ชนเผ่ากะเหรี่ยง-นักสู้แห่งผืนป่าตะวันตก

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/04/2008
ที่มา: 
http://www.karencenter.com/

"สหายจริงจัง"นักสู้แห่งผืนป่าตะวันตก

โดย นางสาวจันทราภา นนทวาสี โครงการศึกษาจิตวิญญาณของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในผืนป่า

ชายวัย 50 ปีเศษ เกล้าผมมวยมุ่นไว้กลางศีรษะ นั่งชันเข่าข้างเตาไฟกลางบ้าน มวนบุหรี่ด้วยใบไม้หนาลักษณะคล้ายใบตองตึงกับยาเส้นที่ปลูกเองอย่างใจเย็น ก่อนจุดควันกรุ่น แววตาของแกเหมือนจะดิ่งลึกลงไปในเรื่องราวอดีตที่พรั่งพรูออกมาด้วยสำเนียงภาษาไทยปนปกากญอ  "ลุงเป็นคนปกากญอ(กะเหรี่ยง) เกิดที่บ้านคอโซทะ ไม่ไกลจากที่นี่นัก"

"ก่อนนั้นก็หาอยู่หากินไปตามวิถีดั้งเดิม ทำไร่ข้าว หาของป่าไปวันๆ จนเมื่อลุงอายุประมาณ 17 ปี พวกปฏิวัติที่มีฐานอยู่หม่องกั๊วะมาจับเอาพ่อและลุงของลุงไป ลุงจึงเข้าป่าเพื่อไปตามหาพ่อ"

"ยุคนั้นเป็นช่วงของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร พวกปฏิวัติบอกว่า ถ้าลุงเป็นทหาร เขาจะปล่อยพ่อออกมา แถมการเป็นทหารยังช่วยแก้ไขการกดขี่ข่มเหงของรัฐได้อีกด้วย ลุงจึงร่วมฝึกเป็นกองทหารท้องถิ่น ฝึกหนักมากเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนออกมาปฏิบัติหน้าที่"

"กองทหารท้องถิ่นที่ลุงสังกัดอยู่มีกำลังเพียง 10 คน ทำหน้าที่ร่วมกับทหารบ้านในการทำไร่ ทำกินเพื่อสนับสนุนทหารหลักซึ่งทำหน้าที่รบ งานสำคัญอีกอย่างของลุงคืองานมวลชน ปลุกระดมความคิด ให้การศึกษา รวมทั้งเป็นหมอรักษาชาวบ้านไปในตัว ลุงเรียนวิชากดจุด ฝังเข็ม และผ่าตัดในช่วงนั้นล่ะ พื้นที่ทำงานของลุงอยู่บริเวณ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มาจนถึงแม่กลองน้อย และแม่กลองใหญ่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก

"ลุงออกจากป่าในยุคของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตอนนั้นอายุได้ 29 ปี มอบตัวกับลุงกำนัน จอเหล่ ที่ ต.แม่ละมุ้ง อ.อุ้มผาง หลังกลับตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ลุงได้บัตรประจำตัวประชาชนไทย และปักหลักอาศัยอยู่ที่บ้านทีจอชี จนถึงทุกวันนี้"

นั่นเป็นประวัติโดยสังเขปจากปากคำของ อดีต "สหายจริงจัง" แห่งฐานที่มั่นหม่องกั๊วะในอดีต หรือลุงจอวาเอ แห่งบ้านทีจอชี ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก ในปัจจุบัน  บ้านของลุงจอวาเอ แม้จะปลูกสร้างตามแบบสมัยใหม่ มี 2 ห้องนอนและห้องโถงสำหรับรับแขก ที่ใช้เป็นแหล่งชุมนุมของคนในหมู่บ้านเพราะมีโทรทัศน์และเครื่องเล่นวีซีดี ซึ่งเพิ่งติดตามเจ้าแผงโซล่าร์เซลล์เข้ามาในหมู่บ้านเมื่อต้นปีนี้เอง แต่ส่วนหลังบ้านที่เป็นห้องครัว ยังคงเป็นไม้ฟาก(ไม้ไผ่เป็นต้นทุบให้แตกแล้วนำมาวางเรียงกัน) มีเตาไฟอยู่ภายใต้ชายคาบ้าน สองฟากของเตาไฟเป็นที่นั่งพูดคุยขณะทำกับข้าว หรือนั่งผิงไฟให้ความอบอุ่น เตาไฟยังคงเป็นก้อนหินสามเส้า มีชั้นวางของอยู่ด้านบนอีก 2 ชั้น สำหรับตากเมล็ดพันธุ์ข้าวและพันธุ์พืช รวมถึงเนื้อสัตว์ที่ต้องการเก็บไว้กิน ตามแบบฉบับดั้งเดิมของคนปกากญอ

สมบัติส่วนตัวอันมีค่า ที่ลุงมักจะหยิบมาอวดเสมอๆ ยามที่มีคนจากนอกหมู่บ้านมาเยือน ประกอบด้วย รูปถ่ายในช่วงที่หมู่บ้านมีพิธีกรรมต่างๆ หนังสือเพลงพร้อมซีดีเพลงปฏิวัติที่ลุงร้องตามได้ยามเปิดเสียงขึ้นมา กับหนังสืออีกจำนวนหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับงานปฏิวัติ แนวคิดของเหมา เจ๋อ ตุง หนังสือปลุกใจเยาวชน เล่มสำคัญคือ หนังสือประวัติความเป็นมาของชาวกะเหรี่ยงตั้งแต่ก่อนคริสต์ศักราชนับพันปี ด้วยบุคลิกพิเศษที่โดดเด่นเกินชาวปกากญอคนอื่นๆ ลุงจอวาเอ จึงได้รับความวางใจจากชาวบ้านให้เป็นผู้ใหญ่บ้านรคนแรกของบ้านทีจอชี แม้ในปัจจุบันจะมีการผลัดเปลี่ยนผู้นำมาแล้วถึง 3 รุ่น ลุงจอวาเอก็ยังคงเป็นผู้อาวุโสที่คนทั้งชุมชนให้ความเคารพนับถือ เสียงของลุงยังเป็นที่เชื่อฟังของลูกหลาน

"เดี๋ยวนี้ โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ พวกเราชาวปกากญอ แม้จะหาอยู่หากินใช้ชีวิตอย่างง่ายๆ ก็ไม่วายที่จะถูกกระทบจากข้างนอก พวกเราเคยใช้ป่า ใช้น้ำ เป็นแหล่งอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ พอคนมากขึ้น ซึ่งเป็นคนที่ลักลอบหนีออกมาจากศูนย์อพยพนุโพเป็นครั้งคราวเข้ามาในป่าของเรา ตัดไม้ ล่าสัตว์ ชอร์ตปลาในลำห้วย ของกินที่เคยมากมายก็ลดลง"  การประกาศเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ทำให้ไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญและเป็นหัวใจของชาวปกากญอ ต้องลดรอบระยะเวลา จาก 5-7 ปี เหลือเพียง 2-3 ปี แม้แต่ลุงเองยังต้องทำนาไปด้วย ลำพังข้าวไร่ไม่พอกินแล้ว ประการสำคัญที่สุด นโยบายของรัฐในเรื่องกองทุนเงินล้าน ที่ลงมายังหมู่บ้านของเรา ขนาดระแวดระวังกันมาก ก็ยังพลาดท่า มีการกู้ยืมมาลงทุนซื้อรถไถบ้าง มอเตอร์ไซค์บ้าง พอถึงเวลาใช้หนี้ ก็ต้องรุกพื้นที่ป่าทำไร่พริกให้ได้เงินมา ภาษิตปกากญอบทที่ยึดถือกันมานมนานว่า "ข้าวใหญ่กว่าเงิน" ถูกลดความสำคัญลงสัก 3 เท่าได้กระมัง ตัวลุงเองก็ไม่รู้ว่าจะอยู่คอยดูแลลูกหลานไปได้อีกนานแค่ไหน ก็ได้แต่หวังว่า เด็กและเยาวชนของเราจะรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้อย่างเหมาะสม"

บรรดาสหายของลุงจอวาเอหลายคนเติบโตขึ้น กลายเป็นคนใหญ่คนโตในบ้านเมือง หรือเป็น "พะโด่" อย่างที่ลุงเรียก บางคนเป็นเจ้าของธุรกิจทางเลือกให้กับสังคมที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งลุงเพิ่งไปเยี่ยมมาเมื่อเดือนที่แล้ว บางคนมีโอกาสใกล้ชิดกับคนระดับผู้นำของประเทศ ลุงจอวาเอได้แต่ฝากคำถามไปสะท้อนให้ทราบว่า "ขณะนี้ ท่านพยายามจะให้บ้านเมืองไทยของเราเติบโตทางเศรษฐกิจ แข่งขันกันเรื่องการค้าการขาย แล้วชาวบ้าน ชาวป่า ชาวเขาอย่างพวกเรา ที่เปรียบเสมือนเฟืองเล็กๆ ผู้ผลิตอาหารหล่อเลี้ยงคนไทยอีกมากมาย กำลังย่ำแย่จากนโยบายที่ท่านประกาศครั้งเดียวใช้ครอบคลุมทั่วประเทศ อย่างไม่ใส่ใจในความแตกต่างของคนรับนโยบายนั้นเลย ถ้าพวกเราอยู่กันไม่ได้แล้ว พวกท่านจะเอาอะไรที่ไหนมากินกัน ลองมาปลูกข้าว หาผัก หาปลาแบบพวกเราบ้าง ท่านจะทำได้ไหม"

ทุกวันนี้ อดีต "สหายจริงจัง" ยังคงต่อสู้บนฐานที่มั่นสุดท้าย มิใช่การใช้อาวุธปืนหรือการเผยแพร่อุดมการณ์เหมือนครั้งเข้าป่า อาวุธของลุงยามนี้ คือการถ่ายทอดภูมิปัญญา การดำรงชีวิตที่เรียบง่าย เคารพในทุกสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นแก่นแท้ของคนปกากญอ ส่งผ่านไปยังลูกหลานและเยาวชนในหมู่บ้าน "ทีจอชี" ผู้จะเป็นอนาคตและนำพาวิถีปกากญอให้ดำรงอยู่หรือหายสาบสูญไป

มติชน 18 กันยายน 2548 หน้า 9

ที่มา :  จันทราภา นนทวาสี
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก : http://www.karencenter.com/