พระธรรมโกศาจารย์เพชรน้ำงามวงการพุทธศาสนาโลก

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
17/03/2008
ที่มา: 
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=4238

พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธัมมจิตโต)
เพชรน้ำงามวงการพุทธศาสนาโลก

กว่าประเทศไทยจะได้รับเกียรติเป็น “ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก” นั้น ประวัติศาสตร์ต้องจารึกชื่อของ พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธัมมจิตโต) เอาไว้ด้วย เพราะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง เมื่อครั้งได้รับเชิญปาฐกถาพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เวทีแห่งนี้นำความเปลี่ยนแปลงมากมายมาสู่ประเทศไทย รวมถึงความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา เจ้าของแนวคิดโรงเรียนวิถีพุทธ ยังน้อมนำหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เน้นทางสายกลาง มาหลอมรวมไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างแนบเนียนอีกด้วย

ก่อนหลักสูตรใหม่ หรือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตร 44) ของกระทรวงศึกษาธิการ จะมีผลบังคับใช้เพียง 3 เดือน มหาเถรสมาคมได้มีมติเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2544 มอบหมายให้พระธรรมวรเมธี เลขานุการแม่กองธรรมสนามหลวง และพระเทพโสภณ (สมณศักดิ์ของพระธรรมโกศาจารย์ในขณะนั้น) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้แทนพิจารณาสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในหลักสูตร 44

ทว่าในช่วงเวลานั้นหลักสูตร 44 เตรียมคลอดแล้ว ทำให้เนื้อหาสาระด้านพระพุทธศาสนาถูกบรรจุเอาไว้ในหลักสูตรเพียงไม่กี่บรรทัด ด้วยเหตุนี้พระเทพโสภณได้เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำรายละเอียดสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา ในหลักสูตร 44 ที่ได้ประกาศใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2544

ปรากฏว่าคณะกรรมชุดดังกล่าวได้จัดทำรายละเอียดสาระการเรียนรู้แกนกลางพระพุทธศาสนาและจัดพิมพ์เป็นหนังสือเรื่อง “การจัดสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม” ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักกราช 2544 สำเร็จเรียบร้อย และทันเสนอในที่ประชุม เรื่อง “หลักสูตรใหม่เด็กไทยพัฒนา : หัวใจปฏิรูปการศึกษา”

เวทีแห่งนี้มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน งานจัดที่สถาบันราชภัฏสวนดุสิต (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2545 พระเทพโสภณ ในฐานะประธานกรรมการจัดทำรายละเอียดสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา เป็นผู้เสนอสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนาต่อนายกรัฐมนตรี

ไม่เพียงเท่านั้น ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ยังได้เสนอว่า “การสอนวิชาพระพุทธศาสนาให้ได้ผลต้องนำไปบูรณาการเข้ากับชีวิตจริง เพื่ออบรมคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็กๆ ไม่มุ่งสอนเฉพาะเรื่องวิชาการ แต่ควรสอนเรื่องคุณธรรม จริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา โดยนิมนต์พระสงฆ์มาสอนในโรงเรียน เพื่อให้เป็นแบบอย่างทางศีลธรรมให้แก่เด็กและเยาวชน ด้วยการสอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น”

ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับข้อเสนอของ ศ.ดร.ชัยอนันต์ ขณะเดียวกัน ก็ชื่นชมผังมโนทัศน์ของสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนาที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้นำเสนอ และเห็นชอบให้สาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา มี 1 หน่วยกิต (เรียน 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ในระดับมัธยมศึกษา พร้อมให้มีโรงเรียนนำร่องวิถีพุทธจังหวัดละ 2 โรงเรียน ในปี 2546

ดร.สิริกร มณีรินทร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากพรรคไทยรักไทย รับลูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เปิดรับสมัครโรงเรียนนำร่องวิถีพุทธรุ่นแรก ปี 2546 มีจำนวน 89 โรงเรียน

ภายใน 2 ปี โรงเรียนวิถีพุทธผุดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง ด้วยแรงศรัทธาของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่เบื่อหน่ายต่อระบบการจัดการศึกษาในรูปแบบ “เรือนจำทางปัญญา” ต่างได้มอบความไว้วางใจไว้กับ “โรงเรียนวิถีพุทธ” 19,000 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เป็นผู้ดูแลขัดเกลาจิตใจลูกหลาน แทนสถานศึกษาที่มุ่งการแข่งขันสู่ตลาดแรงงานมากกว่าการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ ที่มีจิตดีงาม มีศีลธรรมประจำใจ

สอดรับกับมุมมองของพระธรรมโกศาจารย์ ที่เห็นว่า “นโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทยถูกครอบงำด้วยเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ต้องผลิตคนเพื่อป้อนตลาดแรงงาน เมื่อฟองสบู่แตก คนตกงานจำนวนมาก นโยบายผลิตคนป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานใช้ไม่ได้จริง การศึกษาแบบนี้กำลังทำลายศักดิ์ศรีของมนุษย์ เพราะมุ่งผลิตคนให้เป็นเพียงทรัพยากรป้อนสู่ตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม”

พระธรรมโกศาจารย์ ยังย้ำว่า การดำเนินนโยบายนี้จะทำลายระบบเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน (Subsistence Economy) สอดรับกับคำสอนของพระพุทธศาสนาสอนให้เราดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทาน หรือ “ทางสายกลาง” ในกรณีนี้ ทางสายกลางคือ การถือว่าเศรษฐกิจแบบแข่งขันและเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญแก่ความสุขมวลรวมของประเทศ ไม่น้อยกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ

เมื่อตั้งทัศนะให้เป็นสายกลางตรงกันได้แล้ว เราควรปรับนโยบายการศึกษาไทยให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ การศึกษาไม่ใช่สาวใช้ของภาคเศรษฐกิจอีกต่อไป การศึกษามีหน้าที่พัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นั่นคือการศึกษาต้องสร้างสังคมฐานความรู้ (Knowledge-based Society) หรือสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) ดั่งผังมโนทัศน์ของสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา จุดกำเนิดโรงเรียนวิถีพุทธ นั่นเอง

แน่นอนหลักการของโรงเรียนวิถีพุทธ ตามหลักพระพุทธศาสนาสอนให้เดินสายกลาง เพราะศาสนาที่แท้จริงไม่มีสงคราม โรงเรียนวิถีพุทธจึงเหมือนกับโรงเรียนปกติทั่วไป แต่เน้นกรอบการพัฒนาตามหลัก “ไตรสิกขาอย่างบูรณาการ” เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาเป็นผู้มีคุณลักษณะ “กิน อยู่ ดู ฟัง เป็น” ด้วยการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุข