ชนเผ่ากะเหรี่ยง-นศ.ชาวกะเหรี่ยงสู้ชีวิตจนได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/04/2008
ที่มา: 
http://www.karencenter.com/

“ไม้” นศ.ชาวกะเหรี่ยงสู้ชีวิตจนได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ

“การทำงานในวัยเรียนนั้นอาจจะทำให้บางทีไม่ได้มีโอกาสที่จะอยู่กับครอบครัวไม่ได้รับความรักความอบอุ่นเหมือนกับบุคคลอื่นทั่วไป แต่ชีวิตที่เป็นสุขที่แท้จริงนั้นคือ การได้มีโอกาสทำเพื่อคนอื่นมากกว่า”

นี่คือคำกล่าวจากปากของผู้เข้ารับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน “ไม้-วรายุทธ์ ทำตามธรรม” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเจ้าตัวได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นนักศึกษารางวัลพระราชทาน ระดับอุดมศึกษา เขตภาคกลาง ประจำปีการศึกษา 2548

“ไม้” เล่าว่า ชีวิตของเขาเกิดมายากจนและเขาเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และด้วยความยากจนทำให้ครอบครัวของเขาไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนหนังสือ แต่ด้วยความใฝ่รู้ของเขาเอง เขาจึงหาหนทางที่จะทงานเพื่อมีรายได้และได้เรียนจนจบการศึกษาในระดับมัธยม “หลังจากจบมัธยมแล้วผมได้รับทุนการศึกษาจาก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เข้าศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยผ่านทางท่าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานกรรมการมูลนิธิจุมภฏ–พันธุ์ทิพย์ ผู้ที่รับอุปการะเลี้ยงดูผมในกรุงเทพฯ เดิมทีผมตั้งใจที่จะเรียนทางด้านรัฐศาสตร์ แต่เมื่อได้ศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน พร้อมกับผู้ใหญ่หลายท่านให้คำแนะนำว่าการเรียนนิติศาสตร์นั้นสามารถไปได้กว้างกว่า ซึ่งเมื่อได้เรียนนิติศาสตร์จริงๆ ยิ่งทำให้รู้สึกรักและชอบการเรียนนิติศาสตร์เป็นอย่างมาก” บทบาทการเรียนการร่วมกิจกรรมของหนุ่มไม้ในมหาวิทยาลัยนั้น ไม้ได้ช่วยงานคณะแทบจะทุกกิจกรรม แต่กิจกรรมที่ไม้ชอบมากที่สุดก็คือ การออกค่ายอาสาฯ
“การออกค่ายอาสาสอนให้เราได้เรียนรู้ในหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น การรู้จักมอบความสุขให้กับผู้อื่น ซึ่งแม้บางทีอาจจะดูเป็นสิ่งเล็กๆ น้อย แต่บางทีมันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้อื่น และในชั้นปีที่ 3 ผมได้เป็นรองประธานสโมสรนักศึกษาคณะฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของนักศึกษาในคณะฯ ในการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างเต็มที่ ส่วนกิจกรรมต่างๆ ที่ได้มีโอกาสทำตั้งแต่ในระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี จนได้รับโอกาสดีๆ มากมาย ไม่ว่าโอกาสทางด้านการศึกษา โอกาสที่ได้รับการเชิดชูเกียรติที่เป็นรางวัลต่างๆ ที่ได้มา ผมรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่ารางวัลนักศึกษาพระราชทานนั้นถือเป็นรางวัลที่มีเกียรติสูงสุด น้อยคนนักที่จะได้รับ เป็นเสมือนสิ่งตอบแทนเราอย่างหนึ่ง  แม้บางคนอาจจะมองว่าเป็นเพียงกระดาษใบเดียว แต่ผมมองว่าสิ่งที่เป็นกระดาษนั้นเป็นการตอบแทนให้เห็นถึงคุณค่าของการกระทำของเรา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรางวัลไหนก็ตามก็เป็นรางวัลที่น่าภูมิใจทั้งสิ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากจะเก็บไว้เป็นความทรงจำตลอดไปนั้นก็คือ คุณความดีที่เราได้ทำ ความกตัญญูกตเวทีที่เราได้ทำต่อผู้มีพระคุณ”
นอกจากนี้ “ความคุ้มค่า” ในความหมายของไม้นั้นไม่เหมือนใคร โดยเจ้าตัวให้นิยามความคุ้มค่าว่าคือ การรู้จักการมัธยัสถ์ การอยู่อย่างสันโดษ เพื่อการเอาตัวรอด  “ความคุ้มค่าทำให้ผมมีความมุ่งมั่นที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อเป็นการทดแทนพระคุณพ่อแม่ จึงได้หางานทำ ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ทำในทุกรูปแบบ ทั้งงานจัดสวน งานในร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ ซึ่งจุดนี้เองทำให้ผมรู้จักการอดทน” สุดท้ายเจ้าตัวบอกอยากให้คนที่กำลังจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยคิดว่า ไม่ว่าจะเรียนสถาบันไหนก็เหมือนกันทั้งหมด ความสำคัญอยู่ที่ผู้เรียนมากกว่า ว่าจะมีความใฝ่รู้อย่างไรบ้าง

“ในมหาวิทยาลัยนั้นมีทุกศาสตร์ให้เราได้เรียนรู้ แต่มีศาสตร์หนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้เรียนบ่อยนัก นั้นก็คือ ศาสตร์แห่งชีวิต คือการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยที่ผู้เรียนจะสร้างศักยภาพในการเรียนรู้ด้วยตนเอง จากทั้งการเรียนในตำราและการทำกิจกรรมต่างๆ นอกตำรา ไปพร้อมกัน”...

ที่มา :   ผู้จัดการออนไลน์ 4 ตุลาคม 2549 13:45 น.

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก : http://www.karencenter.com/