ชนเผ่ากะเหรี่ยง-อือทา.... บทเพลงแห่งปากะญอ


Embed: 

Download the original : 3443_karen.wmv

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/04/2008
ที่มา: 
http://www.karencenter.com/

อือทา.... บทเพลงแห่งปากะญอ  

โดย นพวรรณ สิริเวชกุล
ในความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของผู้คนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย หนึ่งในนั้นคือชนเผ่ากะเหรี่ยงหรือ คาเรน (Karen) นะคะ
ถือได้ว่ากะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชนทีอพยพเข้ามาในเขตแดนไทยรุ่นแรกๆ เลยทีเดียว กะเหรี่ยงในบ้านเรานั้น แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มคือ กะเหรี่ยงสะกอหรือเขาจะเรียกตัวเองว่า ปากะญอ นะคะ,กะเหรี่ยงโปว์หรือโพล่วง ส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะอาศัยอยู่ทางตะวันตกของไทย,กะเหรี่ยงแบรกลุ่มนี้อาศัยอยู่ส่วนใหญ่ทางแถบจังหวัดแม่ฮ่องสอนค่ะ กลุ่มที่สี่ก็คือกะเหรี่ยงตองตูหรือปะโอ กลุ่มนี้อาศัยอยู่ส่วนใหญ่ในเขตพม่าจะเข้ามาอยู่ในไทยเราก็มีเพียงไม่กี่หมู่บ้านทางแถบภาคเหนือเท่านั้นค่ะ
กะเหรี่ยงสะกอหรือปากะญอ ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่อพยพเข้ามาอาศัยในเขตแดนไทยนับเนื่องมาก็หลายร้อยปีมาแล้ว...กลุ่มนี้เองที่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรามักจะได้เห็นเขาและชนเผ่าอื่นๆ ลุกขึ้นมาอธิบายให้ใครต่อใครหลายคนฟังว่าพวกเขาสามารถอาศัยอยู่ในป่าได้ โดยไม่ต้องทำลายป่าค่ะ
กะเหรี่ยงสะกอหรือปะกาญอ ส่วนใหญ่ มักจะได้รับการศึกษาที่ดีเพราะในช่วงสมัยหนึ่ง คณะมิชชันนารีได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตบางส่วนของชนกลุ่มน้อย กะเหรี่ยงที่หันมานับถือศาสนาคริสต์ จึงมักได้รับการศึกษาขั้นสูงสุด มีหลายต่อหลายคนที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาค่ะ

แม้ว่าสังคมภายนอกจะเปลี่ยนไปรวดเร็วเช่นไร แต่สังคมของคนอยู่ป่าก็ค่อยๆ พัฒนาและเปลียนผ่านตามเวลาที่ค่อยๆ เคลื่อนคล้อย... หลายกลุ่มที่ทุกวันนี้ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อสอดรับกับการพัฒนาประเทศและการท่องเที่ยว ด้วยการเปิดหมู่บ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวที่สนใจจะเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนอยู่ป่าที่ธรรมดาและเรียบง่าย...
หนึ่งในหลายความสนใจของผู้คนที่เข้าไปอาศัย พูดคุย ทักทาย แม้กระทั่งทำวิจัยกับชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ก็คือ เรื่องของวัฒนธรรม...
ปากะญอเอง ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ทีเดียวค่ะ ด้วยว่าชนกลุ่มนี้ มีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประเพณีพิธีกรรมสำคัญในแต่ละช่วงเวลาของคน หรือ การละเล่นและเครื่องดนตรีประจำเผ่าอย่าง พิณหรือเตหน่า ,กลองหรือเดอ ซึ่งมีทั้งกลองธรรมดาและกลองโกละหรือกลองกบนั่นเอง นอกจากนั้นปากะญอยังมีระนาดหรือ ปอกู่ ที่ทำจากไม้ไผ่บง 32 ซี่นำมาผูกเรียงกันแล้วใช้ไม้ตีเหมือนกับระนาดทั่วไปค่ะ และเครื่องดนตรีชิ้นสุดท้ายของปากะญอก็คือ แกว หรือปี่เขาควายนั่นเองค่ะ

แกวในทุกวันนี้ก็ยัง ถือเป็นสัญลักษณ์ของรัฐกะเหรี่ยง ที่มีเมืองพะอานเป็นศูนย์กลางใน ประเทศพม่าคะ

แกว ที่ปากะญอเป่านั้นคือ แกวแหย่เปาะ เป็นการส่งสัญญาณให้ตื่นหุงหาอาหารไปไร่นา
อีกแกวหนึ่งคือ แกวก่อมะ ใช้เป่าเล่นกันอย่างสนุกสนาน ทุกวันนี้เวลาเดินป่า ปากะญอก็ยังใช้กาวนี้ส่งเสียงสัญญาณกันอยู่ค่ะ

นอกจากเครื่องดนตรีแล้ว ปากะญอ ก็ยังมีการร้องคำกลอนที่เขา เรียกว่า ทา ไว้สำหรับร้องในหลายๆ ช่วงเวลาของเขากันนะคะปากะญอนั้น ถือเป็นนักเล่าเรื่องตัวยงทีเดียว... พวกเขาจะมีวิธีเล่าเรื่องที่แสนสนุก ผสมคละเคล้าไปกับเสียงดนตรีประจำเผ่า ซึ่งปัจจุบันนี้ คนรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยสืบทอดการร้องทา เช่นแต่ก่อนแล้วจะมีบ้าง ก็นำมาปรับเข้าร้องเล่นกับเครื่องดนตรีสมัยใหม่อย่างเช่นกีต้าร์นะคะ
ทา เป็นคำสอนและการบันทึกเรื่องราวในอดีตในรูปแบบของกลอนหรือบทกวีนะคะ ทามีข้อจำกัดในการร้องและใช้เล่นด้วยค่ะ อย่างเช่น ทาหมื่อเฉ่หมื่อกอ ถือเป็น ทาทั่วไป ที่ใช้ร้องและสั่งสอนกันได้ทุกเวลาและสถานที่ ไม่จำกัดเพศและวัย ทาหมื่อเฉ่หมื่อกอ นี่เองที่นิยมร้องเล่นกันมากค่ะ
อีก ทา หนึ่งก็คือ ทากะอิ เป็นทาที่ใช้ร้องในหมู่คนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้านที่ทุกคนให้ความเคารพ เพราะ ทาเช่นนี้จะใช้ร้องใน เทศกาลขึ่นปีใหม่หรือขึ้นบ้านใหม่ ,เทศกาลฉลองครึ่งปี และในพิธีแต่งงาน ทากะอิ นี้เป็นการสอนเรื่องพื้นฐานการใช้ชีวิตและมุ่งให้คนรุ่นใหม่รักษาวัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งเน้นเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความเข้าใจและพึ่งพาอาศัยกัน
ทาพาวา เป็นทาที่ใช้ร้องในเทศกาลเดียวกับ ทากะอิ เพียงแต่ ทาพาวานี้ คนหนุ่มคนสาว ก็ร้องเล่นได้ เพื่อความเพลิดเพลิน
ทาปลือทาเจอ เป็นการร้องทา เมื่อมีผู้เสียชีวิตเท่านั้น เพราะทาชนิดนี้ ใช้ร้องเพื่อคนที่จากไปค่ะ ทาปลือทาเจอ นี้เองที่ห้ามร้องเล่นในบ้าน เวลาจะสอนกัน ก็ต้องออกไปสอนในป่า ช่วงเวลาที่เดินอยู่ระหว่างทางนั่นเอง ทาปลือทาเจอ นี้เขาใช้ร้องเพื่อที่ให้เจ้าแห่งความตายไม่ต้องมาเอาชีวิตคนบ่อยๆ และเพื่อที่จะบอกหนทางแก่ผู้ที่จากไปได้เดินทางไปสู่อีกภพหนึ่งอย่างถูกต้อง และร้องเพื่อเรียกขวัญของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ให้ตามคนตายนั้นไปค่ะ ทาในแต่ละบทนั้น จะประกอบไปด้วย สองวรรคเป็นอย่างน้อย บางบทอาจมีมากถึง 8 วรรค ลักษณะของการสัมผัสในทาของปากะญอนั้น จะเป็นสัมผัสสระหรือสัมผัสเสียงโดยคำสุดท้ายของวรรคแรกจะสัมผัสเสียงกับคำสุดท้ายของวรรคที่สอง และคำสุดท้ายของวรรคที่สามจะสัมผัสเสียงกับคำสุดท้ายของวรรคที่สี่
ทุกวันนี้ ทา ของปากะญอ ก็ไม่ค่อยเป็นทีนิยม เหมือนเพลงยุคใหม่ ด้วยว่าความทันสมัยก็เริ่มเข้าไปสู่หมู่บ้าน เด็กรุ่นใหม่ๆ เริ่มเรียนรู้โลกใหม่ สังคมใหม่ อารยธรรมใหม่ๆ คล้ายๆ กับอีกหลายๆ กลุ่มชน แม้แต่เราเอง ที่เปิดรับสิ่งใหม่เข้าหาตัว... แต่ก็นั่นล่ะค่ะ... ในคนหมู่มากก็ยังมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่สนใจทั้งสิ่งใหม่และสิ่งเก่าในขณะเดียวกัน ปากะญอรุ่นใหม่ก็เช่นเดียวกัน เขาก็มีคนกลุ่มเล็กๆ ที่พยายามสืบทอด ทา และการเล่นเครื่องดนตรีของพวกเขาเอาไว้สืบทอดให้คนรุ่นต่อไป ได้ชื่นชมและเรียนรู้เรื่องราวในสิ่งที่บรรพบุรุษของเขาได้กระทำกันมา......

พบกับรายการวิทยุ ต่างสมัย รอยไทย โดย นพวรรณ สิริเวชกุล
ได้ทุกวัน เสาร์ - อาทิตย์ เวลา 20.00 - 21.00 น. ทางคลื่นสามัญประจำบ้าน FM 97.75 MHz
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก : http://www.karencenter.com/