วางไม่เป็นเย็นไม่ได้ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/03/2008
ที่มา: 
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=2981

Image

วางไม่เป็นเย็นไม่ได้
โดย หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๐

ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย

ณ บัดนี้ถึงเวลาของการแสดงธรรมะปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา

หมู่นี้เป็นเดือนเมษายน อากาศร้อนหน่อย ซึ่งก็มันเป็นเรื่องธรรมชาติ หมุนเวียน เปลี่ยนแปลงกันมาโดยลำดับ มีร้อน มีหนาว มีฝน อะไรต่ออะไรตามเรื่องของดินฟ้าอากาศ เราทั้งหลายที่อยู่ในโลก ก็ต้องพบกับสิ่งเหล่านี้เป็นธรรมดา เวลามีความร้อน อย่าไปกระวนกระวายในทางจิตใจ เวลาหนาว เวลามีฝน ก็อย่าทำให้เกิดความทุกข์ ให้นึกแต่เพียงว่ามันเป็นธรรมดา ที่จะต้องเกิดต้องเป็นอย่างนี้ แล้วมันก็ไม่ได้เป็นอยู่นานหรอก ร้อนไม่กี่เดือนก็ถึงฝน ฝนไม่กี่เดือนก็ถึงหนาว หนาวไม่เท่าไรก็ถึงร้อนต่อไป กว่าเราจะลาโลกนี้ต้องพบกับฝน หนาว ร้อนหลายครั้งหลายหนหมุนเวียนกลับเปลี่ยนกันไปตลอดเวลา

หน้าที่ของเรานั้น คือควรจะทำใจให้มีความสุข อย่าทำใจให้มีความทุกข์ ความเดือดร้อนด้วยเรื่องอะไรๆ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน การทำใจให้เป็นสุขนั่นแหละเป็นหน้าที่ของเราทุกคน การทำใจของเราให้เป็นทุกข์ไม่ใช่หน้าที่ ถ้าเรานั่งกลุ้มใจ มีความทุกข์ความเดือดร้อน ด้วยเรื่องอะไรก็ตาม เรียกว่าเราทำผิดหน้าที่

การทำผิดหน้าที่นั่นแหละ คือการไม่ประพฤติธรรม เพราะธรรมะคือหน้าที่ และหน้าที่เราควรปฏิบัติก็คือ การทำใจของเราให้เบาโปร่ง ให้มีความสุขอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเรื่องอะไรจะเกิดขึ้น ถ้ามันจะมีความทุกข์บ้างก็นิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่ทุกข์กันนานๆ ทุกข์เป็นชั่วโมงหรือเป็นวันเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน อย่างนี้ก็ไม่ใช่เรื่อง เป็นการกระทำตนไม่ถูกเรื่อง

เราควรจะรีบแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ให้ผ่อนคลายลงไปโดยเร็วที่สุด เท่าที่จะเร็วได้ เพราะว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรานั้น มันก็เป็นโรคอย่างหนึ่งเหมือนกัน เราเรียกว่าเป็นโรคทางใจ หรือว่าโรคทางจิต แต่โดยมากเขามักจะเรียกว่าเป็นโรคทางประสาท โรคทางประสาทนั้นมันเป็นเรื่องของทางร่างกาย แต่ว่าเกิดเป็นโรคประสาทขึ้นมานั้นก็เพราะว่าจิตอ่อน คือจิตคิดมากเกินไป ทำอะไรๆ มากเกินไป เช่นมีความกังวลในปัญหาต่างๆ ในเรื่องนั้นเรื่องนี้

ทีนี้เมื่อจิตคิดมากร่างกายมันก็ทำงานมาก หัวใจทำงานหนัก เพื่อส่งโลหิตไปหล่อเลี้ยงทางสมอง ให้คิดนึกในเรื่องนั้นๆ ทีนี้เมื่อทำงานมาก มันก็เกิดอาการเพลียไป อ่อนไปแล้วทำให้ไม่สบายทางร่างกาย นอนไม่หลับบ้าง รับประทานอาหารไม่ได้บ้าง หรือเป็นอะไรๆ ต่างๆ ขึ้นในร่างกายของเรา เรื่องอย่างนี้ก็เกิดจาก สภาพของจิตใจเรานั่นแหละเป็นเหตุ คือจิตของเราทำงานหนักเกินไป ไม่มีการพักผ่อน ร่างกายของคนเรานี้ ต้องการพักผ่อนเป็นครั้งคราว ธรรมชาติจึงสร้างให้เราทำงานในกลางวัน แล้วก็พักผ่อนในตอนกลางคืน

คนในสมัยนี้ ที่อยู่ในสถานที่ที่เราเรียกว่า ไม่เจริญ คนที่อยู่ในที่ที่ไม่เจริญเราอย่าไปนึกว่าเขาเดือดร้อน เราเสียอีกแหละที่อยู่ในที่ที่เจริญเดือดร้อนมีเรื่องคับอกคับใจมีปัญหา มีอะไรร้อยแปด แต่ว่าคนที่เขาอยู่ตามที่ไม่เจริญนั้น เขาสบาย เขานอนหลับเป็นปกติ ไม่ว่าเวลาไหน ค่ำเข้าเขาก็นอน แล้วก็นอนหลับเป็นปกติ ตามความต้องการของร่างกาย ตื่นแต่เช้าก็ออกไปทำมาหากิน ไปในป่าหาผักหาผลไม้ ไปในไร่ไปในสวนทำงานตามหน้าที่ เวลาหิวเขาก็รับประทานอาหารอิ่มแล้วก็หมดเรื่องกันไป ถ้าไม่หิวเขาก็ไม่รับประทาน คนตามบ้านนอกที่ยังไม่เจริญนั้นจึงกินเป็นเวลา ตามความต้องการของร่างกายจริงๆ แต่ว่าเราที่อยู่ในเมืองหลวง อันเจริญนั้นขออภัยเถอะมันมีของกินมากอุดมสมบูรณ์ ต้องเคี้ยวกันเรื่อยไปไม่ได้หยุดหย่อน สังเกตดูคนเวลาเดินทางไปไหนๆ ไม่ว่าจะเดินทางด้วยรถประเภทใด อาตมาก็พยายามสังเกตคนที่นั่งไปในรถ ไม่เห็นมีปากว่างสักคนเดียว ผู้ใหญ่ก็เคี้ยวต้องเคี้ยวอะไรๆ เรื่อยไปละหารู้ไม่ ว่าการเคี้ยวขยุบขยับอยู่ตลอดเวลานั้น มันเกิดอะไรขึ้นแก่จิตใจบ้าง เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ในร่างกายนั้นก็ต้องทำงานไม่ได้หยุด กระเพาะต้องย่อยอยู่ตลอดเวลาไม่มีการพักผ่อน ในทางจิตใจนั้นก็กลายเป็นคนประเภทที่เรียกว่าตามใจตนเอง กินไม่รู้จักเวล่ำเวลาก็ทำให้ท้องไส้เสีย สุขภาพทางจิตก็พลอยเสียไปด้วยเหมือนกัน จึงได้เกิดเป็นปัญหามีโรคนั้นโรคนี้

เช่นเด็กๆใน เมืองนี่มักจะเป็นโรคเรื่องฟันผุ ผุเพราะว่ากินมากนั้นเอง เดี๋ยวก็อมท็อปฟี่ ฟันน้ำนมควรจะหลุดตามระยะเวลา แต่ว่าเพราะรับประทานมากเกินไป เลยฟันน้ำนมหลุดก่อนฟันแท้จะขึ้น ฟันแท้จะขึ้นมายังไม่ทันเต็มปากเรียบร้อย พอโผล่ขึ้นมาพ้นเหงือกนิดหน่อย ก็ต้องเคี้ยวนั่นเคี้ยวนี่เลยฟันเกไปบ้าง ยังงอกขึ้นมายังไม่เรียบร้อย อันนี้ก็เพราะเรื่องกินทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก แล้วก็ยังเสียหายอะไรอีกหลายอย่าง

แต่คนบ้านนอกนั้นเขาไม่ค่อยมีอะไรจะกิน สมัยเมื่อเป็นเด็กอยู่บ้านนี่จำได้ว่าปีหนึ่งนี่ เขาจะมีการกันขนมหวานกันสักครั้ง เวลาจะกินนี่เขาต้องทำกันเป็นงานใหญ่ ทำกันเป็นตะกร้าใหญ่ เพราะต้องกินกันหมดทั้งบ้าน บริเวณที่อยู่ในรั้วเดียวกันกว่าสิบเอ็ดครอบครัวนี่ บ้านนี้ทำก็ต้องกินกันหมดทุกครอบครัว ปีหนึ่งทำขนมหวานกินสักครั้งหนึ่งทำขนมจีนกินกันสักครั้งหนึ่ง หรือว่ามีอะไรพิเศษสักครั้งหนึ่งพ้นจากนั้นแล้วก็ไม่มีอะไร นอกจากกินอยู่ตามธรรดาของร่างกาย มันก็เติบโตมาโดยปกติสุขภาพเรียบร้อย อนามัยสมบูรณ์แล้วคนที่อยู่อย่างนั้น อายุยืนๆ แปดสิบกว่าปีจึงตายแปดสิบห้า แปดสิบเจ็ด แปดสิบเก้า ก็นับว่าอยู่ในเกณฑ์ อายุยืนทั้งนั้น แล้วถ้าเราสังเกตดูสุขภาพจิตของคนเหล่านั้น ท่านเป็นปกติไม่ค่อยมีอารมณ์ประเภทแรงๆ ไม่ค่อยจะโกรธเคืองใคร ไม่ใช่วาจาหยาบคายอะไรกับใคร อารมณ์ทุกข์ก็น้อย ความจริงความเป็นอยู่ภายในครอบครัวในบ้านนั้น บ้านไม่มีเครื่องเฟอร์นิเจอร์มากมายอะไรแหละมีเสื่อปูนั่งปูนอน เสื่อก็ไม่ใช่ว่าวิเศษวิโส เขาเรียกว่าเสื่อทำด้วยต้นคล้าต้นกกอะไรนั่นแหละ

ปักษ์ใต้เขาเรียกว่าต้นกระจูดมันมีแยอะแยะ เขาไปถอนมาทำเป็นเสื่อ ปูนั่งก็ผืนนั่นแหละ ปูนอนก็ไอ้ผืนนั่นแหละ หมอนมีสักใบก็ใช้จนกระทั่งว่า ขาดทะลุปรุปะก็หนุนกันได้เรียบร้อย นอนเป็นปกติมีความสุขสบาย แล้วก็ไม่ค่อยมีเหตุการณ์ทะเลาะเบาะแว้งกัน ในระหว่างคนที่อยู่ใกล้ๆ เขายิ้มเข้าหากัน มีอะไรก็แบ่งกันกินกันใช้สุขภาพจิตเป็นปกติ ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ไม่เป็นโรคประสาท หรือไม่ต้องไปทำอะไรในเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ นอกจากไปวัดเท่านั้นเอง นานๆ ก็เอาไปวัดตามเทศกาลงานสงกรานต์ งานเข้าพรรษา ทำบุญเดือนสิบ มีงานบวชนาค มีงานศพ เขาก็ไปวัดกันไปทำบุญสุนทาน ผู้ใหญ่ก็ไป เราเด็กๆ ก็ไปกันไปเที่ยววิ่งเล่น ตามบริเวณวัดไปตามเรื่องตามราว เขาไปกันในรูปอย่างนั้นสภาพจิตใจเป็นปกติ นานๆ จะพบคนที่เป็นโรคจิตสักคนหนึ่ง นอกนั้นก็ไม่ค่อยจะได้พบมากนัก อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าความเจริญมันให้อะไรแก่เราบ้าง แต่ว่าเราจะอยู่อย่างคนไม่เจริญก็ไม่ได้ มนุษย์เรามันต้องมีการพัฒนาก้าวหน้าในทางวัตถุเรื่อยๆ ไป ถ้าไม่มีการก้าวหน้า เขาเรียกว่าไม่เจริญงอกงาม

เพราะฉะนั้นมันจึงต้องมีการทำให้เจริญขึ้น ตามฐานะแต่ว่าการทำอะไรให้เจริญแล้ว แล้วความเจริญนั้นบั่นทอนสุขภาพของเราในจิตใจ ความเจริญนั้นก็เป็นความเจริญที่เป็นพิษเป็นภัย ความเจริญทุกแง่ทุกมุม ไม่ควรจะทำให้เราต้องเป็นทุกข์ ไม่ควรจะทำให้เราต้องเดือดเนื้อร้อนใจ ไอ้เราจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจนั้นจะทำอย่างไร นี่แหละเป็นปัญหาที่สำคัญที่เราควรจะเอามาศึกษา คือว่าเรามีอะไรเราอยู่กับอะไรเราไปในที่ใด ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม หลักสำคัญมีอยู่ว่าอย่าให้มันเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนใจมี ก็อย่าให้เป็นทุกข์ ทำอะไรก็อย่าให้ทีความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ สมาคมติดต่อกับใครก็อย่าให้ต้องเกิดปัญหา เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ อันนี้เป็นเรื่องที่ทำได้หรืดไม่ อาตมาก็อยากจะตอบว่าเป็นเรื่องทำได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องเหลือวิสัย เพราะอะไรๆ ที่เกิดขึ้นในชืวิตของเรานั้นเป็นเรื่องที่เราทำมันขึ้นนทั้งนั้น เราสร้างมันขึ้นทั้งนั้นแหละ ความสุขเราก็สร้างมันขึ้นมา ความทุกข์เราก็สร้างมันขึ้นมา

ถ้าเราสร้างความสุข ก็เรียกว่าเราทำด้วยความฉลาด มีความเข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง แล้วเราก็ทำมันถูกต้อง แล้วเราก็ทำมันให้เป็นความสุขความสบายใจ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องนั้นถูกต้อง เราทำด้วยอำนาจความหลงผิด ความเข้าใจผิด ความเข้าใจผิดก็เกิดเป็นปัญหา คือ ความทุกข์ความเดือดร้อน แล้วก็เมื่อมีความทุกข์ความเดือดร้อนใจเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ ทำไมจึงแก้ไม่ได้ ก็เพราะว่าเราไม่ศึกษาให้ละเอียด ถึงเรื่องอะไรๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ได้มองดูตัวเองให้ชัดเจนในเรื่องนั้นๆ มีความคิดเดือดร้อนใจก็แก้ทางวัตถุ ด้วยวิธีการต่างๆ หรือมิฉะนั้นก็ใช้ยาประเภทต่างๆ เป็นเครื่องระงับ ยานั้นมันเป็นเครื่องระงับทางร่างกาย คือเมื่อเรารับประทานยาเข้าไปแล้วก็นอนหลับไป เวลานอนหลับนั้นเราไม่ได้คิดอะไร แต่ว่าเวลาตื่นชึ้นมามันอาจจะคิดอีกก็ได้ เพราะฤทธิ์ยามันหมดเสียแล้ว ยามันช่วยให้เราหลับลงไปเท่านั้นเอง แต่ว่าตื่นขึ้นมานั้นอารมณ์นั้นมันก็วิ่งเข้ามาหาเรา เราก็เก็บอารมณ์นั้นมาคิดมานึกต่อไป ความทุกข์ในรูปเก่ามันก็กลับมาหาเราต่อไป จึงกล่าวได้ว่ายานั้นช่วยได้นิดได้หน่อย ไม่ได้ช่วยให้มากมายอะไรนัก

สิ่งที่จะช่วยเราได้มากนั้นก็คือการสกัดอารมณ์ ที่จะทำให้เราเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เราสกัดมันเสีย อย่าให้มันเกิดขึ้นในจิตใจของเรา นั่นแหละเป็นยาวิเศษ เป็นยาที่จะช่วยทั้งป้องกัน ทั้งแก้ไขให้ชีวิตของเรา มีสุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติต่อไป ในเรื่องอย่างนี้เราจะต้องศึกษา แล้วก็กระทำการแก้ไข ทีนี้ในการศึกษานั้น ก็ต้องรู้กรรมวิธีของเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องจิตใจ คือให้รู้ว่ามันเกิดขึ้นมาอย่างไร มาตามทางไหนแล้วเราก็มีประตูสำหรับคนเข้าออก แล้วต่อมาก็มีขโมยนี่มันเข้ามาทางไหน เข้ามาลักของของเราไปมาอย่างไร

ถ้าเรารู้ว่ามันเข้ามาทางใดจะอุดทางนั้นเสีย ปิดไม่ให้ขโมยเข้ามาทางนั้นต่อไป หรือมิฉะนั้นเราก็ไปสกัดกั้น คอยจ้องทุบหัวมันพอมันโผล่หัวเข้ามา ก็บุกมันเข้าไปเลย อย่างนี้ขโมยมันก็ไม่เข้ามาบ้านเรา เพราะเรารู้ทางขโมยฉันใด

อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ก็เหมือนกัน มันเกิดขึ้นที่ความคิดของเรา หรือที่เรียกว่าเกิดที่จิตของเรานั่นแหละ จิตนั่นก็คือความคิดนั่นเองแหละ ปรากฏให้เราเห็นในรูปความคิดต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ความคิดมันจะเกิดขึ้นก็เพราะว่า มีสิ่งกระทบทำให้เกิดความคิดอย่างนั้นขึ้นมา เช่นรูปผ่านตาเข้ามา เสียงผ่านหูเข้า กลิ่นผ่านประสาททางจมูก รสผ่านประสาททางลิ้น สิ่งสัมผัสต่างๆ ถูกต้องประสาทกายสัมผัส แล้วจิตรับรู้ในเรื่องอย่างนั้น ตรงนี้แหละสำคัญนัก อาจจะรับรู้ในเรื่องเสียเปรียบ อาจจะรับรู้ในเรื่องได้เปรียบก็ได้ ถ้าเรารับรู้ในเรื่องที่ว่าไม่ให้เสียเปรียบว่าสิ่งนั้นมันคืออะไร มันจะเกิดอะไรขึ้นแก่เรา หรือเรารับรู้ว่าทำไมต้องเกิดอย่างนั้นขึ้นในใจ ทำไมจึงได้เกลียดสิ่งนั้น ทำไมจึงได้รักสิ่งนั้น

อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องคอยกำหนด ว่าทำไมเราจึงเกลียด ทำไมเราจึงรักหรือว่าทำไมเราจึงชอบใจ ทำไมเราจึงไม่ชอบใจในเรื่องนั้นๆ ปกติคนเราก็มักจะไม่คิดในเรื่องอย่างนั้น ถ้าเกลียดก็ผ่านพ้นไป ถ้ารักก็ผ่านพ้นไป หรือบางทีมันก็ฉายซ้ำอยู่ในใจของเราเกลียดแล้วเกลียดอีก อยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าหากว่าไม่มีอารมณ์ใดกระทบ ก็ไม่มี แต่ถ้ามีอารมณ์ใดมากระทบเข้า ความเกลียดตัวนั้นก็เกิดขึ้นมาทันที เช่นเราไม่ชอบคนคนหนึ่ง ถ้าคนๆ นั้นไม่เดินให้เราเห็นด้วยตา ไม่มีใครเอ่ยชื่อให้เราได้ยินด้วยหู หรือไม่มีอะไรเป็นสื่อที่จะให้นึกถึงบุคคลนั้น ความเกลียดนั้นก็ไม่เกิดขึ้นในใจของเรา แต่ถ้าหากว่าเราได้เห็นเดินมา เราก็รู้ว่าเป็นคนๆ นั้นความเกลียดก็โผล่มาทันที หรือใครมาเอ่ยชื่อคนนั้น เช่นพูดชมเชยคนๆ นั้นเขาดีอย่างนั้น เราก็มันเกิดขึ้นใจทันที อารมณ์เกลียดเกิดขึ้นทันที แล้วอารมณ์ค้าง ก็ว่าดีอะไรมันไม่ได้ความหรอก มันเกิดขึ้นมาในรูปอย่างนั้น อันนี้เรียกว่าสิ่งที่เราเกลียดมันโผล่ขึ้นมา เมื่อมีเรื่องขึ้นมากระทบ

เรื่องที่เรารักนั้นก็เหมือนกัน ถ้าเราได้เห็นคนนั้นเข้า ได้ยินเสียงเข้าเราก็เกิดความรัก หรือใครมาเอ่ยชื่อคนนั้น เราก็เกิดความรู้สึกคิดถึงคนนั้นขึ้นขึ้นมา อันนี้มันเกิดขึ้นมาบ่อยๆ ในใจของเรา แต่เมื่อเกิดแล้วเราก็มักจะปล่อยผ่านๆ พ้นไปไม่ได้เอามาวิเคราะห์วิจารณ์ในเรื่องนั้นว่า ทำไมเราจึงเกลียดคนนั้น ทำไม่เราจึงเกลียดสิ่งนั้น ทำไมเราจึงรักสิ่งนี้ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นกับสิ่งนั้น ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นกับสิ่งนี้ เราไม่ค่อยจะได้พิจารณาในเรื่องอย่างนี้ เพราะไม่ได้พิจารณานั่นแหละ จึงไม่รู้จักสิ่งนั้นตามที่มันเป็นจริง จิตใจเราก็ถูกมันหลอกให้ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ตลอดเวลา เรียกว่ามันเป็นผีประเภทหนึ่งละที่มันมาหลอกเรา ไม่ใช่ผีในป่าช้าไม่ใข่ผีที่คนกลัวตามความเข้าใจ

อารมณ์อย่างนั้นเราเรียกว่าเป็นผีชนิดหนึ่ง ที่มันคอยหลอกหลอนเราอยู่ตลอดเวลา คล้ายๆกับคนติดของเสพติด เช่นติดเฮโรอินนิ่เป็นต้น ไปรักษาที่ใดก็ตามเถอะ หยุดแล้วแต่ว่าหยุดแล้วมันก็มาหลอกเอาบ่อยๆ ทำให้นึกถึงสิ่งนั้นว่าเราเคยดื่มแล้ว บางที่มันก็อยากแรงขึ้นมา อยากจะไปสูบไปดื่มถ้ากำลังความอดทนไม่มีเพียงพอ เราก็ต้องไปตามความรู้สึกนั้น คือไปดื่มไปกินไปสูบสิ่งนั้นเข้าแล้วก็พ่ายแพ้มันต่อไป

แต่ถ้าเรามาวิเคราะห์วิจัยในเรื่องอย่างนั้นเสียบ้าง พอมันเกิดขึ้นแล้วมันดับไปแล้วละ แต่เอามาคิดดูว่าทำไมจึงเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเพราะอะไร แล้วเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วทำใจของเราให้เป็นอย่างไร มันร้อนใจหรือว่าเย็นใจวุ่นวาย หรือว่ามีความสงบเกิดขึ้นในใจของเรา เราเอามานั่งวิเคราะห์วิจัย

การนั่งวิเคราะห์วิจัยในเรื่องอะไรต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาชีวิตนี่แหละ เรียกว่าเป็นการเจริญวิปัสสนาที่ควรทำ เพราะเราอาจจะทำได้ทุกโอกาส ทุกเวลา อยูที่บ้านหรืออยู่ที่ใดๆ ที่มันไม่มีอะไรรบกวนจิตใจ เราก็ยกเรื่องอย่างนั้นขึ้นมาพิจารณา พิจารณาแล้วก็แยกวิเคราะห์ออกไป ให้เห็นว่าสิ่นนั้นมันคืออะไรมันมีเนื้อแท้ที่ตรงไหนบ้าง น่ารักน่าชมเป็นประการใด น่าเกลียดน่าชังอย่างไร แล้วเมื่อไรโกรธสิ่งนั้นขึ้นในใจ แล้วมีอะไรเกิดขึ้นตามมา มานั่งพิจารณาแยกแยะออกไป

ขณะที่เราใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องนั้นความคิดอันไม่ดีมันก็หายไปแล้ว เพราะว่าเราเปลี่ยนความคิด พอเราคิดวิเคราะห์วิจัย อ้ายความคิดไม่ดีมันก็หยุดไป หายไปจากใจของเรา มันหมดหายไปชั่วครู่ชั่วยาม เมื่อเรายังไม่รู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริง มันก็จะวิ่งมาต้มมาหลอกเราได้อีกในภายหลัง แต่ถ้าเรายกขึ้นมาวิเคราะห์อย่างละเอียด จนกระทั่งมองเห็นว่า ไม่มีอะไรที่เป็นสาระ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าจำเป็นแก่เรา ที่จะทำเรื่องนั้นจะต้องทำอย่างนั้น มองเห็นชัดเจนขึ้นมาเราก็วางลงไปได้ จิตมันตกลงไปจากสิ่งนั้น พ้นไปจากสิ่งนั้นเรียกว่าเป็นไทแก่ตัวชึ้นมาทันที ไม่ต้องเป็นทาสของสิ่งนั้นต่อไป

ในขณะใดที่จิตเราหลุดพ้นจากเครื่องผูกมัดในสิ่งเหล่านั้น นั่นแหละเป็นความสุขของชีวิตของเรา อย่างแท้จริง เราจะรู้สึกว่าใจเบาใจโปร่งใจสงบขึ้นมา ขณะที่ใจเบาใจสงบนั้น มันเป็นความสุขที่บอกไม่ได้ คือพูดพรรณนาไม่ถูกว่ามันเป็นความสุขอย่างไร ผู้ใดได้สัมผัสกับความสุขแบบนั้นด้วยตนเอง จึงจะมีความเข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง แต่ยังไม่ประสบด้วยตนเอง เราจึงควรจะเอาหลักการนี้แหละไปพิจารณาไว้บ่อยๆ เมื่อเรื่องอะไรเกิดขึ้นแล้วมันหยุดไปแล้ว เราอย่าให้มันหยุดเฉยตามธรรมชาติ แต่เรายกเอามาพิจารณาไตร่ตรองเรื่องนั้น โดยละเอียดอีกที่หนึ่ง จะทำให้เราเข้าใจสิ่งนั้นมากยิ่งขึ้น จะได้รู้ว่าสิ่งนั้นมันประกอบชึ้นด้วยอะไร มันมาอย่างไรมันไปอย่างไรชัดเจนแจ่มแจ้ง จิตใจจะสงบขึ้นได้เพราะทำอย่างนี้ อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะกระทำได้ทุกโอกาส เมื่อมีอารมณ์อันใดเกิดขึ้น นี่ประการหนึ่ง

ทีนี้อีกประการหนึ่งนอกจากอย่างนี้แล้วการปฏิบัติงาน ในหน้าที่ประจำวันของเรา เราบางคนยังอยู่ในขณะงาน เรียกว่ายังทำงานอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ วันเสาร์อาทิตย์ก็หยุดพัก แต่ว่าบางท่านนั้นได้รับบำนาญแล้ว ปลดจากการปฏิบัติหน้าที่เรียกว่าเขาปลดปล่อยเราแล้ว เขาปลดแอกออกจากคอ แล้วเราก็เป็นอิสระแก่ตัวแล้ว จะมาวัดมาวาก็ไม่มีความกังวลห่วงใย จะทำอะไรก็ทำอะไรได้สบายใจ ตามฐานะของผู้ที่เสวยผลของงาน ที่ตนได้กระทำไว้ เช่นเราเป็นข้าราชการบำนาญ ก็เพราะว่าได้ปฏิบัติงานดีมาตลอดเวลา ไม่มีความผิดความเสียหาย

เราเกษียณอายุหรือเราลาออก ทางราชการก็ให้รางวัลเรียกว่าเบี้ยบำนาญ เพื่อจะได้กินได้ใช้ไป จนกว่าจะหมดลมหายใจ ถ้าเราได้ปลดปล่อยตนออกอย่างนี้แล้ว เราก็รู้สึกว่า โลกมันโปร่งขึ้นหน่อย ครั้นจะไปทำอะไรอีกก็ได้เรียกว่า ไม่มีข้อผูกมัด ทำโดยไม่มีข้อผูกมัด แต่ว่าเราทำตามสมัครใจทำเมื่อมีเวลาที่พอจะทำได้ แล้วก็ไม่หนักอกหนักใจเกินไป ไม่ถือว่าเป็นภาระที่ผูกมัดมากเกินไป ตามประสาของคนแก่ เราก็ทำได้ แล้วก็ดีด้วยเราจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ จะได้ใช้ความรู้ความสามารถที่เรามีนั้น ถ่ายทอดให้รุ่นน้องต่อไป เขาจะได้รับความสามารถจากเรา แล้วก็เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป

อันนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ประเสริฐ เหมือนกับคนหนึ่งในอินเดียที่เราเรียกว่า เซอรภินนาถกูร ท่านเป็นนักปราชญ์ นักเขียนนักปรัชญา เคยได้รับรางวัลโนเบิล สาขาสันติภาพเพราะแต่งบทเพลงชื่อ กีตัญชลี เป็นบทเพลงที่เตือนจิตสะกิดใจชาวโลก ให้มีความรักกัน ให้หันหน้าเข้าหากัน ให้ส่งเสริมสิ่งที่เป็นความสงบในสังคม แต่งเป็นภาษาเบงคอลีน ต่อมาก็แปลเป็นภาษาอังกฤษ คนเขาอ่านแล้วแขาชอบใจ ก็เอาไปเสนอกรรมการรางวัลโนเบิล แล้วก็ได้รับรางวัล นับว่าเป็นชาวเอเชียคนแรก ที่ได้รับรางวัลชนิดนี้ในสาขาสันติภาพด้วย

ท่านผู้นี้เมื่ออายุมากแล้ว ท่านก็อยากไปหาความสงบ ตามอารยธรรมของอินเดียเขา เพราะคนอินเดียพอแก่ชราก็เหมือนกับเรา เข้าวัดเข้าวากันหาความสงบใจ สวดมนต์ภาวนานึกถึงพระถึงเจ้าตลอดเวลา ท่านผู้นี้บ้านช่องอยู่ในเมืองใหญ่แออัดยัดเยียด อึกทึกครึกโครมอยู่ตลอดเวลา แต่ทั้งๆ ที่อยู่ในเมืองที่แออัดยัดเยียด ท่านสามารถที่จะเขียนหนังสือที่ซาบซึ้ง ทำให้ชาวโลกอ่าน แล้วเกิดความสบายใจท่านไม่ได้ไปนั่งเขียนในป่า เขียนในที่อึกทึกครึกโครม แต่ว่าต่อมาเมื่ออายุมากเข้า ก็นึกว่าเราควรจะไปอยู่ในที่สงบเสียบ้าง ก็เลยออกจากเมืองใหญ่ ห่างไปร้อยไมล์ ไปได้ที่แห่งหนึ่งเขาเรียกว่าสันตินิเกกัน

สันตินิเกตันนี้เป็นชื่อของบ้านนั้น เป็นที่เป็นป่าเล็กๆ น้อยๆ ราคาถูกๆ ท่านก็ไปซื้อไว้ ประมาณพันเอเกอร์ เอเกอร์หนึ่งสองไร่ครึ่ง ก็ไม่ใช่เล็กน้อย แล้วก็ไปปลูกอาศรมอยู่ในหมู่ไม้ ชั้นแรกก็ไปอยู่ผู้เดียวกับคนใช้ มีเพื่อนฝูงมิตรสหายไปเยี่ยม ไปเยี่ยมแล้วก็ว่าเออมาอยู่นี่สบายดี ขอมาอยู่ด้วยคนเถอะ ท่านก็ไม่ขัดข้อง แล้วก็คนแก่ๆ ที่มีความรู้ไปอยู่กันมากคน อยู่กันมากคนก็นึกว่าเออเรานี่รู้มาก มีความรู้หลายแผนกหลายสาขา แล้วก็มานั่งกันอยู่เฉยๆ จิตใจก็สงบสบายแล้ว แต่ว่าเราควรจะเอาความรู้นี้ไปใส่หัวเด็กไว้ เพราะไม่เท่าใดเราจะตาย ความรู้มันจะหายไปกับเราเสียด้วย

เพราะฉะนั้นเอาความรู้นี้ถ่ายทอดให้เด็กๆ แต่ว่าทำอย่างชนิดไม่มีพันธะ ไม่มีข้อผูกมัด คือทำตามสบายๆ จึงได้เปิดรับเด็กเอามานั่งสอนกันตามใต้ต้นไม้ แบบฤษีสอนศิษย์ คือสอนกันใต้ต้นไม้ ไม่ต้องมีโรงเรียน ไม่ต้องมีอาคารใหญ่โตระโหฐานอะไรหรอก ว่ากันใต้ต้นไม้ พวกเด็กก็มาเล่าเรียน ชั่วโมงนี้เรียนกับอาจารย์นั้น ชั่วโมงนั้นก็ไปเรียนกับอาจารย์คนนี้ อาจารย์ก็นั่งอยู่กับที่ ลูกศิษย์ไปหาเอง เพราะอาจารย์เป็นคนแก่ จะเดินไปหาก็ไม่ไหว ลูกศิษย์ก็เดินไปหาอาจารย์ ไปนั่งเรียบร้อยอาจารย์ก็สอนอะไรให้ มีความรู้ก็ไปสมัครสอบกับเขา ทำไปๆ คนมันมากขึ้นๆ เลยต้องเปิดเป็นมหาวิทยาลัยขึ้นมา เรียกว่าวิศวะภารตี อันนี้เกิดจากงานของคนแก่ที่ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ แล้วก็เกิดเป็นคุณค่าแก่ชาติบ้านเมือง

เพราะฉะนั้นเราที่อยู่ในวัยชรา ถ้าจะไปทำอะไรอย่างนั้นก็ได้ แต่ว่าทำอย่าให้เป็นทุกข์ อย่าให้มีข้อผูกมัดกันมากเกินไป ทำอย่างอิสระ อย่างสบายๆ ไม่ต้อวทำอย่างที่เรียกว่าหนักอกหนักใจ อย่างนี้เหมาะสำหรับคนแก่ทั่วๆ ไป ที่จะพึงทำงานในรูปอย่างนั้น เป็นการช่วยเหลืออนุชน ให้ได้มีประสบการณ์มีความรู้ต่อไป ก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างหนึ่ง

อีกประการหนึ่งคนเราที่ยังทำงานในหน้าที่ บางคนก็ทำงานหนักเกินไป บางคนก็ทำงานน้อยเกินไป อันนี้ก็เรียกว่า ฝ่ายหนึ่งตึงอีกฝ่ายหนึ่งหย่อนยานเต็มที ไม่เดินทางสายกลาง ไม่พอเหมาะพอดี การทำที่พอเหมาะพอดีนั้นอยู่ตรงไหน อยู่ที่ไม่ต้องมีความหนักใจเพราะงาน ทำงานอย่าให้มันหนักอกหนักใจ ทำให้รู้สึกว่าเป็นงานเบาๆ งานง่ายๆ เสร็จงานแล้วก็ไม่ต้องมานั่งหนักอกหนักใจ อย่างนี้ทำงานแล้วใจสบาย

แต่ถ้าเราาทำงานอย่างชนิดที่เรียกว่า ทุ่มตัวมากเกินไป เคร่งเครียดมาเกินไปในงานนั้น จนไม่มีเวลาจะพักผ่อน แม้ถึงเวลาพักผ่อนแล้วก็ไม่ได้พักผ่อน จิตมันไปครุ่นคิดอยู่แต่ในเรื่องนั้นตลอดเวลา นั่งก็เป็นงาน ยืนก็เป็นงาน เดินก็เป็นงาน หายใจเข้าหายใจออกเป็นงานทั้งนั้น อย่างนี้เรียกว่า ตึงไปหน่อย มันดีได้ทำงานแต่ว่ามันตึงไปหน่อย ทีนี้เมื่อตึงอย่างนั้นมันเกิดความเคร่งเครียดทางสมอง เกิดความเคร่งเครียด ทางประสาทร่างกาย เป็นเหตุให้เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน และอาจจะเป็นเหตุให้เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย แทนที่เราจะได้ใช้ร่างกายความรู้ความสามารถ ให้ได้ทำงานนานๆ กลับทำงานแต่เพียงน้อยๆ แล้วก็ต้องนอนกันเท่านั้นเอง เพราะว่าไม่มีการหยุดพักเสียเลย อย่างนี้ก็ไม่ได้เหมือนกัน มันต้องมีเวลาพักผ่อน เปลื้องตนออกจากงาน เรียกว่ารู้ปลดเปลื้องภาระ รู้จักพักใจ ทำใจให้ว่างจากภาระกังวลเสียบ้าง

อันนี้จะช่วยให้ร่างกายเป็นปกติขึ้น ทำให้จิตใจของเรามีสภาพเป็นปกติขึ้นด้วย ไม่ต้องทานยาอะไรมากเกินไป ยานั้นช่วยได้เพียงเล็กน้อย แต่การทำใจของเราให้สงบในบางครั้งบางคราว เป็นเรื่องที่ช่วยได้มากกว่า ในเรื่องอย่างนี้ก็ต้องหัดปล่อยวาง คือหัดปล่อยหัดวางเสียบ้าง อย่าแบกอยู่ตลอดเวลา

คนเราถ้าถืออะไรแล้วถืออยู่ตลอดเวลามันหนัก แม้ของนั้นจะเบา เช่นว่าเขาให้เราถือนุ่นไว้สักห่อหนึ่ง แต่ถ้าถืออยู่ตลอดเวลามันก็หนัก สำลีนั้นมันหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะถือไม่รู้จักวางมันก็หนัก แต่ถ้าเราวางเสียได้มันก็เบาใจ อันนี้เป็นเคล็ดลับสำคัญ ในการดำเนินชีวิตเกี่ยวกับการงาน คือให้รู้จักหยุดงาน แล้วก็ให้รู้จักทำงาน เวลาทำงานก็ทำไปตามหน้าที่ของเรา จะคิดนึกตรึกตรองจะแก้ปัญหาอะไร ก็คิดไปในเวลานั้น เวลานั้นเป็นเวลาของงาน เป็นเวลาที่จะคิดจะค้น จะวางแผนที่จะต้องทำงานต่อไป

ครั้นเมื่อหมดเวลาชั่วโมงของงานแล้ว เราลุกขึ้นจากโต๊ะทำงาน เรากลับบ้านอย่าเอางานมาด้วย เพราะว่ามันพ้นเวลาเวลางานแล้ว เราต้องเลิกงาน เวลาออกจากสำนักงานก็ต้องบอกตัวเองว่า เลิกกันทีสำหรับวันนี้ หมดงานแล้วพรุ่งนี้ค่อยมาต่อกันใหม่ต่อไป แล้วเราก็กลับบ้าน กลับบ้านด้วยจิตใจที่เบาไม่หนัก ไม่ใช่กลับบ้านลงจากสำนักงาน นั่งในรถยนต์ก็คิดอยู่ตลอดเวลา ถ้าขับรถด้วยตนเองแล้วอันตรายที่สุด คนใดที่ไม่รู้จักปล่อยวางขับรถด้วยตนเอง อันตราย อันตรายตรงไหน เพื่อนจะชนเราบ้างเราจะชนเพื่อนบ้าง เพราะใจมันไปคิดเรื่องอื่น แต่ว่ามือนี่อยูที่พวงมาลัย ใจกับมือมันคนละเรื่อง อันนี้เสียหาย

มีท่านผู้หนึ่ง เป็นนายแพทย์ ทำงานอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ขับรถไปชนกับรถแท็กซี่ แท็กซี่มันมาดุเลย ไม่เสียหายเท่าไรหรอก มาดุว่า ท่านนี่ตำแหน่งสูงอย่างนี้ไม่ควรจะมาขับเอง เพราะคิดมากในเรื่องงานเรื่องการ ขับรถจิตมันไปอยู่กับเรื่องอย่างอื่น ไม่อยู่กับพวงมาลัยอย่างนี้มันจะเสียหายหนัก ดีนี่ชนแต่เล็กน้อย ไม่เสียหายมากนัก ท่านผู้นั้น พอเขาพูดเช่นนั้น ก็ว่าเออเขาพูดถูก แกก็เป็นคนอารมณ์ดีอยู่เหมือนกัน อ่านธรรมะอยู่บ้างเหมือนกัน แกบอกว่าเออ อ้ายน้องชายเอาเถอะรถเสียนิดหน่อยไม่เป็นไร เอาไปซ่อมที่โรงซ่อมของกรมได้ แล้วจะคิดค่าเสียหายให้เรียบร้อย ต่อไปฉันก็จะทำตามแบบที่เธอว่า ฉันจะให้มีคนขับฉันจะนั่งของฉันตามสบาย

นี่เป็นตัวอย่าง คือจิตมันยุ่ง แล้วก็ทำงานไม่ได้อย่างนั้น เมื่อเราเลิกงานแล้วก็ต้องเลิกคิดในเรื่องนั้น ให้ทำใจให้สบาย บอกกับตัวเอง เรื่องพูดกับตัวเอง อย่านึกว่าเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องไม่สำคัญ กระซิบกับตัวเองมันดังเหลือเกิน เรากระซิบกับตัวเองว่าพอแล้ว เท่านี้พอแล้ว หยุดคิดเสียบ้าง ไปทำเรื่องอื่นเสียบ้างเถอะ อย่างนี้แหละพูดบ่อยๆ ถ้าเราพูดกับตัวเราบ่อยๆ อย่างนี้เขาเรียกว่า แนะนำตนเอง หรืออีกอย่างหนึ่งเขาเรียกว่า ปลุกเสกตนเอง ปลุกเสกตัวเองให้เป็นอะไรก็ได้ พูดบ่อยๆ คิดบ่อยๆ ในเรื่องใดเราก็เป็นไปตามเรื่องนั้น

เพราะฉะนั้นเเมื่อเราเลิกจากงาน แล้วเราก็พูดกับตัวเองเสียหน่อย คนโบราณเขาใช้อุบายให้เป็นคาถาอาคมไปเลยทีเดียว เช่นว่าทำนั้นต้องว่าคาถานั้นคาถานี้ มันไม่ใช่เรื่องฤทธิ์เดชของคาถาอะไรหรอก แต่ว่ามันเป็นเรื่องของการสร้างกำลังใจ เป็นการปลุกตัวเองให้มีอะไรขึ้นในใจ คือพูดบ่อยๆ ในเรื่องอย่างนั้น ด้วยความเชื่อมั่น ด้วยความเข้มแข็งในทางจิตใจ นานๆ เข้าจิตใจก็โน้มเอียงไปในทางอย่างนั้น เขาก็กลายเป็นคนที่มีอะไรขึ้นในรูปอย่างนั้นได้

ทีนี้เราต้องการให้ตัวเราเป็นอะไร เราก็พูดบ่อยๆ คิดบ่อยๆ ในเรื่องอย่างนั้น เช่นว่าเราต้องการเป็นคนไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เราก็พูดว่าฉันเป็นคนไม่มีโรค ฉันมีอนามัยดี ฉันมีสุขภาพสมบูรณ์ พูดบ่อยๆ อย่านึกว่าเล็กน้อย เรื่องเตือนใจไม่ใช่เรื่องเล็ก ทำแล้วมันใหญ่ทั้งนั้น ถ้าเราหมั่นพูดบ่อยๆๆ กับตัวเราอย่างนั้น เราก็จะรู้สึกว่าสุขภาพมันจะดีขึ้น แต่ถ้าคนใดนึกว่าพอตื่นเช้ากูแย่ๆ มันจะแย่เอาจริงๆ พอตื่นเช้าแช่งตัวเอง กูแย่แล้วๆ แล้วไปเจอใครก็ไม่มีพูดเรื่องสบาย แหมแย่เลย หมู่นี้แย่เลย นี่เขาเรืยกว่าแช่งตัวเอง พอเจอเพื่อนเจอฝูงก็ทำหน้าเศร้า หงอยเหงา แหมหมู่นี้แย่ลงไปทุกวันแหละยังงี้แหละ เพราะว่าฝึกในทางแย่อยู่ทุกวัน คิดแต่เรื่องแย่แย่อยู่อย่างนั้นละ ผลที่สุดมันก็ตกอับลงไปเรื่อยๆ

เราอย่าคิดในทางเสื่อมอย่าคิด ในทางสร้างโรคภัยไข้เจ็บแก่ตนเอง แต่ต้องคิดไปในทางที่ว่าเราสบาย เรามีความสดชื่นเรามีความร่าเริงมีความแจ่มใส มองโลกที่ในแง่สดชื่นรื่นเริง อย่ามองไปในแง่วุ่นวายใจ หรืออย่ามองไปในแง่ที่ว่าอะไรๆ ก็เป็นปัญหาไปเสียทั้งนั้น ไม่ได้ มองในรูปอย่างนั้นไม่ได้ มันเกิดความเคร่งเครียดเกินไปให้เล่น ให้ทำงานเป็นเล่นเสียบ้าง เล่นให้เป็นงานเสียบ้าง ที่เขาเรียกว่าทำเล่น เล่นให้มันเป็นงาน คือเล่นให้มันเป็นเรื่องเป็นราว เป็นสาระเป็นแก่นเป็นสาร อย่างนี้จิตใจมันไม่หนักเกินไป

คนที่เขามีอารมณ์สดชื่นนะเป็นพวกอย่างนั้น โดยมากเขาไม่ค่อยจะมีความกลุ้มใจ ไม่ค่อยมีปัญหาเกิดขึ้นในใจมากเกินไป มีอะไรเกิดขึ้นก็ประเดี๋ยวหนึ่ง ปล่อยแล้ววางแล้ว ให้เราดูคนประเภทหนึ่งคือเด็กน้อยๆ นี่ เด็กน้อยๆ นี่เป็นคนไม่เก็บอารมณ์ เด็กมันดีกว่าผู้ใหญ่ในเรื่องนี้ เด็กนี่มันไม่เก็บอารมณ์ไม่เก็บเรื่องเอามาไว้ในใจ อะไรเกิดขึ้นที่ไหนมันก็ปล่อยไว้ที่นั่น สมมติว่ามันเล่นกันในสนามแล้วมันตีกัน มันก็ร้องไห้งอแงกันไปตามเรื่อง แต่พอหยุดร้องไห้แล้วมันก็มานั่งเล่นต่อไป มีอะไรมันก็มาแบ่งกันกินต่อไป ไม่มีเด็กคนใดเก็บความ โกรธกลับบ้าน เลิกเล่นแล้วเก็บความโกรธไปบ้าน ไปนั่งคิดว่าจะต้องต่อยจะต้องตีมันไม่มี อารมณ์เด็กอย่างนั้นไม่มี เพราะเด็กยังไม่ได้เรียนเรื่องความโกรธ ไม่ได้เรียนเรื่องพยาบาท ไม่ได้เรียนความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นของกูอยู่ตลอดเวลา เขายังไม่ได้เรียนเรื่องอย่างนั้น แล้วใครละเป็นคนสอนให้ พ่อแม่นั่นแหละเป็นคนสอนให้ คนบ้านใกล้เรือนเคียงบ้าง ถ้าขนาดไปโรงเรียนแล้วครูสอนอีกละ ให้เกิดความโกรธความพยาบาท จะยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่า

สอนประวัติศาสตร์ สอนประวัติศาสตร์ชาติไทยพอถึงตอนกรุงศรีอยุธยา ก็สอนว่าพม่านี่ยกมาตีกรุงศรีอยุธยาสองครั้ง แล้วครั้งสุดท้ายพม่าทำเจ็บแสบ เผาบ้าน เผาเมือง ปล้นเอาทองจากพระพุทธรูป เวลาสอนครูทำท่าคึ้งเครียดขึ้นมาเชียว ชังพม่าขึ้นมา ไอ้เด็กที่ฟังแล้วมันก็เกลียดขึ้นมาเหมือนกัน เกลียดพม่าบ้าง คนพอเห็นพม่าอยากจะไปต่อยหน้ามันเลย ไปต่อยพม่าเดี๋ยวนี้มันก็ไม่ได้เรื่องอะไรหรอก ไอ้พม่าที่เผาเมืองมันตายกระดูกถมดินไปนานแล้ว พม่าเดี๋ยวนี้มันไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องเลยว่าเคยทำอะไรกับประเทศไทยจะไปโกรธมันได้อย่างไร

ครูผู้สอนก็เหมือนกันแหละ ใครที่เล่าเรื่องอย่างนี้ให้เด็กฟังก็เหมือนกัน ถ้าจะให้เด็กเกลียดอย่าให้เกลียดคนดีกว่า อย่าให้โกรธคนดีกว่า โกรธอะไรเกลียดอะไรจึงจะดี คือให้เกลียดต้นตอของเรื่อง ให้โกรธสิ่งที่เป็นต้นตอของเรื่อง ต้นตอของเรื่องมันอะไร คือกิเลสนั่นเอง ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี่เป็นต้นตอใหญ่ของเรื่อง ที่ได้รบกันนั่นเพราะความโลภ เพราะความโกรธ เพราะความหลง เราอย่าไปเกลียดความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ว่าควรจะแผ่เมตตาให้แก่คนนั้น แล้วก็นึกว่า แหมเป็นคนที่น่าสงสาร เพราะจิตใจมันตกอยู่ในอำนาจของกิเลส มีทางใดบ้างที่เราช่วยปลดปล่อยให้คนนั้นพ้นจากกิเลส ให้พ้นจากบาปจากอกุศล

ถ้าคิดอย่างนี้ใจเมตตามันก็เกิดขึ้น เราจะไม่โกรธคนนั้น เกลียดคนนี้ แต่ว่าเราโกรธกิเลส เกลียดกิเลส เมื่อเราโกรธกิเลส เกลียดกิเลส เราควรจะระวังตัว ไม่ให้กิเลสประเภทนั้นเกาะจับจิตใจเรา เราเกลียดความโลภอย่าให้ความโลภเกิดขึ้นในใจเรา เราเกลียดความหลง อย่าให้ความหลงเกิดขึ้นในใจของเรา เกลียดความริษยา เราก็อย่ามีความริษยาใคร แต่เราทำใจให้ยินดีเพลิดเพลิน ในความสุขความสบายของคนอื่น อย่างนี้มันก็ไม่มีอะไร

เดี๋ยวนี้โลกไม่ได้สอนให้คนเกลียดกิเลส แต่สอนให้คนรักกิเลสโดยไม่รู้ตัว คือสอนให้เกลียดกันนั่นแหละ ให้เคียดแค้นชิงชังพยาบาทกัน เกลียดกัน เหมือนอาหรับกับยิวเกลียดกัน ตั้งแต่ยุคใบเบิ้ลจนกระทั่งบัดนี้ไม่ได้สอนให้รักกัน ไม่ได้สอนให้เกลียดความชั่ว แต่สอนให้เกลียดคนที่มีความชั่ว อย่างนี้ไม่ถูกต้อง ควรจะสอนให้ใครๆ รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อย่าไปว่าคนนั้นถูกคนนี้ผิดมันยุ่ง แต่ให้รู้ว่าอะไรมันถูกอะไรมันผิด ถ้าสิ่งใดถูกเอาไว้ ถ้าสิ้งใดผิดก็อย่าเอาไว้ อย่างนี้จิตใจก็จะสบาย ไม่สร้างปัญหา คือความทุกข์ความเดือดร้อน ให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรามากเกินไป นี่ประการหนึ่ง

ในการบริหารงานอะไรต่างๆ นี้ก็เหมือนกัน เราอย่ารับภาระให้มันมากเกินไป รับงานนะ ไม่ได้หมายความว่าต้องทำอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่อย่างนั้น ทำเป็นเวลา ถึงเวลาทำงานก็ทำจริงๆ ห้าชั่วโมงของงานเราทำจริงๆ ทำให้เสร็จ ถ้าสิ่งใดไม่เสร็จก็วางไว้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยมาทำต่อ แล้วมานั่งคิดมานั่งค้นต่อไป กลับไปบ้านเราก็พักผ่อนเสียมั่ง ไปทำงานอื่นเสียบ้าง ทำเรื่องส่วนตัวไปเสียบ้าง หาความเพลิดเพลิน เช่นเราเป็นคนมีครอบครัวเราก็มีลูกมีเต้าก็เรียกลูกมานั่งคุยกันต่ออะไรกัน ชวนลูกให้ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ให้ทำปลูกต้นไม้บ้างทำสนามบ้าง เอาหินมาทำสวนหย่อมรดน้ำต้นไม้ไปอะไรไปเพลิดเพลินไป ให้ลูกทำงานไปด้วย ทำงานให้เพลิดเพลิน นั่งเล่นกันในสนาม ระหว่างพ่อลูกไป เอาพ่อจะหนีแล้วลูกวิ่งตามนะ กวดกันไปกวดกันมา จิตใจมันว่างร่าเริงแจ่มใส ไม่ต้องไปหมกมุ่นเรื่องงานเรื่องการอะไรมากเกินไป คือว่ามันต้องรู้จักปิด จิตใจของเรานี่ต้องปิดเสียบ้าง เปิดมากไปก็ไม่ได้ เหมือนกับประตูบ้านนะ เวลานอนก็ต้องปิด ปิดกันขโมยเข้ามาหน้าต่างต้องปิด ถ้าไม่ปิดต้องใส่ซี่โครงเหล็กให้แข็งแรงหน่อย จิตใจเรานี่ก็เหมือนกันต้องปิดเสียบ้าง อะไรที่มันหนักก็ต้องปิดไว้ก่อน ไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดเวลานี้ เวลาใดจะคิดก็เอาไปคิด เวลาใดหยุดคิดก็ทำเรื่องอื่นต่อไป ถ้าอย่างนี้แล้วไม่มีอาการเคร่งเครียด จิตใจจะเป็นปกติรู้จักทำงานเป็นเวลา

เวลาจะนอนนี้อย่างหนึ่งบางคนนอนยาก นอนไม่หลับเอามือถ่วงหน้าผาก ถ่วงแล้วมันก็ยังไม่หลับให้เอาหินมาถ่วง มันก็ยังไม่หลับบางคนนะทำไมไม่หลับ มันไม่ใช่เรื่องตรงนี้ มันเรื่องที่ความคิดนะ นอนแล้วจะคิดเวลานอนนี้อย่าไปคิดอะไร ทางที่ดีนี่เราจะนอนนี้ต้องสวดมนต์ไหว้พระ สวดมนต์นี่อย่าถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย คนเราสมัยใหม่คิดว่าเสียเวลาไปนั่งไหว้พระสวดมนต์อยู่ มันเป็นเรื่องของคุนปู่ คุณตา ไอ้เราเป็นคนสมัยใหม่ไม่ต้องไหว้ก็ได้ มันเป็นเสียอย่างนั้น ไอ้อย่างนี้มันจะเสียหาย เรื่องไหว้พระสวดมนต์นะเป็นเรื่องฝึกจิต เป็นเรื่องที่ให้เกิดความสงบใจ แล้วจะได้นอนหลับเป็นปกติ ปลดเปลื้องอารมณ์ได้ เราก็ควรจะทำพิธีไหว้พระในบ้านของเรา มีห้องพระเป็นพิเศษ จัดไว้เรียบร้อย เราเข้าไปในห้องนั้น ไหว้พระสวดมนต์ สวดมนต์เสร็จแล้วก็ทำจิตใจให้สงบ ปล่อยว่างจากอารมณ์ต่างๆ เสีย

ครั้นเมื่อจิตสงบแล้วเราก็ไปนอน เวลานอนนี่ก็อย่าคิดอะไร บอกตัวเองว่านอนนะ อย่าคิดมากนะ นอนให้มันหลับนะ แล้วก็นอนให้ร่างกายปกติ นอนหงายก็ได้ นอนหงายทอดมือไปตามปกติหายใจแรงๆ หน่อย หายใจเข้าให้เต็มท้อง ท้องมันก็พองขึ้น หายใจออกท้องมันก็ยุบลงไป แล้วก็กำหนดว่าหายใจเข้า หายใจออกทำให้มันดี ประเดี๋ยวเดียวมันก็หลับไปเลยละ แต่ถ้ารู้ว่าก่อนนอนนี่นะถ้ามันหลับยากหน่อย ก็ทานอะไรเสียนิดหน่อยให้กระเพาะมันได้ทำงาน แต่อย่าทานของหนักเกินไป ให้ทานกล้วยน้ำว้าสักสองผลก็พอละ กล้วยน้ำละว้าอย่าถือว่าของต่ำนะโปรตีนวิตามินมันเยอะแยะ มันดีกว่ากล้วยหอมราคาแพง ซื้อก็ง่ายขายก็คล่อง เอากล้วยน้ำละว้าสักสองผลน้ำสักหนึ่งแก้ว

เสร็จแล้วไปนั่งไหว้พระสวดมนต์ ไหว้พระสวดมนต์แล้วก็รู้สึกว่าจะนอนถึงก็นอนให้สบาย นอนให้หลับอย่าคิดอะไร ถ้ามีความคิดอะไรสู่ขึ้นมาในใจ ต้องขับไล่มันออกไป พอเกิดอะไรขึ้นบอกว่าไม่เอา แกมันมาเสือกให้คิดเวลานี้มันไม่ใช่เรื่องนะ มันไม่ใช่เวลาฉันจะนอนไม่ใช่เวลาคิดออกไป มันก็ออกไปซิ เรารู้ตัวนี่ก็รู้ว่าเราขับไล่ออกไป เราก็นอนกำหนดลมหายใจเข้าออกต่อไป ประเดี๋ยวมันก็หลับ หลับแล้วก็ตื่นตามเวลา ตื่นโดยมากตีสี่อะไรมันก็ตื่น ร่างกายมันก็นอนพอสมควร เมื่อตื่นแล้วก็ลุกขึ้นนั่งสงบใจเสียหน่อย ล้างหน้าล้างตาเสียก่อน ล้างหน้าล้างตาเสร็จแล้วก็ทำจิตให้สงบ กำหนดอานาปานสติหายใจเข้าออกนี้แหละดีที่สุดแล้ว

นั่งทำจิตให้สงบไม่คิดเรื่องอะไร ไม่ยุ่งเรื่องอะไร ทำใจให้สงบพอสว่างก็ลุกขึ้นบริหารร่างกาย ตามแบบง่ายๆ แกว่งแขนแกว่งขา อะไรยืนตัวตรงๆ แกว่งแขนไปมาสักพันครั้งก็ยังได้ เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มันไม่หนักอกหนักใจ นี่ยืนเรื่อยๆ แล้วแกว่งสักพันครั้งนับแกว่งไป นับก็นับไป เท่าใดก็เท่าใดก็เอาไปนับหนึ่งนับสอง ไปทางด้านหลังว่าหนึ่งนี่สองนี่ มันได้ห้าร้อย และต้องนับว่ามาหนึ่งสอง แกว่งยืนตัวตรงหายใจทีแล้วก็แกว่งไปแกว่งมาแล้ว เวลานั้นจิตต้องให้ว่างอย่าไปคิดกังวลอะไร ให้นึกถึงแขนที่แกว่งก็แล้วกัน แกว่งไปหน้าแกว่งไปหลัง แกว่งหน้าแกว่งหลังนึกแต่เรื่องแขน บริหารร่างกายจนเหงื่อไหลพอสมควร เข้าห้องน้ำอาบน้ำทำจิตใจให้สบายตลอดเวลา จนกระทั่งตื่นเช้ารับประทานอาหาร อย่าไปดื่มกาแฟมากมันนอนไม่ค่อยหลับ

พวกกาแฟนะอย่าไปเชื่อพวกโฆษณานั่นว่า กาแฟนี้ดี กาแฟนั้นดี เอามาลองฉันดูแล้ว ไม่เห็นดีสักอย่างเดียว ดูมันฝาดๆ เฝื่อนๆ นะมันไม่ได้เรื่องอะไรหรอก อย่าไปเที่ยวดื่มไอ้ของติดๆ เข้าไป กาแฟ บุหรี่ ของเมานี่มันไม่ดีทั้งนั้นแหละ ของเสพติดให้โทษ ทำให้โรคทางประสาท ร่างกายเรามันเสีย งดเว้นสิ่งเหล่านั้นให้หมด รับทานอาหารง่ายๆ ให้ดีต้องทานผักมากๆ เนื้อน้อยๆ อาหารย่อยง่ายๆ ร่างกายก็จะเป็นปกติกระปรี้กระเปร่า

เวลาไปถึงที่ทำงาน ก็บอกตัวเองว่าเอาละทีนี้ทำงานแล้วนะ คิดละนึกละวางแผน ในเรื่องงานเรื่องการไว้ให้เต็มที่ ทำงานไปเป็นปกติ งานมีอุปสรรคอย่าเป็นทุกข์ อย่าร้อนอกร้อนใจ ทุกอย่างต้องมีการขัดข้องต้องมีอุปสรรค เราก็ต้องคิดว่าเอามันเรื่องธรรมดา อุปสรรคเป็นเครื่องทดลองสติปัญญาของเรา เราไม่กลัวเรายิ้มรับกับมัน แล้วเราก็คิดค้นหาวิธีแก้ไขต่อไป ด้วยจิตใจที่ร่าเริงเบิกบานยิ้มเข้าไว้ หัดยิ้มๆ ไว้ ร่าเริงไว้ ยิ้มเถิดหนาจงร่าเริงเข้าไว้จะบูดบึ้งทำไมสดชื่น หัวเราะเป็นเล่นหรือจริงยิ่งครึกครื้น อายุยืนหมื่อนปีดีไหนละ แม่เจ้าเอยเจ้าดอกบานชื่นใครอยากอายุยืนต้องให้รื่นเริงเอย

รื่นเริงไม่ใช่หัวเราะคลักๆ ตลอดเวลา หมายความว่าจิตใจมันสบายอยู่ข้างใน ยิ้มอยู่ข้างในมองอะไรด้วยความจริงอยู่ตลอดเวลา รู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งทั้งหลายที่เข้ามากระทบอารมณ์ อันนี้แหละที่จะทำให้จิตใจเราสบายเรื่อยขึ้นเป็นปกติ เราก็ต้องหมั่นอ่านหนังสือธรรมะเครื่องเตือนใจ ว่างๆ ก็ออกมาที่โปร่งๆ แจ้งๆ เหมือนกับญาติโยมมาที่วัดชลประทานนี่ มาแล้วใจมันก็สบาย นั่งพักตรงไหนก็ได้ ใต้ร่มไม้อะไร นั่งให้มันสบายใจ มองโลกด้วยความสดชื่น มันก็เพิ่มกำลังใจให้แก่ตนเอง

อันนี้ก็เรียกว่า วิธีการส่งเสริมสุขภาพทางจิตของเรา ให้อยู่ในโลกที่วุ่นวาย ได้โดยไม่วุ่นวายมากเกินไป ดังที่ได้แสดงมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงนี้ฯ