ชนเผ่ากะเหรี่ยง-สัมผัสปกาเกอะญอ ชุมชนเข้มแข็งกลางเขา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/04/2008
ที่มา: 
http://www.karencenter.com/

สัมผัสปกาเกอะญอ ชุมชนเข้มแข็งกลางเขา

ปฤษณา กองวงค์
ในคืนมืดมิดใต้แสงดาว แว่วเสียง "เตน่า" จากหนุ่มชาวปกาเกอะญอ ชิ สุวิชาน เล่าถึงความเป็นอยู่ผ่านบทเพลง "พี่น้องเอย พี่น้องเอ๋ย เรากินปลาต้องรักษาห้วย รักษาน้ำ เรากินเขียดต้องรักษาผา ดูแลผา ดูแลผา อย่าได้ชื่นชม อย่าได้อิจฉา เขาว่าบ้านเขาดี แต่เขาต้องซื้อ เขาต้องซื้อ..." สะท้อนความเป็นอยู่เรียบง่ายผสานวิธีรักษาทรัพยากรของชนเผ่าได้อย่างดี
คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่พวกเราคนเมืองกว่า 10 ครอบครัวมีโอกาสมาสัมผัสและใช้ชีวิตร่วมกันในที่แห่งนี้ จากการประกวดเรียงความเยาวชน หัวข้อ "ป่าสบายดี ฉันก็สบายดี" รางวัลคือ เดินป่าชุมชน ทริป "ป่ามีชีวิต บ้านหินลาดใน" กับชุมชนคนรักป่า และรายการทุ่งแสงตะวัน หินลาดใน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ในหุบเขา ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนสูงจากระดับน้ำทะเล 900 เมตร พื้นที่ราบระหว่างภูเขาเป็นที่ตั้งและที่ทำกินของชาวปกาเกอะญอ กว่าร้อยชีวิต ที่สามารถรักษาผืนป่ากว่าหนึ่งหมื่นไร่เอาไว้อย่างสมบูรณ์ พื้นที่รอบของหมู่บ้านปลูกชากระจัดกระจายใต้ร่มไม้ใหญ่ ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ นอกจากนั้นยังทำนาแบบขั้นบันได และปลูกไร่หมุนเวียนอันเป็นต้นเหตุของข้อครหาที่ว่าชาวเขาทำลายป่า การทำไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ หรือที่เรียกว่า "ไร่เหล่า" เป็นการปลูกพืชหมุนเวียนที่มีระยะเวลาหมุน 1 รอบ ใช้เวลา 5-7 ปีจึงจะกลับมาที่ดินแปลงเดิมอีกครั้ง การทำไร่แต่ละครั้งจะไม่ตัดไม้ทั้งหมด แต่จะปลูกแซมเพื่ออาศัยร่มเงา

การหมุนเวียนยังเกี่ยวข้องกับความเป็นชุมชนที่เกื้อกูลกัน เช่น ลงแขกเกี่ยวข้าว และระบบผลิตอาหารที่หลากหลาย การทำนาปลูกข้าวในไร่หมุนเวียน ได้ปลูกพืชผักที่เก็บกินได้ตลอดปี แทบไม่ต้องพึ่งพาตลาด ไม่ว่าจะเป็นแตงกวา ผักกาด งา พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว รายได้จากการขายชาและหาของป่า ต้องหักออก 10% เพื่อใช้ดูแลรักษาป่า สร้างแนวกันไฟ วิถีความเชื่อต่างๆ ที่นี่เกี่ยวพันกับป่าทั้งสิ้น เช่น บวชป่า ซึ่งเหมือนกับบวชพระทางพุทธศาสนา ไม้ต้นนั้นจะห่มผ้าเหลือง ทุกคนจะให้ความเคารพนับถือ ไม่ตัดทำลาย ในพื้นที่ 5 ไร่ต้องบวชต้นไม้ 1 ต้น หากคนในชุมชนใช้ระบบเศรษฐกิจนำหน้า ถางป่าใช้ภูเขาทั้งลูกปลูกชา คงทำเงินไม่น้อย แต่คนที่นี่ไม่ทำ ทุกคนอยู่อย่างพอเพียงเพื่อยังชีพ เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เรียนรู้ที่จะใช้ทรัพยากรอย่างถูกต้องและเหลือไว้ใช้ถึงลูกหลาน
นายสุภวงค์ ปะปะ ชาวปกาเกอะญอวัย 24 ปี กล่าวว่า ปก่า-แก๊-ซะ-เซ่อ-มู ภาษาปกาเกอะญอหมายถึง ป่าคือชีวิต ถ้าไม่มีป่าพวกเราก็อยู่ไม่ได้ ปกาเกอะญอทุกคนตอนเกิดต้องนำสายสะดือมาผูกกับต้นไม้ และถือเป็นต้นไม้ประจำตัวที่ต้องรักษา
"ต้นไม้ที่จะผูกนั้นเป็นไม้ผล คนกินได้สัตว์กินบ่ได้ ถ้าต้นไม้ถูกโค่นทำลายคนตัดต้องนำไข่ต้ม 1 ฟองไปมอบให้เจ้าของต้นไม้นั้นๆ ต้นไม้ของผมคือ ต้นกาง"  ไฟป่าทำให้เกิดความสูญเสีย พอถึงฤดูร้อนต้องจัดเวรยามทั้งกลางวันกลางคืน พื้นที่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ ดอยขี้มูก และดอยประตูดิน เขตติดต่อกับห้วยทรายขาว
การใช้ประโยชน์จากผืนป่า มีกฎกติกาที่ต้องรักษา และยึดถือสืบต่อกันมาคือ ปลูกบ้านให้เลือกใช้ต้นไม้ที่มีขนาดเหมาะสมเพียงหนึ่งต้น ห้ามตัดไม้สองต้น เพราะมีความเชื่อเรื่องผีสาง เป็นการพรากคู่ผัวเมีย หรือในเขตป่าชุมชนบางพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ แต่สามารถเก็บไม้ล้มขอนนอนไพรมาทำฟืนได้ ห้ามนำไม้ออกมาขายนอกหมู่บ้านเพื่อป้องกันความโลภ เพราะไม้ที่นำมาขายจะราคาสูง ห้ามหันปลายไม้ที่ตัดเข้าบ้าน ถือว่าผิดผี ผู้อาศัยจะไม่มีความสุข ความเชื่อเหล่านี้ถือเป็นความอ่อนน้อมต่อผีสางและวิถีการดำเนินชีวิตที่ซับซ้อน
สุภวงค์กล่าวต่อว่า "ป่าไม้บ้านผมยังสมบูรณ์ มีไก่ฟ้า เก้ง ให้เห็นอยู่เสมอ ยามเจ็บไข้ก็เก็บสมุนไพรในป่ามารักษาเบื้องต้น เช่น กำลังวัวเถลิง (กาลางัวเซา) สรรพคุณเจริญอาหาร แก้ปวดเมื่อย ไม้จันทน์เปลือกหวาน (โจโรโพ) สรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ตีนตุ๊กแก (เดซือโซเดาะ) แก้โรคเบาหวาน แต่คนในหมู่บ้านไม่เป็นโรคนี้ ยามหิวก็หาของป่า เช่น หน่อไม้ หนอนรถด่วน ลูกก่อ ลูกเดย และผักกูด ขึ้นริมน้ำและอีกมาก ฯลฯ"  ด.ญ.ดาวใจ ศิริ ชาวปกาเกอะญอวัย 14 หนึ่งในกลุ่มเยาวชนที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ในฐานะเป็นผู้สืบทอดเรื่องการจักสาน การรักษาบทบาทและดูแลป่าไม้ ซึ่งถือว่ามีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยื่นสืบต่อไป น้องดาวใจกล่าวว่า "การที่มีคนเข้ามาในหมู่บ้านมากๆ เป็นสิ่งดีเพราะจะได้เผยแพร่ให้รับรู้ว่าเราดูแลรักษาป่าอย่างไร เราดูแลป่าเหมือนดูแลชีวิตเขา ไม่เคยโกรธเวลาที่ถูกว่าเป็นคนป่า ไม่เคยอายที่จะพูดภาษาถิ่น ป่าไม้เหมือนบิดามารดา ความเจริญเหมือนโจรขึ้นบ้าน ต้องป้องกัน ระมัดระวังในการใช้จ่าย"
ขณะที่ "น้องขนุน"ด.ช.อัสนี อินด้วง ชาวพัทลุงผู้มาเยือน กล่าวว่า "อยากอยู่ต่ออีกสัก 10 วัน การใช้ชีวิตแบบโฮมสเตย์ที่นี่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวปกาเกอะญอที่พึ่งป่าแทบจะไม่ใช้เทคโนโลยีเลย ทุกอย่างเป็นภูมิปัญญา อากาศก็ดี ไม่มีเงินก็อยู่ได้" ส่วนครอบครัวน้องอาร์ม ด.ช.ธนบัตร สมบูรณ์ทรัพย์ จากกรุงเทพฯ กล่าวว่า "การเข้ามาใช้ชีวิตที่นี่ถือเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่า ได้เห็นความมีน้ำใจ ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ดูแลเราเหมือนลูกหลาน ได้เรียนรู้และอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อยากขอบคุณที่ทุกคนช่วยรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้ตกถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน"  ด้วยระบบการจัดการและจัดสรรเขตพื้นที่ของคนในชุมชน ตลอดทั้งความเชื่อ สำนึกที่หยั่งรากลึกเรื่องการอนุรักษ์ผืนป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์

ปกาเกอะญอหินลาดในจึงเป็นพลังชุมชนที่เข้มแข็ง

 

ที่มา :  ข่าวสด ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๘
หน้า 5

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก : http://www.karencenter.com/