รู้จักกับชนเผ่าในประเทศไทย ชนเผ่ากะเหรี่ยง(Karen)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/04/2008
ที่มา: 
ศูนย์ประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชาวไทยภูเขา (ศอข .) http://www.contothailand.org/independentfile/tribekaren.asp

ชาวกะเหรี่ยงจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ธิเบต มีถิ่นฐานเดิมอยู่แถบบริเวณต้นแม่น้ำสาละวินในประเทศจีนแล้วจึงอพยพเข้าสู่ พม่า และอพยพเข้าสู่ประเทศไทย ตามตัวเลขประชากรในปีพ.ศ. ๒๕๔๕ มีชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยจำนวน ๔๓๘,๑๓๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๗.๔๕ ของจำนวนประชากรชาวเขาในประเทศไทย กระจายอยู่ในเขตจังหวัด กาญจนบุรี กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี แพร่ แม่ฮ่องสอน ราชบุรี ลำปาง ลำพูน สุโขทัย สุพรรณบุรี และอุทัยธานี

กะเหรี่ยงในประเทศไทยมี ๔ กลุ่มย่อย คือ
๑.สะกอ ( Skaw) เรียกตัวเองว่า "ปกาเกอะญอ" เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด
๒.โป (Pwo) หรือเรียกตนเองว่า "โพล่ง" ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน และกาญจนบุรี
๓.ปะโอ (Pa-o) หรือ "ตองสู" อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงรายมีเพียง ๕ หมู่บ้าน
๔.กะเหรี่ยงแดง (Kayah) อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเพียง ๑-๒ หมู่บ้าน
ลักษณะเด่นอันหนึ่งของกะเหรี่ยง คือ ความสามารถในการอนุรักษ์ดิน และการทำนาแบบ ขั้นบันไดตามไหล่เขาซึ่งสามารถที่จะทดน้ำเข้าไปใช้ได้ คนทั่วๆไปโดยเฉพาะทางภาคเหนือรู้จัก
กะเหรี่ยง ในชื่อต่างๆ เช่น ยางแดง ยางขาว ยางเปียง ยางกะเลอ และยางน้ำ ฯลฯ ซึ่งที่แท้จริงแล้วก็คือ ชื่อกะเหรี่ยงอย่างเดียวกัน

ระบบการปกครอง
กะเหรี่ยงจัดระบบการปกครองเป็นแต่ละหมู่บ้านหลักสำคัญ คือเป็นหน่วยอิสระในการประกอบพิธีกรรมของตนเอง หรือหมู่บ้านหนึ่งนั้นจะมีหัวหน้าฝ่ายชายซึ่งเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมของหมู่ บ้านเป็นเสมือนหัวหน้าหมู่บ้าน แต่ปัจจุบันบางหมู่บ้านได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน นอกจากนั้นหมู่บ้านหนึ่งๆยังได้กำหนดอาณาเขตของหมู่บ้านคนในหมู่บ้านหนึ่งจะ ไปทำไร่ในเขตของอีกหมู่บ้านหนึ่งไม่ได้ นอกจากการทำนาเท่านั้นที่สามารถทำที่หมู่บ้านอื่นได้ เพราะที่นานั้นซื้อขายกันได้ แต่การทำไร่ถือเป็นการถือกรรมสิทธิ์ของหมู่บ้าน

ระบบครอบครัว
สังคมกะเหรี่ยงเป็นครอบครัวเดี่ยว ซึ่งหมายถึงว่าในบ้านหลังหนึ่งจะประกอบด้วยพ่อแม่ และลูกเท่านั้น เมื่อลูกสาวแต่งงานชายจะต้องมาอยู่บ้านภรรยาก่อนเป็นเวลา ๑ ฤดูกาลเกษตร (คือเริ่มจากการถางไร่ ปลูกข้าวและเห็บเกี่ยวข้าวประมาณ ๗-๘ เดือน) หลังจากนั้นก็จะปลูกบ้านใหม่หลังเล็กๆใกล้กับพ่อแม่ฝ่ายภรรยา คำว่าครัวเรือนในสังคมกะเหรี่ยง นอกจากมีความหมายถึงพื้นฐานขั้นแรกในด้านการผลิตและบริโภคแล้ว ยังหมายถึงว่าแต่ละครัวเรือนมีไร่ของตนเองทำพิธีกรรมทางการเกษตร และการรักษาพยาบาลเป็นหน้าที่ของหัวหน้าครัวเรือน ยกเว้น พิธีการเลี้ยงผี ตามประเพณีของผีฝ่ายมารดา
การแต่งงานเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งเป็นกฎที่เคร่งครัดมาก การหย่าร้างมีน้อย การแต่งงานใหม่ไม่ค่อยปรากฏไม่นิยมได้เสียก่อนแต่งงานกันถือเป็นกฎข้อห้ามจะ ถูกรังเกียจและต้องมีการปรับไหม ซึ่งถือกันว่าผีเจ้าที่จะขุ่นเคือง

ระบบความเชื่อ
ความเชื่อและศาสนาของกะเหรี่ยงได้มีอิทธิพลมากต่อ การกระทำที่พวกเขาปฏิบัติกันในวิถีชีวิตประจำวัน ดังนั้นกะเหรี่ยงจึงให้ความสำคัญในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติมาก นั่นคือ การนับถือผีและสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ผีที่กะเหรี่ยงนับถือและมีความสำคัญมากได้แก่ ผีเจ้าที่ ผีบรรพบุรุษ และผีต่างๆ ที่สิงสถิตอยู่ตามป่าเขา ลำน้ำ ในไร่ และในหมู่บ้าน ฯลฯ ผีที่ถือกันว่าเป็นผีร้ายนั้น เชื่อว่าเป็นผีที่จะทำให้ประสบความเจ็บป่วย ภัยทั้งปวง จึงมีแต่การเอาอกเอาใจด้วยการเซ่นสังเวยด้วยอาหารต่างๆ ซึ่งได้แก่ หมู ไก่ ฯลฯ ปัจจุบันคนกะเหรี่ยงได้หันไปนับถือ พุทธศาสนา และคริสต์ศาสนากันมากแล้ว
นอกจากมีความเชื่อในเรื่องผีต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันแก่พวกเขาแล้วกะเหรี่ยงยังเชื่อในเรื่องขวัญ ซึ่งมีประจำตัวจองแต่ละคน กะเหรี่ยงเชื่อว่าขวัญในร่างกายคนเรามีอยู่ทั้งหมด ๓๒ ขวัญ แต่เขาไม่สามารถนับได้หมดว่าอยู่ในส่วนไหนของร่างกาย เพียงแต่บอกได้ว่าอยู่ในส่วนสำคัญๆของร่างกายส่วนใดบ้าง เช่น ขวัญที่ศีรษะ ขวัญสองขวัญที่ใบหูทั้งสองข้าง ขวัญต่างๆนั้นจะละทิ้งไปก็ต่อเมื่อคนนั้นได้ตายไป นอกจากนั้นเชื่อกันว่าขวัญชอบที่จะหนีไปท่องเที่ยวตามความต้องการของมันเอง และก็อาจจะถูกผีร้ายต่างๆทำร้าย หรือกักตัวไว้แล้วจะทำให้ผู้นั้นล้มป่วย การรักษาพยาบาลหรือวิธีที่จะช่วยเหลือคนเจ็บป่วยได้ก็คือ การล่อและเรียกขวัญให้กลับมาสู่คนป่วยนั้นพร้อมกับทำพิธีผูกข้อมือรับขวัญ ด้วย ในสังคมของกะเหรี่ยงนั้นถือเป็นปกติธรรมดา เมื่อแต่ละวันในหมู่บ้านจะพิธีเลี้ยงผีและการเรียกขวัญของคนเจ็บป่วยแทนการ รักษาด้วยยาสมัยใหม่บางครั้งถึงแม้จะมี เจ้าหน้าที่ สาธารณสุขเข้าไปช่วยรักษาให้ตามแบบทันสมัย แต่เผอิญที่บ้านคนป่วยได้รักษาทางเลี้ยงผีแล้วเขาจะปฏิเสธที่จะรักษาทันที ต้องรออย่างน้อย ๓ วัน
ระบบเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของกะเหรี่ยงอยู่ในสภาพที่เรียกว่า "เพื่อยังชีพ" ซึ่งหมายถึงการเพาะปลูกเพื่อบริโภคเป็นหลัก ได้แก่ การปลูกข้าวไร่ และการทำนาขั้นบันไดตามหุบเขา โดยไม่มีการปลูกพืชเงินสดแต่อย่างไร แต่เดิมกะเหรี่ยงไม่เคยปลูกฝิ่นแต่เป็นผู้เสพฝิ่นกันมาก ทั้งนี้เพราะกะเหรี่ยงนิยมใช้ฝิ่นดิบและสุกมาใช้เป็น ยารักษาโรคต่างๆหรือการทำงานหนัก (ต่อมากะเหรี่ยงเริ่มรู้จักการปลูกฝิ่น เนื่องจากไปรับจ้างทำงานกับชาวเขาเผ่าที่ปลูกฝิ่น และได้เลิกปลูกในเมื่อฝิ่นเป็นพืชต้องห้ามนอกจากนั้นแล้ว กะเหรี่ยงมีการปลูกพืชผักต่างๆหลายชนิดในไร่ข้าว เพื่อการบริโภคเอง เช่น พริก ถั่ว ผักกาด ฯลฯ
กะเหรี่ยงยังได้ชื่อว่า เป็นเผ่าที่รู้จักการใช้พื้นที่ทำกินแบบอนุรักษ์ โดยวิธีที่เรียกว่า "ไร่หมุนเวียน" คือ ทำไปแล้ว ก็พักทิ้งไว้ ๓-๗ ปีก็จะกลับไปทำใหม่หมุนเวียนกัน อย่างนี้ตลอดไปเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียหน้าดิน อันจะทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ดังนั้นจึงนับว่ากะเหรี่ยงเป็นพวกที่อยู่อย่างถาวรไม่เคลื่อนย้าย นอกจากนั้นแล้วกะเหรี่ยงนิยมเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ด้วย เช่น วัว ควาย หมู ไก่ โดยเฉพาะไก่และหมูเลี้ยงไว้เพื่อ ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ความสำคัญทางเศรษฐกิจของการเลี้ยงสัตว์ ในหมู่บ้านของกะเหรี่ยง ได้แก่ การเลี้ยงช้างและใช้ช้างเพื่อรับจ้าง ทำงนกับบริษัท ทำไม้ จึงนับว่าเป็นชาวเขาเผ่าเดียวที่นิยมเลี้ยงช้างไว้ รับจ้างทำงานนอกจากนั้นกะเหรี่ยงเป็นนักล่าสัตว์ป่าเพื่อการบริโภค และชำนาญในการหาของป่ามาขายเป็นรายได้อีกด้วย
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิงข้อมูลจาก
ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง