ชนเผ่ากะเหรี่ยง-"ปกาเกอะญอ" สำนึกชนเผ่าอยู่ร่วมกับป่า-นิทาน

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/04/2008
ที่มา: 
http://www.karencenter.com/

นิทาน"ปกาเกอะญอ" สำนึกชนเผ่าอยู่ร่วมกับป่า

โดย มนตรี จิรพรพนิต ข่าวสด ๑๗ กันยายน ๒๕๔๙

"ปกาเกอะญอ หรือที่คนทั่วไปมักเรียกพวกเขาว่า "กะเหรี่ยง" ชนกลุ่มน้อยที่มีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ มีวิถีชีวิตและความเชื่อถือในเรื่องราวต่างๆ สอดคล้องกับธรรมชาติ  ด้วยความที่ชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร ห่างไกลจากสิ่งอำนวยความสะดวก และสื่อชักจูงจากภายนอกยังเข้าถึงพวกเขาไม่มากนัก ความบันเทิงของชนเผ่ายังคงอยู่ที่การละเล่น การแสดงพื้นบ้าน รวมถึงบทกวี และนิทานจำนวนมาก จนมีคำกล่าวว่า "บทกวีและนิทานของชาวปกาเกอะญอ มีมากพอๆ กับใบไม้ในป่า"
นิทานเป็นสิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความนึกคิด การดำเนินชีวิต และการกระทำของผู้คน จนบางครั้งไม่สามารถแยกกันออกระหว่าง นิทานกับการเรียนรู้ในชีวิตจริง โดยเฉพาะสังคมดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ ที่ยังไม่มีโทรทัศน์เข้ามาเป็นนักเล่าเรื่องที่ครอบจักรวาลอย่างปัจจุบัน เสน่ห์ของนิทานปกาเกอะญอ อยู่ที่การแสดงถึงความผูกพันกับธรรมชาติ ทำให้ทุกเรื่องราวจะเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครและธรรมชาติ และสิ่งที่น่าสนใจคือ การเล่าเรื่องเปลี่ยนแปลงได้ตามจินตนาการของผู้เล่าเอง แม้ว่าเล่าเรื่องเดิม แต่ไม่เคยซ้ำเดิม ทั้งยังเปิดกว้างให้ผู้ฟังเป็นคนตีความเอง ในช่วงเวลาหนึ่งตีความไว้อย่างหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปการตีความอาจเปลี่ยนไป
สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา จัดพิมพ์หนังสือชุด "ปกาเกอะญอ ตาเลอเปลอ" หรือนิทานปกาเกอะญอ รวบรวมนิทานต่างๆ ที่น่าสนใจของชาวปกาเกอะญอไว้  ตามโครงการหนังสือชุดนี้จะมีทั้งหมด 5 เล่ม ขณะนี้พิมพ์ออกมาได้แล้ว 2 เล่ม คือ หนังสือชื่อ "กำพร้าขนนก" มีนิทานทั้งหมด 16 เรื่อง และหนังสือชื่อ "จอเกอะโดะ คนขี้เกียจ" รวมนิทานไว้ 17 เรื่อง และเรื่องที่ 3 กำลังอยู่ระหว่างเรียบเรียงใกล้จะวางแผงในเร็วๆ นี้

นิทานชุดนี้บันทึกผ่านการเล่าเรื่องโดย "พะตีจอนิ โอ่โดเชา" หรือ "พ่อหลวงจอนิ" จากบ้านหนองเต่า อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่  นักเล่านิทาน ละนักต่อสู้เพื่อสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน ร่วมกับระบบนิเวศของป่าต้นน้ำในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ และเป็นปกาเกอะญอเพียงคนเดียว ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หนังสือนี้แปลเป็นภาษาไทยโดย "นาโก๊ะลี" หรือ "อภิชาติ ไสวดี" อดีตครูดอยที่บ้านห้วยจะกือ จ.ตาก ศิลปินที่รักการเขียนบทกวี และยังเป็นผู้จัดทำข้อมูลชุมชนหมู่บ้านปกาเกอะญอ ในโครงการศึกษาชุมชนของเสมสิกขาลัย ทำให้มีความผูกพันและเข้าใจในความเป็นปกาเกอะญอ นอกจากนี้สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ยังจัดกิจกรรมเทศกาลปกาเกอะญอ และชนเผ่า วิถีชีวิต วัฒนธรรม และนิทาน ครั้งที่ 3 ที่สวนสันติชัยปราการ เพิ่งผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ จัดแสดงหุ่นมือ และเล่นละคร ตำนานการเกิดชนเผ่าปกาเกอะญอ โดยกลุ่มนิทานกระดานหก และกลุ่มดนตรียิ้มละไม แสดงดนตรีจากวัสดุธรรมชาติ และเศษขยะ

รวมถึงการเสวนาเรื่อง "ผี : จากความเชื่อดั้งเดิมสู่สังคมสมัยใหม่" โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม, บัณฑิต ไกรวิจิตร นักวิชาการ, นาโก๊ะลี โดยมีนิรมล เมธีสุวกุล ดำเนินรายการ เนื้อหาการเสวนาชี้ให้เห็นว่า ทุกศาสนา ทุกความเชื่อของมนุษย์ ล้วนพัฒนาการมาจากความเชื่อเรื่องผี ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการท้าทายธรรมชาติ และเป็นอำนาจที่เหนือธรรมชาติ มีอยู่ในทุกจิตสำนึกของมนุษยชาติ ในอดีต "ผี" คือสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้คนอยู่ในคุณธรรม ทำในสิ่งที่ดี แต่หลังจากการพัฒนาการของศาสนา และการแพร่ขยายทางความคิดของชาติตะวันตกเกี่ยวกับผี จึงทำให้ทุกวันนี้ผีถูกจัดประเภทให้เป็นของต่ำไปในที่สุด สำหรับชาวปกาเกอะญอ มีความผูกพันกับสิ่งเหนือธรรมชาติ และเชื่อว่าผีมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เข้าไปหมุนเวียนในร่างกายคนเรา ผ่านการหายใจเข้าออกอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ชาวปกาเกอะญอจะทำอะไร จะคิดก่อนว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดผีหรือไม่ และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของผี จึงไม่มีใครครอบครองเป็นเจ้าของได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ หลังจากที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.บ.ป่าไม้ พื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงจากร้อยละ 60 เหลือไม่ถึงร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งประเทศ คงเหลือแต่ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ยังคงความสมบูรณ์ เพราะชาวปกาเกอะญอมีความเชื่อแต่โบราณว่า ผีเจ้าป่ากันไว้เป็นเขตสาธารณะ ห้ามไม่ให้ใครเข้าไปทำอะไร ไม่อย่างนั้นจะเป็น "ขึด" หรือมีความวิบัติต่างๆ "ผี" เป็นเพียงหนึ่งในความเชื่อที่ผูกพันกับธรรมชาติ ซึ่งชาวปกาเกอะญอยึดถือจนปัจจุบัน ยังมีอีกมากมายความผูกพันกับธรรมชาติ ที่ปลูกฝังผ่านนิทาน จนกลายเป็นวิถีที่ชาวปกาเกอะญอทุกคนยึดปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตอยู่กับธรรมชาติด้วยความรัก(ษ์)

มนตรี จิรพรพนิต ข่าวสด ๑๗ กันยายน ๒๕๔๙ หน้า 6


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก : http://www.karencenter.com/