ชนเผ่ากะเหรี่ยง-กะเหรี่ยงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/04/2008
ที่มา: 
http://www.karencenter.com/

กะเหรี่ยงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
           พ.ศ.2330 ครั้งพม่ายกทัพบุกราชอาณาจักรไทย และทำศึกกันที่ท่าดินแดง พงศาวดารพม่ากล่าวว่า กะเหรี่ยงจากพม่าที่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยตั้งแต่กรุงศรีอยุธยานั้นเป็นพวกสอดแนมให้แก่ทางฝ่ายไทยในการทำศึกครั้งนี้ แต่พงศาวดารไทยมิได้กล่าวถึงกะเหรี่ยงเหล่านี้เลย เพียงแต่กล่าวว่ามีพวกสอดแนมจากจังหวัดกาญจนบุรี ไทรโยค และศรีสวัสดิ์ ได้ช่วยเหลือหรือสืบข่าวให้แก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งขณะนั้นเมืองกาญจนบุรีเป็นคนไทยเสียมาก เมืองไทรโยคมีผู้นำเป็นคนมอญ ส่วนเมืองศรีสวัสดิ์มีผู้นำเป็นกะเหรี่ยงหลายคนในขณะนั้น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ผู้นำกะเหรี่ยงเข้าติดต่อกับเจ้าเมืองกาญจนบุรี เพื่อขอตั้งรกรากที่เมืองสังขละบุรี เขตติดต่อด่านเจดีย์สามองค์ เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย และได้รับความยินยอม ขณะเดียวกันมีกะเหรี่ยงบางกลุ่มที่กลัวเกรงการติดต่อใกล้ชิดกับคนไทย
พ.ศ.2365 กะเหรี่ยง 36 คนจากเมืองสังขละบุรีซึ่งมีขุนสุวรรณเป็นผู้นำพร้อมด้วยพวกมอญ ได้ตามฆ่าขับไล่ตลอดจนจับกุมหน่วยลาดตระเวนทหารพม่า และเอกสารจดหมายเหตุตอนหนึ่งซึ่งเขียนโดยเจ้าเมืองกาญจนบุรีก็กล่าวถึงกะเหรี่ยงจำนวน 36 คนนั้น มีทั้งนายและไพร่ (24) มีหลักฐานทางศิลปะแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกะเหรี่ยงมากมายในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งเขียนในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นภาพกะเหรี่ยงถือหน้าไม้อยู่ตามซอกเขา ภาพเขียนในวัดพระเชตุพนฯ และวัดบางขุนเทียนนอกซึ่งวาดในสมัยรัชกาลที่ 2-3 สารตรา (เลขที่ 21 จ.ศ.1188) พ.ศ.2369 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสารของพระยาจักรีถึงพระยาอุทัยธานีว่า หัวหน้าชาวกะเหรี่ยงชื่อ กางดุ มีหนังสือมาแจ้งราชการความว่า "กางดุจัดให้กางภุระดับไพร่ 15 คน ออกไปลาดตระเวนถึงคลองมิคลานพบจางกางกัวะ กง กะเหรี่ยงพม่า 9 คนบอกว่า เมืองเมาะตะมะมีอังกฤษอยู่ 500 คน อังกฤษตีพม่าได้" (25) เป็นผลงานในการลาดตระเวนสอดแนมของกะเหรี่ยงอีกชิ้นหนึ่ง
พ.ศ.2369 สงครามระหว่างไทยกับพม่าเริ่มลงลงและสิ้นสุด เป็นปีที่พม่าแพ้สงครามกับอังกฤษเป็นครั้งแรกจนต้องสูญเสียแคว้นตะนาวศรีและอาระกัน กะเหรี่ยงซึ่งทำหน้าที่รักษาป้องกันด้านชายแดนไทยตั้งแต่กาญจนบุรีขึ้นไปถึงตาก เมื่อหมดการคุกคามจากพม่า แทนที่จะหมดความจำเป็นแก่ฝ่ายไทย กะเหรี่ยงกลับมาอยู่รวมกับสังคมไทยและไพร่ไทยซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ กิตติศัพท์ความแข็งแกร่งของกองทหารอังกฤษเลื่องลือมาถึงเมืองไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับกะเหรี่ยงที่อยู่ตามชายแดนด้านตะวันตกแล้วยกสังขละบุรีขึ้นเป็นเมือง โดยมีขุนสุวรรณเป็นเจ้าเมืองและพระราชทานนามว่า "พระศรีสุวรรณคีรี" นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงพระราชทานตำแหน่งเช่นเดียวกันแก่เจ้าเมืองแม่กลองซึ่งปัจจุบันนี้คืออำเภออุ้มผาง กะเหรี่ยงแห่งเมืองเหล่านี้ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการต่อพระมหากษัตริย์ไทยทุก ๆ 3 ปีต่อครั้ง อันได้แก่ ผ้าฝ้าย ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง และผลผลิตต่าง ๆ จากท้องถิ่น กะเหรี่ยงบางคนเข้าร่วมอยู่กับกองส่วยทองและกองส่วยดีบุกได้ถวายทองคำและเงินต่อพระมหากษัตริย์ไทยทุก ๆ ปี
พ.ศ. 2380 เจ้าผู้ครองนครทางภาคเหนือได้พยายามเปลี่ยนชื่อของสถานที่และที่ตั้งตามสภาพภูมิศาสตร์ของแม่น้ำสายต่าง ๆ แถบแม่สอด เพื่อผลประโยชน์ทางด้านการเมือง จะได้อ้างสิทธิที่จะปกครองกะเหรี่ยงในบริเวณดังกล่าว มิฉะนั้นพวกนี้อาจจะกลับไปขึ้นอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของอังกฤษและพม่า แต่ความพยายามนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ
พ.ศ. 2393 เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เริ่มกระทำข้อสัญญาให้แก่พวกละว้าและหมู่บ้านกะเหรี่ยงต่าง ๆ ในการที่จัดให้พวกนี้ได้มีที่อยู่อาศัยอย่างถาวรในแต่ละท้องถิ่น กะเหรี่ยงได้รับความคุ้มครองอย่างดีพอใจในความอิสระโดยไม่มีการบังคับให้เป็นทาส (26)
พ.ศ. 2395 พม่าได้หลักฐานว่ากะเหรี่ยงพยายามติดต่อขอพึ่งกำลังอังกฤษ พม่าจึงแก้แค้นโดยเผาหมู่บ้านกะเหรี่ยงรอบ ๆ เมืองย่างกุ้งในรัศมีภายใน 50 ไมล์ รวมทั้งทำลายยุ้งฉางและฆ่ากะเหรี่ยงทั้งลูกเล็กเด็กแดง ทำให้กะเหรี่ยงต้องอพยพมาทางตะวันตกสู่ประเทศไทยอีกระลอกหนึ่ง(27)
พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้แสดงออกถึงน้ำพระทัยที่ทรงเป็นห่วงและเกรงว่าพวกกะเหรี่ยงและพวกละว้าซึ่งอยู่ห่างไกลเหนือลำน้ำเพชรบุรีไปนั้น อาจจะถูกผนวกเข้ากับฝ่ายอังกฤษก็ได้
พ.ศ.2423 กะเหรี่ยงซึ่งทำหน้าที่รักษาป้องกันอาณาบริเวณแถบด่านเจดีย์สามองค์ ได้ค้นพบหลักฐานซึ่งเป็นแท่งคอนกรีตสำหรับปักเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า(28)
พ.ศ.2428 จ่อละฝ่อ หัวหน้ากะเหรี่ยงไม่ยอมอ่อนน้อมต่ออังกฤษ ครั้นอังกฤษส่งกองทัพมาปราบปราม พวกกะเหรี่ยงจึงพากันอพยพเข้ามาอยู่ในไทยอีกระลอกหนึ่ง(29)
พ.ศ.2430 เป็นช่วงเวลาที่กะเหรี่ยงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าก่อน โดยทั้งผู้นำฝ่ายอังกฤษและไทยพยายามที่จะให้กะเหรี่ยงได้อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน ฝ่ายปกครองของไทยได้ให้เกียรติและยอมรับฐานะของผู้นำกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงก็ให้ความจงรักภักดีแก่ฝ่ายไทยด้วยดังจะเห็นได้ว่าหลังจากสงครามอังกฤษกับพม่าครั้งที่ 2 องค์พระมหากษัตริย์ไทยทั้งสองพระองค์คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาและสนพระทัยกะเหรี่ยงเป็นอย่างมากทรงประกาศไว้ว่า "พระองค์ก็ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินของพวกกะเหรี่ยงด้วย"
พ.ศ.2433ฝ่ายไทยและอังกฤษทำการสำรวจเขตแดน เพื่อทำข้อตกลงว่าด้วยการปักปันเขตแดนจากวิคตอเรียพ้อย (Victoria Point) ถึงบริเวณที่สูงของแม่น้ำสาละวิน บริเวณชายแดนเหล่านี้เป็นที่อยู่ของละว้าและกะเหรี่ยง เพื่อไม่ให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบและผลทางการเมืองการปกครอง คณะผู้ตรวจราชการจึงไปตามบริเวณพื้นราบของเมืองต่าง ๆ อันได้แก่ เพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี เพื่อตรวจตราหมู่บ้านกะเหรี่ยง ตลอดจนทำการศึกษาอย่างละเอียดถึงสภาพอาณาเขตบริเวณแถบนี้ จะได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งถึงสถานภาพความเป็นอยู่และศักยภาพ ดังเช่น พระยาวรเดชศักดาวุธ แห่งมณฑลราชบุรี ได้ออกเยี่ยมเยียนหมู่บ้านกะเหรี่ยงในจังหวัดเพชรบุรีและราชบุรีมาแล้วด้วยตัวเอง นอกจากนี้ท่านยังจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันซึ่งไม่เคยได้ปฏิบัติหรือทำกันมาก่อน จากรายงานการเดินทางหลายครั้งของท่าน ได้กล่าวถึงกะเหรี่ยงเหล่านี้แสดงออกถึงความกระตือรือล้น สามารถผสมกลมกลืนระหว่างไทย - กะเหรี่ยง และยินยอมต่อนโยบายการปกครองของรัฐบาล ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นในภาคเหนือเช่นเดียวกัน
พ.ศ.2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระอนุชาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้นำเอาระบบการปกครองแบบเทศภิบาลเข้ามาใช้ เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะให้พสกนิกรของพระองค์ซึ่งอยู่ตามชนบทห่างไกลนั้นได้มีส่วนร่วมตามสิทธิและหน้าที่ตลอดจนความรับผิดชอบเท่าเทียมเสมอเหมือนกันหมด อีกทั้งมีพระราชประสงค์ที่จะตัดทอนหรือยกเลิกระบบเก่า ๆ พระองค์ปรารถนาที่จะให้กะเหรี่ยงเข้ามามีส่วนร่วมและสิทธิหน้าที่เช่นเดียวกับคนไทยตามรูปแบบการปกครองใหม่นี้ ซึ่งได้แก่ การเสียภาษีให้แก่รัฐคนละ 5 บาท ในภาคเหนือและคนละ 6 บาท ในภาคกลาง อีกทั้งมีหน้าที่รับราชการในกองทัพไทย แต่มิใช่การถูกเกณฑ์หรือการบังคับตามระบบเจ้าขุนมูลนาย
วัตถุประสงค์เหล่านี้บรรลุผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี แต่ไม่ได้ผลนักในภาคเหนือ ทั้งนี้อาจเนื่องจากเมื่องครั้งพระองค์ทรงเริ่มดำเนินการ พระองค์ทรงปฏิบัติโดยตรงต่อบรรดาผู้นำชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในท้องที่ต่าง ๆ กันของกะเหรี่ยงภาคกลาง เช่น พระสุวรรณคีรีแห่งเมืองสังขละบุรี พระแม่กลองแห่งเมืองอุ้มผาง และพระพิชัยชนะสงครามแห่งเมืองศรีสวัสดิ์ ทั้งหมดล้วนเป็นนายอำเภอในแต่ละท้องถิ่นของตนเองทั้งสิ้น
นับเป็นเวลาหลายสิบปีต่อมาพวกนี้จึงมีแนวโน้มอยู่ใต้พระบารมีของพระองค์มากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงจากขนบธรรมเนียมเดิมก้าวไปสู่ความเจริญในยุคใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้นโยบายนี้ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง รวมถึงกะเหรี่ยงอีกท่านหนึ่งคือ หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ ซึ่งเป็นนายอำเภอของเมืองฝางใต้ (Pang Tai) ที่เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรีสมัยนั้น
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยรับสั่งไว้ว่า พวกกะเหรี่ยงที่เคยได้ช่วยงานราชการมาแล้วในกองอาทมาตนั้น หากประสงค์ที่จะเข้าร่วมทำงานกับหน่วยราชการของกองตำรวจภูธรแล้ว ก็ให้รับราชการอยู่กับกองนี้ได้ นายอำเภอกะเหรี่ยงท่านหนึ่งแห่งเมืองสังขละบุรีซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษา ของตำรวจภูธรมาแล้ว ได้รวบรวมกะเหรี่ยงมาช่วยสร้างสถานีตำรวจ และปฏิเสธที่จะรับเงินค่าตอบแทนตามที่กระทรวงมหาดไทยได้เสนอให้(30)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดชีวิตป่าเขาลำเนาไพร ได้เสด็จถึงหมู่บ้านปรังกาสี จังหวัดกาญจนบุรีเห็นการรำของกะเหรี่ยงก็สนพระทัย จึงได้ขอสองสาวกะเหรี่ยงเพื่อมาเป็นข้าหลวงและฝึกสอนการรำกะเหรี่ยงในวัง กะเหรี่ยงทั้งสองคือ "นังมิ่นกง" กับ "หนองเดงเค่ง" นับเป็นชาวเขาสองคนแรกที่ได้เป็นข้าหลวง หลังจากนายคนัง เงาะป่าที่ได้เป็นมหาดเล็ก(31)
พ.ศ.2479 คณะปฏิภาคภาพยนตร์ได้สร้างและฉายภาพยนตร์เรื่อง "กะเหรี่ยงไทรโยค" เป็นภาพยนตร์เงียบ มีทิดเขียวนักพากย์ภาพยนตร์คนแรกของไทยเป็นผู้ให้เสียงพากย์ นับเป็นการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องป่าเขาลำเนาไพรเรื่องแรก หากไม่นับสารคดีป่าดงไพงไพรหรือเรื่องจระเข้ และเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับชาวเขาเรื่องแรกของประเทศไทย แสดงถึงวัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ และความรักที่ต้องชิงรักหักสวาท นังมิ่นกงและหนองเดงเค่ง ได้มาช่วยฝึกระบำกะเหรี่ยงให้ด้วย(32) จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกะเหรี่ยงภาคกลางกับคนไทยนั้นดำเนินมาอย่างเนิ่นนาน ด้วยสันติสุขและความสัมพันธ์กลมเกลียวอันดี ไทยอาศัยกะเหรี่ยงเป็นกองสอดแนม ลาดตระเวน และกำลังพลในการต่อสู้กับพม่า ขณะที่กะเหรี่ยงอาศัยแผ่นดินไทยเพื่อหลบหนีความขัดแข้งที่มีกับพม่า เป็นลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยอย่างสงบสุขมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์
แต่ปัจจุบันคนไทยหลายคนกลับไม่เข้าใจกะเหรี่ยง โดยเฉพาะหลายคนของฝ่ายรัฐบาล ที่เห็นว่ากะเหรี่ยงบุกรุกทำลายป่าและการเกษตรของกะเหรี่ยงเป็นการเกษตรที่ไม่อนุรักษ์ทรัพยากร กะเหรี่ยงหลายหมู่บ้านถูกขับไล่ให้ไปอยู่ที่อื่นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล นับเป็นการถูกขับไล่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกะเหรี่ยงในประเทศไทย

 เชิงอรรถ
24.สมภพ ลาชโรจน์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 4-5.
25.ศรีศักร วัลลิโภดม, "ลัวะ ละว้าและกะเหรี่ยง ของเผ่าในที่สูงกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ - การเมืองกับรัฐในที่ราบ", เมืองโบราณ 1 (ม.ค.-มี.ค. 2529) หน้า 60.
26.สมภพ ลาชโรจน์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 6-8.
27.กรมประชาสงเคราะห์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 7.
28.สมภพ ลาชโรจน์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 6-8.
29.สมภพ ลาชโรจน์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 67.
30.สมภพ ลาชโรจน์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 7-10.
31.ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, "สยามยุครัตนโกสินทร์", นครไทย 9 (พ.ศ.2531) หน้า 20-21.
32.ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, "หาดูยาก", เรื่องจริง 475 (9 ก.ย. 2530) หน้า 26-27.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก : http://www.karencenter.com/