ชนเผ่ากะเหรี่ยง-เส้นใยปกาเกอญอที่ทอถัก จากอุ้มผางสู่แม่สะเรียง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/04/2008
ที่มา: 
http://www.karencenter.com/

เส้นใยปกาเกอญอที่ทอถัก จากอุ้มผางสู่แม่สะเรียง
ปลายฝนต้นหนาวแล้ว ยามเช้าที่ภาคเหนือตอนบน จะมีสายหมอกหนาทึบปกคลุม จนกว่าตะวันจะทอแสง ละอองหมอกพร่างพรมบนยอดไม้ ยอดหญ้า เป็นหยดน้ำที่ยามกระทบแสงแดดดูงามดั่งหยาดมณีที่ธรรมชาติสรรมาให้มนุษย์ได้สัมผัสความสุขทางใจ โดยไม่ต้องใช้เงินไปซื้อหามา ต้นข้าวในไร่ ในนากำลังเริ่มสุก ใกล้จะเกี่ยวได้แล้ว พืชผักฤดูหนาวรอการหว่านปลูก เป็นฤดูกาลแห่งความผาสุก ที่ผลผลิตจากหยาดเหงื่อแรงงานทั้งกายและใจของสมาชิกในครอบครัว ใกล้จะได้ผลเก็บใส่ยุ้งฉางไว้กินได้ตลอดทั้งปี สังคมเกษตรทั้งที่บนดอยสูงและพื้นราบ ถูกรุกคืบด้วยการพัฒนากระแสหลัก ซึ่งกระตุ้นให้คนสร้างเป้าหมายชีวิตแบบใหม่ คิดว่าชีวิตที่สมบูรณ์แบบคือความมั่งมีทางวัตถุ ความสะดวกสบาย ทันสมัย ได้บริโภคตามที่ใจต้องการ โดยไม่มีขอบเขตจำกัด คนชนบทถูกดึงดูดให้เข้ามาอยู่ในเมือง จนเกิดชุมชนแออัดขึ้นมากมาย ธรรมชาติถูกทำลายด้วยเป้าหมายของการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ก่อให้เกิดปัญหาระบบนิเวศเสียสมดุล พื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าพรุ ป่าชายเลน ปะการัง หญ้าทะเล จากภูเขาสูงถึงทะเล มหาสมุทร เหลือปริมาณน้อยลง เพราะความไม่รู้จัก “พอเพียง” ของมนุษย์

คุณจันทราภา  (นนทวาสี) จินดาทอง ได้เลือกเส้นทางที่จะใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับชุมชนพอเพียง ที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เดือนหน้าเธอจะได้สมาชิกใหม่ให้ครอบครัวจินดาทองแล้ว เธอระลึกถึงท่านผู้อ่านเสมอ จึงฝากเรื่องราวที่มีคุณค่าทางจิตใจมาให้อ่าน เป็นบันทึกการไปเยี่ยมเยียน คุณไพโรจน์   พรจงมั่น ผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็น ๑ ใน ๕ คน ขององค์กรอโชกา (ASHOKA  FELLOW) ประเทศไทย ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชิญติดตามอ่านได้เลยค่ะ
“หญิงชราชาวปกาเกอญอวัย 70 กว่าปีแห่งบ้านทีจอชี ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีแววตาเป็นประกายยามตั้งใจฟังคำถามที่ขอให้แกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงานผ้าทอและการย้อมสีธรรมชาติ  คำตอบของอาพี (คำเรียกย่า,ยาย) ถูกถ่ายทอดผ่านล่ามเพราะแกพูดภาษาไทยไม่ได้ “งานผ้าทอในหมู่บ้านเราคงไม่มีวันหายไปหรอก เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ก็ยังทอเป็น แต่ที่เราเป็นห่วงก็คือการย้อมสีธรรมชาติ ทุกวันนี้ฝ้ายที่ใช้ทอผ้าหาซื้อมาจากศูนย์อพยพนุโพ มีทุกสีที่ต้องการ อยากได้เมื่อไหร่ก็เดินทางไปซื้อแค่ 10 กิโลเมตรเท่านั้น

ตอนนี้คนที่ย้อมฝ้ายด้วยสีธรรมชาติ เหลือเราคนเดียวที่พอรู้อยู่ พยายามถ่ายทอดไปให้ลูกหลานก็ไม่ค่อยมีใครสนใจ เพราะมันยุ่งยาก นี่ถ้าเราตายไป ความรู้เรื่องนี้ก็คงตายตามไปด้วย  ”  ถ้อยคำที่รับฟังจากอาพี  ทำให้ทีมงานโครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาปกาเกอญอในผืนป่าอุ้มผาง ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งมีแนวคิดในการฟื้นฟูผ้าทอของหมู่บ้านทีจอชี โดยรวบรวมกลุ่มแกนนำเยาวชนที่สนใจเริ่มต้นงานประมาณ 20 คน ร่วมกันสืบค้นข้อมูลภายในชุมชนเองและกำหนดกรอบกิจกรรม โดยมีการส่งเสริมให้ปลูกฝ้ายในหมู่บ้าน รวมทั้งเสนอให้มีกิจกรรมทัศนศึกษาดูงานด้านผ้าทอให้เน้นไปที่การย้อมสีธรรมชาติเพื่อการพึ่งพาตนเองในชุมชนของเยาวชนทีจอชีเพื่อจุดประกายความสนใจก่อนจะนำมาต่อยอดกับความรู้เดิมของอาพี
การสัญจรจากดินแดนอุ้มผาง แผ่นดินดอยลอยฟ้า ของจังหวัดตาก  ไปสู่อ้อมกอดแห่งขุนเขาที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วยระยะทางร่วม 400 กว่ากิโลเมตร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มแม่บ้านบ้านโป่ง  หมู่ที่ 12  ตำบลบ้านกาศ  โดยมีวิทยากรหลัก คือ คุณไพโรจน์ พรจงมั่น คุณลุงใจดีชาวปกาเกอญอผู้คร่ำหวอดกับงานผ้าทอมาเป็นเวลาร่วม 10 ปี และเป็นผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมความรู้และพัฒนาเครือข่ายสตรีหัตถกรรมปกาเกอญอจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวเป็นการรวมกลุ่มกันของสตรีที่ทำงานเรื่องผ้าทอจำนวน 10 กลุ่ม กระจายตัวกันอยู่ในอำเภอแม่สะเรียง อำเภอขุนยวมและอำเภอแม่ลาน้อย
ในส่วนของกลุ่มแม่บ้านบ้านโป่ง หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง ในอดีตราว 30 ปีที่ผ่านมา มีการรวมกลุ่มภายใต้การสนับสนุนของศาสนาคริสต์ โปแตสเตนท์ เพื่อให้แม่บ้านผลิตสินค้าที่เป็นงานผ้าทอ มีการจัดตั้งศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ มุ่งเน้นการค้าขายเป็นหลัก จนกระทั่งผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย ใช้แรงงานจำนวนมาก ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมากขึ้น และเริ่มขัดกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนที่เคยใช้เวลาว่างนอกฤดูกาลผลิต มาเป็นเร่งผลิตตลอดปี ออเดอร์สินค้าบางอย่างไม่สามารถทำได้เพราะขาดอุปกรณ์

ไพโรจน์   พรจงมั่น

ราวปี 2544 พะตีไพโรจน์ เริ่มชักชวนให้กลุ่มแม่บ้านพูดคุยวิเคราะห์ถึงการทำงานที่ผ่านมา รวมทั้งข้อดีข้อด้อยของการรวมกลุ่ม ซึ่งทำให้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดโดยมุ่งเน้นว่ากลุ่มแม่บ้านเป็น “แม่” ที่ต้องดูแลลูก ถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาที่มีอยู่ไปยังลูกหลาน ด้วยแนวคิดดังกล่าว ได้เกิดผลกับกลุ่ม คือ สามารถสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นเฟ้นขึ้น มีความหลากหลายทางอายุตั้งแต่คนแก่ คนวัยกลางคนจนถึงเยาวชน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและสร้างเสริมความรู้ภายในกลุ่ม และทำให้คนรุ่นใหม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องป่าเพิ่มขึ้น แม้ว่าพื้นที่ป่าจะลดลงมาแล้วในปัจจุบันนี้ รายได้เสริมที่เคยมีมาไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มทุนทางสังคม และกลุ่มแม่บ้านมีความสุขมากขึ้น สมาชิกกลุ่มแม่บ้านบ้านโป่งในปัจจุบัน มีจำนวน 15 ครอบครัว และขยายผลสู่ลูกหลานเยาวชนจำนวน 38 คน ซึ่งจะเป็นอนาคตในการทำงานกลุ่มให้ยั่งยืนต่อไป
พะตี (คำเรียกลุง) ไพโรจน์ พูดคุยโดยใช้ภาษาปกาเกอญอเป็นหลัก เนื่องจากแกนนำเยาวชนบางคนไม่สามารถพูดภาษาอื่นได้เพราะใช้ชีวิตอยู่แต่ในหมู่บ้านทีจอชี โดยเริ่มจากแนวคิดเรื่องวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยง (ปกาเกอญอ) ซึ่งมีความเป็นอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า และมีการพึ่งพาอาศัยดูแลรักษาซึ่งกันและกัน ดังนั้นความรู้เรื่องวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการย้อมสีธรรมชาติ อันเป็นสิ่งที่สั่งสมกันมายาวนาน สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จึงเป็นความรู้ที่เชื่อมโยงเรื่องศีลธรรม วัฒนธรรมความเชื่อ และทรัพยากรธรรมชาติอย่างมิอาจแยกจากกันได้

บทเรียนต่อมา พะตีไพโรจน์พาเยาวชนเข้าไปดูผืนป่าซึ่งอยู่ไม่ไกลนักของอำเภอแม่สะเรียง อันเป็นแหล่งกำเนิดของวัสดุที่ใช้ย้อมสีธรรมชาติ โดยบอกว่าป่าที่นี่ ความหลากหลายของพันธุ์ไม้คงจะน้อยกว่าผืนป่าอุ้มผาง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องการให้เยาวชนได้เรียนรู้ คือ วิธีการเลือกและนำวัตถุดิบชนิดต่าง ๆ มาใช้ อาทิ การใช้เปลือกไม้จากเพกา,มะม่วง ต้องเลือกต้นไม้ใหญ่พอสมควร ไม่ถากเปลือกไม้รอบทั้งต้น จะทำให้ต้นไม้ตายได้ การใช้ดอก ผลหรือใบไม้จากใบสัก ผลเงาะป่า ต้องเลือกต้นที่มีดอก ผลหรือใบที่สมบูรณ์ คำนึงถึงผลกระทบต่อการเติบโตขยายขึ้นในอนาคต การใช้แกนไม้จากไม้ขนุน ไม้ฝาง ต้องเลือกต้นไม้ที่ตายแล้วและใช้อย่างประหยัดที่สุด ควรปลูกเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืนตลอดไป
วันต่อมา พะตีไพโรจน์เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนเรื่องราวของลวดลายบนผืนผ้าของทั้งสองพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกัน เช่น เสื้อผู้หญิงแต่งงานแล้วของแม่สะเรียงจะปักลูกเดือยลงบนเสื้อ ขณะที่ของอุ้มผางใช้วิธีทอลวดลายโดยไม่มีการปักลูกเดือย พูดถึงความสะอาดและความประณีตของชิ้นงาน พะตีไพโรจน์มีความคิดเห็นสอดคล้องกับทีมงานโครงการฯ ที่มุ่งส่งเสริมการผลิตเพื่อใช้สอยเองภายในชุมชนเป็นหลัก ที่เหลือจึงจะนำมาจำหน่าย

เสร็จจากภาคทฤษฎี แกนนำเยาวชนทีจอชีมีโอกาสได้ฝึกภาคปฏิบัติโดยมีตัวแทนจากกลุ่มสตรีบ้านโป่ง หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านกาศ มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงร่วมกับพะตีไพโรจน์ด้วย ในการฝึกย้อมสีธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบที่ใช้ย้อม ได้แก่ การหั่นใบและเปลือกต้นเพกา การถากเปลือกไม้ฝางและการซอยขมิ้นกับใบพลูเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มในกะละมังนาน 1 ชั่วโมง
เมื่อสีจากวัตถุดิบที่ต้มละลายน้ำดีแล้ว นำกากออกแล้วเติมน้ำขี้เถ้า(กันสีตก) จากนั้นนำฝ้ายดิบที่แช่ล้าง ทำความสะอาดให้ไขมันออกเรียบร้อยแล้ว ลงไปต้มในน้ำสีราว 1-2 ชั่วโมง โดยใช้ไม้พายคนให้ทั่ว พลิกฝ้ายตรวจดูว่าการย้อมติดสีเป็นอย่างดี แล้วจึงยกขึ้นผึ่งให้เย็น หากต้องการให้สีที่เข้มขึ้นให้นำฝ้ายที่ยังร้อนอยู่คลุกขี้โคลน แล้วนำไปล้างน้ำสะอาด

ในการตากฝ้ายให้บิดพอหมาด ๆ สะบัดเศษไม้ เศษดินที่ติดบนฝ้ายออกให้หมด ควรผึ่งในที่ร่มและพลิกฝ้ายให้แห้งทั่วถึง ควรเก็บไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทุกกระบวนการขั้นตอนที่ฝึกภาคปฏิบัติ เต็มไปด้วยบรรยากาศของความเป็นกันเองเพราะทั้งผู้ให้และผู้รับความรู้ล้วนแต่เป็นพี่น้องปกาเกอญอเหมือนกัน แม่บ้านที่มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ล้วนยิ้มแย้มแจ่มใสเต็มใจถ่ายทอดความรู้ของตน เยาวชนกระตือรือร้นสนุกสนานกับความรู้ที่ได้รับมา การอำลาก่อนจากจึงมีความอาลัยและสัญญาที่จะนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในหมู่บ้าน รวมทั้งจะติดต่อและ ไปมาหาสู่หากมีโอกาสอำนวย

กิจกรรมการทัศนศึกษาดูงานของเยาวชนทีจอชีสิ้นสุดลงด้วยความรู้ที่รับมาอย่างเต็มเปี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการย้อมสีธรรมชาติสมกับความตั้งใจแรกเริ่ม ที่สำคัญกว่านั้น แม้จะอยู่ห่างไกลกันด้วยระยะทาง แต่สายสัมพันธ์แห่งเส้นใยผ้าของปกาเกอญอได้ถูกถักทอขึ้นอย่างแน่นแฟ้นระหว่างพี่น้องจากอุ้มผางและแม่สะเรียง”