพิธีสำคัญ ๆ ลักษณะการนุ่งจะนุ่งพับจีบด้านหน้า เหมือนการนุ่งโสร่ง ผ้านุ่งสตรีนิยมทอหมี่คั่นเป็นทางแนวดิ่งยืนพื้นสีน้ำตาลอมมีหัวซิ่น พื้นสีแดงลายขิด ตีนซิ่นสีดำมีริ้วขาวเหลืองแดง ผ้าจะกวี เป็นผ้าคล้ายอันลูซีมของเขมร มีลายทางยาวเป็นผ้าที่สตรีใช้นุ่งในงานสำคัญ ๆ

ลัวะ ( Lua)

ประมาณ 1,300 ปีมาแล้ว ก่อนที่พวกมอญจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่เขตลุ่มน้ำปิง บรรพบุรุษของละว้า ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่แล้ว ละว้าหรือที่คนไทยภาคเหนือเรียกว่า " ลัวะ" นั้น เป็นกลุ่มชนออสโตรนีเซียน และเรียกตัวเองว่า " ละเวียะ" ถิ่นกำเนิดที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เป็นที่เชื่อกันว่าอพยพมาจากทางตอนใต้ของไทย มลายา หรือเขมร เมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว บางคนเชื่อว่าพวกลัวะเป็นเชื้อสายเดียวกับพวกว้าที่อยู่ทางภาคเหนือของเมียนมาร์ และตอนใต้ของมณฑลยูนนานในประเทศจีน เพราะมีความคล้ายคลึงกันทางด้าน ภาษา ลักษณะรูปร่างและการแต่งกาย

พวกลัวะได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่ เมื่อประมาณ 900 ปีมาแล้ว พวกมอญจากลพบุรีซึ่งเป็นผู้สร้างเมืองลำพูน และลำปาง ได้รุกรานพวกลัวะจนต้องหนีไปอยู่บนภูเขากลายเป็นชาวเขาไป ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 ชนชาติไทยได้อพยพเข้าสู่อินแดนแถบนี้ และตีพวกมอญแตกพ่ายไปและมีสัมพันธไมตรีกับพวกลัวะ ลัวะเชื่อว่า บรรพบุรุษของเขาเคยอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ และเป็นผู้สร้างวัดเจดีย์หลวงก่อนที่ไทยจะเข้าสู่ดินแดนแถบนี้ ลัวะมีกษัตริย์ของตนเอง และองค์สุดท้ายคือขุนหลวง วิลังก๊ะ ซึ่งถูกพระนางจามเทวี กษัตริย์มอญแห่งนครหริภุญชัย ( ลำพูน) ตีแตกพ่ายไปอยู่บนป่าเขา มีลัวะบางส่วนที่อาศัยอยู่พื้นราบ แต่กลุ่มนี้รับวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ จากคนไทยจนสูญเสียเอกลักษณ์ของตัวเองไปเกือบหมดแล้ว

ภาษาของลัวะจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตร - เอเซียติค และได้รับอิทธิพลจากภาษาของพวกมอญ- เขมรด้วย ภาษาของลัวะมีแตกต่างกันหลายกลุ่ม แต่แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวาวู ใช้พูดกันในหมู่ลัวะ เขตลุ่มแม่น้ำปิง เช่น บ้านบ่อหลวง อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มอังกา ใช้พูดกันในเขตตะวันตก เขต อ. แม่สะเรียง จ. แม่ฮ่องสอน ความแตกต่างกันของภาษานี้ จะต่างกันไปตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างกัน แต่สามารถเข้าใจกันได้ นอกจากนี้ยังนำคำในภาษาไทยพื้นเมืองทางเหนือไปใช้เป็นจำนวนมาก

ประชากรลัวะกระจายตัวกันอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี สุพรรณบุรี เชียงราย ลำปาง

หมู่บ้านลัวะปัจจุบันส่วนมากยังอยู่ในเขตภูเขาที่ห่างไกลจากชุมชนคนไทย หมู่บ้านหนึ่ง ๆ จะประกอบด้วยครัวเรือนประมาณ 20-100 หลังคาเรือน โดยสร้างบ้านเรียงรายอยู่ตามแนวสันเขา ลักษณะบ้านยกพื้นสูงคล้ายบ้านกะเหรี่ยง แต่ลักษณะหลังคาจะมีกาแลเป็นสลักไขว้กันสองอันเป็นหน้าจั่ว หลังคาบ้านซึ่งมุงด้วยหญ้าคาหรือตองตึง จะสูงชันคลุมลงเกือบจรดพื้นดิน รอบ ๆ หมู่บ้านจะเป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูก และระหว่างพื้นที่ทำไร่กับหมู่บ้านจะมีแนวป่าซึ่งเป็นป่าแก่สงวนไว้สำหรับเป็นแนวกันไฟเวลาเผาไร่ของหมู่บ้าน

ลัวะมีระบบการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว โดยฝ่ายหญิงจะเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายชายและนับถือผีบรรพบุรุษฝ่ายชาย บุตรที่เกิดมาอยู่ในสายเครือญาติของฝ่ายพ่อในครัวเรือนหนึ่ง ๆ โดยทั่วไปประกอบด้วยสามี ภรรยา บุตร บุตรชายคนโตต้องไปสร้างบ้านใหม่เมื่อแต่งงาน บุตรชายคนสุดท้ายจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับมรดกและเลี้ยงดูพ่อแม่ตลอดชีวิต

หน้าที่ในครัวเรือนจะแบ่งออกตามอายุ และเพศ กล่าวคือ ผู้หญิงมีหน้าที่รับผิดชอบหาฟืน ตักน้ำ ตำข้าว ทำอาหาร และทอผ้า ผู้ชายมีหน้าที่ซ่อมแซมบ้าน ทำรั้วไถนา และล่าสัตว์ ส่วนงานในไร่เป็นหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย ต้องช่วยกันทำ รวมทั้งสมาชิกวัยแรงงานทุกคนในครอบครัวด้วย งานด้านพิธีกรรมถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้ชายเกือบทั้งหมด
 
ถิ่น (H' Tin)

ถิ่นจัดอยู่ในสาขามอญ-เขมร ซึ่งอยู่ในกลุ่มภาษาออสโตรเอเชียติค มี 2 กลุ่มย่อยคือ ถิ่นคมาลหรือมาล และถิ่นคลำไปร๊ต์หรือไปร๊ต์ ถิ่นทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีความแตกต่างกันในภาษาพูดและขนบธรรมเนียมประเพณีส่วนการตั้งถิ่นฐานและการแต่งกายเหมือน ๆ กัน ถิ่นอพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 60-80 ปีมานี้ โดยอพยพมาจากแขวงไชยบุรี ประเทศลาว เข้าสู่ประเทศไทยทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดน่าน ถิ่นในประเทศไทยอาศัยอยู่ในจังหวัดน่าน เพชรบูรณ์ และเลย

ถิ่นมักตั้งบ้านเรือนอยู่บนภูเขาที่มีความสูประมาณ 1,000-1,300 เมตร เหนือจากระดับน้ำทะเล ลักษณะหมู่บ้านจะตั้งอยู่ในพื้นที่ราบบนภูเขา ซึ่งไม่ห่างแหล่งน้ำใช้อุปโภคมากนัก โดยจะรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มหนึ่งโดยเฉลี่ยประมาณ 50 ครอบครัวต่อหมู่บ้าน ในแต่ละหมู่บ้านจะมีการกระจายเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยยึดวงศ์ญาติเป็นหลัก กลุ่มย่อยหนึ่ง ๆ จะเป็นคนในตระกูลเดียวกัน ลักษณะเช่นนี้ อาจเกิดจากสภาพการทำมาหากิน และพื้นที่สิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ลักษณะบ้านของถิ่นจะเป็นบ้านยกพื้นสูง พื้นและข้างฝาทำด้วยไม้ไผ่ หลังคาด้านที่ลาดลงมาจะมีครกกระเดื่องสำหรับตำข้าวตั้งอยู่ และใช้เก็บฟืนและสิ่งของต่าง ๆ ด้วย ตัวบ้านไม่มีหน้าต่าง มีประตูเข้าบ้าน 2 ประตู หน้าบ้านจะมีระเบียบหรือนอกชานที่ใหญ่ ระเบียงหน้านี้จะมีชายคายื่นลงมาปกคลุม ส่วนใต้ถุนบ้านจะเป็นคอกสัตว์

ลักษณะครอบครัว ในบ้านหลังหนึ่ง ๆ อาจประกอบด้วยครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวขยาย ซึ่งเกิดจากลูกสาวที่แต่งงานนำสามีเข้ามาอยู่ในบ้านด้วย ยิ่งมีบุตรสาวหลายคนก็มีหลายครอบครัว โดยครอบครัวของพี่สาวคนโต สามารถแยกไปตั้งบ้านใหม่ได้ ส่วนครอบครัวของบุตรสาวคนเล็ก จะต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ตลอดไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ถิ่นอยากได้บุตรสาวมากกว่าบุตรชาย ซึ่งเมื่อแต่งงานแล้วต้องไปอยู่บ้านภรรยา ทำให้ครอบครัวขาดแรงงาน

การสืบสกุล สืบทอดสกุลฝ่ายมารดาเนื่องจากมีการนับถือผีบรรพบุรุษของฝ่ายมารดา ผู้ชายที่แต่งงานแล้วต้องตัดขาดจากผีเดิมมานับถือผีของฝ่ายภรรยา และเมื่อมีบุตรก็นับถือผีฝ่ายมารดาเช่นกัน ดังนั้นในหมู่บ้านถิ่นหนึ่ง ๆ จะมีตระกูล 2-3 ตระกูล ๆ หนึ่งก็มี 3-5 หลัง ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน และผู้ที่นับถือผีเดียวกันจะมีอยู่เฉพาะภายในหมู่บ้านเท่านั้น ส่วนการใช้นามสกุลของถิ่นนั้นไม่สามารถบอกลักษณะความเป็นพี่น้องกันได้ เพราะในหมู่บ้านหนึ่งจะมีเพียง 1 นามสกุลเท่านั้น ส่วนนามสกุลนอกเหนือจากนี้แสดงถึงการอพยพเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านภายหลัง แต่ความเป็นเครือญาตินั้นต้องดูจากการนับถือผีของแต่ละคน

ถิ่นผลิตเพื่อการยังชีพไปวัน ๆ หนึ่ง การเพาะปลูกจึงเป็นอาชีพที่สำคัญ โดยเฉพาะการปลูกข้าวไร่เพื่อให้พอกินตลอดปี จึงทำให้ถิ่นต้องมีพิธีเลี้ยงผีหลายครั้ง เพื่อให้ผลผลิตมากพอกิน ส่วนการผลิตเพื่อนำเงินสดนั้น ถิ่นจะหาได้จากการล่าสัตว์ หรือขายสัตว์เลี้ยง การรับจ้างและการหาของป่าไปขาย นอกจากข้าวไร่ที่ปลูกกันทุกหมู่บ้านแล้ว มีบางหมู่บ้านเริ่มทำนาดำบ้าง ส่วนพืชอื่น ๆ นั้น มีข้าวโพด ข้างฟ่าง และพืชผักต่าง ๆ บางหมู่บ้านมีการเก็บเกี่ยวชาป่าทำเมี่ยงเพื่อขายต่อไป และบางหมู่บ้านแถบตำบลบ่อเกลือเหนือ และบ่อเกลือใต้ มีการทำเกลือเพื่อขายให้คนในหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย ถิ่นมีความสามารถเฉพาะเผ่าของตนอีกอย่างหนึ่งคือ การจักสานเสื่อหญ้าสามเหลี่ยม โดยจะนำหญ้าสามเหลี่ยมมาสานผสมกับใบตองจิงทำให้มีลวดลายที่สวยงาม สัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงมี ไก่ หมู เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรม และยังสามารถขายลูกหมูเป็นรายได้อีกด้วย สุนัขเลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน และช่วยในการล่าสัตว์ วัว ควาย เลี้ยงไว้เพื่อขายแก่คนพื้นราบ หรือเพื่อให้เช่าไปทำการไถนา

เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านถิ่น จะสื่อสารกันได้ง่าย เนื่องจากถิ่นส่วนใหญ่จะพูดภาษาไทยพื้นเมืองทางภาคเหนือได้ การแต่งกายทั้งชายและหญิงในปัจจุบันแต่งกายแบบคนไทย แม้ว่าจะมีเครื่องแต่งกายประจำเผ่าของตน แต่ก็หาดูได้ยาก เพราะไม่นิยมสวมใส่กัน สำหรับเรื่องการเข้าพักในบ้านเรือนของถิ่น แขกที่จะพักค้างคืน ต้องนอนนอกชาน เข้าไปนอนในบ้านไม่ได้ ขณะที่ทำขวัญ ซึ่งทำภายในบ้าน คนแปลกหน้าห้ามเข้าไปโดยเด็ดขาด ถ้าหากไม่รู้จักเขา อย่านำอาหารไปทำเองในครัวของเขา การขึ้นบ้านใหม่ ต้องหาผู้ชายชื่อแก้วเป็นผู้ถือข้าว ผู้หญิงชื่อคำเป็นผู้ถือหม้อนึ่งข้าว ขึ้นไปบนบ้านก่อนแล้วเจ้าของบ้านจึงเดินตามขึ้นไป ห้ามใส่รองเท้าเข้าไปในบ้าน หากใส่เข้าไปถือว่าผิดผี เจ้าของบ้านจะปรับสุรา 1 ขวด หรือไก่ 1 ตัว ขณะรับประทานอาหาร ถ้ายังไม่อิ่ม ห้ามลุกไป ถ้าลุกออกจากวงอาหาร เจ้าของบ้านจะเก็บสำรับทันที ถิ่นนิยมดื่มเหล้าขาวและเหล้าอุ เหล้าอุนิยมใช้ในการต้อนรับแขก